[CR] Xiaomi Mi Roborock S50 Robot Vacuum Cleaner 2

จากที่ผมได้เห็นรีวิวหุ่นยนต์ดูดฝุ่นของ Xiaomi เมื่อเดือนก่อน ก็เลยหาข้อมูลเกี่ยวกับหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่มีในบ้านเราว่ามียี่ห้อไหนบ้างทีน่าสนใจและเหมาะกับการใช้งานของเรา

หลังจากพยายามหาข้อมูลมาซักระยะ ก็ได้มา 2 ยี่ห้อคือ iRobot กับ Neato ซึ่งพอศึกษาข้อมูลของทั้ง 2 ยี่ห้อดู ก็พบว่า ผมน่าจะต้องใช้รุ่น Roomba 980 ของ iRobot หรือไม่ก็ Botvac D5 Connected ของ Neato ซึ่งราคาที่พอจะหาได้ถูกสุดก็ราวๆ 32,000 บาทกับ 28,000 บาทตามลำดับ และข้อมูลที่หาจากทั้งทางเน็ตและจากการสอบถามพนักงานขาย ก็ยังไม่ค่อยละเอียดนัก

ในระหว่างนั้นก็เลยลองหาข้อมูลของ Xiaomi เพิ่มเติม แต่เป็นรุ่น 2 และลองหารีวิวจากเว็ปต่างประเทศ พอมาเทียบกันดูแล้ว สุดท้ายเลยมาจบที่ Xiaomi

สอบถามจากทางตัวแทนจำหน่ายของ Xiaomi ได้คำตอบว่า ยังไม่มีการนำเข้ารุ่น 2 ที่มีขายอยู่มีแต่รุ่น 1 ก็เลยลองหาทางเน็ต ได้มาที่ราคา 14,500 บาท + ค่าส่งอีก 40 บาท สั่งของไปเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เพิ่งได้รับของมาวันนี้ (5 มีนาคม) ก็เลยเอามาลองใช้งานและทำรีวิวมาลงไว้ เผื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่กำลังหาข้อมูลอยู่

เริ่มจากกล่อง แพ็คมาไม่ใหญ่มาก


แกะออกจากกล่อง จะมี
- เครื่องดูดฝุ่น
- คู่มือภาษาอังกฤษ
- แท่นชาร์ต + แผ่นรองกันพื้นเปียก (ในกรณีที่พื้นบ้านเป็นพื้นไม้และใช้ฟังก์ชั่นถูพื้น)
- ถังใส่น้ำ + ผ้าถูพื้น (ให้มา 2 ผืน) + อะไหล่ฟิลเตอร์ถังน้ำ 4 ชิ้น
- แผ่นกรองอากาศ 1 ชิ้น (อะไหล่)


ภาพจากด้านบน จะเห็นปุ่มอยู่ 3 ปุ่ม ไล่จากซ้ายไปขวา
- ปุ่มทำงานเฉพาะจุด
- ปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง และสั่งให้เครื่องทำงาน
- ปุ่มชาร์ตไฟ
ซึ่งทั้ง 3 ปุ่มไม่น่าจะได้ใช้บ่อยๆ เพราะปกติจะสั่งงานทางโทรศัพท์มือถือ

ส่วนแท่นกลมๆตรงกลาง เป็นแท่นเลเซอร์สำหรับยิงแสงออกไปเพื่อวัดและทำแผนที่พื้นที่ที่จะทำความสะอาด
ในส่วนของครึ่งวงกลมด้านหลัง เป็นฝายกเปิดเพื่อเอากล่องเก็บฝุ่นออกมาเท


ยกฝาท้ายขึ้นมา จะเห็นกล่องเก็บฝุ่น ซึ่งแกะออกมาเทง่ายมาก และข้างๆจะมีแปรงไว้สำหรับทำความสะอาดลูกกลิ้งด้านล่าง
กล่องเก็บฝุ่นมีขนาด 0.45 ลิตร ซึ่งดูแล้วเล็กไปหน่อย เมื่อเทียบกับอีก 2 ยี่ห้อที่มีขนาด 0.70 ลิตร


