กรณืพิพาทอินโดจีน (๑) ๕ มี.ค.๖๑

เรื่องเล่าจากอดีต

กรณีพิพาทอินโดจีน (๑)

พ.สมานคุรุกรรม

ในเรื่องทหารอาสาสงครามโลกครั้งแรก ผมได้เอ่ยถึง พันเอก แสง จุละจาริตต์ ไว้หลายหน ท่านผู้นี้เป็นผู้ใหญ่ที่ผมเคารพนับถือมากผู้หนึ่ง ท่านสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในกรณีพิพาทกับอินโดจีนของฝรั่งเศส นั้น ตัวท่านเองก็ได้เกี่ยวข้องอยู่โดยตลอด เพราะรับราชการในกรมรถไฟไทย จนกระทั่งได้เป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ในที่สุด

เมื่อวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.๒๕๓๗ ท่านได้ส่งหนังสือเล่มใหญ่ที่ท่านเขียนเอง มาให้ผมแทน ส.ค.ส.หนังสือเล่มนั้นมีชื่อว่า กรมรถไฟกับกรณีพิพาทอินโดจีนของฝรั่งเศส ซึ่งมีเรื่องราวตั้งแต่มูลเหตุดั้งเดิม จนถึงสิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ รวม ๓๑ บท หนา ๓๓๔ หน้า

ซึ่งผมจะได้ใช้เป็นข้อมูลในการเล่าเรื่องต่อไป โดยขอแนะนำท่านผู้เขียนเสียก่อน เป็นการไหว้ครู

ท่าน แสง จุละจาริตต์ เกิดเมื่อ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๑ สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ ๖ แผนกภาษาฝรั่งเศส จากโรงเรียนอัสสัมชัญ

เป็นนักเรียนนายดาบ โรงเรียนนายร้อยทหารบก เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๒

ออกรับราชการยศนายดาบ ตำแหน่งผู้บังคับหมวด กองร้อยที่ ๒ กองพันทหารสื่อสารที่ ๑ รักษาพระองค์ กรมทหารช่างที่ ๑ รักษาพระองค์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔

รับราชการอยู่จนได้เลื่อนยศเป็น ร้อยตรี ร้อยโท และร้อยเอก จึงโอนไปรับราชการทางกรมรถไฟ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑

ในขณะที่เกิดกรณีพิพาทอินโดจีน ท่านมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกรถสินค้า กองเดินรถ ฝ่ายการเดินรถ มีอายุประมาณ ๔๒ ปี ซึ่งฝ่ายการเดินรถจะต้องรับผิดชอบ ในการขนส่งกองทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ จากหน่วยปกติไปยังแนวชายแดนที่รวมพล ตามแผนยุทธการของกองทัพบกให้เรียบร้อยทันเวลาที่กำหนด

ก่อนที่จะถึงกรณีพิพาทนี้ ฝรั่งเศสได้เซ็นสัญญายอมแพ้แก่เยอรมันนี เมื่อ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๘๓ ต่อมาญี่ปุ่นได้ประกาศให้โลกทราบถึงการจัดระเบียบใหม่ ในเอเซียตะวันออก และนโยบายการสร้างวงไพบูลย์ร่วมแห่งเอเซียบูรพา ทำให้ไทยพิจารณาว่า ถ้าญี่ปุ่นเข้ายึดครองอินโดจีนแทนฝรั่งเศส เราควรจะสนใจเกี่ยวกับดินแดนของเราที่เสียไปโดยไม่เป็นธรรมเมื่อ ร.ศ.๑๑๒ หรือ พ.ศ.๒๔๓๖ ในสมัยรัชกาลที่ ๕

ประเทศไทยจึงยื่นข้อเสนอต่อฝรั่งเศส ๓ ข้อ เมื่อ ๑๑ กันยายน ๒๔๘๓ คือ

ประการแรก ขอวางแนวเส้นเขตแดนด้านแม่น้ำโขงให้เป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ โดยถือร่องน้ำลึกเป็นเกณฑ์ เพราะฝรั่งเศสให้เกาะหรือที่ดอนซึ่งอยู่ในแม่น้ำโขง เป็นของอินโดจีนทั้งหมด

