อ่านแล้ว ยังไม่เข้าใจ

[๓๔๑] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ทุกขอริยสัจเป็นไฉน? คือ แม้ความเกิดเป็นทุกข์
แม้ความแก่เป็นทุกข์ แม้ความตายเป็นทุกข์ แม้ความโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย ความ
ทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์ แม้ความที่ไม่ได้สิ่งที่ตนอยากได้ ก็เป็นทุกข์ โดยย่อ
อุปทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อุปทานขันธ์ห้าเป็นไฉน? คืออุปทานขันธ์
คือ รูป อุปทานขันธ์คือเวทนา อุปทานขันธ์คือสัญญา อุปทานขันธ์คือสังขาร อุปทานขันธ์คือ
วิญญาณ. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็อุปทานขันธ์คือรูปเป็นไฉน? คือ มหาภูตรูป ๔ และรูป
ที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็มหาภูตรูป ๔ เป็นไฉน? คือปฐวีธาตุ อาโปธาตุ
เตโชธาตุ วาโยธาตุ.
           ปฐวีธาตุ
    [๓๔๒] ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ปฐวีธาตุเป็นไฉน? คือ ปฐวีธาตุที่เป็นไปภายใน
ก็มี ปฐมวีธาตุที่เป็นไปภายนอกก็มี. ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปฐวีธาตุ ที่เป็นไปภายในเป็น
ไฉน? คือ สิ่งที่เป็นอุปาทินนกรูปอันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็น
ของหยาบ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม
หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ก็หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ซึ่งเป็นอุปาทินนกรูป อันเป็นภายใน เป็นของเฉพาะตน เป็นของแข้นแข็ง เป็นของ
หยาบอย่างอื่น นี้เรียกว่า ปฐวีธาตุ เป็นไปภายใน. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ปฐวีธาตุอันใด
แล เป็นไปภายใน และปฐวีธาตุอันใด เป็นไปภายนอก นั่นเป็นปฐวีธาตุแล. บัณฑิตพึงเห็น
ปฐวีธาตุนั้น นั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็น
นั่น นั่นไม่เป็นตนของเรา. บัณฑิตครั้นเห็นปฐวีธาตุนั่น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
อย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ ย่อมยังจิตให้คลายกำหนัดในปฐวีธาตุ. ดูกรท่านผู้มี
อายุทั้งหลาย สมัยที่ปฐวีธาตุที่เป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อมจะมีได้แล ในสมัยนั้น ปฐวีธาตุ
อันเป็นภายนอกจะเป็นของอันตรธานไป. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่าความที่แห่ง
ปฐวีธาตุอันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น เป็นของไม่เที่ยง จักปรากฏได้ ความเป็น
ของสิ้นไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้ ความเป็น
ของแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักปรากฏได้. ก็ไฉนความที่แห่งกายอันตัณหาเข้าไปถือเอาแล้ว
ว่าเราว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาลนิดหน่อยนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา
เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จักไม่ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้
ความยึดถือด้วยสามารถตัณหามานะและทิฏฐิในปฐวีธาตุ อันเป็นภายในนั้นจะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย.
ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่นจะด่า จะตัดเพ้อ กระทบกระเทียบ จะเบียดเบียน ภิกษุนั้นไซร้.
ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนาอันเกิดแต่
โสตสัมผัสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่า ทุกขเวทนานั้นแล อาศัยเหตุจึงมีได้ ไม่อาศัยเหตุจะมี
ไม่ได้ ทุกขเวทนานี้ อาศัยอะไรจึงมีได้ ทุกขเวทนาอาศัยผัสสะจึงมีได้. ภิกษุนั้น ย่อมเห็นว่า
ผัสสะเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า เวทนาเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า สัญญาเป็นของไม่เที่ยง
ย่อมเห็นว่า สังขารทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า วิญญาณเป็นของไม่เที่ยง จิตอันมี
ธาตุเป็นอารมณ์นั่นเทียวของภิกษุนั้น ย่อมแล่นไป ย่อมเสื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ด้วยดี ย่อม
หลุดพ้น. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า ชนเหล่าอื่นจะพยายามทำร้ายภิกษุนั้น ด้วยอาการ
ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าชอบใจ คือด้วยการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยการประหาร
ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยการประหารด้วยศาตราบ้าง.
ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า กายนี้เป็นสภาพเป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยฝ่ามือบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการ
ประหารก้อนดินบ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหารด้วยท่อนไม้บ้าง เป็นที่เป็นไปแห่งการประหาร
ด้วยศาตราบ้าง. อนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ในพระโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อยดังนี้ว่า ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย แม้หากว่า พวกโจรผู้มีความประพฤติต่ำช้า พึงตัดทอนอวัยวะใหญ่น้อยทั้งหลายด้วยเลื่อยอันมีด้ามสองข้างไซร้
ภิกษุผู้ที่ยังใจให้ประทุษร้าย ในพวกโจร แม้นั้น ย่อมไม่เป็นผู้เชื่อว่าทำตามคำสั่งสอนของเราด้วยเหตุนั้น ดังนี้.
อนึ่ง ความเพียรอันเราปรารภแล้ว จักเป็นคุณชาติ
ไม่ย่อหย่อน สติอันเราเข้าไปตั้งไว้แล้ว จักเป็นคุณชาติไม่หลงลืม กายอันเราให้สงบแล้ว
จักเป็นสภาพไม่กระวนกระวาย จิตอันเราให้ตั้งมั่นแล้ว จักเป็นธรรมชาติมีอารมณ์เป็นอย่างเดียว
คราวนี้ การประหารด้วยฝ่ามือทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยก้อนดินทั้งหลาย
จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหารด้วยท่อนไม้ทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี การประหาร
ด้วยศาตราทั้งหลาย จงเป็นไปในกายนี้ก็ดี ตามทีเถิด คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ เราจะทำให้จงได้ ดังนี้. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมไม่
ตั้งอยู่พร้อมได้. ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอ ลาภไม่มีแก่เราหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้.
           ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หญิงสะใภ้เห็นพ่อผัวแล้ว ย่อมสลดใจ ย่อมถึง
ความสลดใจ แม้ฉันใด ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่า เมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี. ภิกษุนั้นย่อมสลดใจ ย่อมถึงความสลดใจ เพราะเหตุนั้นว่า ไม่เป็นลาภของเราหนอลาภของเราไม่มีหนอ เราได้ไม่ดีแล้วหนอ การได้ด้วยดีไม่มีแก่เราหนอ ที่เราระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมไม่ตั้งอยู่ได้ด้วยดี ดังนี้. ฉันนั้นเหมือนกันแล. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่าเมื่อภิกษุนั้นระลึกถึงพระพุทธเจ้าอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระธรรมอยู่อย่างนี้ ระลึกถึงพระสงฆ์อยู่  อย่างนี้ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรม ย่อมตั้งอยู่ได้ด้วยดีไซร้. ภิกษุนั้น ย่อมเป็นผู้ปลื้มใจ  เพราะเหตุนั้น. ดูกรท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุแม้มีประมาณเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว.



