เสียดายยุคหลังพระนารายณ์

ผมเสียดายนะครับ ดูละคร บุพเพสันนิวาส ยุคพระนารายณ์นี่ต้องถือได้ว่าอยุธยานี่เป็น  hub ของเอเชียเลยก็ว่าได้ มีทั้งฝรั่ง โปรตุเกศ ฮอลันดา สเปน จีนเข้ามาติดต่อค้าขาบ และนำเอาวิทยาการมาให้ แต่เมื่อสิ้นรัชสมัยของพระนารายณ์ ผู้รับช่วงต่อคือพระเพทราชา กลับใช้นโยบายปิดประเทศ ขับไล่ต่างชาติออกไป ทำให้ไทยสูญเสียโอกาสมากมาย ไม่เช่นนั้นตอนนี้ ประเทศไทยอาจจะรุ่งเรืองกว่านี้ ก็เป็นได้
แต่มาลองคิดดู ไทยเองก็คงวนเวียนอยู่เช่นนี้แหละ พอกำลังรุ่งก็มีกลุ่มผลประโยชน์เก่าทำการล้มกระดาน เป็นเช่นนี้วนเวียนไปไม่จบสิ้น
ความคิดเห็นจาก Expert Account
ความคิดเห็นที่ 7
ตามหลักฐานจริงๆ ราชวงศ์บ้านพลูหลวงก็ไม่ได้ปิดกั้นตนเองจากชาติตะวันตกเลย แม้ว่าจะขับไล่ฝรั่งเศส แต่ชาวดัตช์ที่เป็นศัตรูของฝรั่งเศสก็ยังได้รับราชการในราชสำนักอยู่มากครับ

การค้ากับชาติตะวันตกค่อนข้างซบเซาลงไปบ้าง ซึ่งจริงๆ ก็เริ่มซบเซามาตั้งแต่ปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์แล้ว เนื่องจากราชสำนักในเวลานั้นมีนโยบายผูกขาดสินค้าโดยฟอลคอน ทำให้สามารถแสวงหากำไรเข้าท้องพระคลังได้มหาศาล แต่เพราะพ่อค้าต่างประเทศเสียผลประโยชน์ ทำให้ต่างประเทศต้องไปหาตลาดปล่อยสินค้าที่ถูกกว่าอยุทธยาแทน จึงมีหลักฐานว่าสำเภาต่างประเทศที่เข้ามาน้อยลงไปมาก ดังนั้นถ้าสมเด็จพระนารายณ์และฟอลคอนยังกุมอำนาจและใช้นโยบายตามเดิม การค้าต่างประเทศก็มีแต่จะซบเซาลง


ในสมัยราชวงศ์บ้านพลูหลวงไม่เคยมีการปิดประเทศจากชาติตะวันตกอย่างจริงจังอย่างที่หลายคนเข้าใจ พระเพทราชาเพียงแต่ขับไล่กองทหารฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ออกไป ผ่านมาไม่กี่ปีเมื่อความขัดแย้งยุติฝรั่งเศสความพยายามจะเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีใหม่จนได้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์เมื่อ ค.ศ. 1699 (พ.ศ. 2242) ในปลายรัชกาลมีรายงานว่าชาวฝรั่งเศสเข้ามาค้าขายตามปกติในเมืองท่าของสยามได้อย่างปกติ  เช่นเดียวกับดัตช์ที่ยังมีความสัมพันธ์ในระดับค่อนข้างดีอยู่ในสมัยพระเพทราชา     แต่ทั้งนี้ราชสำนักยังคงระวังไม่ให้ชาติยุโรปเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากเท่าสมัยสมเด็จพระนารายณ์

การค้าของชาติยุโรปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซบเซาลงเมื่อเทียบกับศตวรรษที่ 17 ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากปัจจัยในสยามเองที่มีความวุ่นวายภายในมากในช่วงรัชกาลพระเพทราชา  แต่ก็มีปัจจัยทางทางยุโรปร่วมด้วย เพราะยุโรปตอนนั้นมีสงครามใหญ่ติดต่อกันคือ "สงครามมหาสัมพันธมิตร" (War of the Grand Alliance)  กับ "สงครามสืบราชบัลลังก์สเปน" (War of the Spanish Succession)    เมืองพอนดิเชอร์รีซึ่งเป็นเมืองท่าของฝรั่งเศสถูกฮอลันดายึดใน ค.ศ. 1694 (พ.ศ. 2237) ทำให้ฝรั่งเศสเดินทางเข้ามาค้าขายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้จนกระทั่งสงครามมหาสัมพันธมิตรจบ   บวกกับทางตะวันตกเองก็ทำกำไรในแถบนี้ได้ไม่ค่อยดีนัก  ทำให้ในช่วงปลายอยุทธยาชาติยุโรปไม่นิยมส่งคณะทูตขนาดใหญ่มาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักตะวันออกโดยตรงแล้ว  จะมีแต่พ่อค้าเอกชนเข้ามาเป็นส่วนใหญ่