กล่องเก็บฝุ่น เปิดมาเทฝุ่นง่ายกว่ารุ่น 1


พลิกหงายท้องมา จะเห็นว่ามี
- ล้อนำ 1 ล้อและล้อใหญ่ๆ 2 ล้อ
- เซ็นเซอร์กันตก 4 จุด
- จุดสำหรับชาร์ตไฟอยู่ใต้เครื่อง
- ช่องดูดฝุ่นและแปรง
- แปรงข้าง 1 ข้าง
จะเห็นว่ามีแปรงข้างแค่ฝั่งเดียว เนื่องจากเป็นระบบที่จะเดินไล่ไปตามกำแพงเพื่อทำแผนที่ โดยจะใช้ฝั่งที่มีแปรงข้างเป็นฝั่งที่ชิดกำแพง และฝั่งนั้น ด้านข้างจะมีเซ็นเซอร์อีกตัวนึง


ในส่วนของช่องดูดฝุ่น สามารถถอดฝาออกมา เพื่อเอาตัวลูกกลิ้งด้านในออกมาทำความสะอาดได้ ซึ่งถอดออกมาได้ไม่ยาก


ถ่ายรูปคู่มือหน้าที่อธิบายชิ้นส่วนต่างๆของเครื่องมาให้ดูครับ


เสียบแท่น ชาร์ตไฟ รอที่จะทำงาน
ไฟที่อยู่ในเครื่อง มีประมาณ 60%
ขนาดความจุของแบตเตอรี่ 5400 มิลลิแอมป์


หลังจากชาร์ตไฟเต็ม ก็ไปโหลดแอป Mi Home
จัดการลงทะเบียน แล้วเข้าไปเซ็ตค่าต่างๆตามขั้นตอนในแอป ให้เครื่องดูดฝุ่นลิ้งค์เข้ามาเพื่อสั่งงานได้ทางโทรศัพท์มือถือ
ช่วงแรกก็งงๆนิดหน่อย เลยไปเปิดหาวิธีเซ็ตค่าต่างๆในยูทูป
จากนั้นก็สั่งให้ทำงาน ผลออกมาก็ตามภาพ พื้นที่ 82 ตรม. ใช้เวลาไป 85 นาที เหลือไฟ 57%
ลักษณะการเดิน จะเดินไล่ไปตามกำแพง และจะตีกรอบพื้นที่ทีละล็อค แล้วไล่ดูดในล็อคให้เสร็จก่อน โดยดูดแบบวิ่งไป-กลับ ไม่ใช่แบบสุ่ม
พอเสร็จล็อคแรก ก็จะไปตีกรอบล็อคต่อไป แล้วก็ทำงานต่อจนครบทั้งบ้าน
จากการสังเกตดู จะเห็นว่าพื้นที่ถูกตีกรอบเป็น 9 ล็อค


การข้ามสิ่งกีดขวาง สามารถข้ามได้สูงราวๆ 1.50 เซ็นติเมตร
ผมลองให้ข้ามขอบประตูกระจกดู (ความสูงราวๆ 1 เซ็นติเมตร) ก็ข้ามได้ไม่ยาก (ตอนแรกก็กลัวว่าจะติด เพราะมันเป็นร่อง)
แต่ผ้าเช็ดเท้า กลับเป็นอุปสรรค เพราะผ่านไม่ได้ เครื่องติดและแจ้งเตือนมาที่โทรศัพท์ คิดว่าน่าจะเพราะผ้ามันไม่หนาและขยับได้ มันเลยไปพันล้อได้ง่าย


ฝุ่นจากการดูดรอบแรก หลังจากที่ไม่ได้ดูดฝุ่นบ้านมาเกือบอาทิตย์
เปิดกล่องเอามาเทได้ง่าย


