หนังสือสร้างคน คนสร้างชาติ โปรด “อ่าน...อีกครั้ง”



ใกล้เข้ามาแล้ว  คนรักหนังสือและหนอนหนังสือเตรียมหอบเงินมาหาซื้อหนังสือกันได้แล้ว  ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16 (46th National Book Fair and Bangkok International Book Fair 2018)  ที่จะจัดขึ้นตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม – วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน 2561 ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  (วันที่ 29 มีนาคม วันแรกเปิดให้เข้าชมเวลา 12.00 น.)







“ ..การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างไทยกับไต้หวันมีคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง  โดยเฉพาะด้านวรรณกรรมซึ่งประเทศไต้หวันอยู่อันดับที่ 3 ของโลก  รองจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ   ความร่วมมือกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยในครั้งนี้  จะช่วยทำให้คนไทยรู้จักประเทศไต้หวันมากขึ้น ในงานสัปดาห์หนังสือฯ ปีนี้เราเตรียมบูธนำเสนอด้วยความงดงามของวัฒนธรรมไต้หวัน  นำเสนอแบบบูรณาการ  ให้คนไทยได้รู้จักไต้หวันอย่างรอบด้าน  โดยรู้จักผ่านสื่อต่างๆ ที่เรานำมาจัดแสดง  เราเชิญนักประพันธ์ไต้หวันมาหลายคน  เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกัน  ขอเชิญชวนชาวไทยทุกท่านมาเยี่ยมชมบูธของประเทศไต้หวันในงานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งนี้ด้วย ..”

คำพูดที่ผมยกมาข้างต้นนี้เป็นคำกล่าวของ ดร.ถง เจิ้น หยวน ผู้แทนภาคเอกชนผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์จากไต้หวัน  ได้กล่าวในงานแถลงข่าว งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 16  เมื่อวันอังคารที่ 6 มีนาคม 2561 ณ ห้องมิตติ้งรูม 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์   ผมลองสรุปคำกล่าวบางส่วนของหัวเรือใหญ่ทางไต้หวันมาให้ท่านได้ทราบ  เป็นคำยืนยันที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของทางประเทศไต้หวัน   ที่ร่วมเป็น Guest of Honor ของงานสัปดาห์หนังสือฯ ในครั้งนี้  ดูท่าทางว่าทางประเทศไต้หวันเอาจริงเอาจังเรื่องหนังสือและงานวรรณกรรมเป็นอย่างมาก

ในงานแถลงข่าวฯ ครั้งนี้มีช่วงเสวนาที่น่าสนใจในหัวข้อ หนังสือสร้างคน คนสร้างชาติ โปรด “อ่าน...อีกครั้ง”  ที่นำการเสวนาโดย คุณสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) , คุณสุลักษณ์ วิศวปัทมวรรณ อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย , คุณคธาวุฒิ เกนุ้ย อุปนายกฝ่ายในประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย และคุณอนุรักษ์ กิจไพบูลย์ อนุกรรมการฝ่ายต่างประเทศและหัวหน้าคณะผู้ประสานงาน Guest of Honor   โดยมีรายละเอียดของการพูดคุยที่น่าสนใจดังนี้

(รายละเอียดจากการเสวนาในครั้งนี้  ผมจดเป็นบันทึกช่วยจำย่อ (จดเลคเชอร์) แล้วจึงนำมาเรียบเรียงใหม่  ดังนั้นถ้ามีรายละเอียดประการใดที่ผิดพลาด  หรือคาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง  ผมก็ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ  ขอบคุณมากครับ)



เริ่มจากพิธีกรถามคุณสุชาดา นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ว่ามีแนวคิดอย่างไรในการจัดงานครั้งนี้

