๛ ไม่พึงเป็นผู้เดินทางไกล ไม่พึงเป็นผู้อันทุกข์ติดตาม ๛

ขอกราบไหว้พระรัตนตรัยด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง

------------------

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓  พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ]
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์


ภัยของภิกษุผู้บวชใหม่ ๔ ประการ


                                       [๑๖๑] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
                                       “ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้ ที่คนลงไปในน้ำพึงประสบ
                                       ภัย ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
                                                    ๑. อูมิภัย (ภัยจากคลื่น)
                                                    ๒. กุมภีลภัย (ภัยจากจระเข้)
                                                    ๓. อาวัฏฏภัย (ภัยจากน้ำวน)
                                                    ๔. สุสุกาภัย (ภัยจากปลาร้าย)
                                       ภัย ๔ ประการนี้แล ที่คนลงไปในน้ำพึงประสบ ฉันใด

                                       ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ที่กุลบุตรบางคนในโลกนี้
                          มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยนี้ พึงประสบ

                                       ภัย ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
                                                    ๑. อูมิภัย           ๒. กุมภีลภัย
                                                    ๓. อาวัฏฏภัย      ๔. สุสุกาภัย

                                       [๑๖๒] อูมิภัย เป็นอย่างไร
                                       คือ กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต คิดว่า
                          ‘เราถูกชาติ(ความเกิด) ชรา(ความแก่) มรณะ(ความตาย) โสกะ(ความเศร้าโศก)
                          ปริเทวะ(ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส(ความทุกข์ใจ) อุปายาส
                          (ความคับแค้นใจ) ครอบงำ ตกอยู่ในกองทุกข์ มีทุกข์ประดังเข้ามา ไฉนหนอ การ
                          ทำกองทุกข์ทั้งหมดนี้ให้สิ้นสุด จะพึงปรากฏ’ เพื่อนพรหมจารีตักเตือนพร่ำสอน
                          เธอผู้บวชแล้วนั้นว่า ‘เธอพึงก้าวไปอย่างนี้ พึงถอยกลับอย่างนี้ พึงแลดูอย่างนี้
                          พึงเหลียวดูอย่างนี้ พึงคู้เข้าอย่างนี้ พึงเหยียดออกอย่างนี้ พึงครองสังฆาฏิ บาตร
                          และจีวรอย่างนี้’ เธอคิดอย่างนี้ว่า ‘เมื่อก่อน เราเป็นคฤหัสถ์มีแต่ตักเตือน
                          พร่ำสอนผู้อื่น ก็ภิกษุเหล่านี้ มีอายุคราวลูกคราวหลานของเรา ยังจะมาตักเตือน
                          พร่ำสอนเรา’ เธอจึงบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์
                                       นี้เรียกว่า ภิกษุผู้กลัวอูมิภัย บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ คำว่า
                          อูมิภัย นี้ เป็นชื่อเรียกความโกรธและความคับแค้นใจ

