พาราควอต น่ากลัวเหมือนที่ NGO บอกจริงหรือ?

อย่างที่ทราบกันดีว่า พาราควอต (Paraquat) เป็นชื่อการค้าของ N,N'-ไดเมทิลl-4,4'-ไบไพริดิเนียม ไดคลอไรด์ เป็นยากำจัดวัชพืชชนิดหนึ่งที่เป็นที่นิยมที่สุดในโลก ถูกสังเคราะห์ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1882 แต่ถูกนำมาใช้กำจัดวัชพืชครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1955  ผลิตจำหน่ายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1961 โดยบริษัท ไอซีไอ ปัจจุบันทำการตลาดโดยบริษัท ซินเจนทา


ในประเทศไทย พาราควอตเป็นที่รู้จักในชื่อการค้า กรัมม็อกโซน (Grammoxone)  เป็นยาฆ่าวัชพืชที่นิยมใช้ที่สุดในประเทศไทย

พาราควอตออกฤทธิ์โดยหยุดยั้งการเติบโตของเซลล์วัชพืช เฉพาะส่วนที่เป็นสีเขียว และทำให้เนื้อเยื่อของเซลล์นั้นแห้งลง โดยไม่แพร่กระจายเข้าสู่เนื้อเยื่อไม้ สามารถใช้ได้กับพืชผลหลายชนิด ทั้งไม้ต้นสูง และพืชพันธุ์เตี้ย

ในประเทศโลกที่สาม พาราควอตถูกนำไปใช้เป็นยาพิษสำหรับการฆ่าตัวตาย  เพราะเป็นสารพิษที่มีจำหน่ายทั่วไป ราคาไม่แพง และไม่จำเป็นต้องใช้ในปริมาณมาก

"เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการกำจัดวัชพืช พบว่าการใช้สารกำจัดวัชพืชชนิดเผาไหม้มีต้นทุนต่ำกว่าการใช้แรงงานคนถึง 2,000 บาท/10 ไร่ (ประมาณ 200 บาท/ไร่)" ที่มา : ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เพชรบุรี


สารพาราควอต (Paraquat : C12H14CI2N2) เริ่มนำมาใช้ และจดสิทธิบัตรในปีคศ. 1958 มีชื่อทางการค้า คือ Grumoxone, KaraZone, TopZone, Noxone ฯลฯ

พาราควอตสามารถถูกอนุภาคดิน และอินทรียวัตถุจับยึดไว้ เนื่องจากพาราควอตมีสมบัติเป็นประจุบวก จึงสามารถดูดยึดกับดินซึ่งมีประจุลบอย่างแรง โดยเฉพาะดินเหนียว และอินทรียวัตถุ ทำให้สารพาราควอตไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ตัวของมันเอง นอกจากจะถูกเคลื่อนย้ายจากผีมือมนุษย์ และธรรมชาติ และ สารพาราควอตจะไม่ออกฤทธิ์ในดิน และเกิดการชะล้างลงสู่ด้านล่าง จึงทำให้ไม่เกิดการปนเปื้อนในแหล่งน้ำใต้ดิน และมีครึ่งชีวิต (Half Life) 30 วัน และจะถูกย่อยสลายเองตามธรรมชาติ โดยแสงแดด UV และจุลินทรีย์ในดิน (แบคทีเรีย เชื้อรา ) หากปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำก็จะเกาะติดกับตะกอนดิน และจะถูกย่อยสลายตัวเองไปเรื่อยๆ

"ซึ่งตะกอนดินแบ่งออกเป็น 2 ชนิด" [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
ที่มา : ความสามารถในการดูดซับสารพาราควอตของดิน และตะกอนดินในลุ่มแม่น้ำย่อยมวบ อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน, Paraquat adsorption capacity



จากกระแสกลุ่ม NGO ที่ออกมารณรงค์ต่อต้านการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง พาราควอต และไกลโฟเสตที่ผ่านมา และอ้างว่า

