มีใครรอดู "เรือนมยุรา"บ้างครับ?

ได้ข่าวว่าจะสร้างทำไมเงียบจังเลยครับ
(บทประพันธ์ไม่อยู่ณ ที่ใด)
คิดว่าถ้าทำเรื่องนี้ผลตอบรับจะมีมากน้อยแค่ใหนครับ จะสนุกไหม (ที่สำคัญคงได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยเพิ่มขึ้นไปอีกแน่นอนครับ(ช่วงนี้กระแสประวัติศาสตร์กำลังมาแรง)เด็กๆรุ่นใหม่กำลังสนใจกันมากขึ้นนะครับ

เรือนมยุราเป็นเรื่องราวพีเรียดที่เกิดขึ้นในยุคสมัยปลายราชวงศ์บ้านพลูหลวง
เมื่อครั้งที่กรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี
ผู้เขียนเล่าถึงครั้งที่อยุธยาถูกปกครองอยู่ด้วยพระเจ้าเอกทัศน์ (เจ้าประคุณขุนหลวงสุริยามรินทร์)
พระเจ้าแผ่นดินพระองค์สุดท้ายของอยุธยา
ขณะนั้นเหตุการณ์บ้านเมืองวุ่นวาย การเมืองแบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่าย
ด้วยฝ่ายหนึ่งจงรักภักดีแด่พระเจ้าเอกทัศน์
ส่วนอีกฝ่าย ถวายความจงรักภักดีแด่เจ้าฟ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด, ขุนหลวงดอกมะเดื่อ)
ผู้ทรงผนวชอยู่ในเวลานั้น
พระยาเทพสงคราม พ่อของนกยูง เป็นผู้หนึ่งที่ยังจงรักภักดีอยู่กับเจ้าฟ้าอุทุมพร
ทำให้ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระเจ้าแผ่นดินขณะนั้น
จึงทรงให้ย้ายเสาเรือนออกมาปลูกอยู่นอกกำแพงเมือง ใกล้วัดไชยวัฒนาราม
เมื่อครั้งอยุธยาเข้าสู่ยุคสงครามครั้งสุดท้ายกับพม่า
บิดาของนกยูง พร้อมด้วยพี่ชายทั้งหมด (สองคนสุดท้องชื่อคุณส่อง และคุณพร้อม)
ได้ออกรบเยี่ยงชายชาตรีที่มีหน้าที่ต่อชาติบ้านเมือง
เหลือเพียงนกยูงเป็นเจ้าบ้านดูแลบ่าวไพร่ทั้งปวงแต่เพียงผู้เดียว



นกยูงเป็นหลานของหม่อมแส (ไม่แน่ใจว่าจะมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่?)
ผู้เป็นพระสนมเอกในเจ้าฟ้ากุ้ง (เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์)
ซึ่งภายหลังเจ้าฟ้ากุ้งต้องโทษโบยจนสิ้นพระชนม์ด้วยถูกใส่ความว่าเป็นชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์
หนึ่งในพระมเหสีของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (พระราชบิดา)
หม่อมแสผู้นี้จึงหันมาพึ่งพระบารมีเจ้าครอกฟ้ากุณฑล และเจ้าครอกฟ้ามงกุฏ
พระธิดาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศกับเจ้าฟ้าสังวาลย์

เมื่อยังเด็ก นกยูงถูกถวายตัวเข้ามาอยู่ในวังนี้กับหม่อมแส
ได้ซุกซน เล่าเรียนหัดเขียนอ่านหนังสือและบทละครต่างๆ ในวังนี้เอง
ผู้เขียนได้เล่าเกร็ดประวัติของพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา
ซึ่งเป็นนิทานชวาแต่เดิม และแพร่เข้ามาในไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา
และมากลายเป็นบทละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ที่เรารู้จักกันดี
(นิทานเรื่องอิเหนาในสมัยอยุธยา
เป็นเรื่องที่สองเจ้าฟ้าทรงนิพนธ์ตอนจบกันเองแตกต่างกันไป 2 แบบ
และทั้งสองแบบสูญหายไปในในครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2)
อิเหนาที่เรารู้จัก ก็มีเค้าโครงเดียวกันกับอิเหนาสองเรื่องนี้ แต่ก็ไม่เหมือนกันทีเดียว