                                       [๑๖๓] กุมภีลภัย เป็นอย่างไร
                                       คือ กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต คิดว่า
                          ‘เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสครอบงำ ตกอยู่
                          ในกองทุกข์ มีทุกข์ประดังเข้ามา ไฉนหนอ การทำกองทุกข์ทั้งหมดนี้ให้สิ้นสุด
                          จะพึงปรากฏ’ เพื่อนพรหมจารีตักเตือนพร่ำสอนเธอผู้บวชแล้วนั้นว่า ‘สิ่งนี้เธอ
                          ควรฉัน สิ่งนี้เธอไม่ควรฉัน สิ่งนี้เธอควรบริโภค สิ่งนี้เธอไม่ควรบริโภค สิ่งนี้เธอ
                          ควรลิ้ม สิ่งนี้เธอไม่ควรลิ้ม สิ่งนี้เธอควรดื่ม สิ่งนี้เธอไม่ควรดื่ม สิ่งที่เป็นกัปปิยะ๑-
                          เธอควรฉัน สิ่งที่เป็นอกัปปิยะ๒- เธอไม่ควรฉัน สิ่งที่เป็นกัปปิยะเธอควรบริโภค สิ่งที่
                          เป็นอกัปปิยะเธอไม่ควรบริโภค สิ่งที่เป็นกัปปิยะเธอควรลิ้ม สิ่งที่เป็นอกัปปิยะเธอ
                          ไม่ควรลิ้ม สิ่งที่เป็นกัปปิยะเธอควรดื่ม สิ่งที่เป็นอกัปปิยะเธอไม่ควรดื่ม สิ่งนี้เธอควร
                          ฉันในกาล๓- สิ่งนี้เธอไม่ควรฉันในเวลาวิกาล๔- สิ่งนี้เธอควรบริโภคในกาล สิ่งนี้เธอ
                          ไม่ควรบริโภคในเวลาวิกาล สิ่งนี้เธอควรลิ้มในกาล สิ่งนี้เธอไม่ควรลิ้มในเวลาวิกาล
                          สิ่งนี้เธอควรดื่มในกาล สิ่งนี้เธอไม่ควรดื่มในเวลาวิกาล’ เธอคิดอย่างนี้ว่า ‘เมื่อก่อน
                          เราเป็นคฤหัสถ์เคี้ยวกินสิ่งที่เราต้องการ ไม่เคี้ยวกินสิ่งที่เราไม่ต้องการ บริโภคสิ่ง
                          ที่เราต้องการ ไม่บริโภคสิ่งที่เราไม่ต้องการ ลิ้มสิ่งที่เราต้องการ ไม่ลิ้มสิ่งที่เราไม่
                          ต้องการ ดื่มสิ่งที่เราต้องการ ไม่ดื่มสิ่งที่เราไม่ต้องการ เคี้ยวกินทั้งสิ่งเป็นกัปปิยะ
                          และสิ่งเป็นอกัปปิยะ บริโภคทั้งสิ่งเป็นกัปปิยะและสิ่งเป็นอกัปปิยะ ลิ้มทั้งสิ่งเป็น
                          กัปปิยะและสิ่งเป็นอกัปปิยะ ดื่มทั้งสิ่งเป็นกัปปิยะและสิ่งเป็นอกัปปิยะ เคี้ยวกินทั้ง
                          ในกาลและในเวลาวิกาล บริโภคทั้งในกาลและในเวลาวิกาล ลิ้มทั้งในกาลและในเวลา
                          วิกาล ดื่มทั้งในกาลและในเวลาวิกาล สิ่งใดที่ประณีตไม่ว่าจะเป็นของเคี้ยวหรือของ
                          บริโภค ที่คหบดีผู้มีศรัทธาถวายแก่เราทั้งในกาลและในเวลาวิกาล ภิกษุเหล่านี้
                          ทำเหมือนปิดปากแม้ในสิ่งของเหล่านั้น’ เธอจึงบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์
                                       นี้เรียกว่า ภิกษุผู้กลัวกุมภีลภัย บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ คำว่า
                          กุมภีลภัย นี้ เป็นชื่อเรียกความเป็นคนเห็นแก่ปากท้อง

                                       [๑๖๔] อาวัฏฏภัย เป็นอย่างไร
                                       คือ กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต คิดว่า
                          ‘เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสครอบงำ ตกอยู่ใน
                          กองทุกข์ มีทุกข์ประดังเข้ามา ไฉนหนอ การทำกองทุกข์ทั้งหมดนี้ให้สิ้นสุด จะพึง
                          ปรากฏ’ เธอบวชอยู่อย่างนี้ ในเวลาเช้าครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร เข้าไป
                          บิณฑบาตตามหมู่บ้านหรือตำบล ไม่รักษากาย ไม่รักษาวาจา มีสติไม่ตั้งมั่น
                          ไม่สำรวมอินทรีย์ เธอเห็นคหบดีหรือบุตรคหบดีในหมู่บ้านหรือตำบลนั้น ผู้เอิบอิ่ม
                          พรั่งพร้อม บำเรอตนด้วยกามคุณ ๕ ประการ คิดอย่างนี้ว่า ‘เมื่อก่อน เราเป็น
                          คฤหัสถ์ผู้เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม บำเรอตนด้วยกามคุณ ๕ ประการ โภคทรัพย์ใน
                          ตระกูลของเราก็มีอยู่พร้อม เราสามารถที่จะใช้สอยโภคทรัพย์และทำบุญได้' เธอจึง
                          บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์
                                       นี้เรียกว่า ภิกษุผู้กลัวอาวัฏฏภัย บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ คำว่า
                          อาวัฏฏภัย นี้ เป็นชื่อเรียกกามคุณ ๕ ประการ