"ประเทศในแถบยุโรป และประเทศอื่นๆ จากทั่วโลกกว่า 40 ประเทศ ยกเลิกการใช้งานสารเคมีพาราควอต"


ซึ่งแท้จริงแล้ว สารเคมีตัวนี้งดจำหน่ายในประเทศยุโรปก็เพราะว่า ถูกประเทศสวีเดนที่ไม่ใช่ประเทศเกษตรกรรมที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเมืองหนาว นิยมเพาะปลูกในระบบปิด ประท้วงต่อ FSA ให้นำสารเคมีตัวนี้ออกจาก ANNEX (ระบบสารานุกรมข้อมูล) จนทำให้พาราควอตไม่สามารถจำหน่ายในประเทศในแถบยุโรปได้ ซึ่งบริษัท Syngenta ที่เป็นผู้ผลิตสารพาราควอต และจัดจำหน่ายในยุโรป ได้ร้องต่อศาลเพื่อให้การตรวจสอบ และศึกษา แต่เนื่องจากมีสารเคมีตัวอื่นที่ Syngenta ขายเยอะในแถบยุโรปอยู่แล้ว จึงไม่อยากที่จะต้องเสียเงิน เสียเวลา เข้าไปลงทุนศึกษา เลยทำให้พาราควอตถูกเอาออกจากการจำหน่ายในประเทศแถบยุโรปทั้งหมด


แต่ Syngenta ก็มีสารเคมีที่ชื่อว่า Diquat ในชื่อทางการค้าว่า "REGLONE" ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดในแถบประเทศยุโรปจำนวนมากกว่าพาราควอตอยู่แล้ว จึงทำให้ทาง Syngenta ไม่อยากที่จะต้องลงทุนศึกษาเพื่อหาข้อมูลไปต่อสู้ในชั้นศาลของอียู จึงทำให้พาราควอตไม่สามารถจำหน่ายในประเทศแถบยุโรปได้ตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา

แต่ในขณะที่หลายๆ ประเทศก็ยังจัดจำหน่าย และใช้สารเคมีพาราควอต ในการกำจัดศัตรูพืชอยู่

ไม่ว่าจะเป็นประเทศไต้หวัน ที่ยังคงนิยมใช้สารพาราควอตกันอย่างกว้างขวาง จึงมีการพัฒนาแนวทางเพื่อป้องกันการปนเปื้อนในแหล่งน้ำดื่ม และแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยทางรัฐบาลไต้หวันได้กำหนดมาตรฐานน้ำดื่มให้มีปริมาณสารพาราควอตได้ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร

ดังนั้น การนำน้ำธรรมชาติมาใช้เป็นน้ำประปา จะต้องผ่านขบวนการบำบัดน้ำก่อนใช้อยู่แล้ว จึงทำให้พาราควอตที่อยู่ในน้ำจับตัวกับตะกอนดิน และจมลงสู่ก้นแม่น้ำ ทำให้ไม่มีผลต่อการนำน้ำประปามาใช้อุปโภค บริโภค ทั้งนี้ "การผลิตน้ำประปา" ยังมีขั้นตอนต่างๆ มากมายกว่าจะสามารถนำน้ำมาผลิตเป็นน้ำประปาที่สามารถให้ประชาชนใช้ได้ [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

หรือแม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ก็ยังคงใช้สารเคมีพาราควอตในการกำจัดศัตรูพืช

หรือประเทศจีนที่มีข่าวว่า "แบนพาราควอต" แต่จริงๆ แล้วแบนเฉพาะสูตรที่เป็นแบบน้ำเท่านั้น แต่สูตรที่เป็นผง หรือเจลก็ยังสามารถใช้ได้ตามปกติ เนื่องจากคนนิยมนำพาราควอตแบบน้ำมาใช้ฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก จนทำให้ทางรัฐบาลจีนต้องแบนพาราควอตแบบน้ำในที่สุด