ถึงกระนั้นกิจกรรมการค้าสำเภากับต่างประเทศยังคงเป็นหนึ่งในรายได้หลักสำคัญของราชสำนักอยุทธยาตอนปลาย ปรากฏในหลักฐานร่วมสมัยของดัตช์ว่าพระเจ้าเสือเมื่อครั้งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงมีสิทธิในการทำการค้าสำเภาด้วยพระองค์เองกับเมืองท่าของชายฝั่งโจฬะมณฑล (Coromandel coast) ในอินเดีย ญี่ปุ่น และปัตตาเวีย (ดัตช์)  


เมื่อถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเสือ ปรากฏในหลักฐานของสังฆราชคณะมิสซังต่างประเทศในสยามว่า พระองค์ทรงหวังจะให้ฝรั่งเศสกลับเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีและติดต่อค้าขายกันอีกรวมถึงตั้งห้างในสยาม และยังทรงติดต่อให้บาทหลวงฝรั่งเศสในสยามช่วยประสานกับฝรั่งเศสให้ด้วย โดยเสนอสิทธิพิเศษทางการค้าให้หลายอย่าง  สังฆราชฝรั่งเศสวิเคราะห์เหตุผลของพระเจ้าเสือไว้ว่า

1. เนื่องจากการค้าในสยามร่วงโรยลงไปมากเพราะไม่มีชาวยุโรปเดินทางมา และมีพ่อค้าจากภูมิภาคอินเดียมาน้อย
    
2. ได้ข่าวว่าเจ้าชายฟิลิป พระราชนัดดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ครองราชบัลลังก์สเปน ทำให้สเปนกับฝรั่งเศสเป็นไมตรีกันแล้ว

3. อังกฤษไปตั้งฐานอยู่ที่ เกาะปูโล คอนดอ (Pulo Condore) ทางใต้ของดั่ยเหวียด ทำให้อังกฤษแย่งผลประโยชน์มีอำนาจในการค้าทางทะเลแถบอ่าวไทยไปถึงจีนและญี่ปุ่น   นอกจากนี้พระเจ้าเสือทรงระแวงชาวอังกฤษเนื่องจากในปลายรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มีการสังหารหมู่ชาวอังกฤษที่เมืองมะริด ซึ่งฝรั่งเศสเข้าใจว่าสมเด็จพระเพทราชามีส่วนเกี่ยวข้อง

4. พระเจ้าเสือทรงเกรงชาวดัตช์ เนื่องจากดัตช์มีเหตุหลายประการไม่พอใจในตัวพระองค์ ทำให้ทรงหวังจะได้ฝรั่งเศสไว้คานอำนาจ

ทั้งนี้พบว่าพระเจ้าเสือไม่ได้เชิญชวนฝรั่งเศสเพียงชาติเดียว แต่ยังเสนอให้อังกฤษ เดนมาร์ก และชาติยุโรปทั้งหมดที่ต้องการเข้ามาตั้งรกรากในสยามด้วย  แต่ภายหลังฝรั่งเศสเสื่อมความสนใจต่อสยามเพราะสยามไม่ยอมยกเมืองท่ามะริดให้ตามที่ร้องขอ   อย่างไรก็ตามฝรั่งเศสก็เพิ่งเข้ามามีบทบาททางการค้าจริงจังในสยามในช่วง 4-5 ปีสุดท้ายของรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์เท่านั้น การปฏิวัติขับไล่ฝรั่งเศสออกไปจากสยามของพระเพทราชาในความเป็นจริงจึงไม่น่าจะสร้างผลกระทบสำคัญต่อการค้าของสยามมากอย่างที่เคยเข้าใจครับ

