This Is Your Death : มีมนุษย์สักกี่คนที่ปฏิเสธไม่สนับสนุนความรุนแรง(ของผู้อื่น)ในสื่อ?



ในแวดวงสื่อสารมวลชน..มีคำกล่าวที่สืบทอดและสั่งสอนกันมานาน ( แต่ไม่รู้ใครกล่าวเป็นคนแรก ) ว่า “มนุษย์ชอบเสพความทุกข์ความหายนะของผู้อื่น” กับ “ข่าวร้ายลงฟรีข่าวดีเสียเงิน” ดังนั้นข่าวที่ขายดีก็จะเป็นข่าวการเมืองที่เป็นการปะทะคารมกันระหว่างนักการเมืองพรรคตรงข้าม ข่าวม็อบชุมนุมประท้วง ข่าวอาชญากรรมทั้งอุบัติเหตุ ฆาตกรรมและฆ่าตัวตายที่มีภาพและเรื่องราวสยดสยองบวกสะเทือนอารมณ์ รวมถึงข่าวบันเทิงประเภทเรื่องรักๆ เลิกๆ ของดาราหรือคนสังคมชั้นสูงทั้งหลาย ข่าวพวกนี้ “เรตติ้งดีมาก” แต่ขณะเดียวกันเราก็จะ “ไม่ยอมรับว่าตัวเราเองก็สนับสนุน” สื่อที่มีเนื้อหารุนแรงเหล่านี้ มีการก่นด่าไปยังคนทำงานสื่ออยู่เนืองๆ

ยิ่งในยุคที่มีสื่อมากมาย การแข่งขันแย่งชิงเรตติ้งอันจะนำไปสู่การไหลเข้าของเม็ดเงินโฆษณาก็เป็นไปอย่างดุเดือด แม้ในทางอุดมคติเราจะพร่ำสอนคนทำสื่อทั้งที่จบและไม่จบนิเทศ-วารสาร-สื่อสาร ( อาชีพสื่อไม่บังคับต้องจบสายตรงแบบครู แพทย์ หรือทนายความ ) นอกจากไม่ละเมิดกฎหมายแล้วยังต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพราะไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่การนำเสนอของสื่อมวลชนไม่ว่าข่าว รายการต่างๆ หรือละคร ก็มีผลชี้นำพฤติกรรมคนสังคมทั้งสิ้น “แต่โลกความจริงใครจะสน? จรรยาบรรณเต็มร้อยมันกินอิ่มไหม?” ฉะนั้นอะไรที่ไม่ผิดกฎหมาย ถ้ามันหารายได้เข้าองค์กรได้ ก็ไม่แปลกที่คนทำสื่อจะทำมัน แม้ในแง่ความเหมาะสมจะถูกตั้งคำถามก็ตาม

This Is Your Death ดำเนินเรื่องโดยตัวละคร “อดัม โรเจอร์” ( Adam Rogers ) พิธีกรหนุ่มฝีปากกล้าที่มีผลงานโดดเด่นจากรายการประเภทเรียลลิตี้โชว์ที่ชักชวนหญิงสาวมาทำกิจกรรมต่างๆ แข่งขันกันเพื่อเอาชนะใจชายหนุ่มระดับมหาเศรษฐี กระทั่งรายการตอนล่าสุดที่เหลือผู้เข้าแข่งขัน 2 คน เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น หญิงสาวที่ชนะการแข่งขันได้รับเลือกจากเศรษฐีเป็นภรรยา ถูกหญิงสาวฝ่ายที่แพ้ใช้อาวุธปืนยิงเสียชีวิตก่อนจะยิงตัวตายตาม

แม้เหตุการณ์ครั้งนี้กลายเป็น “ฝันร้าย” ที่ตามหลอกหลอนอดัมไปพักใหญ่ พร้อมๆ กับการที่อาจจะไม่ได้ทำงานต่อ ทว่าหลังการพิจารณาจากฝ่ายกฎหมายของสถานีโทรทัศน์ พบว่า “การฆ่าตัวตายเองโดยเจ้าตัวยินยอม และผ่านการรับรองจากนักจิตวิทยาแล้ว ผู้เกี่ยวข้องย่อมไม่ต้องรับผิดด้วย” ( ถามคนอยู่ในอเมริกาหน่อยครับ กฎหมายแบบนี้มีจริงไหม? ) ประกอบกับ “เรตติ้งพุ่งกระฉูด” คนดูชอบที่เห็นคนตายแบบสดๆ ทำให้อดัมและทีมงานคิดทำรายการ “ให้คนมาฆ่าตัวตายออกอากาศ” ที่ไม่ใช่คำเปรียบเปรย แต่เป็นการ “ฆ่าจริง ตายจริง” ให้ผู้ชมเป็นผู้บริจาคเงินเข้ามายังรายการ แล้วเงินที่บริจาคมาจะถูกนำไปให้กับคนที่ผู้ตายระบุว่าหากตนเองฆ่าตัวตายแล้วจะยกเงินนั้นให้

