ห้องเพลง**คนรากหญ้า** พักยกการเมือง มุมนี้ไม่มีสี ไม่มีกลุ่ม...มีแต่เสียง 6/12/2017 (ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน...)



ห้องเพลงคนรากหญ้าเปิดขึ้นมามีวัตถุประสงค์ เพื่อ

1. มีพื้นที่ให้เพื่อนๆ ได้มาพบปะ พูดคุยระหว่างกัน ในภาวะที่ต้องระมัดระวังการโพสการเมืองอย่างเคร่งครัด
2. เป็นพื้นที่ พักผ่อน ลดความเครียดทางการเมือง ให้เพื่อนๆ มีกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกัน
3. สร้างมิตรภาพและความปรองดอง ซึ่งเราหวังให้สังคมไทยเป็นเช่นนี้ แม้นคิดต่างกัน แต่เมื่อคุยกันแล้วก็เป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม

กระทู้ห้องเพลงเป็นกระทู้เปิด มิได้ปิดกั้นผู้หนึ่งผู้ใด "ขอให้มาดี เราคือเพื่อนกัน" ซึ่งก็เหมือนกับกระทู้ทั่วไป ที่เราไม่จำเป็นต้องทราบว่า User ท่านไหนเป็นใครมาจากไหน  ...ดังนั้น หากมีบุคคลใดที่มีการโพสสิ่งผิดกฎหมายและศีลธรรมอันดีของสังคมนั้น หรือสิ่งรบกวนใดๆ ในบอร์ด เป็นเรื่องส่วนบุคคล ทางห้องเพลงจึงขอแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น





สวัสดีค่ะเพื่อนๆ ห้องเพลงและเพื่อนสมาชิกทุกท่าน

  
                                              ธรณีนี่นี้                         เป็นพยาน
                                       เราก็ศิษย์อาจารย์               หนึ่งบ้าง
                                       เราผิดท่านประหาร              เราชอบ
                                       เราบ่ผิดท่านมล้าง               ดาบนี้คืนสนอง ฯ


หลายๆ คนคงคุ้นกับโคลงบทนี้ วันนี้มีเรื่องของ "ศรีปราชญ์" มานำเสนอค่ะ
เรื่องศรีปราชญ์นี้ เอกสารบางแห่งก็ว่าไม่มีตัวตนจริง เป็นเหมือนเรื่องเล่า บ้างก็ว่ามีจริง
ตรงนี้ก็ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ค้นคว้ากันไป เราก็เพียงรู้จักไว้เป็นเกร็ดตามวรรณกรรมที่เขียนไว้ค่ะ


ตำนานศรีปราชญ์ ยอดกวีเอก สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สันนิษฐานว่า ศรีปราชญ์ คงจะเกิดในปี พ.ศ. 2196 หรือ 3 ปี ก่อนที่สมเด็จพระนารายณ์เสด็จขึ้นครองราชย์




บิดาของศรีปราชญ์คือ "พระโหราธิบดี" รับราชการในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์
พระโหราธิบดีเชี่ยวชาญด้านโคลงกลอนและการพยากรณ์

ครั้งหนึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งโคลงบทหนึ่ง ว่า...

อันใดย้ำแก้มแม่         หมองหมาย
ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย         ลอบกล้ำ


แล้วก็ทรงติดขัด จึงพระราชทานให้พระโหราธิบดี (บิดาของศรีปราชญ์) ไปแต่งต่อ ท่านก็ยังแต่งไม่ได้
พอนำกลับไปที่บ้าน ศรีบุตรชายวัย 7 ขวบ (บางตำราว่า 9 ขวบ) ได้มาเห็นกระดานชนวนเข้าจึงแต่งต่อว่า...

อันใดย้ำแก้มแม่         หมองหมาย
ยุงเหลือบฤๅริ้นพราย         ลอบกล้ำ
ผิวชนแต่จักกราย         ยังยาก
ใครจักอาจให้ช้ำ         ชอกเนื้อเรียมสงวน


ความหมายของโคลงบทนี้ที่เจ้าศรีแต่งต่อมีอยู่ว่า
“คงไม่มีผู้ใดในแผ่นดินนี้ที่จะอาจสามารถเข้าไป ย่างกรายนางได้ง่าย
และจะบังอาจไปทำให้แก้มของนวลนางอันเป็นที่รักและหวงแหนต้องชอกช้ำไปได้”

เด็กชายศรีแต่งโคลงสองบทสุดท้ายได้อย่างไพเราะ



เมื่อพระโหราธิบดีนำโคลงบทนี้ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนารายณ์ ปรากฏว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก
เมื่อรู้ว่าผู้แต่งเป็นลูกชาย อายุยังน้อย จึงทรงโปรดให้นำตัว "ศรี" มารับราชการ

บิดาศรีปราชญ์รู้นิสัยลูกชายและเคยทำนายดวงชะตาลูกชายก็พบว่า ศรีอายุจะสั้นด้วยต้องอาญา
จึงได้หาทางประวิงเวลาเรื่อยมา จนกระทั่งศรีอายุ 15 ปี ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงพาตัวมาเข้ารับราชการ

