“ชุมชนคุณธรรมฯ วัดโคกเปี้ยว” โครงการปลูกฝังคุณธรรมสู่เยาวชน มุ่งขยายอีก 7 พันแห่งทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน นายปรารพ เหล่าวานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมด้วยนายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายมานัส ทารัตน์ใจ อธิบดีกรมการศาสนา คณะผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ลงพื้นที่เยี่ยมชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ณ ชุมชนคุณธรรมฯ วัดโคกเปี้ยว ตำบลเกาะยอ อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา โดยมีข้าราชการกรมการศาสนา วัฒนธรรมจังหวัด ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการและประชาชนในพื้นที่การต้อนรับ โดยคณะฯได้เยี่ยมชมภูมิปัญญาชุมชนคุณธรรมฯ ต้นแบบ เยี่ยมชมวัดโคกเปี้ยว ห้องสมุด ลานธรรมลานวิถีไทย ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ ฯลฯ



       นายปรารพ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐส่งเสริมองค์กรศาสนา นำพลัง บวร บ้าน วัด/ศาสนสถาน โรงเรียน และกลไกประชารัฐขับเคลื่อนสู่ชุมชนคุณธรรมตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 และแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 โดยนำทุนทางวัฒนธรรมสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ต่อยอดความเข้มแข็งจากภายในด้วยหลักศาสนาและศาสตร์พระราชา ในส่วนของ วธ. ได้ขับเคลื่อนให้เกิดชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงทั่วประเทศ ให้เป็นชุมชนที่มีลักษณะโดดเด่น 3 ด้าน ได้แก่ ปฏิบัติตามหลักศาสนาของแต่ละศาสนา มีคุณธรรม น้อมนำศาสตร์พระราชา     หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน และดำรงวิถีวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นอย่างแท้จริง


       วัดโคกเปี้ยวเป็นวัดเก่าแก่ เป็นศูนย์รวมทางจิตใจ เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และเป็นสถานที่จัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านศีลธรรม และด้านประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามแก่เยาวชนและประชาชน ตลอดถึงปลูกฝังให้เยาวชนและประชาชนเป็นคนดี มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ โดยใช้ “พลังบวร” บ้าน วัด โรงเรียน เป็นองค์กรหลักในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง

       โดยกิจกรรมที่โดดเด่น ประกอบด้วย
       1.การส่งเสริมการเรียนรู้ “หลักธรรมทางศาสนา” นำนักเรียนเข้าวัดวันอาทิตย์ ค่ายพุทธบุตร กิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา สวดมนต์ข้ามปี วันธรรมสวนะ บรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน
       2.การส่งเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น พึ่งพาตนเองได้ รวมกลุ่มเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพ เช่น ทอผ้า เพาะเห็ด  ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ เพื่อสร้างรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือนของชุมชน
       3.สืบทอดและอนุรักษ์มรดกประเพณีวัฒนธรรมของชุมชน  เช่น  ประเพณีทำบุญวันว่าง (ขึ้นเบญจา) และรดน้ำผู้สูงอายุ ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นต้น






ที่มาข่าว[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่