RUSSIA A Remarkable Journey :: รัสเซีย...แล้วก็จบลงด้วยความคิดถึง


:: DAY 6 SAINT PETERSBURG - MOSCOW ::

เราเช็คเอาท์ออกจากโฮสเทลด้วยความระแวงเล็กน้อย เพราะกลัวว่าหนุ่มรัสเซียที่คุยด้วยในห้องครัวเมื่อคืนก่อนจะตามไปส่งที่สถานีรถไฟอย่างที่บอกไว้จริงๆ เรารีบถึงขนาดที่ว่าใส่พลาสติกหุ้มรองเท้าลงมาเดินบนถนนข้างล่าง ตอนแรกเราก็สงสัยว่าทำไมคนที่เดินสวนมาถึงมองเราแปลกๆ แต่พอก้มดูที่เท้าเราก็ถึงบางอ้อรีบถอดออกแทบไม่ทัน ช่วงเช้าบนถนน Nevsky Prospect ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เรากังวล ถึงจะเป็นหน้าหนาวก็ยังมีคนเดินผ่านไปมาตลอด ถ้าใครจะจองตั๋วรถไฟรอบ 7 โมงเช้าก็สบายใจได้

ST. PETERSBURG-GLAVNY STATION

Address: เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก, รัสเซีย
How to get there: นั่งรถไฟใต้ดินไปลงที่สถานี Ploshchad Vosstaniya (Плóщадь Восстáния) สาย 1 สีแดง หรือสถานี Mayakovskaya (Маяко́вская) สาย 3 สีเขียว สำหรับคนที่พักอยู่แถวถนน Nevsky Prospect อย่างเราสามารถเดินไปได้ โดยใช้เวลาแค่ 10 นาทีเท่านั้น

สถานีรถไฟ St. Petersburg-Glavny (Санкт-Петербург-Главный) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Moskovsky เป็นสถานีรถไฟที่เก่าแก่ที่สุดของเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1844 - ค.ศ. 1851 ในรัชสมัยของพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 สถานีนี้มีชื่อว่าสถานี Nicholaevsky และถูกเปลี่ยนเป็นสถานี Oktyabrsky เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์การปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution) ในปี ค.ศ. 1924 ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบันในปี ค.ศ. 1930 สถาปนิกที่ออกแบบสถานีรถไฟ St. Petersburg-Glavny เป็นคนเดียวกับที่ออกแบบสถานีรถไฟ Leningradsky ที่มอสโก


เราไปถึงสถานีรถไฟตั้งแต่ 8 โมงเช้าก่อนเวลาที่ระบุบนตั๋วหนึ่งชั่วโมงก็เลยมีเวลาเดินสำรวจร้านขายของที่ระลึกอยู่บ้าง แต่สุดท้ายก็คิดว่าไปซื้อทีเดียวที่มอสโกจะดีกว่า เรายืนรออยู่ข้างในสถานีซักพักก่อนจะออกไปยังชานชาลาทันทีที่มีเสียงประกาศ วันนั้นเรานั่งรถไฟความเร็วสูง Sapsan (Сапсан) เหมือนตอนขามาจากมอสโก แต่ขากลับที่นั่งของเราไม่มีหน้าต่าง วิวก็ไม่มีให้ดู แถมคืนก่อนแบตโทรศัพท์ก็ยังชาร์จไม่เข้า เราต้องประหยัดแบตเพื่อเอาไว้ดูแผนที่สถานีรถไฟใต้ดินที่มอสโก พอไม่มีอะไรทำเราก็เลยหลับมาเกือบตลอดทาง