ประการที่สอง ปรับปรุงเส้นเขตแดนให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยถือแม่น้ำโขงเป็นเขตแดนตั้งแต่ทิศเหนือจดทิศใต้

ประการที่สาม ให้ฝรั่งเศสรับรองว่า ถ้าอินโดจีนฝรั่งเศสจะเปลี่ยนอธิปไตยจาก ฝรั่งเศส ให้ฝรั่งเศสคืนดินแดนให้แก่ไทย

ในการนี้ฝรั่งเศสได้ปฏิเสธข้อเสนอของไทยทุกประการ และเคลื่อนทหารจากญวนเข้าประชิดชายแดนไทย

ต่อมาถึงวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๔๘๓ หน่วยทหารญี่ปุ่นได้เคลื่อนข้ามพรมแดนจีนตอนใต้ เข้าอินโดจีนฝรั่งเศส หลังเวลาสองยาม เต็มความกว้างด้านหน้า ๔๕ กิโลเมตร ซึ่งมีป้อมและกองทหารของฝรั่งเศสอยู่หลายแห่ง และฝรั่งเศสได้ต่อสู้จนหมดกระสุน ถึง ๒๔ กันยายน ๒๔๘๓ ญี่ปุ่นได้ทิ้งระเบิดเมืองท่าไฮฟองอย่างหนัก และส่งพลขึ้นบกมุ่งไปฮานอย

ทหารฝรั่งเศสตายในการรบ ๘๒๔ คน และถูกจับเป็นเชลย ๒๕๐๐ คน รัฐบาลจอมพลเปแตงในฝรั่งเศสจึงยอมเซ็นสัญญาให้ญี่ปุ่นเข้าไปตั้งฐานทัพในอินโดจีนได้ ญี่ปุ่นก็ปล่อยตัวเชลยทหารฝรั่งเศสทั้งหมดรวมทั้งนายพลผู้บังคับบัญชา และคืนอาวุธให้ด้วย แต่ในความเป็นจริงญี่ปุ่นก็ได้ยึดครองอินโดจีน ส่วนที่เป็นประเทศญวนทั้งหมด

ทางด้านประเทศไทยนั้น ยังคงยืนยันในข้อเรียกร้องเมื่อ ๑๑ กันยายน อยู่เช่นเดิม โดยฝรั่งเศสไม่ให้ความสนใจ ครั้นถึงวันที่ ๒๖ กันยายน มีคนไทยชื่อนายจันทา สินทระโก ถูกตำรวจฝ่ายฝรั่งเศสยิงตายที่เวียงจันทร์ เพราะไม่มีหนังสือเดินทางให้ตรวจ และเมื่อ ๒๗ กันยายน เครื่องบิน ฝรั่งเศสได้บินล่วงล่ำเข้ามาในดินแดนไทย เครื่องบินไทยได้บินขึ้นขับไล่ เครื่องบินฝรั่งเศสก็บินข้ามพรมแดนกลับไป ต่อมาเมื่อเครื่องบินไทยได้บินตรวจการตามแนวแม่น้ำโขง ก็ถูกฝ่ายฝรั่งเศสยิงเอา

ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ พันเอก หลวงยุทธสารประสิทธิ์ ข้าหลวงประจำจังหวัดหนองคายได้เล่าไว้แล้ว

ล่วงเข้ามาถึงเดือนตุลาคม ๒๔๘๓ เครื่องบินฝรั่งเศสได้บินล้ำเขตแดนไทยถี่ขึ้น และทำทีคุกคามอธิปไตยของไทยมากขึ้น ทั้งเครื่องบินที่เข้ามาก็เป็นเครื่องบินรบ และกองทหารของฝรั่งเศสได้ทำการล่วงละเมิดอธิปไตยของไทยมากขึ้น รัฐบาลไทยได้พยายาม อดทนอดกลั้นอย่างที่สุด เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ซ้ำเติมประเทศฝรั่งเศสที่กำลังเคราะห์ร้าย ตัวแม่ประเทศกำลังโศกเศร้าเสียบ้านเมืองแก่เยอรมัน