แต่ได้ขอพระราชทานคำสัญญาจากสมเด็จพระนารายณ์ 1 ข้อ คือ
    
"หากกาลต่อไปภายหน้า ถ้ามันกระทำความผิดใดๆ ที่ไม่ใช่ความผิดต่อราชบัลลังก์ และมีโทษถึงตาย
ก็ขอได้โปรดงดโทษตายนั้นเสีย ขอเพียงให้เนรเทศให้พ้นไปจากเมือง อย่าให้ต้องถึงกับประหารชีวิต"

สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงพระราชทานสัญญานั้น


ผลงานประจักษ์ ได้เป็นศรีปราชญ์

เมื่อเจ้าศรีเข้าถวายตัวรับราชการแล้ว ก็อยู่ในตำแหน่งมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิดพระองค์ ตามเสด็จไปทุกหนทุกแห่ง



ครั้งหนึ่งมีการประชันความสามารถกัน "ศรี" ได้เจรจาโต้ตอบกับพระยาแสนหลวงเจ้าเมืองเชียงใหม่ดังนี้

พระยาแสนหลวง :      รังศรีพระเจ้าฮื่อ                ปางใด
ศรีปราชญ์ :                ฮื่อเมื่อเสด็จไป              ป่าแก้ว
พระยาแสนหลวง :      รังศรีบ่สดใส                   สักหยาด
ศรีปราชญ์ :                ดำแต่นอกในแผ้ว         ผ่องเนื้อนพคุณ  

สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงให้บำเหน็จด้วยการพระราชทานพระธำมรงค์ให้และตรัสว่า
เจ้าศรี เจ้าจงเป็นศรีปราชญ์ ณ บัดนี้เถิด


แต่บางตำราก็บอกว่าได้เป็นศรีปราชญ์ตอนที่สมเด็จพระนารายณ์เดินทางไปประพาสยังป่าแก้ว
พระยารามเดโชโดนลิงอุจจาระลงศีรษะบรรดาทหารต่างๆ ก็หัวเราะ
สมเด็จพระนารายณ์ที่บรรทมอยู่จึงตื่นขึ้นแล้วตรัสถามอำมาตย์แต่ไม่มีใครกล้ากราบบังคมทูล
ฝ่ายเจ้าศรีรับใช้มานานจนทราบพระราชอัธยาศัยจึงกราบบังคมทูลด้วยคำคล้องจองว่า

"พยัคฆะ ขอเดชะ วานระ ถ่ายอุจจาระ รดศีรษะ พระยารามเดโช"

สมเด็จพระนารายณ์พอพระทัยเป็นอย่างมาก แต่นั่นก็เป็นการสร้างความขุ่นเคืองให้พระยารามเดโชเป็นอย่างมาก
สมเด็จพระนารายณ์ถึงกับตรัสว่า "ศรีเอ๋ย เจ้าจงเป็นศรีปราชญ์ตั้งแต่บัดนี้เถิด"


มีเรื่องเล่าอีกว่า ครั้งหนึ่งศรีปราชญ์แต่งโคลงกระทู้แล้วได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  
เมื่อเดินกลับออกมานายประตูก็ทักทายศรีปราชญ์เป็นโคลง  ส่วนศรีปราชญ์ก็ตอบโต้เป็นโคลงดังนี้

นายประตู            แหวนนี้ท่านได้แต่               ใดมา
ศรีปราชญ์           เจ้าพิภพโลกา                     ท่านให้
นายประตู            ทำชอบสิ่งใดนา                   วานบอก
ศรีปราชญ์           เราแต่งโคลงถวายไท้          ท่านให้รางวัล


ตรงนี้เองเคยอ่านเจอในหนังสือ "คนเจ้าบทเจ้ากลอน" ของ อ.ประจักษ์
เป็นเรื่องขำๆ ค่ะ ว่ามีการไปแปลงโคลงกันเป็นแบบนี้ ฮ่าฮ่าฮ่าฮ่าฮ่าฮ่าฮ่าฮ่าฮ่า

นักเรียนชาย 1       แหวนนี้ท่านได้แต่               ใดมา
นักเรียนชาย 2       นักเรียนสายปัญญา              หล่อนให้
นักเรียนชาย 1       ทำชอบสิ่งใดนา                   วานบอก
นักเรียนชาย 2       ข้าย่ำต๊อกตามเธอไซร้          หล่อนให้รางวัล


ต่อๆ เรื่องศรีปราชญ์


ด้วยนิสัยเจ้าชู้ตามอารมณ์ของกวี บวกกับความคึกคะนอง และถือตัวว่าเป็นคนโปรดของพระนารายณ์
จึงทำให้ศรีปราชญ์ต้องโทษถึงกับติดคุกหลายครั้ง ด้วยมักไปทำรุ่มร่ามแต่งโคลงเกี้ยวพาราสีบรรดาสาวใช้ในวัง
มีอยู่ครั้งหนึ่งศรีปราชญ์อาจกล้าถึงขั้นไปเกี้ยวพาราสีพระสนมเอกคือท้าวศรีจุฬาลักษณ์เข้าให้  