หลังจากเจออากาศติดลบที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กมาหลายวัน เราขอต้อนรับกลับสู่มอสโกด้วยอากาศเกือบ 10 องศา เรียกว่าปรับร่างกายกันแทบไม่ทัน จากสถานีรถไฟ Leningradsky เราต้องนั่งรถไฟใต้ดินเพื่อเอากระเป๋าไปเก็บที่โฮสเทลที่อยู่แถวสถานี Rimskaya (Римская) แต่เราหาทางเข้าสถานี Komsomolskaya (Комсомо́льская) ของ Circle Line สาย 5 สีน้ำตาลไม่เจอ เพราะจุดที่เราออกจากสถานีเมื่อวันก่อนไม่มีทางเข้า แถมบริเวณเดียวกันยังมีสถานีรถไฟ Yaroslavsky (Яросла́вский вокза́л) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรียที่มอสโกด้วย คนเลยพลุกพล่านมาก เราเดินลากกระเป๋าวนอยู่หลายรอบและกว่าจะเจอทางเข้าสถานีเราต้องหยุดถามทางคนที่เดินผ่านไปมาถึง 3 ครั้ง


เราขอบันทึกให้ทางเข้าสถานีรถไฟใต้ดิน Komsomolskaya ที่อยู่อีกด้านหนึ่งของสถานีรถไฟ Yaroslavsky (ไม่ใช่ด้านที่อยู่ติดกับสถานีรถไฟ Leningradsky) เป็นที่สุดของทริปนี้ เพราะนอกจากจะหายากแล้วยังน่ากลัวมาก เราเดินลงบันไดไปพร้อมๆ กับผู้ชายเอเชียคนหนึ่งและเราสองคนก็ถึงกับผงะแล้วหันมามองหน้ากันทันทีที่เห็นเครื่องกั้นทางเข้าสถานี คือมันเก่ามาก เหมือนฉากในหนังซอมบี้ไม่มีผิด ระหว่างที่พวกเรากำลังยืนอึ้งอยู่นั้นก็มีหนุ่มรัสเซียมาช่วยชีวิตบอกว่าทางเข้าสถานีต้องเดินตรงไปอีก จุดที่พวกเราเห็นน่าจะเป็นของเก่าที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว ถ้ากลางวันยังน่ากลัวขนาดนี้ เราว่ากลางคืนมีปล้นแน่นอน (อาจจะเว่อร์ไปหน่อย แต่มันก็ดูอันตรายจริงๆ)

ทางเข้าชานชาลาของสถานี Komsomolskaya มีบางช่วงไม่ได้เป็นบันไดเลื่อนและเราต้องยกกระเป๋าขึ้นลงบันไดเอง ระหว่างที่เรากำลังจัดการกับกระเป๋าของตัวเองอยู่นั้นก็มีหนุ่มรัสเซียใจดีคนหนึ่ง (จริงๆ ก็ไม่หนุ่มเท่าไหร่ แต่จะเรียกลุงก็ดูแก่ไป) เดินมาคว้ากระเป๋าไปจากมือเราเลย เค้ายกกระเป๋าของเราไปวางไว้ให้ตรงทางลงบันไดเลื่อนแล้วก็เดินจากไปอย่างรวดเร็ว จริงๆ เราก็พอได้ยินเรื่องราวความเป็นสุภาพบุรุษของผู้ชายรัสเซียมาบ้าง แต่ก็ไม่คิดว่าจะมาเจอด้วยตัวเองบ่อยขนาดนี้

สองคืนสุดท้ายที่มอสโกเราเปลี่ยนจากห้องพักเดี่ยวมาเป็นห้องรวมหญิง เพราะอยากลองพักหลายๆ แบบ ที่พักของเราเป็นโฮสเทลที่เพิ่งเปิดให้บริการได้เพียง 2 ปีชื่อว่า Hostel Netizen อยู่ห่างจากสถานี Rimskaya (Римская) สาย 10 สีเขียวอ่อนและสถานี Ploshchad Ilyicha (Площадь Ильича) สาย 8 สีเหลืองไม่ถึง 100 เมตร เราตัดสินใจจองที่นี่เพราะชอบการตกแต่งที่ดูทันสมัยและเดินทางสะดวก แค่ออกจากสถานีรถไฟใต้ดินเราก็เจอโฮสเทลเลย บริเวณใกล้เคียงยังมีศูนย์การค้าและร้านกาแฟ Kofe Khauz (Кофе Хауз) ที่มีสาขาอยู่ทั่วมอสโกด้วย


