ผมรู้ดีกว่าหมอ ทำให้คุณพ่ออายุสั้น

คุณพ่อมีอาการกราฟหัวใจเต้นผิดปกติเมื่อ 10 ปี ก่อน
ท่านไปให้หมอตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาล แต่ผมดันรู้
มากหาข้อมูลในคอมพิวเตอร์แล้วไปเบี่ยงเบนการตรวจ
ของท่านที่โรงพยาบาล 2 ครั้ง 2 ครา ต่างวาระกัน จนท้าย
ที่สุด 10 ปีผ่านไป ท่านก็จากไป

รายละเอียดเป็นดังนี้
2550 : พ่อปวดหัวใจ ตรวจเจอกราฟผิดปกติ หมอแนะนำ
ให้ฉีดสี แต่ผมไปหาข้อมูลในเน็ตพบว่าการฉีดสีอันตราย
และถ้าต้องใส่ขดลวดก็มักจะกลับมาตีบซ้ำ ผมเลยไม่ให้ท่าน
ฉีดสี ไปเถียงกันหน้าห้องฉีดสี หมดเลยบอกว่างั้นไม่ต้องฉีด
ละกัน ผมเลยพาท่านเข้ากรุงเทพไปตรวจ CT Scan 64
slice แทน ผลปรากฎว่าไม่ตีบ แล้วก็สบายใจกันไป
ไม่ได้ไปตรวจเพิ่มเติมอะไรที่ไหนต่อ

2556 : พ่อมีอาการน้ำท่วมปอดครั้งแรก เพราะมาช่วยผมขน
ของ ทำให้หมอแนะนำให้มาฉีดสีอีกครั้ง แต่ก็พบว่าไม่ตีบ แต่
มีค่า EF ของหัวใจเหลือแค่ 34% หมอจึงเริ่มรักษาด้วยการ
ให้ยาประคับประคอง

2560 ก.พ. : ค่า EF ของคุณพ่อเหลือแค่ 5% ทำให้หมอต้องใส่
เครื่องกระตุ้นหัวใจแบบ CRTD เพื่อประคับประคองหัวใจ

2560 ก.ค. : สุดท้ายโชคไม่ช่วย เครื่องนี้ใช้ไม่ได้ผลกับคุณพ่อจนเกิดน็อก
ต้องเข้าโรงพยาบาลด้วยอาการ Decompensate Heart
Failure ต้องรีดน้ำหนักตัวจนผอมมากเหลือแค่ 34 กก.

2560 ก.ย. : เมื่อรู้ว่าเครื่อง CRTD ไม่สามารถช่วยท่านได้
ผมเลยตัดสินใจพาท่านเสี่ยงนั่งเครื่องเข้ากรุงเทพ มารักษาด้วย
เครื่องนวดแบบ EECP ที่ รพ.เอกชน แห่งหนึ่ง จำนวน 30
ครั้ง ต้องนั่งรถวันละ 6 ชม. เพื่อไปทำ EECP ที่โรงพยาบาล
จันทร์ - ศุกร์ เป็นเวลากว่า 6 อาทิตย์

2560 ต.ค. : หลังจากมารักษาด้วย EECP ได้ 1 เดือน ซึ่งท่าน
ก็แข็งแรงดีในเดือนแรก พอเริ่มเดือนที่สอง เริ่มมีอาการน้ำหนัก
เกิน จาก 43 กก. จนถึง 50 กก. จากข้อมูลที่ซักหมอมาไม่รอบ
คอบ เลยแค่ให้ท่านกินยาขับปัสสาวะเพิ่มอีกวันละ 1 มื้อ เรื่อย
มา โดยที่ผมไม่ได้ถามหมอให้ละเอียดเลยว่าน้ำหนักเกินเท่าไหร่
ถึงควรเริ่มไป admit ที่โรงพยาบาล ผมงงอยู่หลายวัน บางวัน
ทานข้าวได้น้อย ทานยาขับปัสสาวะเพิ่ม แต่ตื่นเช้ามาน้ำหนักเพื่ม
เพราะไม่ได้ตวงปัสสาวะที่ท่านถ่ายออกมา เลยจับจุดไม่ถูกว่า
ท่านทานยาแล้วขับถ่ายได้ครั้งละนิดเดียว ผมแค่ถามคนดูแลว่า
ถ่ายหลายครั้งไหม คนดูแลก็บอกถ่ายได้หลายครั้ง แต่ไม่เฉลียวใจ
ว่าถ่ายได้ครั้งละนิดเดียว แต่คอยถามตลอดทุกวันว่าเหนื่อยไหม
ท่านก็บอกไม่เหนื่อย บางวันขายุบไม่บวมด้วยซ้ำ แต่น้ำหนักขึ้น
ก็เลยชะล่าใจไปหลายวัน และเพราะงานก็เข้ามาเยอะ เลยไม่ค่อยรอบ
คอบ จนท่านมีอาการไอมาก จึงได้พาไป admit เมื่อตอนน้ำหนัก
ถึง 50 กก. ซึ่งกินเวลาทั้งหมดประมาณ 22 วัน จากวันที่มีน้ำหนัก 43 กก.

