วัดแสงแก้วโพธิญาณ พุทธธรรมในโครงสร้าง



ครูบาอริยชาติได้เมตตาถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับตัวท่านให้ฟังว่า เมื่อตอนที่ท่านตัดสินใจบวชเป็นสามเณร เรื่อยมาจนถึงช่วงแรกของการอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ความสนใจของท่านอยู่ที่การเรียนรู้ศาสตร์วิชาอาคม ตลอดจนการทำเครื่องรางของขลังต่าง ๆ จวบจนได้ศึกษาธรรมะอย่างลึกซึ้งจริงจัง ความคิดของท่านก็เปลี่ยนไป...


“ครูบาอายุ 17 ปี ครูบาสนใจในแนวไสยศาสตร์หรือเครื่องรางของขลัง แต่พออายุได้ 21 ปี ครูบามาคิดได้ว่าเครื่องรางของขลังมันไม่ใช่ของแท้ ของแท้คือธรรมะ และพออายุ 25 ปี ครูบาก็ได้เข้าใจในสาระธรรม ครูบาจึงอยากเตือนให้ทุกคนเข้าใจว่าธรรมะคือสิ่งประเสริฐ ธรรมะสามารถทำให้คนเป็นสุขได้ ก็เลยอยากให้ทุกคนได้เข้าถึงธรรม ได้เป็นสุขทั่วกัน แล้วจะรู้ว่าสุขนั้นไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่ใจเรานี่เอง”


ในขณะเริ่มดำเนินการสร้างวัดแสงแก้วโพธิญาณ ครูบาอริยชาติมีอายุได้ 25 ปี จึงนับเป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตและ “มุมมอง” ของท่านที่มีต่อโลกและสิ่งต่างๆ รอบตัว และมุมมองเกี่ยวกับธรรมะที่เป็นไปอย่างละเอียดลึกซึ้งมากขึ้นของท่านนี้เองก็ได้ถูกถ่ายทอดออกมาสู่ผลงานชิ้นสำคัญ นั่นคือ วัดแสงแก้วโพธิญาณ


สิ่งที่ยืนยันถึงความจริงดังกล่าวก็คือ นอกเหนือจากความยิ่งใหญ่และวิจิตรงดงามของสิ่งก่อสร้างและศาสนวัตถุต่างๆ ภายในวัดที่ปรากฏแก่สายตาแล้ว ครูบาอริยชาติยังได้สอดแทรกนัยสำคัญอันเป็น “สัจธรรม” แห่งชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนาเอาไว้ในศิลปะต่างๆ อย่างหลากหลาย ทั้งนี้เพื่อเป็นพุทธานุสสติ หรือเป็นสิ่งเตือนใจให้ญาติโยมพุทธศาสนิกชนที่มาเยี่ยมเยือนได้พึงระลึกไว้นั่นเอง


ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณาในด้านโครงสร้างหรือรูปแบบในการก่อสร้างแล้ว จะเห็นว่าการออกแบบและตกแต่งวัดแห่งนี้ นอกจากแสดงออกถึงความเชื่อและวัฒนธรรมของชาวพุทธในดินแดนล้านนาอย่างชัดเจนแล้ว การแบ่งพื้นที่ใช้สอยตลอดจนแผนผังรูปแบบศาสนวัตถุและเสนาสนะต่างๆ ล้วนมีนัยที่สื่อความหมายในเชิงธรรมะและแฝงหลัก “พุทธธรรม” อันลึกซึ้งเอาไว้ในแทบทุกองค์ประกอบของผังวัด


วัดแสงแก้วโพธิญาณตั้งอยู่บนเนินเขาที่ไม่สูงนัก เมื่อมองลงไปจากเนินกว้างในจุดที่ก่อสร้างวัด จะเห็นบ้านเรือนของชาวบ้านอยู่เบื้องล่างอย่างชัดเจน ซึ่งก็คือหมู่บ้านป่าตึง และหมู่บ้านใกล้เคียงใน ต.เจดีย์หลวง และอาณาเขตอีกด้านหนึ่งเป็นป่าและที่สวนของชาวบ้านซึ่งอยู่โดยรอบบริเวณวัด
ด้วยสภาพภูมิประเทศดังกล่าว ทำให้ครูบาอริยชาติได้นำแนวคิดจากความเชื่อในทางพระพุทธศาสนา มาใช้ในการออกแบบส่วนต่างๆ ภายในวัด โดยแบ่งเนื้อที่ภายในบริเวณวัดออกเป็น 3 ส่วน ตามระดับความสูงของพื้นที่ซึ่งเล่นระดับเป็นชั้นๆ ได้แก่



ชั้นล่าง...โลกมนุษย์


คือบริเวณส่วนที่อยู่ด้านหน้าของวัด มีลักษณะเป็นลานกว้าง ใช้เป็นที่จอดรถสำหรับพุทธศาสนิกชนที่เดินทางมาทำบุญที่วัด โดยนอกจากจะปลูกต้นไม้ ไม้ดอก ไม้ประดับเพื่อตกแต่งและให้ร่มเงาแล้ว ยังจัดสร้างศาลาเล็กๆ ให้เป็นที่สาธารณะสำหรับพุทธศาสนิกชนได้พักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย (ที่ว่า “โลกมนุษย์” นั้น หมายรวมตั้งแต่พื้นที่ส่วนเชิงเขาขึ้นมาจนถึงบริเวณหน้าวัด เนื่องจากเมื่อมองลงมาจากวัดแสงแก้วซึ่งตั้งอยู่บนเขา จะเห็นพื้นที่เชิงเขาเบื้องล่างที่เป็นบ้านเรือนชาวบ้านซึ่งอยู่คนละระดับความสูงอย่างชัดเจนนั่นเอง)