คุณสุชาดา สหัสกุล

-เราเชื่อมั่นในพลังแห่งการอ่าน  เราเชื่อในพลานุภาพของหนังสือ  ปัจจุบันดิจิทัลเข้ามาทำให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่ในความเป็นจริงโลกเราก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นมาจากคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ย่อท้อและยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่างๆ  คนที่เปลี่ยนแปลงโลกได้อย่าง ไอสไตน์ , เซอร์ไอแซค นิวตัน หรือแม้แต่ สตีฟ จ๊อบ , มาร์ค ซัลทัลเบิร์ก ก็ตาม  คนที่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงโลกล้วนอ่านหนังสือกันทุกคน

-และเราเชื่อว่าการที่คนผู้เปลี่ยนแปลงโลกเหล่านี้เป็นนักอ่าน  เขาอ่านเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ดีๆ ขึ้นในโลก อ่านเพื่อพัฒนาสิ่งดีๆ ขึ้นมา  คนพวกนี้สร้างสิ่งดีๆ ให้แก่โลก   เราจึงเอาแนวคิดนี้มาเป็นที่มาของคำว่า “หนังสือสร้างคน คนสร้างชาติ”

-เมื่อเขาอ่านเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นแล้ว  เราก็ควรจะ “อ่าน...อีกครั้ง”  ด้วย

-ในงานสัปดาห์หนังสือฯ ในครั้งนี้  มีนิทรรศการ “อ่าน...อีกครั้ง”   เราอยากจะเชิญชวนคนไทยให้กลับมาอ่านหนังสือกันอีกครั้ง   ในนิทรรศการครั้งนี้จะเป็นการแสดงถึงพลานุภาพในการอ่าน วิวัฒนาการในการอ่าน  ดังที่เราทราบกันดีว่า  เมื่อมีการสร้างแท่นพิมพ์ขึ้นมาในโลก ทำให้การอ่านกระจายไปสู่คนชั้นล่างได้ ทำให้การอ่านเป็นสิ่งที่ทำได้ทั่วไปด้วย

-เราจะจัดแสดงหนังสือที่ถือว่าเป็น “การอ่านเปลี่ยนโลก”  อาทิเช่น หนังสือเรื่อง “กระท่อมน้อยของลุงทอม” ในเรื่องพูดถึงสิทธิเสรีภาพคนคนผิวสี  เล่มนี้เป็นหนังสือที่นำมาซึ่งการเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศสหรัฐอเมริกา  ฯลฯ จะเห็นได้ว่า หนังสือ 1 เล่มสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้

-อย่างในประเทศไทย หนังสือที่ถือว่าเป็น “การอ่านเปลี่ยนไทย” มีหลายเล่มเหมือนกัน  อาทิเช่น หนังสือชื่อ “ฉันจึงมาหาความหมาย” ของวิทยากร เชียงกูล ที่ถือว่ามีอิทธิพลต่อแนวความคิดของคนหนุ่มสาวในสมัยนั้น  ในช่วงที่เป็นยุคแสวงหาที่พยายามหาความหมายให้แก่สังคม  จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง 14 ตุลา 2516

-ส่วนเรื่องการอ่านหนังสือดิจิทัลนั้น  ดิจิทัลไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับคนอ่านเลย แต่เป็นการช่วยเสริมในเรื่องการอ่าน  ช่วยให้การอ่านมีประสิทธิภาพมากขึ้น

-ในงานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งนี้  เรามีแท่นพิมพ์โบราณนำมาจัดแสดงด้วย  รวมทั้งมีหนังสือเรื่อง “จินดามณี” ที่ขอยืมมาจากหอสมุดแห่งชาติ  นำมาจัดแสดงให้ชมด้วย ในตอนนี้มีกระแสจากละครเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ของรอมแพง  ตัวละครคุณพ่อของพระเอก (ถ้าผมจดมาผิดก็ขออภัยด้วยครับ) เป็นคนที่แต่งหนังสือจินดามณีเล่มนี้  พวกออเจ้าทั้งหลายตามมาชมกันได้เลย

-สำหรับงานนิทรรศการปีนี้จะมี 8 นิทรรศการ โดยมีดังนี้

1.) นิทรรศการ “อ่าน...อีกครั้ง” จัดโดย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK Park จัดที่บริเวณเมนฟอร์เย่ (หน้าห้องเพลนารี ฮอลล์)

