กองทัพจีนขึ้นแท่นทรงแสนยานุภาพทัดเทียมสหรัฐฯ

การเร่งรัดพัฒนากองทัพจีนให้ทันสมัย กำลังรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์กันไว้ โดยผู้เชี่ยวชาญประจำสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาด้านยุทธศาสตร์ (IISS) ของกรุงลอนดอนมองว่า กองทัพจีนกำลังแซงหน้ากองทัพรัสเซีย ในการเป็นกองกำลังหลักที่สหรัฐฯ ใช้พิจารณาเปรียบเทียบกำลังแสนยานุภาพกับกองทัพของตน

จีนมีความสำคัญมากขึ้นทั้งต่อสหรัฐฯและทั่วโลกในเรื่องของการทหารและความมั่นคง ชนิดที่จะมองข้ามไปไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกองกำลังทางทะเลและทางอากาศ ซึ่งในขณะนี้นักวิเคราะห์จากหลายสถาบันรวมทั้ง IISS มองว่า กองทัพจีนได้ก้าวมาถึงขั้นที่กลายเป็น "คู่แข่งในระดับทัดเทียม" กับกองทัพสหรัฐฯ ไปเรียบร้อยแล้ว

นายโจนาธาน มาร์คัส ผู้สื่อข่าวสายการทูตและการทหารของบีบีซีรายงานว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการทหารของจีนนั้นโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง โดยมีทั้งขีปนาวุธพิสัยไกลพิเศษ เครื่องบินรบ "รุ่นที่ 5" อันทันสมัยที่สุด และยังเปิดตัวเรือพิฆาตที่ต่อเองแบบ Type-055 ไปเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเรือรบชนิดนี้ทรงประสิทธิภาพเสียจนทำให้กองทัพเรือของนาโตยังต้องคิดหนัก

นอกจากนี้ จีนยังอยู่ระหว่างการเร่งต่อเรือบรรทุกเครื่องบินลำที่สอง มีการพัฒนาอาวุธที่ใช้โจมตีทั้งทางบกและทางอากาศให้มีพิสัยได้ยิงได้ไกลเหนือกว่าอาวุธประจำการของกองทัพสหรัฐฯ รวมทั้งปฏิรูปโครงสร้างระบบการบังคับบัญชากองทัพ ให้มีกองบัญชาการร่วมที่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ในการควบคุมและประสานงานเหล่าทัพต่าง ๆ


นักวิเคราะห์มองว่า เครื่องบินขับไล่ J-20 ของจีน ซึ่งเป็นเครื่องบินรบรุ่นที่ห้า (Fifth generation fighter) ที่เรารวมเอาเทคโนโลยีทันสมัยต่าง ๆ หลายอย่างไว้ด้วยกัน เช่นความเร็วเหนือเสียง ขีปนาวุธโจมตีจากอากาศสู่อากาศ และความสามารถในการอำพรางตัวหลบการตรวจจับของเรดาร์ ทำให้กองทัพอากาศจีนสามารถเทียบชั้นแสนยานุภาพในระดับเดียวกับกองทัพชาติตะวันตกได้อย่างสบาย

ในรายงานภาพรวมทางการทหารของโลก (Military Balance ) ของสถาบัน IISS ประจำปีนี้ ได้เน้นถึงความก้าวหน้าของอาวุธปล่อยทางอากาศของจีนและรัสเซียเป็นพิเศษ เนื่องจากเล็งเห็นว่าเป็นตัวทดสอบสำคัญที่ท้าทายความเป็นผู้นำในการรบทางอากาศของชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐฯ

การที่จีนสามารถพัฒนาขีปนาวุธโจมตีระยะไกลจากอากาศสู่อากาศ ซึ่งใช้ทำลายเครื่องบินเติมเชื้อเพลิงกลางอากาศ และเครื่องบินสั่งการบังคับบัญชาที่อยู่ในระยะปลอดภัยได้นั้น ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อกองทัพสหรัฐฯและชาติพันธมิตร ให้ต้องทบทวนทั้งกลยุทธ์และเทคนิคการรบ รวมทั้งทิศทางของโครงการพัฒนาทางทหารที่มีอยู่ด้วย

