เพจวิเคราะห์บอลจริงจัง "ทำไมบุนเดสลีกา มีแต่บาเยิร์น มิวนิคได้แชมป์ซ้ำไปซ้ำมา"

น่าสนใจดีอยากแชร์ให้ได้อ่านกันครับ

"ทำไมบุนเดสลีกา มีแต่บาเยิร์น มิวนิคได้แชมป์ซ้ำไปซ้ำมา"

นี่เป็นคำถามที่ใครๆก็สงสัย

ทั้งๆที่เยอรมันเป็นประเทศที่ผู้คนชาญฉลาด มีระเบียบวินัย มีการวางแผนเป็นอย่างดีทุกๆอย่าง แต่พวกเขากลับไม่สามารถแก้ไขปัญหาการผูกขาดของทีมเสือใต้ได้

ผ่านไปแต่ละปี ช่องว่างของบาเยิร์น กับทีมอื่นก็ยิ่งจะห่างกันขึ้นเรื่อยๆ สำหรับทีมเสือใต้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนโค้ชเป็นใคร ยังไงก็ได้แชมป์ทุกที

ปัญหาคืออะไร ทำไมการผูกขาดนี้มันแก้ไม่ได้ คือมันยากเกินกว่าที่สหพันธ์ฟุตบอลเยอรมันจะแก้ไขได้เลยหรอ?

ตอนทีมชาติตกต่ำ เดเอฟเบ วางกลยุทธ์ระบบพัฒนาเยาวชน จนเยอรมันก้าวมาเป็นแชมป์โลก

แต่บาเยิร์น มิวนิค ยึดครองอาณาจักรบุนเดสลีกาแบบไม่มีคู่แข่ง ทำไมเดเอฟเบ ทำอะไรไม่ได้เลย

หรือว่า การทำให้เยอรมันเป็นแชมป์โลก อาจง่าย กว่าการทำให้ลีกสูสีนะ?

---------------------------------------

ฟุตบอลเยอรมัน เป็นลีกที่มีค่าเฉลี่ยคนดูในสนาม มากที่สุดในโลก

ค่าตั๋วชมเกมก็ถูกแสนถูก ขณะที่นักเตะก็ถือว่ามีคุณภาพ ผู้เล่นหลายคน เป็นผู้เล่นท็อปคลาส

ขณะที่ทางบุนเดสลีกา ก็ปรับตัวเข้ากับยุคโซเชียลอย่างรวดเร็ว มีการอัพเดทข่าวสารผ่านทางทวิตเตอร์ตลอด

ส่วนคลิปในยูทูป บุนเดสลีกายังอุตส่าห์ไปหาคนพากย์เป็นคนอังกฤษ เพื่อให้ชาวต่างชาติฟังเข้าใจรู้เรื่อง เป็นการเพิ่มความนิยมในลีกไปอีกทาง

อย่างไรก็ตาม แม้อะไรๆจะดีก็เถอะ ความนิยมของบุนเดสลีกา ก็ทาบพรีเมียร์ลีกไม่ติดอยู่ดี

มูลค่าลิขสิทธิ์โทรทัศน์ บุนเดสลีกา เพิ่งเซ็นสัญญาฉบับใหม่ไป มูลค่าอยู่ที่ ปีละ 4 หมื่น 4 พันล้านบาท

ส่วนพรีเมียร์ลีก อังกฤษ อยู่ที่ปีละ 1 แสน 2 หมื่นล้านบาท ห่างกับบุนเดส ราวๆ 8 หมื่นล้านบาท

มันแสดงให้เห็นว่าทั่วทั้งโลก มองพรีเมียร์ลีกว่าน่าดึงดูด และน่าสนใจกว่ามาก

คำถามคือ ทั้งๆที่การจัดการดีขนาดนั้น แล้วทำไมความนิยมสู้ไม่ได้ล่ะ?