        พระสูตรนี้ กล่าวโดยสรุป ท่านหมายความว่าอย่างไรกันแน่ครับ.
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 3
อุปาทานขันธ์5 เป็นทุกข์ นั่นคือเรามีอุปาทานใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ จึงเป็นเหตุแห่งทุกข์
รูปประกอบไปด้วย ธาตุสี่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ความเป็นธาตุเช่น ธาตุดิน ก็ไม่มีใครเป็นเจ้าของธาตุดิน
นี้ใครเอาอะไรเททิ้งลงไปสู่ดิน ดินก็รับไว้หมด ไม่สนว่าจะดีหรือไม่ดี เหตุเพราะธาตุดินไม่มีใครเป็นเจ้าของ ถ้าเรา
พิจารณากายเราเป็นเพียงธาตุดินได้ ก็เช่นเดียวกับการพิจารณา กายในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คือไม่มี
ตัวตนใดๆที่แท้จริง ถ้าเข้าใจก็ไม่ยึดเกิดความปล่อยวาง หรือใจเป็นกลางได้  กระทั่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาเช่นกัน...

เมื่อเราพิจารณากายใจ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อระลึกรู้แล้วเห็นสภาวะธรรมอันเป็นไตรลักษณ์ของกายใจได้ จิตก็เป็นอุเบกขา
หรือจิตเป็นกลางได้ จิตที่เป็นกลางนี้ได้ ก็ต้องฝึกอบรมมรรค8 สติปัฎฐานสี่ ให้น้อมพิจารณากายใจ เป็นอสุภ เป็นอนิจสัญญา ทุกขสัญญา
อนัตตสัญญา หรือพิจารณากายใจ โดยความเป็นธาตุสี่ดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งธาตุต่างๆไม่ใช่ของเรา ไม่มีเรา ไม่มีใครเป็นเจ้าของ และไม่มีตัวตน
ที่แท้จริง ตรงนี้มองในมุมใดมุมหนึ่งก็เข้าใจในความไม่มีตัวตนที่แท้จริง(อนัตตา) เมื่อเข้าใจแล้วใจก็เกิดการปล่อยวาง หรือใจเป็นกลาง
หรือเป็นอุเบกขาได้ หรือเห็นความเกิดดับของสภาวะธรรม แล้วเกิดอุเบกขาก็ได้...

การที่จิตตั้งเป็นอุเบกขาได้ เมื่อมีใครมาทำร้ายเรา เราก็ไม่โกรธ ไม่ตอบโต้ เพราะเราเห็นสัจธรรมความจริงแล้ว หรือใจน้อมไปกระทั่ง
เกิดปัญญาเข้าใจได้ระดับนึง ใจก็ยังเป็นอุเบกขาได้อยู่แม้นภัยมา แต่ถ้าขณะนั้นแม้นระลึกถึงพรพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้วจิตก็ยังไม่
เป็นอุเบกขา นี้แสดงว่าขาดปัญญาในทางธรรม เมื่อเกิดคนมาทำร้าย จิตใจย่อมแกว่งไปตามอารมร์เช่นโกรธหรือกลัว นี้ถ้าตายขณะนั้น
ย่อมเป็นทางไปสู่อบายภูมิได้ นี้เหตุเพราะจิตไม่เป็นอุเบกขาธรรม...

การพิจารณากายเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ก็เพราะเหตุที่ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ใครเอาอะไรมาทิ้งสู่ดิน
ไมว่าดีหรือร้าย ดินก็รับเอาไว้ได้เสมอ เช่น ธาตุน้ำ ลม ไฟ ก็เช่นกัน เมื่อไม่ยินดี ยินร้าย จิตก็เป็นอุเบกขาเป็นกลางได้ ฉะนั้นเราท่านๆก็ต้อง
หมั่นอบรมกายใจ ให้เกิดปัญญาในทางธรรม ไม่หลงยินดี ยินร้าย กับเรื่องราวต่างๆในโลก ที่มาทางผัสสะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะช่อง
ทางเหล่านี้เป็นที่ให้เกิดกรรม หรือเวทนาต่างๆ ใจจึงไม่เป็นกลาง ถ้าไม่ได้อบรมกายใจให้มากพอ...
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  พระไตรปิฎก ศาสนาพุทธ
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่