[CR] รีวิวอาหารเม็ด Sakura สูตรปลากัด ใช้อนุบาลได้จริง

สวัสดีครับ กระทู้นี้ผมจัดทำขึ้นมาด้วยความบังเอิญและเห็นว่ามันน่าจะเป็นประโยชน์กับคนเพาะเลี้ยงอนุบาลลูกปลากัดไม่มากก็น้อย ในเรื่องของการใช้อาหารเม็ดซากุระปลากัดทดแทนอาหารสดในการอนุบาลลูกปลากัดว่ามันสามารถใช้ได้จริงไหม? ใช้แล้วลูกปลารอดไหม? ต่างๆเหล่านี้ผมได้ทดลองมาแล้วเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และเหตุที่ผมได้นำอาหารเม็ดมาใช้ในการอนุบาลลูกปลาก็มาจากความบังเอิญ

ปลากัดสายพันธุ์คราวเทลสีทองที่ผมนำมาเพาะพันธุ์ในครั้งนี้ (CT Gold)

บังเอิญที่ผมว่าก็คือ เหตุมันเกิดในช่วงก่อนวันหยุดยาวปีใหม่ที่ผ่านมา ผมมีนัดไปท่องเที่ยวเชียงใหม่กับเพื่อนๆ รวมทั้งแฟนผมด้วย และทริปท่องเที่ยวในครั้งนี้เกิดขึ้นค่อนข้างฉุกละหุกนิดหน่อย กล่าวคือ ช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาเพื่อนผมชวนไปเที่ยวเชียงใหม่ตอนหยุดยาวสิ้นปี แต่ผมปธิเสธไปเพราะคิดว่าคนน่าจะพลุกพล่าน เอาไว้พ้นปีใหม่ค่อยพาแฟนและคนที่บ้านไปเที่ยวน่าจะสนุกรื่นรมณ์กว่าเดินเบียดกันเที่ยวช่วงปีใหม่เป็นไหนๆ แถมจังหวะนั้นเป็นช่วงที่ผมกำลังจะเพาะพันธุ์ปลากัดครอกใหม่อยู่พอดี พอลูกปลาออกมาก็ต้องดูแลอนุบาลพวกมันอย่างดี ตั้งใจจะขุนให้โตไวๆ จะได้ขายระดมทุนไปเที่ยวเสียหน่อย แต่ไอ้เพื่อนตัวแสบของผมมันหวังดี อยากให้ผมพักผ่อนมากกกกก มันให้แฟนมันโทรมาชวนแฟนผมก่อนวันที่จะออกเดินทางแค่ไม่กี่วัน ไอ้เราก็อุตส่าห์เก็บเรื่องนี้เอาไว้เงียบๆ แล้วก็เป็นไปตามคาด พอเรื่องเที่ยวเชียงใหม่ไปเข้าหูแฟนผมเข้า เธอก็พูดกับผมสั้นๆว่า “เค้าอยากไป” ตอนนั้นผมหัวร้อนเลยครับ ระดับพ่อบ้านใจกล้าอย่างผมตะคอกกลับไปเลยว่า
“ได้จ้า...(ทำเสียงสดใส)”

ตอนนั้นคิดแค่ว่าถ้าเราไปเที่ยวเชียงใหม่ลูกปลาอาจตาย แต่ถ้าไม่ไปเที่ยวเชียงใหม่ เราอาจตายแทนลูกปลา T^T  ทริปเจ้ากรรมนี้จึงเกิดขึ้นค่อนข้างจะแน่นอนยิ่งกว่ารายการเดินหน้าประเทศไทยที่ต้องมาฉายประจำทุกหกโมงเย็นเสียอีก แต่ปัญหาใหญ่ผมคือปลาที่เพาะมันเริ่มวางไข่แล้ว แถมเป็นพ่อแม่พันธุ์ตัวเด็ดเสียด้วย จะเททิ้งก็เสียดายเหลือเกิน แต่ภารกิจไปเที่ยวปีใหม่นั้นสำคัญจริงจริ๊งงง!!! ดังนั้นภารกิจอนุบาลลูกปลากัดจึงถูกส่งมอบไปยังญาติพี่น้องของผมเอง 555

ปลากัดทองเพศเมียที่ผมนำมาเพาะพันธุ์ในครั้งนี้ (CTPK Gold)