คำตอบนั้น คงมีในจุดรายละเอียดเล็กน้อยหลายอย่าง

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่คนดูบอลคิดไปทางเดียวกัน คือ พรีเมียร์ลีก มันสนุกตรงที่ เราคาดเดาอะไรไม่ได้เลย

เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราไม่รู้ว่าใครจะเป็นแชมป์ เราไม่รู้ว่าใครจะจบท็อปโฟร์

ใน 5 ฤดูกาลหลังสุด พรีเมียร์ลีก มีทีมแชมป์ 4 ทีม (แมนฯยูไนเต็ด,แมนฯซิตี้,เชลซี,เลสเตอร์) มีอะไรให้ได้เซอร์ไพรส์ตลอด

แต่ใน 5 ฤดูกาลหลังสุด บุนเดสลีกา มีทีมแชมป์ทีมเดียวคือ บาเยิร์น มิวนิค และก็กำลังจะเป็นแชมป์ 6 สมัยติดกันด้วย ไม่มีพลาดแน่นอน

โอเคการลุ้นหนีตาย ลุ้นโควต้าแชมเปี้ยนส์ลีกก็สนุกดี แต่สำหรับฟุตบอลลีก สิ่งที่คนดูลุ้นที่สุดคือใครจะเป็นแชมป์

แล้วเมื่อทุกอย่างมันแบเบอร์ซะขนาดนั้น มันจะแปลกอะไร ที่จะนิยมน้อยกว่าพรีเมียร์ลีก

จริงๆทางบุนเดสลีกาเองก็รู้ปัญหา (ใครบ้างจะไม่รู้ล่ะ) แต่ที่ทำอะไรไม่ได้เลย เพราะเยอรมัน มีกฎเหล็กอย่างหนึ่งอยู่

กฎนี้มีชื่อว่า "กฎ 50+1"

---------------------------------------

กฎ 50+1 คือกฎเกี่ยวกับสิทธิการถือหุ้นของสโมสร ซึ่งระบุว่า

ลีกเยอรมัน จะไม่อนุญาต ใครก็ตามเข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรเป็นอันขาด

ลีกจะไม่ยอมให้มหาเศรษฐีต่างแดน เข้ามาเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ได้

ตามกฎแล้ว การเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลในเยอรมัน มี 2 วิธี

วิธีที่ 1) คือ "50" แปลว่า หุ้นส่วน 50% ของสโมสรเป็นอย่างน้อย ต้องเป็นของแฟนบอล

นั่นคือแฟนบอล มีสิทธิโหวต และมีส่วนกับความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างของสโมสร ส่วนอีก 50% สามารถเป็นกลุ่มทุนภายนอกได้

วิธีที่ 2) คือ "1" แปลว่า เอกชน สามารถเป็นเจ้าของทีมแต่เพียงผู้เดียวได้ ถ้าหากบริษัทเอกชนนั้น มีความเกี่ยวพันโดยตรงกับท้องถิ่น

ตัวอย่างเช่น ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น มีเจ้าของคือบริษัทผลิตเวชกรรม ไบเออร์ ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ และฐานการผลิตอยู่ที่เมืองเลเวอร์คูเซ่น

หรืออย่างโวล์ฟสบวร์ก มีเจ้าของคือโฟล์กสวาเก้น ซึ่งก็มีเฮดควอเตอร์ ตั้งอยู่ที่เมืองโวล์ฟสบวร์ก

กฎนี้สร้างขึ้นทำไม? มันสร้างขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้มี โรมัน อบราโมวิช หรือตระกูลเกลเซอร์ ในฟุตบอลเยอรมัน

คนเยอรมันมองว่าฟุตบอล ควรเติบโตไปอย่างที่ควรจะเป็น การรวยทางลัด เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้

ถ้าหากคุณอยากให้ทีมประสบความสำเร็จ ก็ต้องเล่นให้ดีในสนาม ค่อยๆได้แชมป์มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็จะทำให้มีสปอนเซอร์เข้ามา และแฟนบอลยอมจ่ายเงินให้สโมสรมากขึ้นตามลำดับ