จอช ดูฮาเมล (Josh Duhamel) เรื่องนี้แม้จะดูหล่อไม่ต่างจากการรับบทนายทหารในหนังหุ่นแปลงเป็นรถอย่าง Transformers 3 ภาคแรก แต่การแสดงเป็นอดัม โรเจอร์ ทำให้รู้สึก “สะอิดสะเอียนและจิตตก” เสียมากกว่า จากช่วงแรกๆ ของเนื้อเรื่องที่ดูน่าสงสารและดูเป็นคนดี กลายเป็นไปเชื่อในจุดยืนบางอย่างของตัวเองแล้วไปเสนอทำรายการชวนคนมาฆ่าตัวตาย ตัดสลับกับตัวละคร “เมสัน วอชิงตัน” (Mason Washington) ที่รับบทโดย จิอันคาร์โล เอสโพซิโต (Giancarlo Esposito) นักแสดงผิวสีรุ่นใหญ่ที่คุ้นตากันจากหนังคณะนักวิ่งเขาวงกต Maze Runner 2-3

เมสันนั้นเป็นตัวละครที่ชีวิตตรงข้ามกับอดัมอย่างสุดขั้ว ในขณะที่อดัมกำลังรุ่งโรจน์บนหน้าจอโทรทัศน์ เมสันเป็นแค่คนงานทำความสะอาดที่หาเช้ากินค่ำดิ้นรนไปวันๆ และหวังว่าภรรยาและลูกของเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น This Is Your Death จึงเป็นหนังที่เล่าเรื่องจากตัวละครนำทั้ง 2 คืออดัมและเมสัน ซึ่งนักแสดงทั้ง 2 ก็ทำให้อินกับตัวละครได้อย่างดี ความบ้าและความจิตของอดัม ยิ่งทำให้รู้สึกสงสารชีวิตรันทดของเมสันมากขึ้น

สำหรับ “โชว์สุดสยอง” ในหนังเรื่องนี้ ต้องบอกว่าฉากฆ่าตัวตายแต่ละอย่างทำได้น่ากลัวมาก ( ไม่แนะนำให้ผู้ปกครองพาเด็กๆ ไปดู และเชื่อว่าถ้าได้มาฉายในโทรทัศน์คงต้องเบลอกันเยอะแน่ๆ ) และไม่ใช่แค่น่ากลัวแต่ยังหดหู่ เพราะแต่ละคนที่สมัครเข้ามาฆ่าตัวตายโชว์คนทั้งประเทศนั้น “เป็นคนที่มีทางเลือกในชีวิตไม่มากนัก” เป็นคนระดับล่างของสังคม ไม่อาจไปถึงฝันแบบ “อเมริกัน ดรีม” (American Dream) และมองว่าอย่างน้อยๆ ถ้าตัวเองตายไปคนข้างหลังก็ยังสบายจากเงินที่ทำได้ในรายการ

ย้ำกันอีกรอบ..ในขณะที่ผู้เสพสื่อเที่ยวตำหนิประณามสื่อที่นำเสนอข่าวดราม่า ข่าวความแตกแยกทะเลาะเบาะแว้ง และละครทีมีฉากรุนแรงทั้งคำพูดและการกระทำ แต่ขณะเดียวกัน ข่าวและละครที่ว่ามานั้น “ไม่เคยมีสักข่าวสักเรื่องที่เรตติ้งไม่ดี” ยิ่งฉาว ยิ่งแรง ยิ่งได้รับความสนใจมาก คนทำงานสื่อที่ก็เป็นคนต้องทำงานหาเงินเลี้ยงชีพก็ต้องตาม “ขยี้” เรื่องนั้นประเด็นนั้นให้มากที่สุด มีช่องทางเลี่ยงกฎหมายได้ก็แปลกใจที่จะทำ

ก็อย่างที่เวลามีคนกำลังจะฆ่าตัวตาย บรรดา “ไทยมุง” ก็จะปรากฏขึ้นทั้งในที่เกิดเหตุ และหากมีสื่อไหนกล้า “Live สด” คนก็จะแห่ไปติดตามจนระบบแพร่ภาพแทบล่ม ตามด้วยการพูดหรือพิมพ์ไปในทางต่างๆ นานา บ้างยุให้ฆ่าตัวตายเสียทีขี้เกียจรอแล้ว บ้างก็ด่าซ้ำเติม บ้างก็พนันขันต่อว่าจะฆ่าจริงหรือเปลี่ยนใจ ฯลฯ ซึ่งถามว่าสื่อที่ Live สดคนฆ่าตัวตายผิดไหม? สำหรับกฎหมายไทยยังไม่มีความผิดตรงนี้ แต่เรื่องความเหมาะสมนั้นไม่เหมาะแน่นอน

แต่ก็นั่นแหละ..จะปฏิเสธได้หรือว่าลึกๆ แล้วเราชอบเสพความรุนแรง ( ที่เป็นเรื่องราวของผู้อื่น ) ผ่านสื่อต่างๆ เพราะเรตติ้งมันฟ้องอยู่เห็นๆ!!!

ปล.ถ้าฉายในอเมริกา หนังเรื่องนี้ใช้ชื่อว่า “The Show” และใช้เพลงในตัวอย่างหนังคือ Smells Like Teen Spirit ของวง Nirvana ที่เอามา Cover แบบช้าๆ โดย Malia J. ส่วน This Is Your Death เป็นชื่อหนังที่ใช้ฉายทั่วโลก และเพลงในตัวอย่างหนังคือ The End ของ Mary Elizabeth McGlynn เพลงประกอบเกม Silent Hill Pachislot

TonyMao_NK51 ( ใช้แทนอมยิ้มที่ถูกแบน )
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ภาพยนตร์ต่างประเทศ ภาพยนตร์ This Is Your Death (ภาพยนตร์)
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่