ก่อนจะลงรายละเอียดเรื่องการอนุบาลลูกปลาด้วยอาหารเม็ด ผมขออธิบายขั้นตอนการเพาะพันธุ์ปลากัดให้ได้ทราบกันก่อนนะครับ เพราะน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจเหมือนกัน แต่รูปที่นำมาลงนี้ บางส่วนเป็นรูปตัวอย่างที่ผมเคยถ่ายเก็บไว้นะครับ ไม่ใช่รูปจากการเพาะในครั้งนี้ทั้งหมด เพราะดันตรงกับช่วงที่ผมไม่อยู่บ้าน เลยไม่มีใครถ่ายให้

ผมเริ่มจากการเตรียมน้ำสะอาด (น้ำไม่มีคลอรีน) ใส่กะละมังขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 ซม. ใส่น้ำลึกประมาณ 3-4 นิ้ว เพื่อให้ลูกปลาสามารถว่ายขึ้นมาฮุบอากาศได้ แล้วใส่ใบหูกวางและต้นไม้น้ำเล็กๆ ลงไปเพื่อให้ลูกปลาสามารถหลบซ่อนตัวได้ จากนั้นก็ปล่อยปลาตัวผู้ลงไปในกะละมังและนำปลาตัวเมียใส่โหลใสหรือขวดพลาสติกเล็กๆก่อนนำไปวางไว้ในกะละมัง พยายามวางไว้ตรงกลางกะละมังเพื่อให้ปลาตัวผู้สามารถมองเห็นปลาตัวเมียได้รอบๆ และปล่อยให้มันจ้องกัน ที่ใครๆเคยบอกว่าปลากัดท้องเพราะจ้องกันอันนั้นผมไม่แน่ใจว่าเขาล้อเล่นหรือคิดแบบนั้นจริงๆ นะครับ แต่แท้จริงแล้ว เราแค่ต้องการทำให้ปลาทั้งคู่คุ้นเคยกัน เพราะเวลาปล่อยปลาผสมกันด้วยสัญชาตญาณบางครั้งมันจะกัดกันด้วย ดังนั้นถ้าเราไม่ปล่อยให้มันเห็นกันสักระยะ คือมาถึงแล้วจับโยนใส่กะละมังทั้งคู่ งานนี้มันคงได้กัดกันตายก่อนจะได้ลูกปลาให้เราเก็บเกี่ยวผลผลิต

พ่อปลาเริ่มก่อหวอด เป็นสัญญาณว่ามันพร้อมผสมพันธุ์แล้ว

ระยะเวลาในการทำความคุ้นเคยก็แล้วแต่ครับ อาจจะรอให้ตัวเมียสร้างไข่ขึ้นมาก่อนจนท้องเริ่มป่องส่วนตัวผู้ก็เริ่มก่อหวอดเป็นฟองอากาศบนผิวน้ำก่อนก็ได้ นั่นเป็นสัญญานว่าพวกมันพร้อมจะฟีตเจอริ่งกันแล้ว จากนั้นก็ปล่อยปลาตัวเมียลงกะละมังได้เลย

โดยมากเขาจะนิยมปล่อยปลาเข้าคู่ในช่วงเย็นๆ หรือหลังฝนตกใหม่ๆก็ยิ่งดี เพราะเป็นอุณหภูมิที่ปลาชอบก่อหวอดและวางไข่ที่สุด เมื่อปล่อยปลาลงกะละมังแล้วก็หาแผ่นกระดานหรือฟิวเจอร์บอร์ดปิดฝากะละมังไว้ด้วยเพื่อกันแดด ลม ฝน มาตีหวอดแตก ถ้าเป็นแบบนั้นงานเลี้ยงล่มแน่นอน แต่ยังไงก็วางแง้มๆไว้ให้อากาศถ่ายเทได้สักนิดนะครับ จากนั้นก็ปล่อยให้พวกมันมีความสุขกันสักคืนหรือสองคืน แล้วเราค่อยไปแง้มดูพวกมันอีกครั้งครับ


ผมเพาะในกะละมังพลาสติกและนำฟิวเจอร์บอร์ดมาวางปิดไว้เพื่อรักษาอุณหภูมิและความเป็นส่วนตัวของปลาทั้งคู่