ถ้าอยากได้เงินทางอื่นๆ ก็ปั้นระบบเยาวชนให้แข็งแกร่ง จนสามารถส่งเด็กๆขายให้กับทีมใหญ่ได้

ทุกอย่างมีขั้นตอนของมัน

การที่มีเศรษฐีต่างแดน เป็นใครก็ไม่รู้ อยู่ๆเสกเงินมาให้ 5 ร้อยล้านยูโร เพื่อให้สโมสรเอาไปซื้อนักเตะตามใจชอบ แบบนี้มันไม่โอเค ระบบมันผิดเพี้ยนไปหมด

ไม่เพียงแค่นั้น กฎนี้ ยังป้องกัน เศรษฐีต่างชาติเข้ามาเปลี่ยนวัฒนธรรมของสโมสรด้วย

หากจำกันได้ วินเซนต์ ตัน เศรษฐีมาเลย์เชื้อสายจีน เข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ และทันทีที่เขามีอำนาจ ก็จัดการเปลี่ยนสีเสื้อของคาร์ดิฟฟ์จากน้ำเงิน กลายเป็นแดง ตามความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ย และ เปลี่ยนนกบลูเบิร์ด โลโก้ของสโมสร กลายเป็นมังกรแดงแทนอีกต่างหาก

ลองคิดดู ถ้าดอร์ทมุนด์ถูกขายให้เศรษฐีชาวจีน แล้ววันดีคืนดี เขาอยากเปลี่ยนเสื้อสโมสรเป็นสีชมพูล่ะ แบบนี้ฉายาเสือเหลือง ต้องกลายเป็นเสือชมพูไหม?

---------------------------------------

ข้อดีของกฎ 50+1 มันมีเยอะ แต่แน่นอน มันก็มีข้อเสียด้วย

จุดอ่อนของกฎ 50+1 ก็คือ มันทำให้ทีมเล็กๆ และทีมกลางๆ ลืมตาอ้าปากยาก

ลองดูในฟุตบอลอังกฤษ ถามว่าถ้าทีมอย่างเลสเตอร์ ซิตี้ ไม่มีคิงพาวเวอร์เข้ามาเป็นแบ็กอัพให้ พวกเขาจะมีดีพอที่เป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกหรือไม่

ถ้าไม่มี โรมัน อบราโมวิช ทีมอย่างเชลซี จะมีเงินซื้อนักเตะมากมายขนาดนี้ไหม จะมีสิทธิได้แชมป์ยุโรปหรือเปล่า?

ถ้าไม่มี ทักษิณ ชินวัตร เทกโอเวอร์ตอนแรก ตามด้วยกลุ่มทุนอาบูดาบีซื้อต่อ่รอบสอง ป่านนี้แมนฯซิตี้ คงไม่มีวันจ้างเป๊ป กวาร์ดิโอล่ามาเป็นกุนซือได้หรอก

ทีมเล็กๆหรือกลางๆ หากโชคดีได้เศรษฐีจากต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของคนใหม่ มันจะช่วยยกระดับทีมอย่างก้าวกระโดด และมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นกว่าเดิม

แต่ในฟุตบอลเยอรมัน ไม่มีโอกาสโชคดีแบบนั้น นั่นแปลว่า ทั้งประเทศ ไม่มีใคร สามารถก้าวขึ้นมาทาบกับบาเยิร์น มิวนิคได้

กลายเป็นว่ากฎ 50+1 มันผลักดันทำให้ฟุตบอลมีความเหลื่อมล้ำขึ้นทุกที

หนทางที่ทีมจะเติบโตได้ ก็ต้องคว้าแชมป์ แต่ทีมต่างๆจะเป็นแชมป์ได้อย่างไร เมื่อบาเยิร์นเป็นแชมป์ทุกปี

ยิ่งบาเยิร์นเป็นแชมป์ พวกเขาก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ นักเตะดังๆในเยอรมันก็ยิ่งอยากมาร่วมงานด้วย และพอตัวเก่งทีมอื่นย้ายมา สุดท้ายก็เป็นบาเยิร์นได้แชมป์เหมือนเดิม