คนที่ต้องการเอกสารลงทะเบียนสำหรับชาวต่างชาติ (Registration) สามารถแจ้งพนักงานตอนที่เช็คอินได้เลย ที่นี่มีบริการฟรี สำหรับห้องพักของเราเป็นห้องรวมหญิงแบบ 8 เตียงที่มีห้องน้ำในตัวแยกระหว่างห้องอาบน้ำกับห้องสุขา หลังจากที่ต้องทนกับสภาพห้องน้ำรวม (ชาย-หญิง) เน่าๆ และอุปกรณ์พังๆ ที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กมาถึง 4 คืน ที่นี่คือสวรรค์ชัดๆ เราชอบห้องพักของ Hostel Netizen เพราะสะอาดและดูดีเหมือนในรูปทุกอย่าง


ทริปรัสเซียเป็นทริปที่เราขอบคุณตัวเองทุกครั้งที่ต้องหาทางออกจากสถานีรถไฟใต้ดิน เพราะเราไม่เคยออกผิดทางเลย เราใช้วิธีเทียบชื่อภาษารัสเซียของสถานที่ที่จะไปกับป้ายบอกทางที่อยู่ด้านในสถานี บางครั้งก็ถามคนที่ยืนอยู่แถวนั้นเลยจะได้ไม่เสียเวลา และไม่น่าเชื่อว่าบางสถานีที่ต้องใช้เซ้นส์ล้วนๆ เราก็ยังเดาถูก แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือโทรศัพท์ เพราะแผนทุกอย่างอยู่ในนั้น ถ้าแบตหมดชีวิตก็คงจบเหมือนกัน เราออกไปข้างนอกอีกครั้งตอนเกือบบ่าย 3 โมงหลังจากที่ชาร์จแบตโทรศัพท์แล้วคิดว่าน่าจะอยู่ได้ถึงช่วงค่ำ

PLOSHCHAD REVOLYUTSII STATION

Address: มอสโก, รัสเซีย
How to get there: นั่งรถไฟใต้ดินไปลงที่สถานี Ploshchad Revolyutsii (Пло́щадь Револю́ции) สาย 3 สีน้ำเงิน

สถานี Ploshchad Revolyutsii (Пло́щадь Револю́ции) เป็นสถานีที่อยู่ใจกลางมอสโกและอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง สถานีนี้เปิดให้ใช้บริการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1938 จุดเด่นของสถานี Ploshchad Revolyutsii คือรูปปั้นทองสัมฤทธิ์จำนวน 76 ชิ้นที่แสดงเรื่องราวของประชาชนแห่งสหภาพโซเวียต (People of the Soviet Union) ในช่วงเวลานั้น ซึ่งได้แก่ ทหาร นักบินเกษตรกร นักกีฬา นักเขียน กรรมกร และนักเรียน สำหรับรูปปั้นที่มีคนพูดถึงมากที่สุดคือรูปปั้นทหารพร้อมสุนัขคู่ใจ เพราะมีความเชื่อว่าถ้าได้ลูบจมูกสุนัข วันนั้นจะโชคดี


เรารู้สึกว่าทริปรัสเซียเป็นทริปที่เรามากับดวงมากๆ เราเจอรูปปั้นทหารพร้อมสุนัขคู่ใจทันทีที่ออกจากรถไฟใต้ดินแบบที่ไม่ต้องเดินหาเลย ด้วยอายุการใช้งานของสถานีเกือบ 80 ปี เราว่าจมูกของสุนัขตัวนี้น่าจะถูกลูบไปแล้วนับล้านครั้ง ซึ่งจะเห็นได้จากลวดลายตรงจมูกที่ลบเลือนไปเกือบหมด ตอนแรกเราตั้งใจจะถ่ายรูปอย่างเดียว แต่พอเห็นคนรัสเซียเดินมาลูบจมูกของสุนัขเหมือนเป็นเรื่องปกติ เราก็เลยทำบ้าง เดี๋ยวจะหาว่ามาไม่ถึง

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่