6 ค่าใช้จ่าย ที่ต้องเตรียมพร้อมในการ ขอสินเชื่อ



สวัสดีค่ะ วันนี้เรามาเตรียมความพร้อมสำหรับค่าใช้จ่ายในการ ขอสินเชื่อ เพราะในการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยนั้น มีค่าใช้จ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องหลายรายการด้วยกัน โดยค่าใช้จ่ายต่างๆมักมาพร้อมกับเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไปของแต่ละธนาคาร วันนี้เราจะมาทำความรู้จักค่าใช้จ่ายต่างๆที่เราจะต้องชำระในการขอสินเชื่อ โดยที่สำคัญๆมีดังต่อไปนี้

1.ค่าประเมินมูลค่าหลักประกัน นั่นคือ บ้าน คอนโด อาคารชุด อาคารพาณิชย์ ทาวน์เฮ้าส์ หรือ อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่ซื้อแล้วจะนำมาจดจำนองกับธนาคารที่เราทำการยื่นกู้ จะต้องเสียค่าประเมินราคาหลักทรัพย์ดังกล่าว เพื่อสำหรับทำเป็นหลักประกันที่ธนาคารทำการปล่อยสินเชื่อและกำหนดวงเงินสินเชื่อที่เราจะได้รับ โดยการประเมินมูลค่าต่างๆนั้นอาจจะไม่ใช้ราคาที่ซื้อขาย อาจจะสูงหรือต่ำกว่าราคาซื้อ-ขาย เพื่อธนาคารหรือสถาบันการเงินจะนำมาเป็นราคาตั้งในการให้วงเงินสินเชื่อตามเกณฑ์ที่ธนาคารจะกำหนด โดยปกติแล้วค่าประเมินจะขึ้นอยู่กับมูลค่าหลักทรัพย์และวงเงินที่ขอกู้ด้วย หากหลักทรัพย์หรือวงเงินที่ขอกู้มีมูลค่าสูงๆ ค่าประเมินก็จะสูงขึ้นไปด้วยตามเกณฑ์ที่ธนาคารแต่ละที่จะกำหนดไว้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าประเมินราคาหลักประกัน เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 1,500-2,500 บาท หรืออาจจะตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแต่ละแห่งจะกำหนดซึ่งอาจจะไม่เท่ากัน

2.ค่าธรรมเนียนในการยื่นขอสินเชื่อยื่นกู้ นั่นหมายถึง ค่าธรรมเนียมสำหรับการที่ธนาคารจะทำการวิเคราะห์หรือจัดการสินเชื่อ ค่าธรรมเนียมนี้จะมีค่าใช้จ่ายที่ต่างกันของแต่ละธนาคารซึ่งจะเรียกเก็บในอัตราที่แตกต่างกันออกไป โดยปกติจะนิยมจัดเก็บในอัตราที่คงที่ ตามอัตราร้อยละ ของวงเงินที่เราทำการขอยื่นกู้ เท่าที่มีการจัดเก็บกันอยู่ ประมาณ 0-1% ของวงเงินกู้

3.ค่าประกันเพลิงไหม้อัคคีภัย จะต้องจ่ายแน่นอน เพราะเนื่องจากธนาคารกำหนดเป็นเงื่อนไขให้บ้านที่ทำการขอกู้ทุกๆหลังต้องทำประกันอัคคีภัย โดยทำการยกประโยชน์ให้กับธนาคาร เพื่อที่จะป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่เกิดไฟไหม้ประมาณ 2,000 บาทสำหรับบ้านที่มีมูลค่า 1,000,000 บาท ทั้งนี้จะต้องจ่ายให้กับผู้ให้กู้ นอกจากนั้นบางธนาคารอาจจะกำหนดให้ผู้กู้ต้องทำประกันชีวิตเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มด้วย โดยมีหลักการสำคัญคือ ผู้ที่ทำประกัน จะได้รับความคุ้มครองในกรณีที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพในช่วงเวลาที่เอาประกัน บริษัทผู้ประกันจะจ่ายคืนเงินกู้ในส่วนที่เหลือให้กับธนาคารแทนผู้กู้ ซึ่งจะทำให้กรรมสิทธิ์ต่างๆถูกโอนไปยังทายาทต่อไปได้


4.ค่าธรรมเนียมจำนองของสำนักงานที่ดิน โดยผู้กู้จะต้องเตรียมค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ไว้ชำระค่าธรรมเนียมจดจำนอง ร้อยละ 1 ของวงเงินที่เราจดจำนอง แต่จะไม่เกิน 200,000 บาท ที่เราจะต้องเสียให้กับกรมที่ดิน

5.ค่าอากรแสตมป์ เราจะต้องเสียในอัตรา 0.05% ของวงเงินกู้หรือทุกจำนวนเงิน 2,000 ของเงินที่กู้ยืม จะเสียอากรแสตมป์ 1 บาท แต่ก็จะไม่เกิน 10,000 บาท

6.ค่าธรรมเนียมการไถ่ถอนจำนองก่อนกำหนด นั่นคือ ค่าธรรมเนียมที่ธนาคารจะจัดเก็บกับผู้ยื่นกู้ในกรณีที่เราทำการไถ่ถอนจำนองก่อนกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการชำระหนี้ทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีและไถ่ถอนจำนองหลักทรัพย์ออกในช่วงระยะเวลา 3 ปีแรกของการกู้เงิน โดยอัตราการจัดเก็บของแต่ละธนาคารจะแตกต่างกันออกไป

ที่มา https://goo.gl/iLrYhz
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่