สรุปข้อดี (จากการใช้งานครั้งแรก)
- ราคาไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่นที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานใกล้เคียงกัน
- ใช้งานง่าย เมื่อเชื่อมต่อกับมือถือ สั่งงานโดยแอป สามารถตั้งเวลาทำความสะอาดได้อย่างอิสระ (ไม่จำเป็นต้องทำงานเวลาเดียวกันทุกวัน)
- กล่องเก็บฝุ่นและแกนหมุนด้านล่าง ถอดออกมาทำความสะอาดง่าย
- อะไหล่สิ้นเปลือง (แปรงข้าง แผ่นกรองอากาศ แบตเตอรี่) ราคาไม่แพง
- เสียงไม่ดังมาก (เปิดทำงานขณะดูโทรทัศน์ไปด้วย เสียงมารบกวนไม่มาก)
- ระบบแผนที่จำลอง (Mapping) ทำให้การทำงานครอบคลุมทุกพื้นที่เมื่อเทียบกับระบบสุ่ม (Random)
- (ข้อมูลที่หามาจากเน็ต) ถ้าแบตหมด เครื่องจะเดินกลับมาชาร์ตไฟ และเมื่อไฟเต็ม เครื่องจะเดินไปทำงานต่อ ณ จุดที่ทำงานค้างไว้ (ซึ่งคงไม่ได้ใช้งานฟังก์ชั่นนี้ เพราะขนาดพื้นที่ราวๆ 80 ตรม. แบตยังเหลือเกือบ 60%)

ข้อเสีย (เท่าที่ลองใช้งานวันแรก)
- การทำความสะอาดบริเวณที่เป็นมุม น่าจะยังไม่ดีพอ ถ้าแปรงข้างยาวขึ้นกว่านี้อีกซัก 1-1.5 เซ็นติเมตร น่าจะทำความสะอาดมุมได้ดีขึ้น จากการหาข้อมูล ดูเหมือนว่า ของ Neato จะทำความสะอาดบริเวณที่เป็นมุมได้ดีกว่า เพราะออกแบบมาให้เป็นทรงเหลี่ยมด้านหน้า
- อุปสรรคบางอย่าง เช่น ผ้าเช็ดเท้า ก้าวข้ามไม่ได้
- กล่องใส่ฝุ่นเล็กไปหน่อย (0.45 ลิตรเมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่นที่ 0.70 ลิตร)

ในส่วนของการถูพื้น ผมไม่ได้ลองใช้งาน และคิดว่าน่าจะไม่ได้ใช้งาน เพราะดูแล้วน่าจะครอบคลุมพื้นที่ไม่หมด เนื่องจากถังใส่น้ำไม่ใหญ่มาก

ส่วนของการรับประกัน ผมไม่ทราบและไม่ได้สอบถามกับร้านที่ขาย คิดเอาเองว่า มันไม่น่าจะเสียง่าย และถ้ามันเสียจริงๆ ก็จะลองโทรไปถามร้านที่ซื้อมาดูก่อน ไม่ก็ยกไปให้ศูนย์ Xiaomi ซ่อมให้เลย

หากใครสนใจจะซื้อมาใช้งาน คงต้องหาสั่งจากทางเว็ปเอาครับ เพราะทางร้าน Mi Shop ตามห้างยังไม่ได้นำเข้ามาขาย
สั่งเอาจากเว็ปในไทยได้เลยครับ ราคา 14,500 บาท รอประมาณ 10 วันได้ของ
ผมลองเช็คราคาจาก Aliexpress เจออยู่ที่เกือบๆ 450 เหรียญสหรัส ก็ตกราวๆ 14,000 บาทต้นๆ แต่ไม่กล้าสั่งเพราะกลัวโดนสุ่มเสียภาษีนำเข้า
ดูให้ดีๆก่อนสั่งซื้อด้วยนะครับ เพราะหน้าตารุ่น 1 กับ 2 มันคล้ายๆกัน เดี๋ยวจะกดมาผิดรุ่น
ชื่อสินค้า:   เครื่องดูดฝุ่นอัตโนมัติ Xiaomi Mi
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่