2560 พ.ย. : สุดท้ายโชคยังช่วยสามารถรีดน้ำหนักได้กลับมาที่
44.5 กก. อย่างปลอดภัย หมอจึงให้ออกจากโรงพยาบาล แต่กลับ
มาอยู่บ้านได้ 5 วัน ก็ต้องบินกลับ ตจว. และเมื่อกลับถึง ตจว. ได้
2 วัน ท่านก็เสีย

ประเด็นที่ผมคิดว่าผมผิดพลาด
2550 : ผมไม่ควรไปขวางการฉีดสีของท่าน เพราะเมื่อแพทย์ฉีด
สีแล้วไม่เจอตีบ ก็คงหาสาเหตุเจอตั้งแต่ปี 2550 แล้วให้การรักษา
ด้วยยาแบบประคับประคอง ซึ่งตอนนั้นท่านยังมีค่า EF 54%
ซึ่งถือว่าเพิ่งเริ่มเป็น จึงมีโอกาสหายสูง

2550 : ผมไม่ได้พาท่านกลับไปตรวจที่โรงพยาบาลเดิม หลังจาก
ทำ CT Scan ไปแล้ว เพื่อไปหาสาเหตุอื่นๆของโรคหัวใจต่อไป
ทั้งๆที่คิดเอาไว้แล้วว่าอาจจะมีสาเหตุมาจากโรคหัวใจชนิดอื่น แต่ก็
ปล่อยปละละเลย จนลืมไปหลายปี

2556 : หลังจากพ่อมีอาการน้ำท่วมปอด ผมยังไปแย้งหมออยู่ในใจ
คิดว่าท่านน่าจะมีอาการทางระบบปลายประสาทอักเสบเหมือนผมเอง
จึงรู้สึกเหมือนหายใจไม่ออก จึงไม่ได้รีบค้นหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ
น้ำท่วมปอด ปล่อยให้ท่านไปพบหมอกับน้องชายเพียงลำพัง เพราะ
ผมทำงานอยู่กรุงเทพ กว่าจะรบเร้าให้ท่านมาตรวจที่ รพ.ทรวงอกได้
ก็ผ่านไป 1 ปี

2560 ม.ค. : คุณพ่อความดันต่ำเพราะน้ำท่วมปอดเป็นครั้งที่ 2 แต่ผม
คิดอะไรไม่ออกเลย ได้แต่หาอาหารเสริมมาให้ท่านกิน พร้อมกับส่ง
มะละกอมาจากกรุงเทพ นอกนั้นได้แต่รอให้ท่านไปพบหมอตามนัดใน
เดือนถัดไป

2560 เม.ย. : หลังจากคุณพ่อในเครื่อง CRTD ผมก็ไม่ได้กลับไปดูท่าน
ถึง 4  เดือน ได้แต่รอกำหนดเวลาที่คุณหมอบอกว่าต้องใช้เวลา 3 เดือน
ในการเซ็ตค่าของเครื่อง CRTD เพื่อจะดูว่าผู้ป่วยตอบสนองในด้านดี
ต่อเครื่องหรือเปล่า

2560 ก.ย. : ผมพาท่านมาทำ EECP โดยที่ไม่ได้ไปสอบถามความยิน
ยอมของหมอเจ้าของไข้เลย ได้แต่สอบถามทางโรงพยาบาลที่ทำ EECP
เท่านั้นว่าทำได้หรือไม่ ปลอดภัยหรือไม่ ได้ประโยชน์หรือไม่ โดยการ
น้ำประวัติการรักษาครั้งหลังสุดมาให้คุณหมอดู

2560 ก.ย. : ผมพาพ่อมารักษาโดยที่ยังไม่มีความรู้ชัดเจนเพียงพอในการ
ดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ เพราะต้องทำงานไปด้วย ในสมองมีเรื่องงานมากมาย
ทำให้ผมไม่รู้กระทั่งว่าต้องตวงปัสสาวะของผู้ป่วยในแต่ละวันด้วย ได้แต่ชั่ง
น้ำหนักผู้ป่วยอย่างเดียว โดยชั่งทุกวันๆละ 3 ครั้ง แต่ผมก็มาพลาดอีก ตรง
ไม่รู้ว่าจะยอมให้น้ำหนักขึ้นได้กี่กิโลถึงควรพาไปพบแพทย์ จริงๆแล้วเพิ่ง
มารู้ทีหลังว่าไม่ควรเกิน 2 กก. แต่ผมรอให้ท่านน้ำหนักขึ้นไปถึง 7 กก.