จากบริเวณหน้าวัดนี้เอง เมื่อมองเข้าไปตรงบันไดทางขึ้นจะเห็นถึงความยิ่งใหญ่อลังการของสถานที่และศิลปวัตถุต่างๆ ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากที่บริเวณบันไดนาคอันเป็นทางขึ้นของวัด มี “สิงห์” ขนาดใหญ่มาก 1 คู่ (ความสูงของสิงห์ประมาณ 9 เมตร) ตั้งอยู่ด้านซ้ายและขวาของบันได



ชั้นกลาง... ชั้นสวรรค์-พรหมโลก

คือพื้นที่นับตั้งแต่ทางขึ้นบันไดนาคด้านหน้าวัดเป็นต้นไป จนถึงด้านหลังของวิหารซึ่งพื้นที่บริเวณนี้ใช้สำหรับการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและศาสนพิธีต่างๆ ตลอดจนใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์และฆราวาส

อนึ่ง หากพิจารณาตามพื้นที่ใช้งาน ส่วนนี้นับเป็นเขตพุทธาวาส เนื่องจากเป็นพื้นที่สำหรับพระสงฆ์ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเป็นหลัก โดยสิ่งปลูกสร้างที่จัดให้อยู่ในพื้นที่นี้ ได้แก่ พระอุโบสถ พระวิหาร หอระฆัง หอไตร เป็นต้น

แต่หากแบ่งเขตตามระดับความสูงของพื้นที่วัด ชั้นกลางนี้ครูบาอริยชาติท่านเปรียบเป็นชั้นสวรรค์จนถึงชั้นพรหม โดยท่านได้ออกแบบให้มีสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ซึ่งเป็นตัวแทนของชั้นสวรรค์และพรหมโลกเอาไว้หลายอย่าง เป็นต้นว่า...


เมื่อเดินขึ้นบันไดนาคมาถึงเขตนี้ จะเห็นปราสาท 16 หลัง (เปรียบเสมือนชั้นพรหมซึ่งมีอยู่ 16 ชั้นฟ้า) โดยจะเห็นว่านอกเหนือจากพระอุโบสถแล้ว สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของชั้นพรหมแห่งนี้ จะมีจำนวน 16 อย่างทั้งสิ้น กล่าวคือ ปราสาท 16 หลัง ศาลาด้านเหนือ 16 ห้อง ศาลาด้านใต้ 16 ห้อง วิหารด้านล่าง 9 ห้อง ด้านบน 7 ห้อง (รวมเป็น 16 ห้อง)


ที่ชั้นกลางนี้ ครูบาอริยชาติท่านเจาะจงให้สร้าง “สัญลักษณ์” ที่แสดงนัยสำคัญทางพระพุทธศาสนาเอาไว้หลายประการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นอนุสสติเตือนใจญาติโยมให้นึกถึงสัจธรรมของชีวิต เพื่อความไม่ประมาททั้งทางกาย วาจา และใจ นั่นเอง “สัญลักษณ์” ที่ว่านี้ อาทิเช่น


พญานาคสามเศียร...ที่บริเวณด้านหน้าวัด ตรงราวบันไดทางขึ้นทั้ง 2 ด้านซ้าย-ขวา มี “พญานาคสามเศียร” ทอดกายออกมาต้อนรับ เป็นสัญลักษณ์ของธรรม 3 ประการ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และที่ส่วนฐานของพญานาคจะมีตัว “เหรา” หรือ “ตัวกิน” (เหรา หรือที่ทางพม่าเรียก มกร (อ่านว่า มะ-กะ-ระ) เป็นสัตว์หิมพานต์ในเทพนิยายตามความเชื่อของชาวพม่า เป็นสัตว์ลูกครึ่ง คือพ่อเป็นนาค แม่เป็นมังกร (บ้างว่าเป็นลูกครึ่งนาคกับจระเข้) เป็นสัญลักษณ์ของ “เทวทูตทั้ง 3” อันได้แก่ ชรา พยาธิ มรณะ เพื่อให้เป็นเครื่องเตือนสติ ดังคำที่ว่า...


ชะราธัมโมมหิ, ชะรัง อะนะตีโต, เรามีความแก่เป็นธรรมดา, จะล่วงพ้นความแก่ไปไม่ได้
พะยาธิธัมโมมหิ, พะยาธิง อะนะตีโต, เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา, จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้
มะระณะธัมโมมหิ, มะระณัง อะนะตีโต, เรามีความตายเป็นธรรมดา, จะล่วงพ้นความตายไปไม่ได้

หลังจากผ่านเศียรนาคและตัวเหรามาแล้ว เมื่อก้าวขึ้นบันไดวัดจะเห็นว่าบันไดทางขึ้นสร้างให้มี 32 ขั้น เป็นการเปรียบเทียบถึงอาการทั้ง 32 ของมนุษย์โดยทั่วไป เป็นเครื่องเตือนสติว่า อาการทั้ง 32 ประการของคนเราตั้งแต่วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว จนถึงวัยชรา ล้วนไม่เที่ยง เป็นไปตามหลักของอนิจจัง ทุกขัง
อนัตตา




รูปหล่อเหมือนครูบาศรีวิชัย

ชั้นบน...นิพพาน


เป็นชั้นสูงสุดของวัดแห่งนี้ โดยเป็นเขตสังฆาวาสคือสำหรับเป็นที่พำนักของพระสงฆ์ ตลอดจนเป็นที่กระทำสังฆกรรมของพระสงฆ์ ที่ชั้นนี้นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุแห่งวัดแสงแก้วโพธิญาณแล้ว ยังเป็นส่วนที่ใช้ประดิษฐานรูปหล่อโลหะครูบาศรีวิชัยองค์ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่