ข้อด้อยของหลักสูตร EP.ของโรงเรียนสังกัด กทม.

ช่วงนี้พ่อแม่หลายท่านกำลังตัดสินใจเลือกที่เรียนให้เด็กในชั้น ป.1 ผมขอเล่าประสบการณ์การนำเด็กเข้าโรงเรียนของ กทม. ในหลักสูตรสองภาษา หลังจากผ่านมา 3 ปี ลองอ่านแล้วพิจารณากันดูนะครับ

เมื่อสามปีก่อน ผมรับอุปการะเด็กสองคน คนเล็ก 4 ขวบผู้ชาย คนโตเด็กผู้หญิง 6 ขวบ ซึ่งย้ายมาจาก ตจว.มาเข้าเรียนใน กทม. โดยผมเลือกโรงเรียนให้เด็ก โดยเลือกโรงเรียน กทม.ละแวกบ้านเพื่อความสะดวกในการรับส่ง ประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะเรียนฟรีเกือบทั้งหมด เอาเวลาเดินทางมาสอนพิเศษที่บ้านได้

โดยเด็กผู้หญิงคนโตสอบเข้าเรียน ป.1 ในหลักสูตร EP (เด็กมีพื้นฐานที่ดีในการเรียนมาจาก รร.อนุบาลที่ ตจว.แล้ว ) สอบได้โควต้าเด็กข้างนอกที่ไม่ได้เรียนอนุบาลจากที่นั่น ที่มีเพียง 10 ที่นั่งเท่านั้น

หลักสูตร EP ของ กทม คือมีการเรียนการสอนเป็นวิชาภาษาอังกฤษโดยครูต่างชาติ (ครูฟิลิปปินส์ เพราะค่าตอบแทนต่ำกว่าครูจากประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ เพราะข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ) และมีครูคนไทยร่วมสอนด้วย โดยครูคนไทยจะทำหน้าที่ประสานงานกับครูต่างชาติ สอนเสริมในส่วนที่เด็กไม่เข้าใจเมื่อเรียนกับครูต่างชาติ และสอนวิชาภาษาไทย สังคม ประวัติศาสตร์ ร่วมกับครูไทยอื่นๆในรายวิชา พละ สุขศึกษา พุทธศาสนา ฯลฯ ตามแต่บุคลากรในโรงเรียนนั้นๆจะอำนวยครับ

หลังจาก 3 ปี ผมขอสรุปข้อด้อยของหลักสูตร ep ของ รร.สังกัด กทม.ที่เด็กๆบ้านผมเรียนดังนี้ (คหสต.)

1.หนังสือเรียนภาษาอังกฤษ ได้รับช้ามาก บางเทอมเรียนจนจะหมดเทอมแล้วเพิ่งจะได้รับ (ผมแก้ปัญหาด้วยการไปหาซื้อจนครบ หมดไปพันเศษๆ)

2.การเรียนการสอนไม่เป็นไปหนังสือที่มีกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นขั้นเป็นตอน สอนๆ ข้ามๆ หรือบางเล่มไม่ได้เรียนเลย อ้างว่าเวลาไม่พอ (ผมแก้ปัญหาด้วยการสอนเองที่บ้านจนครบ)

3.เด็กในห้อง EP มีความแตกต่างกันมากในการเรียนรู้ในบทเรียนภาษาอังกฤษและภาษาไทย พวกที่ได้ก็ได้ก็ได้ไป พวกที่ไม่ได้ก็ไม่ได้แบบไม่ได้เลย จนขึ้น ป.3 ก็ยังจำ A-Z ไม่ได้ หรือไม่สามารถเข้าใจภาษาอังกฤษที่ครูต่างชาติสอนได้เลย ทำให้การเรียนการสอนเป็นไปได้ล่าช้ามาก แม้จะขึ้นชั้นเรียนต่อๆไปก็ยังไม่มีการแบ่งกลุ่มเด็กไปเรียนในกลุ่มที่เหมาะสมเพื่อการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพเต็มที่กับเด็ก (โรงเรียนแก้ปัญหาด้วยการจัดการเรียนพิเศษหลังเลิกเรียนให้เด็กกลุ่มนี้ (เสียเงิน) แต่ผลการสอบก็ยังไม่ดีขึ้น)