นอกจากนี้ ผู้เขียนได้เล่าเกร็ดประวัติต่างๆ เกี่ยวกับเจ้าฟ้ากุ้งเอาไว้
ด้วยบรรยากาศในวังของเจ้าฟ้าทั้งสองด้วย

(ในช่วงกลางถึงปลายเรื่อง ผู้เขียนได้กล่าวถึงตัวละครที่มีตัวตนจริง
อย่างเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ข้าแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 1 เอาไว้อีกท่านหนึ่งด้วย ^^)

นกยูงมีเชื้อสายพราหมณ์ตั้งแต่สมัยคุณปู่ทวดของเธอ
เดินเรือมาจากชมพูทวีปในสมัยพระเจ้าอยู่หัวปราสาททอง
ลูกหลานที่ตกทอดมาถึงรุ่นหลานเช่นนกยูง จึงเป็นหญิงสาวร่างสูงโปร่งมีสง่า
ผิวขาวเนียนละเอียด อมชมพู
จมูกโด่งเป็นตะขอ คิ้วหนาเป็นระยับ ดวงตาใหญ่คมดำขลับ
รับกับเส้นผมดกหนาแลสลวย
(ลักษณะเช่นนี้ ผู้เขียนจึงกล่าวว่า แหม่ม คัทลียา คือนกยูงเดินออกมาจากหนังสือทีเดียว)


ตระกูลของนกยูงมีวิชาลี้ลับบางอย่างตกทอดสืบต่อกันมา
ต้นตระกูลพราหมณ์ที่เธอสืบเชื้อสายมานั้นยืนยาวมานับรอยชั่วคน
ย้อนกลับไปถึงสมัยก่อนพุทธกาล มีวิชาเด่นทางด้านเตโชกสิณ หรือการเพ่งไฟ
ความสามารถนี้สามารถทำให้เกิดพลังพิเศษบางอย่าง เช่นการมองเห็นเหตุการณ์ล่วงหน้า
การย่นระยะทาง ย่นระยะเวลา ฯลฯ
ทั้งนี้ขึ้นกำลังความสามารถของผู้ฝึกฝนด้วย
นกยูงเองก็เพิ่งจะได้มาฝึกอย่างจริงจังเอามาโตเป็นสาว
และบ้านเมืองกำลังเข้าช่วงคับขัน
ด้วยว่าผู้เป็นอาเกรงว่าวิชาจะสิ้นสูญไปพร้อมกันตนเอง

ในวันที่นกยูงมาสืบข่าวสงครามกับหม่อมแสที่ในวังนี้เอง
ที่เธอมีโอกาสได้พบกับคุณพระนายไวยวงศาเป็นครั้งแรก
คุณพระนายผู้นี้เป็นหนุ่มรูปงามจอมเจ้าชู้แห่งยุคอยุธยา

ในอดีต นกยูงเคยผูกสมัครรักใคร่อยู่กับคุณพระนายไวยวงศา
ผู้เป็นลูกหลานบ้านเจ้าคุณศรีเสาวราช ใกล้วัดศรีมหาธาตุ
ในครั้งนั้น คุณพระนายลงทุนส่งเพลงยาวจีบนกยูงเสียไพเราะเพราะพริ้ง
เหมือนกับที่ตนเคยจีบสาวๆ มาแล้วทั่วกรุง
ไม่เว้นแม้แต่พี่ยี่ภู่ กึ่งพี่เลี้ยงกึ่งบ่าวในเรือนของนกยูง
เขามีนางเล็กๆ เต็มเรือน ผิดแต่เพียงยังไม่มีเมียเอกเท่านั้น
โชคดียังเป็นของนกยูง ที่ทั้งคู่เพียงแต่ตกลงสัญญารักต่อกัน
แต่ยังไม่ทันได้ดำเนินไปมากกว่านั้น ก็เกิดสงครามขึ้นเสียก่อน

