วันนักข่าว กับ ข่าวปลอม บนโลกโซเชียล

5 มีนาคม เป็นวันนักข่าว ทำให้นึกถึงองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวกับข่าว ทั้งข่าวจริง ข่าวปลอม สื่อ การทำหน้าที่ของสื่อในการนำเสนอข่าวสารต่าง ๆ และช่องทางการไหลของข่าว เป็นต้น  


ปัจจุบันสื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างมาก ข่าวจึงได้เปลี่ยนรูปแบบไป และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้ยากต่อการติดตามและตรวจสอบที่มาที่ไปของข่าว จึงเกิดข่าวปลอมขึ้นทุกวัน โดยพาดหัวแรง ๆ หรือใช้องค์กรหรือตัวบุคคลเป็นตัวเรียกยอดชม ยอดไลค์ ยอดแชร์ บ่อยครั้งที่พาดหัวกับเนื้อข่าวไม่ได้ไปด้วยกัน

ที่สำคัญสื่อหลัก ๆ บางค่ายก็ยังนำข่าวปลอมที่มีคนติดตามมากในโซเชียลมีเดียไปนำเสนอต่อในเพจและเว็บไซต์ของตน เพื่อหวังเรียกยอดไลค์ยอดแชร์ต่อเพจตัวเองให้ได้มากเช่นกัน ซึ่งก็แสดงให้เห็นอีกอย่างด้วยว่า การทำหน้าที่ของสื่อในปัจจุบัน ก็เปลี่ยนรูปแบบไปเช่นกัน

ในยุคที่ข่าวปลอมแพร่ระบาดบนโลกโซเชียล ผลสำรวจระดับสากลก็พบว่า คนไทยถึง 40% เชื่อถือข้อมูลที่ได้รับจากช่องทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยจากประเทศอื่นถึง 35% และสูงกว่าประเทศอื่นที่มีการสื่อสารผ่านช่องทางดิจิทัลมายาวนานกว่า อย่างเช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

ไม่เพียงเท่านั้น ยังพบว่าทั่วโลกมีการใช้คำว่าข่าวปลอมเพิ่มมากขึ้นถึง 365% ดังนั้น พจนานุกรมคอลลินส์ (Collins Dictionary) จึงได้ยกคำว่า “Fake News” ให้เป็นคำแห่งปี 2017 และจะบรรจุในพจนานุกรมที่จะตีพิมพ์ในครั้งต่อไป โดยให้คำนิยามว่า Fake News หมายถึง false, often sensational, information disseminated under the guise of news reporting (เท็จ, ดึงดูดใจ, เป็นข้อมูลที่ถูกเผยแพร่แบบการรายงานข่าว)


นอกจากนี้ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ยังได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาข่าวปลอมหรือข่าวลวง ว่าเป็นวิกฤติศรัทธาต่อองค์กรสื่อ

“ข่าวลวง” คือ ข่าวที่ปล่อยบนออนไลน์ โซเซียลมีเดียและแพลตฟอร์มอื่น ๆ แล้วมักถูกเน้นย้ำด้วยสื่อมวลชนอีกครั้ง จากมุมมองของผู้รับสาร “ข่าวลวง” ไม่ได้หมายความแค่ข่าวผิด แต่รวมถึงการเขียนข่าวการนำเสนอข่าวที่แย่ และการโฆษณาชวนเชื่อ

Fake News หรือ “ข่าวลวง” ในประเทศไทย กำลังเป็นประเด็นร้อนถกเถียง วิพากษ์ เรียกร้อง ให้มีการกระทำบางอย่างเพื่อหยุดข่าวลวง “ข่าวลวงสำหรับหลายคนหมายถึง ข่าวที่เราไม่เชื่อถือและนั่นรวมถึงข่าวที่มาจากสำนักข่าวคำพูดของนักการเมืองที่โกหก บิดเบือน และเกินจริง”

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้


ข่าวปลอม ข่าวลวง Fake News เหล่านี้ คนที่ทำขึ้นมาไม่หวังดีต่อใครใด ๆ ทั้งสิ้น โดยเฉพาะต้องการสร้างความปั่นป่วน ประสงค์ร้ายต่อบุคคลที่เป็นข่าว และหวังยอดวิว ยอดไลค์ ยอดแชร์ ให้ได้มาก ๆ หรือแม้แต่หวังจะมีตัวตนบนโลกโซเชียล ดังนั้น เราที่เป็นผู้เสพข่าวจึงควรเสพสื่ออย่างมีสติ ใช้วิจารณญาณให้มาก ๆ คิดให้มาก วิเคราะห์ให้มาก ดูความน่าจะเป็นให้มาก อย่าเพิ่งเชื่อข่าวประเภท “เขาเล่าว่า” หรือ เขากดไลค์ กดแชร์กันมาก สื่อหลักเองก็ยิ่งต้องใช้วิจารณญาณมากกว่าหลาย ๆ เท่า เพราะตัวเองทำอะไรมีผลกระทบต่อสังคมมาก อย่ามักง่าย คิดง่าย ๆ แค่หวังยอดวิว ยอดไลค์ ยอดแชร์

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่