ธรรมชาติของผู้ที่จะบวชได้ดี ไม่ทำความมัวหมองให้กับพระศาสนา..

สมัยครั้งพุทธกาล..ครั้งหนึ่งในกรุงราชคฤห์มีงานมหรสพประจำปีบนภูเขา  
อุปติสสมานพ(พระสารีบุตร)และโกลิตมานพ(พระมหาโมคคัลลานะ) ก็ไปเที่ยวชมด้วยกัน
แต่มิได้มีความร่าเริงในฐานะที่ควรร่าเริง สังเวชในฐานะที่ควรสังเวช หรือตกรางวัลในฐานะที่ควรตกรางวัล ดังแต่ก่อนมา..  
มาณพทั้งสองต่างมีความคิดเช่นนี้ว่า มีอะไรที่เราจะควรดูในมหรสพนี้ คนเหล่านี้แม้ทั้งหมดยังไม่ถึง ๑๐๐ ปี ต่างก็จะล้มหายตายจากกันไป..
ลำดับนั้น โกลิตะกล่าวกะอุปติสสะว่า เพื่อนอุปติสสะ ท่านไม่สนุกร่าเริงเหมือนวันก่อนๆ ใจลอย ท่านคิดอะไรหรือ..
อุปติสสะกล่าวว่า เพื่อนโกลิตะ เรานั่งคิดถึงเรื่องนี้อยู่ว่า ในการดูของคนเหล่านี้ ไม่มีแก่นสารเลย การดูนี้ไม่มีประโยชน์
ควรแสวงหาธรรมเครื่องหลุดพ้นสำหรับตน ก็ท่านเล่า เพราะเหตุไรจึงใจลอย แม้โกลิตะนั้นก็กล่าวอย่างนั้นเหมือนกัน.
จึงชักชวนกันออกแสวงหาโมกขธรรม..เพราะความเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น
จึงทำให้ท่านทั้งสองคลายความลุ่มหลงในมหรสพ ปิดหู ปิดตา จากมหรสพเหล่านั้น  
................................................................................
โดยธรรมชาติแล้ว..จิตจะอยู่กับตนเองได้ ก็ต่อเมื่อความอยากความยึดต่อสิ่งภายนอกคลายลงแล้ว ดับลงแล้ว..
ผู้ที่จะภาวนาทำจิตสงบได้จึงต้องมีศีลพอสมควรเป็นเหตุมาก่อน
นั่นก็หมายความว่าผู้ที่จะหันมากำหนดรู้ตนเอง คือ รู้จิต รู้กาย รู้อาการของจิตและกาย..
รู้ลมเข้า-ลมออก รู้ความคิด รู้ความอยากความยึด รู้ความเคลื่อนไหวกระทำของตนเอง
คือ อยู่กับตนเองได้นั้น จะต้องมีความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดต่อสิ่งภายนอกพอสมควร
เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของสิ่งภายนอกพอสมควร หรือ
ในขณะที่กำลังภาวนาอยู่นั้นจะต้องไม่มีความอยากความปรารถนาใดๆต่อสิ่งภายนอกบังเกิดขึ้นมาขัดขวาง..
.............................................................................
ผู้มีใจรุ่มร้อนอยากฆ่าอยากเบียดเบียนสัตว์ จิตก็ไม่สงบ..
ผู้กำลังทำการลักขโมยจิตก็ไม่สงบ..ผู้กำลังมีความกำหนัดในกาม จิตก็ไม่สงบ..
ผู้กำลังโกหกหลอกลวงจิตก็ไม่สงบ..ผู้กำลังมีความมึนเมา จิตก็ไม่สงบ..
ผู้กำลังยินดีในการกิน การดู การฟัง การขับร้อง จิตก็ไม่สงบ..
ผู้ยินดีในการพูดคุยสนทนาไม่หยุดหย่อนก็ไม่สงบ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นตัวขัดขวาง
ความสงบแห่งจิต ขัดขวางการอยู่กับตนเอง เพราะความลุ่มหลงต่อสิ่งภายนอกเป็นเหตุ..
เพราะฉะนั้นแล้ว หากสามเณรหรือพระภิกษุรูปใดไม่มีศีล๑๐ เป็นพื้นฐานขั้นต้น
ในจิตใจแล้ว ไม่มีทางเลยที่ท่านเหล่านั้นจะหันมาภาวนา หรือ ถึงจะภาวนาก็ทำจิตของตนให้สงบเป็นสมาธิได้ยาก..
ซึ่งไม่มีทางเลยที่ท่านเหล่านั้นจะถือบวชอยู่ในพระศาสนาได้อย่างเป็นสุข
ย่อมมีความเร่าร้อนกระวนกระวายอยากลาสิกขาอยู่เป็นนิจ..
โดยมากแล้ว ภิกษุสามเณรเหล่านั้นมักมาจากการถือบวชตามประเพณีกันบ้าง
บวชเพื่อแก้บนกันบ้าง บวชเพื่อหนีการงานกันบ้าง บวชตามเพื่อนบ้าง
ไม่ได้บรรพชาอุปสมบทมาด้วยความยินดีที่จะทำการภาวนา รักษาศีล
ถึงแม้จะบวชอยู่ในผ้าเหลืองก็ไม่ควบคุมจิต ไม่ระวังศีลของตน  
มักปรากฏทำความมัวหมองให้กับพระศาสนาอยู่บ่อยๆ..
ด้วยเหตุนั้น ผู้ที่จะเข้าถือบวชในพระศาสนา บำเพ็ญภาวนาทำจิตสงบ รักษาศีล
รักษาธรรมได้ดี ไม่ผ้าเหลืองร้อนแล้ว จะต้องเป็นผู้ที่เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด และมีความปรารถนาที่จะปิดหู ปิดตาตนจากสิ่งยั่วยุภายนอก
มีศีลมาก่อนหน้านั้นแล้วบ้างในขณะเป็นฆราวาส
เมื่อปรารถนาบวชจึงจะบวชได้ดี มีจิตสงบ ไม่เร่าร้อนกระวนกระวายอยากลาสิกขา เมื่อเข้ามาบวชในบวรพระศาสนา..
ยสกุลบุตรรำพึงว่าที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอแล้ว จึงเดินออกจากบ้าน ไปพบพระพุทธเจ้าที่รอโปรดอยู่..
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่