ในคืนวันลอยกระทงศรีปราชญ์ได้ดื่มสุราแล้วเมาจากนั้นก็เดินไปข้างๆ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์เพราะฤทธิ์สุรา
ท้าวศรีฯ เห็นศรีปราชญ์มายืนข้างๆก็ไม่พอพระทัยจึงว่าศรีปราชญ์เป็นโคลงว่า

หะหายกระต่ายเต้น     ชมจันทร์
มันบ่เจียมตัวมัน           ต่ำต้อย
นกยูงหากกระสัน         ถึงเมฆ
มันบ่เจียมตัวน้อย         ต่ำต้อยเดียรฉาน ฯ



ศรีปราชญ์ได้ยินดังนั้นก็รู้ว่าพระสนมเอกได้ต่อว่าตนจึงย้อนไปเป็นโคลงว่า

หะหายกระต่ายเต้น     ชมแข
สูงส่งสุดตาแล           สู่ฟ้า
ระดูฤดีแด                 สัตว์สู่ กันนา
อย่าว่าเราเจ้าข้า          อยู่พื้นเดียวกัน ฯ



พระสนมไปฟ้องสมเด็จพระนารายณ์ พระองค์กริ้วมาก จึงลงโทษศรีปราชญ์
ต่อมาก็มีเหตุกระทบกระทั่งอีก ศรีปราชญ์ไปทำโคลนกระเด็นถูกพระสนมเอก
พระองค์จึงทรงเนรเทศศรีปราชญ์ไปเมืองนครศรีธรรมราช


โคลงบทสุดท้าย

ด้วยความเป็นอัจฉริยะของศรีปราชญ์นี้เองที่ทำให้ท่านเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชโปรดปรานเขา
ก็มีคนหมั่นไส้และเคืองแค้นศรีปราชญ์ จึงได้ใส่ร้ายศรีปราชญ์ว่าลักลอบเป็นชู้กับภริยาของพระยานคร
พระยานครหลงเชื่อจึงสั่งให้นำตัวศรีปราชญ์ไปประหารชีวิต

ศรีปราชญ์ประท้วงโทษประหารชีวิตแต่ท่านเจ้าเมืองไม่ฟัง

ซึ่งปัจจุบันเชื่อกันว่าสถานที่ใช้ล้างดาบที่ใช้ประหารชีวิตศรีปราชญ์นั้น ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช
จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียกว่า "สระล้างดาบศรีปราชญ์"




และก่อนที่เพชฌฆาตจะลงดาบประหารศรีปราชญ์ได้ขออนุญาตเขียนโคลงบทสุดท้ายไว้กับพื้นธรณีว่า

ธรณีนี่นี้                      เป็นพยาน
เราก็ศิษย์อาจารย์         หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร       เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง         ดาบนี้คืนสนอง ฯ




ในขณะที่ถูกประหารนั้นศรีปราชญ์มีอายุประมาณ 30 หรือ 35 ปี

และหลังจากที่ศรีปราชญ์ตาย อยู่มาวันหนึ่ง สมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งโคลงกลอนติดขัด
หาคนแต่งต่อให้ถูกพระราชหฤทัยไม่ได้ ก็ทรงระลึกถึงศรีปราชญ์ จึงตรัสสั่งให้มีหนังสือเรียกตัวกลับ

เมื่อพระองค์ทรงทราบข่าวว่า ตอนนี้ศรีปราชญ์ได้จากโลกนี้ไปแล้ว ก็ทรงพระพิโรธ ตรัสว่า

“อ้ายพระยานครศรีฯ มันถือดีอย่างไร ที่บังอาจสั่งประหารคนในปกครองของกูโดยไม่ได้รับอนุญาต
ความผิดของอ้ายศรีนั้น ขนาดมันล่วงเกินกูในทำนองเดียวกัน กูยังไว้ชีวิตมันเลย
ไม่ได้การไอ้คนพรรค์นี้ เอาไว้ไม่ได้”

ว่าแล้วก็ตรัสสั่งให้นำเจ้าพระยานครศรีฯ ไปประหารชีวิต ด้วยดาบเล่มเดียวกันกับที่ประหารศรีปราชญ์นั่นเอง




ขอบคุณที่มาข้อมูลและภาพประกอบ
https://talk.mthai.com/inbox/361686.html
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%8D%E0%B9%8C
http://romjankn.blogspot.com/2014/06/blog-post_8.html
http://oknation.nationtv.tv/blog/yutthawinai/2010/05/24/entry-1
http://www.happyreading.in.th/article/detail.php?id=681
https://www.gotoknow.org/posts/405279
http://www.vcharkarn.com/vcafe/211907
หนังสือ "คนเจ้าบทเจ้ากลอน" โดย อ.ประจักษ์


..................................................


บางครั้งผู้มีอำนาจในมือ ก็ลืมตัว ตัดสินผู้อื่นหรือกระทำการตามใจตนอย่างไม่เป็นธรรม
จนลืมนึกถึง "กฎแห่งกรรม"

อนุสรณ์ศรีปราชญ์ - เอกชัย ศรีวิชัย

https://www.youtube.com/watch?v=KfGwvtuOBP4
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ



แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่