ในการผสมพันธุ์นั้น ปลาตัวผู้จะเข้าไปรัดปลาตัวเมียเพื่อให้ปลาตัวเมียคลายไข่ออกมาจากท้อง เมื่อไข่ตกลงสู่พื้นบ่อหรือพื้นกะละมัง เจ้าปลาคู่รักก็จะช่วยกันอมไข่ไปบ้วนติดไว้ในหวอดที่ตัวผู้ก่อรอเอาไว้ การสังเกตว่าปลาวางไข่เรียบร้อยดีหรือไม่นั้น ให้แง้มฝากะละมังดูตรงหวอดปลา หากมีเม็ดไข่เล็กสีขาวขุ่นติดอยู่ก็แสดงว่าผลงานการฟีตเจอริ่งผ่านพ้นไปได้ด้วยดี แต่ถ้ายังเป็นหวอดใสๆ ไม่มีเม็ดไข่ติดอยู่นั่นแสดงว่าพวกมันยังไม่ได้ผสมกันครับ วิธีสังเกตอีกอย่างคือการดูพฤติกรรมของปลาทั้งคู่ หากเห็นว่าปลาตัวผู้ว่ายวนเวียนอยู่รอบๆหวอด หรือว่ายนิ่งๆอยู่ใกล้หวอด ในขณะที่ปลาตัวเมียว่ายอยู่ห่างจากหวอด แสดงว่ามันผสมกันเรียบร้อย เพราะตัวผู้จะคอยดูแลไข่ ไม่ให้ปลาตัวเมียมากินไข่ของมันเอง อันนี้เป็นลักษณะทางธรรมชาติของปลากัดนะครับ คือตัวเมียจะกินไข่และกินลูกปลา ส่วนตัวผู้จะทำหน้าที่เลี้ยงลูกของมัน แต่ก็มีเหมือนกันนะ ในกรณีที่ตัวผู้กินไข่เสียเอง อันนี้ต้องสังเกตนิสัยของปลาเอาครับ


ไข่ที่ได้รับการผสมน้ำเชื้อจะเป็นเม็ดสีขุ่นๆอยู่ในหวอดที่ปลาตัวผู้ก่อไว้

เมื่อเราเห็นแล้วว่าการผสมผ่านไปด้วยดี เราต้องนำปลาตัวเมียออกทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้มันกินลูก อย่าลืมนำแม่ปลาไปพักนะครับ คือเลี้ยงในน้ำสะอาดใส่ใบหูกวางกับเกลือลงไปนิดนึงก็ได้ เพราะหลังการผสมพันธุ์พวกมันจะเหนื่อยมาก ถ้าอยากเก็บไว้ทำพันธุ์ต่อก็เอาไปดูแลให้ดีๆน่าจะดีกว่า ส่วนลูกปลานั้น เราต้องรอประมาณ 2-3 วันมันก็จะเริ่มฟักเป็นตัวให้เห็นซึ่งในระยะวันสองวันแรก ลูกปลาจะตัวเล็กมากๆ นะครับ ห้ามตักขึ้นมาโดยเด็ดขาดเพราะพวกมันยังอ่อนแอมากๆ หากน้ำกระเพื่อมมากๆ เข้า ลูกปลาอาจตายได้ หากมีพื้นที่จริงๆควรเพาะในบ่อปูนขนาด 80 ซม.จะดีมาก เพราะแทบไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำเลย


ลูกปลาเมื่อตอนมีอายุราว 1 สัปดาห์

ทีนี้มาเข้าเรื่องอาหารกันบ้างครับ

โดยปกติผมจะให้ไรแดงกับลูกปลากัดครับ แต่ด้วยขนาดตัวปลาที่เล็กมากๆ พวกมันไม่สามารถกินไรแดงทั้งตัวได้เหมือนกับปลาที่โตแล้ว ดังนั้นผมจะใช้วิธีการให้ไรแดงกับพ่อปลาก่อน คือระหว่างรอไข่ฟักตัว ผมจะให้อาหารพ่อปลาตามปกติเลยครับ คือใส่ไรแดงลงไปให้มันกิน เพราะไรแดงมันสามารถออกลูกออกหลานได้เหมือนกัน และลูกหลานของไรแดงนี่แหละครับที่จะกลายมาเป็นอาหารของลูกปลากัดอีกทอดหนึ่ง แค่นี้เราก็สามารถเพาะเลี้ยงอนุบาลลูกปลากัดได้แล้ว หลังจากผ่านไปสี่ห้าวันหรือ 1 สัปดาห์ เราจะสามารถแยกพ่อปลาออกมา และปล่อยให้เจ้าลูกปลาดำรงชีวิตตามปกติได้แล้ว เพราะพวกมันโตพอที่จะกินไรแดงตามปกติได้แล้ว นี่คือวิธีการเพาะและอนุบาลลูกปลากัดตามแบบฉบับทั่วไปที่ผมทำ


