ให้ลึกเรื่อง ‘กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด’

กระทู้สนทนา
ข้อมูลจากกรมการแพทย์ บอกไว้ว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นภาวะที่มีการอุดตันของเลือดหัวใจ ทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย โดยในประเทศไทยพบว่าร้อยละ 45 ของการเสียชีวิตเฉียบพลัน เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจ

เรื่องนี้ นพ.อดุลย์ชัย ธรรมาแสงเสริฐ หรือ หมอเกมส์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์และแฟนเพจ แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว ให้ข้อมูลว่า สภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป เนื่องจากภายในกล้ามเนื้อหัวใจมีเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงอยู่เช่นเดียวกับเส้นเลือดที่มีอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เกิดจากการที่หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจเกิดภาวะแข็งตัว (Ateriosclerosis) จากการสะสมของสารต่าง ๆ ที่มาเกาะบนผนังด้านในของหลอดเลือด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไขมัน ทำให้ผนังหลอดเลือดหนา ตีบแคบหรืออุดตัน ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดลดลง เลือดไหลผ่านไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้น้อยลง ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตโดยไม่ทันรู้ตัว นอกจากนี้ก็ยังมีปัจจัยที่ส่งเสริมให้หลอดเลือดหัวใจตีบได้อีก เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง

“สำหรับอาการเบื้องต้นของโรคจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนโดนช้างเหยียบ ซึ่งคนที่ฟังแบบนี้อาจจะนึกภาพไม่ออกแน่นอนว่ามันเป็นอย่างไร” หมอเกมส์ อธิบายต่อว่า อาการคล้ายกับเวลาที่เราเป็นตะคริว มีความรู้สึกแน่นหน้าอก ลักษณะเจ็บแบบจุกแน่น เหมือนมีอะไรบีบรัด หรือของหนักทับหน้าอก มีเหงื่อออก มักจะเจ็บร้าวไปที่ไหล่ซ้าย แขนซ้าย อาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นแบบกระทันหันในขณะที่กำลังใช้ชีวิตประจำวันปกติ บางคนเมื่อมีอาการเจ็บแล้วก็หายไปเองเมื่อหยุดทำกิจกรรมที่ทำให้หัวใจทำงานหนัก ในขณะที่บางรายหลอดเลือดอาจตีบมาก่อนแล้วประมาณ 50 เปอร์เซ็น โดยไม่แสดงอาการให้รู้ตัวก่อน พอวันดีคืนร้ายอาการก็ปรากฏขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจอุดตันเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้เลย ทำให้มีกล้ามเนื้อหัวใจตาย มีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง ที่ทำให้เกิดภาวะช็อกและหัวใจวายได้

พฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ส่งผลต่อความเสี่ยงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ได้แก่ ผู้ที่สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่ทำให้เกิดไขมันสะสมในร่างกาย

เมื่อเกิดอาการ ปฏิบัติการกู้ชีพ CPR (Cardiopulmonary Resuscitation) ช่วยได้จริงหรือ?

หมอเกมส์ ให้คำตอบว่า การทำ CPR สำหรับโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน สามารถช่วยผู้ป่วยได้ แต่อยู่ในเปอร์เซ็นที่น้อยมาก เนื่องจากกลไกของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดต้องอาศัยหลักในการรักษาที่ตัวหลอดเลือด

ขณะที่ผู้ป่วยเกิดอาการ สิ่งที่คนรอบข้างควรทำเป็นอันดับแรก คือ  A - Airway : การเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง การเคลียร์พื้นที่ไม่ให้คนมุง ปลดเสื้อผ้า เข็มขัด ให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวก B - Breathing : ตรวจสอบดูว่าผู้ป่วยหายใจได้เองหรือไม่ แล้วเป่าปากเพื่อช่วยหายใจ C - Circulation : ตรวจชีพจร นวดหัวใจเพื่อช่วยให้เกิดเลือดไหลเวียนอีกครั้ง และรีบส่งตัวไปยังโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

หมอเกมส์ ย้ำว่า “การปฐมพยาบาล หรือการทำ CPR หากทำไม่ถูกต้องก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้ป่วยได้ การนวดใจที่ถูกต้องคือ การนวดหัวใจ 15 ครั้ง แล้วเป่าปาก 2 ครั้ง โดยวางสันมือซ้อนกันบนกระดูกหน้าอก ใช้นิ้วมือประสานกัน เพื่อป้องกันไม่ให้นิ้วมือกดกระดูกซี่โครงจนหัก”

สำหรับการดูแลรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเมื่อถึงมือแพทย์จะใช้หลัก “MONA” ได้แก่

M-morphine: การฉีดตัวยามอร์ฟีนเพื่อลดอาการเจ็บของคนไข้

O-oxygen: ให้ออกซิเจนที่เพียงพอแก่คนไข้

N-nitriates: ใช้ยาช่วยขยายเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจ มีทั้งในรูปยาพ่น และยาอมใต้ลิ้น

A- aspirin: ยาละลายเกล็ดเลือด เพื่อให้เลือดที่แข็งตัวจากการอุดตันสามารถไหลเวียนได้สะดวก

หลังจากผ่านขั้นตอน mona แล้วแพทย์จะแนะนำให้ทำการสวนเส้นเลือดเพื่อขยายเส้นเลือด ซึ่งการได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที สามารถลดอัตราการเสียชีวิต และทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปดำรงชีวิตตามปกติได้

อะไรที่ทำให้เราห่างไกลจากความเสี่ยงของ “โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด”

“เพราะร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนออกไปวิ่งออกกำลังกาย วันดีคืนร้าย ก็เกิดอาการของโรคหัวใจขึ้นเฉียบพลันถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย “การตรวจสุขภาพ” อย่างน้อยปีละ1 ครั้ง เป็นพื้นฐานที่จะทำให้เราสามารถรู้ตัวเองก่อนว่าเกิดอะไรกับร่างกาย เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การออกกำลังกาย ไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ควบคุมการกินให้เหมาะสมกับร่างกาย เพียงเท่านี้ก็ลดความเสี่ยงของโรคภัยต่าง ๆ ได้แล้ว” หมอเกมส์ แนะนำทิ้งท้าย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่