2.) นิทรรศการ CCC : Creative Comic Creation จัดโดยสมาคมผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์แห่งไทเป และกระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน จัดบริเวณฮอลล์ A  และห้องมิตติ้งรูม 2

3.) นิทรรศการ 100 ปี นายผี อัศนี พลจันทร จัดโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดที่ห้องมิตติ้งรูม 1

4.) นิทรรศการ หนังสือดีเด่น 2561 จัดโดยสพนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดบริเวณโซนฮอลล์ A

5.) นิทรรศการ “เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา รัตนมณีสาร เมื่อข้าพเจ้าเขียน “ย่ำแดนมังกร” ไป๋อิ๋นน่า หมู่บ้านลึกลับริมฝั่งน้ำ” จัดโดยบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด จัดที่บริเวณฮอลล์ A

6.) นิทรรศการ “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้กรุงเทพมหานคร (MBA Book&Library Fair) จัดโดยกรุงเทพมหานคร จัดที่ห้องมิตติ้งรูม 1

7.) นิทรรศการ “วรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้า 2561” จัดโดยรัฐสภา จัดที่โซนพลาซ่า

8.) นิทรรศการ “ภาพในวาระปีแห่งปะการังสากล (IYOR 2018) มรดกท้องทะเลไทย (Thai sea Heritage) จัดโดยสำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ จัดที่บริเวณโซน C1

-ในงานสัปดาห์หนังสือฯ ปีนี้  บนเวที่เอเทรียม มีการจัดงานเสวนา 96 รายการ (ใครจะอยู่ฟังให้ครบบ้าง?) รวมทั้งรายการเสวนาของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ในชื่อ “7 วัน อ่าน...อีกครั้ง กับ 7 นักเขียนดัง”    ปีนี้เราอยากใช้เลข 7 เพราะเลข 7 เป็นเลขมหัศจรรย์ วันในสัปดาห์ก็มี 7 วัน , รุ้งก็มี 7 สี , สิ่งมหัศจรรย์ของโลกก็มี 7 อย่าง

-โดยงาน “7 วัน อ่าน...อีกครั้ง กับ 7 นักเขียนดัง” จัดเวลา 18.00 น. บนเวทีเอเทรียมตามวันดังนี้

1.) วันจันทร์ที่ 2 เมษายน 2561 อ่าน... มรว.คึกฤทธ์ ปราโมช

2.) วันอังคารที่ 3 เมษายน 2561  อ่าน...โกวเล้ง

3.) วันพุธที่ 4 เมษายน 2561  อ่าน...มาลัย ชูพินิจ/น้อย อินทนนท์

4.) วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน 2561  อ่าน ... ป. อินทรปาลิต

5.) วันศุกร์ที่ 6 เมษายน 2561  อ่าน...คำพูน บุญทวี

6.) วันเสาร์ที่ 7 เมษายน 2561  อ่าน...มูราคามิ

7.) วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน 2561  อ่าน... ประภาส ชลศรานนท์

-สำหรับงาน “7 วัน อ่าน...อีกครั้ง กับ 7 นักเขียนดัง” นี้ ใครที่สนใจนักเขียนคนใดก็เข้าฟังได้ฟรี   โดยเราจะเชิญวิทยากรมาพูดถึงหนังสือประทับใจของนักเขียนท่านนั้นๆ เพื่อที่คนฟังจะได้ไปตามหาซื้อหนังสือได้

-หนังสือไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่พอเรากลับมาอ่านมันอีกครั้งความรู้สึกมันจะเปลี่ยนแปลงไป มันเป็นเพราะว่าเราโตขึ้น  เรามีประสบการณ์มากขึ้น ความคิดเห็นเกี่ยวกับหนังสือที่เราเอามาอ่านอีกครั้งก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย





คุณคธาวุฒิ เกนุ้ย อุปนายกฝ่ายในประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