ลูกปลาเมื่อมีอายุราว 2 สัปดาห์

แต่ปัญหาตามที่กล่าวไว้ตอนต้นคือ ช่วงที่ต้องอนุบาลลูกปลาดันตรงกับช่วงที่ผมจะไม่อยู่บ้านหลายวัน ผมจึงต้องให้คนที่บ้านเป็นธุระจัดหาอาหารให้แทน ซึ่งตามปกติแล้ว ผมจะออกไปช้อนไรแดงจากแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่พอผมไม่อยู่ก็ไม่มีใครไปช้อนให้ ครั้นจะให้คนที่บ้านออกไปหาซื้อตามร้านปลาสวยงามก็ไกลเกิน แค่ฝากให้ที่บ้านเลี้ยงก็เกรงใจแล้ว จะให้ขับรถออกไปซื้อไรแดงก็ดูจะโหดร้ายเกินไป ผมเลยต้องลองหาวิธีอนุบาลลูกปลาแบบที่ง่าย และสะดวกสบายสำหรับคนในบ้านที่สุด

ผมเลือกใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปนี่ละครับ

ระหว่างที่แฟนผมกำลังเพลิดเพลินกับการจัดเตรียมเสื้อผ้าไว้ใส่เที่ยวปีใหม่ ผมก็กำลังหาข้อมูลอยู่เหมือนกันว่ามีใครเขาใช้อาหารเม็ดในการอนุบาลลูกปลากันบ้างหรือเปล่า แล้วผลที่ออกมาดีไหม และที่สำคัญเขาใช้อาหารเม็ดตัวไหนกันบ้าง ผลที่ออกมาก็คบะๆกันไปหลากหลายยี่ห้อ แต่ส่วนตัวผมชอบอาหารปลาของซากุระที่สุด เพราะเคยใช้เลี้ยงปลากัดมาบ้างเหมือนกัน ซึ่งให้ผลตอบรับที่น่าพอใจ ปลาสามารถกินได้ตามปกติเหมือนอาหารสด และเจริญเติบโตได้ดี สีสันก็สวยงามไม่มีปัญหาใดๆ แต่กับการใช้อนุบาลลูกปลานี่ ผมเองก็ยังไม่เคยเหมือนกัน เพราะถูกปลูกฝังมาตลอดว่า อนุบาลลูกปลา ต้องอาหารสดเท่านั้น!!!


จากที่เคยใช้แต่ไรแดง ตอนนี้เปลี่ยนมาเสริมด้วยอาหารเม็ดอยู่เหมือนกัน เพราะควบคุมความสะอาดของน้ำได้ดีกว่า

ผมพอรู้นะว่าจริงๆ แล้วพวกไข่แดงต้มสุกหรือเต้าหู้ไข่ก็สามารถบดแล้วให้ลูกปลากินได้ สารอาหารก็เจ๋งไม่แพ้ไรแดง แต่มันต้องแลกมาซึ่งปัญหาน้ำเน่าเสียง่าย และอาจแลกมาด้วยเสียงกร่นด่าของญาตที่หาว่าผมหางานเปลี่ยนถ่ายน้ำมาให้แกอีก นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผมถึงต้องใช้อาหารเม็ดในครั้งนี้ และซากุระเองก็มีชื่อเสียงในเรื่องของคุณภาพเม็ดอาหารที่ไม่แตกตัวง่าย ผลคือช่วยในการรักษาคุณภาพน้ำได้นานกว่าอาหารปลาแบรนด์อื่นๆ และแม้ว่าตอนแรกผมก็เสียวๆเหมือนกัน เพราะไม่รู้ว่าผลที่ออกมาจะหมู่หรือจ่า แต่ในเมื่อมันเป็นทางออกที่ดีที่สุดผมก็ต้องลอง แน่นอนว่าผมไม่ได้คาดหวังให้มันออกมายอดเยี่ยมเหมือนการให้ไรแดงนะครับ ขอแค่ทำให้ลูกปลารอดมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก็พอ ทีนี้ไปดูกันครับว่าอาหารปลาซากุระสูตรปลากัดที่ผมใช้ หน้าตาเป็นยังไง และให้เวลาไหนยังไงบ้าง

สำหรับรายละเอียดของตัวอาหารไปอ่านกันต่อด้านล่างเลยนะครับ
ชื่อสินค้า:   Sakura
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่