Buy out Clause และ Release Clause ในวงการฟุตบอล

จริงๆควรเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่คดีเนย์ม่า แต่เราไม่ใช่แฟนบาซ่า ช่างมัน
จริงๆกะจะตั้งชื่อว่า "Emre Can กับเงื่อนไขฉีกสัญญาปริศนา" แต่ก็ดูจะเฉพาะกิจไปนี้ดดดด
แต่เริ่มมาเขียนก็เพราะ Emre แหละครับ และเริ่มเห็นคอมเมนต์แฟนหงส์หลายคนที่ทำใจกับการเสียคูตี้ไม่ได้ บอกว่าต่อไปต้อง "ใส่ค่าฉีกสัญญาแพงๆ" สะท้อนความเข้าใจผิดกันอยู่มาก

อะไรคือ Release Clause
Release Clause (RC) เป็นเงื่อนไขที่ระบุในสัญญา ว่าหากสโมสรได้รับข้อเสนอ มูลค่าเท่ากับที่ระบุไว้ นักเตะจะได้รับสิทธิที่จะเจรจากับสโมสรใหม่
RC ไม่ได้โดนบังคับโดยกฏหมาย ดังนั้นจึงร่างขึ้นตามความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่าย และมีเงื่อนไขได้ตามที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ เช่น
1. Joe Allen ย้ายมาลิเวอร์พูลด้วยค่าตัว 15 ล้านปอนด์ นั้นเป็นผลจาก RC ที่ระบุราคาและชื่อสโมสรเป็นการเฉพาะ - แปลว่าลิเวอร์พูลใช้ RC นี้ได้ แต่เวสต์แฮม ใช้เงื่อนไขนี้ไม่ได้
2. Luis Suarez กับอาเซนอล กับค่าตัว 40+1 ล้านปอนด์นั้น ระบุเพียง หากมีคน Match ราคาที่ระบุ สโมสรจะพิจารณาร่วมกับนักเตะ โดยมีสมาคมนักเตะ(PFA) เป็นผู้ไกล่เกลี่ย ดังนั้น ดีลย้ายไป อาเซนอลของซัวเรสจึงไม่เกิดขึ้นจริง เพราะสโมสรไม่จำเป็นต้องรับข้อเสนอ
3. ฌอง เซรี , เคอิต้า และ เฟลไลนี่ มี RC ที่ระบุระยะเวลาใช้สิทธิ - ในกรณีของฌอง ระยะเวลาใช้สิทธินั้นหมดก่อนมีข้อเสนอใดๆ - ดีลจึงล่ม  เฟลไลนี่ แมนยูจ่ายแพงกว่าค่าฉีกสัญญามากเพราะ RC หมดอายุไปก่อน ส่วนเกอิต้าลิเวอร์พูลต้องจ่ายแพง เพราะ RC ยังไม่เริ่มบังคับใช้

Buyout Clause ล่ะ
Buyout Clause (BC) เป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของกฏหมายแรงงานสเปน เรียกว่า "cláusula de rescission” กฏข้อนี้ระบุว่านักกีฬาอาชีพสามารถจ่ายเงินตามมูลค่าที่ "กำหนดไว้ล่วงหน้า" เพื่อยกเลิกสัญญาได้
BC ต่างจาก RC อยู่บ้าง คือ BC ผู้สามารถใช้สิทธิคือตัวนักกีฬาเท่านั้น ไม่ใช่สโมสรอื่น ดังนั้นสโมสรมีสิทธิปฏิเสธข้อเสนอซื้อมูลค่าเท่ากับ BC ได้
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติอิสโก้ มี BC อยู่ที่ 100 ล้านยูโร แม้ลิเวอร์พูลจะเสนอซื้อ 100 ล้านยูโร รีล แมดริด ก็ยังมีสิทธิปฏิเสธ เพราะผู้ใช้สิทธิได้มีเพียงตัวนักกีฬาเท่านั้น
ในกรณีของเนย์ม่า ผู้ใช้สิทธิคือตัวเนย์ม่าเอง ไม่ใช่ PSG
เนื่องจากโดยปกติแล้ว นักกีฬาไม่มีเงินไปใช้สิทธิฉีกสัญญาตัวเอง และสโมสรก็ไม่มีสิทธิใช้สิทธิด้วย - การโอนเงินให้นักกีฬาไปใช้สิทธิ ย่อมหมายความว่าเงินก้อนนั้นต้องโดนพิจารณาเป็นรายได้ของนักกีฬา และต้องเสียภาษีเพิ่มเติมให้แก่สเปน ภาษีที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้คือ VAT 18% และภาษีเงินได้จากตัวนักเตะอีก 47%  (นึกไม่ออกเลยว่า PSG จ่ายเนย์ไปเท่าไหร่เนี่ย อาจจะถึง 300 ล้าน เพราะต้องจ่ายภาษีให้ด้วย)

เชื่อกันว่า BC ไม่สามารถ implement ในประเทศอังกฤษได้ เพราะศาลอังกฤษมีแนวโน้มตีความมูลค่าเว่อร์ๆ ใน BC เป็น "สัญญาไม่เป็นธรรม" และจะทำให้สัญญาทั้งฉบับเป็นโมฆะ
ต่อไปนี้ผมจะเรียกทั้ง RC และ BC รวมๆว่าค่าฉีกสัญญา