สำหรับสารเคมีพาราควอตในประเทศไทย แพร่หลายมาจากประเทศมาเลเซียที่เริ่มใช้เมื่อประมาณปีพศ. 2505 โดยเกษตรกรไทยนิยมใช้กับพืชไร่ ไม่ใช้กับนาข้าว

จะเห็นได้ว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ยังมีการใช้สารเคมีพาราควอตในการกำจัดศัตรูพืชกันอยู่ แต่บริบทการแบนสารเคมีพาราควอตของแต่ละประเทศไม่สามารถนำไปอ้างอิงกับประเทศอื่น ในภูมิภาคอื่นได้ เนื่องจากระบบนิเวศน์ไม่เหมือนกัน ทำให้สารเคมีชนิดเดียวกัน อาจจะใช้งานได้มีประสิทธิภาพในประเทศไทย แต่อาจจะไม่สามารถใช้งานได้ในประเทศอื่นๆ จากสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศน์ อุณหภูมิ และปัจจัยอื่นๆ อีก

ดังนั้น การใช้สารเคมีจึงขึ้นอยู่กับตัวของมนุษย์ และของเกษตรกรเป็นหลักว่า จะใช้สารเคมีมากน้อยเพียงใด ใช้อย่างไรให้เหมาะสมกับอาการของพืช อาการของโรคที่พบเจอ มากกว่าที่จะฉีดสารเคมีตัวเดียวเพื่อให้ครอบคลุมทุกโรคจึงเป็นไปไม่ได้

อีกทั้งการเพาะปลูกไม่ว่าจะเป็นเกษตรอุตสาหกรรม หรือเกษตรแบบไร้ดิน หรือแบบใดก็ตาม ก็ย่อมต้องมีสารเคมีตกค้างอยู่ในพืชผักอย่างแน่นอน แต่เราสามารถที่จะเลือกได้ว่า ไม่ให้เกินมาตรฐานความปลอดภัย และอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้อย่างไร

ปัจจุบัน เกษตรกรไทยยังต้องคอยดูอาการของพืชที่ปลูกแบบวันต่อวันอยู่ เพราะว่า แมลงลง, โรคลง หรือแค่อากาศเปลี่ยนก็สามารถส่งผลต่อผลผลิตได้ทั้งสิ้น ทำให้เกษตรกรต้องดูแลเพิ่ม ฉีดยาเพิ่ม และทำให้มีการใช้สารเคมีเกินมาตรฐานในที่สุด ซึ่งวิธีแก้ไขก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูกจากแบบแปลงเล็กๆ มารวมแปลงปลูกเป็น Mega Farm หรือทำระบบโรงเรือนแบบปิดเพื่อที่จะสามารถควบคุมอุณหภูมิ แมลง และโรคต่างๆ ได้ง่าย หรือการใช้เมล็ดพันธุ์พืชแบบ GMO ที่มีความต้านทานต่อโรค และแมลง จนทำให้สามารถลดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชจำนวนมาก หรือไม่ใช้เลยได้ในที่สุด

แล้วถ้าหากประเทศไทยจะต้องแบนสารเคมี พาราควอต จริง แล้วจะให้เกษตรกรอย่างพวกเราใช้อะไรแทน ในขณะที่นักต่อต้านโลกสวยที่สร้างแต่วาทะกรรมหรู จะให้แบนให้ได้ แต่ผมขอถามหน่อยว่า

"พวกคุณได้พยายามที่จะหาทางออกให้เกษตรกรด้วยแล้วหรือยัง
อะไรที่จะคุ้มค่าเท่าพาราควอต ในขณะที่ตัวเลือกอื่นที่ออกฤทธิ์ใกล้เคียงกับพาราควอต
มีราคาแพงกว่าเกือบ 4 เท่า และจะต้องใช้มากกว่าพาราควอต

แล้วอะไรคือทางออกของเกษตรกรไทย ???"
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่