ในวันที่ศึกประชิดใหญ่หลวง ถึงคราวใกล้กรุงแตก
พระยาเทพสงครามได้ทำพิธีสวดกฤตยามนต์อันเป็นวิชาจำเพาะของตระกูล
เพื่อซ่อนเร้นกำบังบ้านหลังนี้ให้พ้นจากสายตาของศัตรูและมนุษย์ทุกผู้
พิธีนี้ใช้สิ่งของพิเศษอย่างหนึ่งคือนกยูงสำริดสีเกือบดำสนิทในหอพระภายในบ้าน
แพนหางของนกยูงสำริดสามารถหมุนโคจรเพื่อกำหนดเวลาภายในบ้านให้ช้ากว่าเวลาข้างนอก
หนึ่งชั่วยามภายในบ้านหลังนี้ เทียบเท่ากับร้อยชั่วยามของเวลาภายนอก
นกยูงจึงมีชีวิตเสมือนเป็นอมตะ
ข้ามผ่านเวลามาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ (เวลาในเรื่องคือ พ.ศ. 2538)
อันเป็นเวลาที่กฤตยามนตร์ใกล้จะถึงกาลเสื่อมลงตามวาระ

นกยูงออกจากบ้านครั้งแรกในวันที่เสบียงที่กักตุนไว้ใกล้จะหมด
เธอตั้งใจออกมาซื้อหาข้าวสารอาหารแห้ง
เพื่อจะพบว่าโลกปัจจุบันก้าวไกลไปจากโลกของเธอร่วม 200 ปี

ผู้เขียนได้ถ่ายทอดจินตนาการถึงความรู้สึกของมนุษย์คนหนึ่ง
ที่เคยเห็นความรุ่งเรืองของบ้านเมืองอันสวยงามที่สุด
แล้วกลับกลายเป็นเหลือแต่ซากปรักหักพัง
ด้วยสายตาของนกยูง เราได้เห็นความงดงามแต่ครั้งอดีต
แล้วความหดหู่ เศร้าเสียใจในความทรุดโทรม ในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
มันกินใจ และปลุกสำนึกรักและหวงแหนมรดกไทย
แล้วก็ร่วมเศร้าเสียดายไปกับนกยูงด้วย


นับจากครั้งแรกนั้น เธอมักจะออกมานอกเขตของเธออีกหลายครั้งในยามใกล้ค่ำ
เธอได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่น่าแปลกใจ
ความเสื่อมโทรมของสถานที่เก่าแก่อันคุ้นตาค่อยพังทลายลงไปเหลือเพียงเค้าโครงเดิม
ในขณะที่สิ่งแปลกใหม่ได้ประจักษ์แก่ตาของเธอเพิ่มมากขึ้น
แม้จะดูเสี่ยงอันตราย แต่นอกเหนือจากความสนุก นกยูงกำลังทำความรู้จักโลกใหม่
เพื่อเตรียมรับมือสำหรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันที่นกยูงสำริดหมดฤทธิ์ลงจริงๆ
ครั้งที่หนึ่งเธอหนีออกมาเที่ยวเล่นเช่นที่เคย เธอได้พบกับพระนาย
ชายหนุ่มที่มีชื่อและหน้าตาเหมือนกับชายหนุ่มอีกคนที่มียศคุณพระนายที่เธอเคยรู้จัก
.. คุณพระนายไวยวงศา ..


พระนายในยุคปัจจุบัน เข้าหุ้นเปิดร้านขายของเก่าของแอนทีคกับเพื่อนอีกสองคน
คือธีตา หญิงสาวผู้มีปากเป็นอาวุธ สามารถพลิกพริ้วคำพูดเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ตนสูงสุด
และบรรณ ชายหนุ่มรุ่นน้องผู้คล่องแคล่ว
มีหน้าร้านชื่อว่าร้านไทยไทย ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้าสุดหรู
มีลูกค้าประจำกระเป๋าหนักอย่างพวกเศรษฐีใหม่ทั้งหลาย
ทำให้ร้านมีรายได้พอสมควร

วันหนึ่ง ฝอยฝนนักข่าวผู้เป็นหลานของมหาเศรษฐีฟ้าฟื้นมาขอสัมภาษณ์พระนาย
และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่เชื่อมต่อระหว่างพระนายกับนายฟ้าฟื้นคนนี้