เป็นที่ชัดเจนว่า เป้าหมายทางยุทธศาสตร์หลักของจีนซึ่งนำมาใช้ในการพัฒนาอาวุธใหม่ ๆ เหล่านี้ คือการมุ่งผลักดันอิทธิพลทางทหารของสหรัฐฯ ให้ออกห่างจากดินแดนและน่านน้ำที่จีนถือว่าเป็นเขตอิทธิพลของตนให้มากที่สุด โดยในกรณีของทัพเรือนั้น ยิ่งผลักให้กองกำลังอเมริกันถอยห่างออกไปในมหาสมุทรแปซิฟิกได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ซึ่งยุทธศาสตร์ต่อต้านการเข้าถึงพื้นที่เฉพาะนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า A2AD


อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ของ IISS มองว่า จีนยังคงล้าหลังอยู่ในส่วนของกองทัพบก ซึ่งอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีอยู่ใช้งานในการรบจริงได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น แต่จีนตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2020 กองทัพจะต้องประสบความสำเร็จทั้งในด้านของการพัฒนาเครื่องยนต์กลไก และการใช้เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารในการทำสงครามยุคใหม่

จีนยังมุ่งขยายอิทธิพลในการเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ของโลกอีกด้วย ซึ่งแผนการนี้ส่งผลกระทบต่อพ่อค้าอาวุธรายใหญ่ดั้งเดิมของโลกอย่างสหรัฐฯในหลายด้าน เช่นในกรณีของการขายอากาศยานไร้คนขับ (UAV) หรือโดรนที่นำไปใช้งานได้ทั้งการลาดตระเวนสอดแนมหรือติดอาวุธออกโจมตีระยะไกลนั้น สหรัฐฯ มองว่าเป็นอาวุธที่สร้างปัญหาทางจริยธรรมเรื่องเส้นแบ่งระหว่างการใช้งานในช่วงสงครามและในยามสงบได้อย่างมาก จึงจำกัดการขายให้แต่พันธมิตรใกล้ชิดเช่นฝรั่งเศสหรือสหราชอาณาจักรเท่านั้น

แต่จีนกลับไม่มีข้อจำกัดในการค้าอาวุธเช่นเดียวกับที่สหรัฐฯมี จึงสามารถเปิดตลาดส่งออกโดรนติดอาวุธไปยังหลายประเทศได้ เช่นอียิปต์, ไนจีเรีย, ซาอุดีอาระเบีย, ปากีสถาน, เมียนมา, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งการขยายตลาดส่งออกอาวุธของจีนนี้ เป็นผลสำเร็จที่ได้มาจากความลังเลของสหรัฐฯ นั่นเอง


ทุกวันนี้จีนกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในตลาดการค้าอาวุธสำหรับชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนมีกลยุทธ์เสนอขายอาวุธคุณภาพดีในราคาที่ต่ำกว่าถึง 50% อีกด้วย และแม้อาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับการรบภาคพื้นดินของจีนจะยังไม่สู้มีคุณภาพดีนัก แต่จีนก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของกองทัพไทย ซึ่งตัดสินใจซื้อรถถัง VT4 จากจีน หลังยูเครนไม่สามารถจัดส่งสินค้าให้ได้ตามกำหนดสัญญา

จีนยังมีแนวโน้มที่จะพัฒนาอาวุธเพื่อส่งออกตามความต้องการพิเศษของตลาดในต่างประเทศ โดยไม่นานมานี้มีการพัฒนารถถังน้ำหนักเบาขึ้นเพื่อใช้ในพื้นที่ทุรกันดารของแอฟริกา ซึ่งการแพร่ขยายของอาวุธจีนที่ทรงประสิทธิภาพในต่างประเทศนี้ อาจทำให้กองทัพสหรัฐฯ ต้องทบทวนเรื่องอัตราความเสี่ยงในการสู้รบต่างแดนมากขึ้น เนื่องจากจะต้องปะทะกับ "อาวุธจีน" แม้จะไม่ได้สู้รบกับกองกำลังของจีนโดยตรงก็ตาม

เครดิต
http://www.bbc.com/thai/international-43054894
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  อาวุธยุทโธปกรณ์ หน้าต่างโลก
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่