ในระหว่างนั้นประชาชนคนไทยได้รับรู้ข่าวต่าง ๆ จากวิทยุกระจายเสียง และหนังสือพิมพ์ จึงเกิดความรู้สึกในด้านชาตินิยมมากขึ้น และได้มีการแสดงออกเป็นครั้งแรกด้วยการเดินขบวนของนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันอาทิตย์ที่ ๘ ตุลาคม ๒๔๘๓ ขบวนได้ออกจากมหาวิทยาลัยตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐ น.เศษ มีผู้เข้าขบวนในครั้งนี้ไม่น้อยกว่า ๕๐๐๐ คน ขบวนได้ผ่านไปตามถนนต่างในพระนคร และมีประชาชนได้เข้าร่วมขบวนมากขึ้นทุกที จนมาหยุดอยู่ที่หน้าศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม และตะโกนขอให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเด็ดขาด กับการเรียกร้องดินแดนคืน และชูแผ่นป้าย ซึ่งเขียนข้อความเร้าใจมากมายหลายสิบชิ้น เช่น

“เร็ว ๆ อย่ามัวโยเย ปากเซอยู่นั้น แคว้นเราทั้งนั้นเขาโกงเราไป”

“ไทยยอมตายเมื่อไม่ได้ดินแดนคืน”

“ขอด้วยไมตรีจิตนิดเดียว ขืนขี้เหนียวเอาหมด”

“เราไม่รุกราน แต่เราต้องการดินแดนของเราคืน”

“พูดดีดีไม่ชอบ ต้องปลอบด้วยปืน”

จากนั้นมา การเดินขบวนเรียกร้องดินแดนคืน ก็ได้เกิดขึ้นอย่างมากมาย แม้แต่ในต่างจังหวัดก็กระทำอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ การเดินขบวนอย่างยิ่งใหญ่ของประขาขนในพระนครก็คือวันเสาร์ที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๘๓ เพราะมีผู้เดินขบวนไม่น้อยกว่า ๕๐,๐๐๐ คน

หลังจากนั้นได้มีการเดินขบวนครั้งใหญ่อีกครั้งในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๓ โดยประชาชนจำนวนหลายหมื่นคนในพระนคร และจังหวัดใกล้เคียง ได้ไปชุมนุมกันที่ท้องสนามหลวง และกล่าวคำปฏิญาณตนต่อพระแก้วมรกต ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อสละชีวิตเพื่อชาติ แล้วเคลื่อนขบวนจากศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ไปยังทำเนียบนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอมติของ ประชาชน ในอันที่จะขอให้รัฐบาลใช้กำลังบังคับแก่รัฐบาลอินโดจีนฝรั่งเศส ให้คืนดินแดนที่ไทยเสียไปอย่างยุติธรรม

ในโอกาสนี้มีประชาชนทั่วทุกจังหวัดได้พร้อมใจกัน สละเงินช่วยเหลือข้าราชการทหาร สำหรับเป็นทุนในการเรียกร้องดินแดนคืน ด้วยความพร้อมเพรียงกันเป็นอย่างดียิ่ง เป็นเงินทั้งสิ้น ๖๗๗,๗๘๔ บาท ๔๙ สตางค์

ส่วนผลของการเรียกร้องดินแดนคืนในครั้งนั้น ก็ได้รับการบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์แล้ว แต่รายละเอียดจากหนังสือเรื่อง กรมรถไฟกับกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ยังมีอยู่อีกมาก

ซึ่งจะได้นำมาเล่าในตอนต่อไป.

######
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่