ผู้เขียนเก็บตกรายละเอียดทุกตัวละคร สวยงาม ลงตัว
ยิ่งอ่าน ก็ยิ่งเห็นด้วยกับอาจารย์วินิตาว่า แหม่ม คัทลียา เหมาะกับบทนกยูงจริงๆ
เพราะนักยูงนั้นสวยจัด คมขำเพราะมีเชื้อแขก บุคลิกสง่างาม
แต่ก็แช่มช้อย น่ามองไปหมด ใครเห็นใครก็ตะลึง
ผู้ชายในเรื่องหลงรักแม่นายนกยูงในทันทีที่แรกเห็นกันเกือบทุกคน
นึกยังไงก็เป็นแหม่ม คัทลียาจริงๆ
แล้วก็ยังนึกไม่ออกเลยว่า ถ้านำมารีเมค จะหาแม่นกยูงที่ไหนได้เหมาะเท่านี้อีก
(ลองนึกเล่นๆ ก็น่าจะเป็นใหม่ ดาวิกา หรือแมท ภีรนีย์ (แต่แมทก็ยังสง่าไม่เท่าใหม่))

เรือนมยุรา เป็นนิยายที่เราเคยอ่านเมื่อนานมาแล้ว รู้เรื่องคร่าวๆ อยู่แล้ว
แต่มาอ่านในครั้งนี้ก็ยังสนุก ตื่นเต้น ลุ้นไปกับตัวละครตลอดเรื่อง
เมื่อนกยูงสำริดเริ่มเสื่อมลง ชีวิตของนกยูงก็เริ่มเกี่ยวพันกับคนภายนอกมากขึ้น
ชีวิตที่เคยเงียบสงบของเธอจึงเริ่มจะวุ่นวายด้วยเหล่ามนุษย์โลภ
เริ่มจากเพียงการพิสูจน์ถึงการมีตัวตนอยู่จริงของเธอ
แล้วเมื่อรู้รายละเอียด ก็เริ่มหวังผลต่างๆ นานาจากเธอด้วยความหวังต่างๆ กันไป

นกยูงกลายเป็นสิ่งล้ำค่าที่มาจากโลกอดีต
กลายเป็นอภิมหาของแปลกผู้รวบรวมนกยูงสำริดอายุวัฒนะ 200 ปี
และทรัพย์สมบัติ ข้าวของในบ้านที่จะแปรเปลี่ยนเป็นเงินได้อีกไม่รู้กี่ร้อยกี่พันล้าน
เธอเลยกลายเป็นสิ่งที่ทลายความดีงามของมนุษย์รอบตัวพระนาย
เรียกว่าดีแตกกันถ้วนหน้า
ใครที่คุณธรรมไม่แข็งจริง เป็นอันต้องถูกความโลภครอบงำกันไปทุกคน
ด้วยบททดสอบจากสวรรค์อย่างนกยูงเพียงคนเดียว

ความรักระหว่างนกยูงกับพระนายยุค 2538 ก็ดูจะลุ่มๆ ดอนๆ
ลำพังแค่จะหาสำเนาทะเบียนบ้าน หรือบัตรประชาชนก็แย่แล้ว
ยังมีนานาอุปสรรคจากนานาเหล่าตัวร้ายอีก
อุปสรรคความรักของคนคู่นี้ช่างมากมาย ดาหน้าเข้ามาไม่หยุดหย่อน
แค่อ่านยังเหนื่อยแทนเลย ไม่รู้ว่าแม่นกยูงกับคุณพระนายฝ่าฟันกันมาถึงตอนจบได้ยังไง
แต่สุดท้าย ฝีมือของอาจารย์วินิตา ก็จบเรือนมยุราลงอย่างสนุกและสมบูรณ์เต็มความรู้สึก
เป็นอีกหนึ่งนิยายที่อ่านสนุก ไม่ว่าจะอ่านในยุคสมัยใดจริงๆ ครับ

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 2
ขอเป็นช่องสามได้ไหม ค่ายที่ทำ ข้าบดินทร บุพเพ

คือของแบบนี้ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ แม้จะมีเงินทุนก็ตาม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่