วัฏจักรมันวนเวียนไปมาอยู่แบบนี้ คือ ถ้าโละกฎ 50+1 ออกไป เราอาจเห็นสโมสรกลางๆ มีเศรษฐีใหญ่จากต่างชาติเข้ามาสนับสนุน และให้เงินมาซื้อบิ๊กเนมระดับยุโรป มาต่อกรกับทีมเสือใต้ได้บ้าง

แต่เมื่อมีกฎอย่างนี้ครอบอยู่ บาเยิร์นก็ได้เปรียบทุกอย่าง

และการที่พวกเขาคว้าแชมป์เยอรมันแบบไร้คู่แข่ง ก็ไม่ใช่เรื่องที่เซอร์ไพรส์อะไรเลย

---------------------------------------

แต่ถ้ามองด้วยความยุติธรรม ต้องยอมรับล่ะว่า กฎ 50+1 มันเป็นไอเดียที่โอเคมาก

มันทำให้แต่ละทีมไม่หวังโชค ไม่หวังดวง หันมาปั้นเยาวชนให้แข็งแกร่ง เพื่อขายต่อทำเงิน และการมีระบบเยาวชนที่ดี ส่งผลต่อทีมชาติเยอรมันตามไปด้วย

ขณะที่แฟนบอลเองก็รู้สึกมีส่วนร่วมกับทีมอยู่เสมอ สถิติลีกฟุตบอลที่มีคนเข้าชมมากที่สุดในโลก พิสูจน์ตัวเองได้อยู่แล้ว

ที่สำคัญไม่มีเจ้าของต่างชาติหน้าเลือดมาขึ้นราคาค่าตั๋วชมเกมอีกต่างหาก ทุกคนเข้าไปชมเกมได้อย่างแฮปปี้

ฮันส์ โยอาคิม-วัตซ์เค่ ซีอีโอของดอร์ทมุนด์เผยว่า "เราอยากให้แฟนบอลคือแฟนบอล ไม่ใช่ลูกค้า" ซึ่งก็เป็นมุมมองที่ดีจริงๆ

แต่แน่นอน สิ่งดีๆทั้งหลาย มันมีราคาที่ต้องแลก

และสิ่งนั้นก็คือ ความผูกขาดในบุนเดสลีกา

บาเยิร์นไม่มีคู่แข่ง ทั้งในสนาม และธุรกิจนอกสนาม พวกเขายึดครองทุกอย่างหมด

ในบอลเยอรมัน ไม่มีสโมสรไหน ที่มีรายได้จากสปอนเซอร์เท่าบาเยิร์น นั่นแปลว่า ถ้าอยากได้เงินก้อน มาพัฒนาปรับปรุงสโมสร ก็ต้องขายนักเตะตัวหลักทิ้ง

โวล์ฟสบวร์ก ขายเควิน เดอ บรอยน์ , ดอร์ทมุนด์ ขายโอบาเมย็อง และ ไลป์ซิก ขายนาบี เกอิต้า เราจะเห็นว่าทีมอื่นๆต้องขายนักเตะเพื่อยังชีพ แต่บาเยิร์น ไม่จำเป็นต้องขายใครทั้งนั้น

นั่นยิ่งส่งเสริมให้อาณาจักรเสือใต้ยิ่งใหญ่ขึ้นทุกที คู่แข่งอ่อนลง แต่ตัวเองเก่งขึ้น ซึ่งดูๆไปแล้ว นึกไม่ออกจริงๆว่าใครจะมาโค่นบาเยิร์น มิวนิคได้

คำถามที่น่าสนใจที่สุดก็คือ ความน่าเบื่อในการลุ้นแชมป์ แลกมากับสิ่งดีๆที่กฎ 50+1 สร้างขึ้น

เทียบกันแล้ว มันคุ้มค่าหรือเปล่านะ?

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่