ค่าฉีกสัญญาดีต่อใคร?
เราสามารถพิจารณาได้ว่า ค่าฉีกสัญญาบังคับให้สโมสรต้องรับข้อเสนอเมื่อมูลค่าเกินค่าๆหนึ่ง ในกรณีปกติ(ไม่มีค่าฉีก) สโมสรทรงสิทธิ์เพียงผู้เดียวว่าจะรับ/ไม่รับข้อเสนอ ดังนั้นการลดอำนาจของสโมสรลง ย่อมเป็นประโยชน์กับนักเตะ มากกว่ากับสโมสร

วะ ฮ่าฮ่าฮ่าฮ่า

อยากได้ค่าฉีกก็ใส่ให้ไปสิ ใส่แพงๆไปเลย 300 ล้านงี้
การที่นักเตะเรียกร้องขอสัญญาที่มีค่าฉีก ย่อมสะท้อนเจตนาว่านักเตะต้องการลดอำนาจต่อรองของสโมสร การใส่ค่าฉีกที่ไม่สมจริง ก็ไม่ต่างกับไม่ใส่ค่าฉีก คือนักเตะย่อมไม่ยอมเซ็นสัญญา

ถ้ามีค่าฉีกสัญญา นักเตะจะไม่งอแง
จริงและไม่จริง - ถ้าค่าฉีกไม่สูงมากนัก และสโมสรต่อรองราคาได้ นักเตะย่อมไม่งอแง แต่สโมสรจะรั้งตัวนักเตะได้ยากขึ้นมาก
ถ้าค่าฉีกสูงมากๆ นักเตะไม่สามารถหาผู้ซื้อขนาดนั้นได้ แต่ต้องการย้าย นักเตะก็งอแงอยู่ดี


ค่าฉีกสัญญาไม่ช่วยบรรเทาอาการปวดหลัง

สโมสรควรกำหนดราคาที่เหมาะสมและแฟร์กับนักเตะ
จริงครับ แต่ขอแสดงความเห็นว่า ราคาที่เหมาะสมนี่ กำหนดได้ยากมาก เมื่อพิจารณาถึงอัตราการเฟ้อของตลาดนักเตะ
ในสามปีที่ผ่านมา CIES ประเมินว่าตลาดนักเตะ เฟ้อขึ้น 11%, 28% และ 30% (ตัวเลขหลังสุดไม่ยืนยัน) ตามลำดับ นั่นหมายถึงราคานักเตะเกรดเดียวกันในสามปีก่อน เพิ่มขึ้น 1.11*1.28*1.3 - 1 = 96% โดยเฉลี่ย
ลองพิจารณาว่า ถ้าต่อสัญญาเอมเร่ ชาน โดยมีค่าฉีกสัญญา 50 ล้าน ค่าฉีกสัญญานี้จะลดมูลค่าลงครึ่งหนึ่งในเวลา 3 ปี ลองนึกภาพ ชานย้ายออกไปด้วยราคา 20 ล้านทั้งๆที่เหลือสัญญา 2 ปี เราก็คงพูดกันยากว่านั่นเป็นราคาที่เหมาะสม
ที่ยากยิ่งกว่าคือ เราประเมินอัตราเฟ้อของค่าตัวลำบากมาก นักเตะย่อมไม่ยอมเซ็นสัญญาที่ประเมินการเฟ้อของค่าตัวสูงๆ ในขณะเดียวกันสโมสรก็ไม่อยากให้สัญญาที่ประเมินการเฟ้อต่ำๆ
ถ้าจะถามหาเหยื่อของการประเมินอัตราเงินเฟ้อผิดพลาดก็บาซ่า ไงครับ ค่าฉีกสัญญา 222 ล้านยูโร นั้นเป็น 2.2 เท่าของราคานักเตะแพงที่สุดในโลกขณะนั้น ใครจะไปคิดถึงว่าแค่สี่ปี มูลค่าจะเฟ้อจนเท่ากับบาซ่าต้องโดนบังคับขายในราคาเกือบเท่าทุน(หลังปรับเงินเฟ้อ)

สุดท้าย ชาน(โกเรสก้า โอซิล ซานเชส เฟลไลนี่) จะต่อสัญญาหรือไม่ ทีมยอมหักไม่ยอมงอโดยไม่ใส่ RC ถูกต้องหรือไม่ ก็คงต้องเป็นเรื่องของอนาคตครับ เราๆก็เชียร์กันต่อไป

ปิดท้ายด้วยรูปเอมเร่ ชาน ในยูนิฟอร์มม้าลาย ยิ้ม

https://en.wikipedia.org/wiki/Buyout_clause
http://www.danielgeey.com/buy-out-release-clauses-in-football-the-basics/
https://lawinfootball.wordpress.com/2014/02/19/buy-out-clauses-in-football-players-contracts-a-means-for-greater-player-freedom/
https://www.sportskeeda.com/football/buy-out-clauses-how-they-work-spanish-football
https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_most_expensive_association_football_transfers
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่