สยามกับฝรั่งเศสก็ยังมีไมตรีกันดีในรัชกาลพระเจ้าเสือและพระเจ้าท้ายสระ  ดังที่จดหมายเหตุของบาทหลวงฝรั่งเศสบันทึกไว้ในช่วงต้นรัชกาลพระเจ้าท้ายสระว่า "ด้วยเหตุว่าเวลานี้ฝรั่งเศสยังเป็นไมตรีกับไทยอยู่ คือว่าทุก ๆ ปีบริษัทฝรั่งเศสก็ได้อาศัยซ่อมแซมเรือที่เมืองมะริด ไทยก็รับรองอย่างดี เมืองฝรั่งเศสจะต้องการอะไรไทยก็จัดหาให้โดยบริษัทไม่ต้องใช่โสหุ้ยมากมายเท่าไรนัก พระเจ้ากรุงสยามองค์ที่สวรรคตก็ได้รับสั่งไว้ แก่เจ้าเมืองตะนาวศรีและเจ้าเมืองมะริดให้รับรองให้ดี และถ้าบริษัทจะต้องการอะไรก็ให้จัดหาให้ ข้อนี้เมื่อมองซิเออร์หลุยได้ไปยังเมืองมะริดก็ได้เห็นปรากฏอยู่แล้ว แลพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ก็ได้มีรับกำชับอย่างนี้เหมือนกัน"

ถึงกระนั้นการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสไม่เคยประสบความสำเร็จเหมือนในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์ เพราะผลจากสถานการณ์ในการค้าของโลก รวมถึงทั้งสองฝ่ายต่างเสื่อมความสนใจของกันและกันไปครับ


ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระยังมีพิธีรับคณะทูตสเปนจากเมืองมะนิลาใน ค.ศ. 1718 (พ.ศ. 2261) ซึ่งเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามเพราะต้องการซื้อข้าวเพื่อแก้ปัญหาภาวะขาดแคลนอาหารในฟิลิปปินส์เวลานั้น  โดยเป็นคณะทูตขนาดใหญ่มีสมาชิกถึง 122 คน ราชทูตเป็นหลานชายของผู้สำเร็จราชการแห่งฟิลิปปินส์   นับเป็นคณะทูตยุโรปชุดสุดท้ายที่เข้ามายังกรุงศรีอยุทธยา ในยุคที่ชาติอื่นๆ ไม่นิยมส่งคณะทูตแล้ว   นอกจากนี้ยังมีการทำสนธิสัญญาทางการค้าและอนุญาตให้ตั้งสถานีการค้าในสยามด้วย  แต่เพราะมีการยึดอำนาจในมะนิลาจนผู้สำเร็จราชการถูกสังหาร สนธิสัญญาที่ทำไว้จึงกลายเป็นแผ่นกระดาษเปล่า


อยุทธยาหันไปทำการค้ากับจีนมากขึ้นตั้งแต่รัชกาลพระเจ้าท้ายสระเป็นต้นมา เพราะตั้งแต่ปลายรัชสมัยคังซี ที่มณฑลกวางตุ้งและฝูเจี้ยนมีภัยธรรมชาติมากทำให้ขาดแคลนข้าวจึงต้องนำเข้าข้าวจากสยามจำนวนมาก  และมีการมอบสิทธิพิเศษทางการค้าให้พ่อค้าสยามที่นำเข้าข้าวหลายอย่างเช่นการยกเว้นภาษี  ทำให้การค้ากับจีนขยายตัวขึ้นมากทั้งในระบบบรรณาการและเอกชน ซึ่งดึงดูดให้ชาวจีนเข้ามาในระบบราชการจำนวนมากด้วย    นอกจากนี้สยามยังอาศัยชาวจีนทำการค้ากับญี่ปุ่นที่กำลังปิดประเทศอยู่ด้วย (เพราะญี่ปุ่นอนุญาตให้จีนค้าขายได้ที่นางาซากิ)

ทั้งนี้ราชสำนักอยุทธยาตอนปลายยังทำการค้ากับโลกตะวันตกคืออินเดียอยู่เสมอ มีการซื้อสินค้าจากอินเดียจำนวนมาก โดยเฉพาะสิ่งทอซึ่งมีการจัดหาสินค้าประเภทนี้ผ่านหลายช่องทาง เช่น VOC พ่อค้ามุสลิมในอินเดีย และอังกฤษที่มีฐานการค้าอยู่ในอินเดีย   โดยอาศัยเมืองมะริดเป็นเมืองท่าสำคัญสำหรับทำการค้ากับเมืองท่าในชายฝั่งโจฬะมณฑล


สรุปแล้ว กรุงศรีอยุทธยาไม่เคยโดดเดี่ยวตนเองจากโลกภายนอกหรือยุติการค้ากับชาติตะวันตกเลย  การค้าต่างประเทศยังคงเป็นกิจการสำคัญในราชสำนักอยู่เสมอ เพียงแต่ลดปริมาณของการค้ากับชาติยุโรปลงไปจากในอดีต ซึ่งมาจากความต้องการของทั้งสองฝ่ายที่เสื่อมความสนใจต่อกันและกันเนื่องจากไม่ได้ผลประโยชน์มากนัก และเป็นเพราะผลจากการเปลี่ยนแปลงทางการค้าของโลกด้วยครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่