2560 ต.ค. : ผมซื้ออาหารเสิรมจากนูสกินมาให้ท่านทาน พร้อมกับ
Co-Enzyne Q10 โดยปรึกษาหมอแล้วว่าทานได้ไหม คุณหมอ
เข้าของไข้จะไม่ให้ทานเลย แต่คุณหมอที่ รพ. ในกรุงเทพ บอกว่าทานได้
แต่ต้องเจาะเลือดตรวจค่า INR ทุกๆ 2 อาทิตย์ ผมซักหมอเป็นชั่วโมงๆ
แต่ไม่ได้จดไว้ เลยไม่ได้ปฎิบัติ ให้ท่านทานอาหารเสริมไปจนสุดท้าย
ก็ต้องเสียชีวิต โดยในวันสุดท้ายท่านยังดูแข็งแรง นั่งได้ ทานข้าวได้
นั่งคุยกับแขกได้ ตอนเสีย ท่านอาเจียรอาหารมือเย็นออกมาหมด แล้ว
ก็หายใจไม่ออก ซักพักก็หมดลม มีอาการกระตุก 3 ครั้ง ไม่ทราบเกิด
จากการทำงานของเครื่อง CRTD หรือเปล่า แต่ก็ไม่ฟื้น ญาติๆพาไป
โรงพยาบาลภาพใน 10 นาที ปั๊มหัวใจ 0.5 ชั่วโมง ก็ไม่ฟื้น
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
ขอแสดงความเสียใจด้วยนะคะ คิดว่าลึกๆคุณคงรู้สึกผิดที่ไม่ได้ฟังหมอตั้งแต่ต้น กว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไป แต่เชื่อว่าอย่างน้อยคุณพ่อคุณคงมีความสุขที่คุณใส่ใจทุกข์สุข และความเป็นอยู่ของท่าน และคุณทำทุกอย่างเพราะรักและเป็นห่วงท่านอย่างเต็มที่แล้ว  แต่ถ้าพูดในฐานะหมอ อยากให้คุณเชื่อว่าหมอทุกคนอยากให้คนไข้หาย/ อาการดีขึ้น และได้กลับไปใช้ชีวิตอย่างปกติและมีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งนั้นค่ะ ไม่มีใครอยากเสียคนไข้ไป แต่บางทีก็สุดวิสัยอาจจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม อยากบอกคุณว่ากรณีของคุณพ่อคุณไม่ใช่กรณีแรก ด้วยปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหลายอย่าง smart search มีเยอะแยะ หลายครั้งที่หมอต้องเจอกับคนไข้ที่มาตรวจพร้อมกับการวินิจฉัยโรคด้วยตนเองโดยอาศัยข้อมูลจาก internet มาแล้ว ทั้งที่จริงๆแล้วมีโรคหลายโรคที่มีอาการใกล้เคียงกัน ต้องอาศัยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง ซึ่งคนที่ทำหน้าที่ตรงนี้คือหมอ หลังจากวินิจฉัยแล้วจึงจะเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป ขั้นตอนต่างๆเหล่านี้ หมอจะพิจารณาถึงความจำเป็น ข้อดี ข้อเสีย ของแต่ละขั้นตอนแล้วจึงจะตัดสินใจเลือกขั้นตอนที่จำเป็นและอันตรายต่อคนไข้น้อยที่สุดเสมอ สุดท้ายการตัดสินใจขึ้นกับตัวคนไข้และญาติเป็นหลักว่าจะยอมรับการตรวจรักษาหรือไม่ ในทางกลับกันหากได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องแล้ว ไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคนั้นๆ เพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรค พร้อมทั้งวิธีการดูแลร่างกาย และข้อควรระมัดระวังในโรคที่เป็น น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า อีกทั้งยังช่วยให้การดูแลรักษาผู้ป่วยทำได้ง่ายขึ้น กรณีของจขกท เชื่อว่าคงทำไปเพราะความรักและเป็นห่วงอาการป่วยของคุณพ่อมากกว่า คุณพ่อคงไม่อยากให้จขกท รู้สึกผิดแบบนี้หรอกค่ะ ท่านคงอยากให้คุณใช้ชีวิตที่เหลืออย่างเข้มแข็งและมีความสุขมากกว่า เข้มแข็งนะคะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่