4.คหสต.หัวใจของการสอนหลักสูตรนี้ใน รร.กทม.คือครูประจำชั้นคนไทยที่ร่วมสอน เพราะครูคนไทยจะต้องทำหน้าที่หลายอย่างเพื่อให้การเรียนในหลักสูตรนี้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด ถ้าโชคดีได้ครูที่ดีก็ดีไป เด็กๆก็สนุกกับการเรียนรู้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มีกิจกรรมทำ มีการอธิบายเสริมจากวิชาของครูต่างประเทศ มีการร่วมกันพูดคุยซักถามเด็กกับครูต่างประเทศ ฯลฯ  

แต่ถ้าโชคร้ายแบบที่ผมเจอคือ ครูประจำชั้นเป็นครูรุ่นเก่า แค่พูดภาษาอังกฤษได้ ก็ได้รับเลือกมาทำหน้าที่นี้ โดยที่ไม่ได้จัดการเรียนการสอนใดๆเพิ่มเติม ครูต่างประเทศสอนก็สอนไป ไม่เกี่ยวกับฉัน ฉันนั่งเล่นโทรศัพท์ พอถึงเวลาวิชาในภาษาไทยก็ให้เด็กอ่านเองแล้วมาสรุป พอใกล้สอบก็ค่อยหาชีทมาให้เด็กอ่านเพื่อเด็กจะได้ผ่านการประเมินจาก กทม. ทั้งปีเรื่องวิชาการแทบไม่ได้เรียนอะไรเพิ่มเติมเลย ที่เด็กๆกลุ่มบนๆสอบได้เพราะไปเรียนพิเศษข้างนอกกันเองทั้งนั้น

5.ตารางสอนมีไว้แต่ไม่เคยสอนตามตารางเลย ผลคือเด็กต้องหอบเป้ใบใหญ่มากเพราะต้องขนไปทุกวิชาเพราะไม่รู้ว่าวันไหนต้องเรียนอะไรบ้าง

6.ห้ามเอาหนังสือเรียน(แจกฟรี)กลับบ้าน ห้ามเขียน ห้ามทำยับ เพราะนโยบายคือต้องส่งมอบให้เด็กรุ่นต่อๆไป ทำให้เด็กไม่สามารถเอาหนังสือไปอ่านทบทวนบทเรียนที่บ้านได้

สรุป คือหลักสูตร EP.ของ โรงเรียนสังกัดกทม. เป็นหลักสูตรที่หวังดี แต่อาจจะติดปัญหาเรื่องการบริหารงานและข้อจำกัดด้านต่างๆในแต่ละโรงเรียนที่แตกต่างกัน บางโรงเรียนก็สักแต่ว่าจะจัดหลักสูตรนี้ขึ้นมาเพื่อชื่อเสียง โดยไม่มีความพร้อมจริงในการจัดหลักสูตร แบบนี้ไปเรียนหลักสูตรธรรมดาดีกว่า

จึงอยากให้ผู้ปกครองพิจารณาให้รอบคอบ ถ้าโรงเรียนนั้นๆมีความสามารถจัดหลักสูตร EP.อย่างแท้จริง มันจะเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่ดี(ราคาถูก)ให้กับลูกๆของท่านแน่นอนครับ

ถ้าคาดหวังว่าเด็กจะต้องเก่งภาษาอังกฤษหรือเด่นในเรื่องวิชาการตามหลักสูตรประถมศึกษา ขอบอกว่าหลักสูตรไม่สามรถตอบโจทย์ได้ทั้งหมดด้วยตัวมันเองครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่