-ปีนี้สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย จัดงานสัปดาห์หนังสือฯ เต็มพื้นที่  โดยมีหนังสือที่ออกใหม่ในงานมากกว่า 600 ปก  มีบูธทั้งสิ้น 945 บูธ เป็นบูธจากสำนักพิมพ์ของไทย 407 แห่ง  ทุกพื้นที่ในศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์จะแน่นเป็นพิเศษ

-สำหรับงานสัปดาห์หนังสือฯ ของเรา  จากข้อมูลบ่งบอกว่าเป็นงานอีเว่นท์ที่มีขนาดใหญ่มาก  เราภูมิใจว่าเราใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน  และใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชีย  ปีที่แล้วมีคนเข้าชมงานกว่า 2 ล้านคน

-จากสถิติจะเห็นว่า  กลุ่มลูกค้าใหม่ที่เข้ามาจะมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ เราดีใจมากที่เยาวชนยังสนใจการอ่านกันอยู่

-ปีนี้มีความแปลกใหม่คือ  บูธต่างๆ จะมีความสวยงามมากขึ้น  เนื่องจากเราจัดประกวดบูธสวยงามดีเด่นด้วย โดยมี 3 รางวัลสำหรับ 1.บูธขนาดใหญ่ 2.บูธขนาดกลาง 3.บูธขนาดเล็ก

-สำหรับการตัดสินบูธสวยงามดีเด่นนั้น เราจะเชิญสถาปนิก (ผู้ทรงคุณวุฒิในการสร้างสรรค์ทางออกแบบก่อสร้าง) มาเป็นผู้ตัดสิน โดยจะตัดสินในวันที่ 3 ของงาน เพื่อให้คนอ่านไปเยี่ยมชมบูธที่ชนะเลิศได้ สำหรับบูธที่ชนะเลิศจะได้โล่ห์จากทางสมาคมฯ ไปประดับบูธด้วย

-และที่เป็นไฮไลท์สุดสำหรับผู้เข้าเยี่ยมชมงานสัปดาห์หนังสือฯ ในครั้งนี้  เราจะมีการประกวดภาพถ่ายในหัวข้อ “อ่านจากภาพ@สัปดาห์หนังสือ”  การประกวดครั้งนี้มีเงินรางวัลใหญ่ ผู้ชนะเลิศจะได้เงินรางวัล 10,000 บาท

-ในการประกวดภาพถ่ายนี้  ไม่จำกัดว่าจะเป็นกล้องอะไร กล้องเล็ก,กล้องธรรมดา,กล้องแปลกขนาดไหนก็ส่งประกวดได้  กล้องจากมือถือก็ส่งประกวดได้  เพียงแค่กติกาคือเป็นภาพที่ถ่ายจากในงานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งนี้ และในรูปต้องมีภาพหนังสืออยู่ด้วย  ผู้สนใจสามารถโพสภาพในเฟสบุ๊คของตัวเองได้ เปิดตั้งค่าเป็นสาธารณะ และติดแฮคแท็ก  #อ่านอีกครั้ง และ #สัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่46   ซึ่งการประกาศผลจะมีขึ้นในวันที่ 6 เมษายน ก่อนงานจบ 2 วัน  โดยผู้สนใจสามารถโพสภาพเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม – 6 เมษายน 2561

-การตัดสินการประกวดภาพถ่ายในหัวข้อ “อ่านจากภาพ@สัปดาห์หนังสือ”   นี้จะตัดสินจาก 1.) ความสวยงามของภาพ  2.) ภาพสื่อสารอะไรบ้าง

-ในงานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งนี้  กระแสละครเรื่องบุพเพสันนิวาสมาแรงมาก เชื่อว่าในงานจะมีหนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยุธยา  ช่วงสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนาราษณ์มหาราช มาวางขายกันเยอะมากแน่ๆ  ท่านใดที่สนใจก็เชิญมาเดินชมงานและเลือกซื้อหนังสือกันได้

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่