                                       [๑๖๕] สุสุกาภัย เป็นอย่างไร
                                       คือ กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต คิดว่า
                          ‘เราถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสครอบงำ ตกอยู่ใน
                          กองทุกข์ มีทุกข์ประดังเข้ามา ไฉนหนอ การทำกองทุกข์ทั้งหมดนี้ให้สิ้นสุด จะพึง
                          ปรากฏ’ เธอบวชอยู่อย่างนี้ ในเวลาเช้าครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเข้าไป
                          บิณฑบาตตามหมู่บ้านหรือตำบล ไม่รักษากาย ไม่รักษาวาจา มีสติไม่ตั้งมั่น
                          ไม่สำรวมอินทรีย์ เธอเห็นมาตุคาม(สตรี)ในหมู่บ้านหรือนิคมนั้น นุ่งไม่เรียบร้อย
                          หรือห่มไม่เรียบร้อย ราคะรบกวนจิตของเธอ เพราะเห็นมาตุคามนุ่งไม่เรียบร้อย
                          หรือห่มไม่เรียบร้อย เธอมีจิตฟุ้งซ่านเพราะราคะ จึงบอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์
                                       นี้เรียกว่า ภิกษุผู้กลัวสุสุกาภัย บอกคืนสิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์ คำว่า
                          สุสุกาภัย นี้ เป็นชื่อเรียกมาตุคาม

                                       ภิกษุทั้งหลาย ภัย ๔ ประการนี้แล ที่กุลบุตรบางคนในโลกนี้ มีศรัทธาออก
                          จากเรือนบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัย นี้พึงประสบ๕-

                                       พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิต
                          ของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล

เชิงอรรถ :
๑ กัปปิยะ หมายถึงสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมตามพุทธบัญญัติ เช่น น้ำปานะ ๘ ชนิด คือ (๑) น้ำมะม่วง (๒) น้ำหว้า
(๓) น้ำกล้วยมีเมล็ด (๔) น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด (๕) น้ำมะทราง (๖) น้ำผลจันทน์หรือน้ำองุ่น (๗) น้ำเหง้าบัว
(๘) น้ำผลมะปรางหรือน้ำลิ้นจี่ เภสัช ๕ ชนิด คือ (๑) เนยใส (๒) เนยข้น (๓) น้ำมัน (๔) น้ำผึ้ง (๕) น้ำอ้อย
โภชนะ ๕ ชนิด คือ (๑) ข้าวสุก (๒) ขนมสด (๓) ข้าวตู (๔) ปลา (๕) เนื้อ รวมทั้งสิ่งที่เป็นยามกาลิก
(สิ่งที่บริโภคได้ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง) สัตตาหกาลิก (สิ่งที่บริโภคได้ภายใน ๗ วัน) และยาวชีวิก (สิ่งที่บริโภคได้
ตลอดชีวิต คือ เกลือ มูตร คูถ เถ้า ดิน) (ดูเทียบ วิ.มหา. (แปล) ๒/๒๓๘-๒๕๖/๓๙๕-๔๐๙)
๒ อกัปปยะ หมายถึงสิ่งที่ไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมตามพุทธบัญญัติ ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่เป็นกัปปิยะ
๓ กาล หมายถึงเวลาตั้งแต่อรุณขึ้นถึงเที่ยงวัน (สํ.ส.อ. ๑/๔/๒๒)
ดูเชิงอรรถที่ ๓ ข้อ ๑๑ (กันทรกสูตร) หน้า ๑๓ ในเล่มนี้
ดูเทียบ องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๑๒๒/๑๘๔-๑๘๖


เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๑๓ หน้าที่ ๑๗๗-๑๘๕.
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/m_siri.php?B=13&siri=17
อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :-
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=3508&Z=3666
ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=186
ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย :-
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/pali_item_s.php?book=13&item=186&items=9
ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรโรมัน :-
http://84000.org/tipitaka/pitaka_item/roman_item_s.php?book=13&item=186&items=9
อ่านเทียบฉบับแปลอังกฤษ Compare with English Translation :-
http://metta.lk/tipitaka/2Sutta-Pitaka/2Majjhima-Nikaya/Majjhima2/067-catuma-e1.html




แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่