#สุขภาพกับการตะลอนทัวร์ท่องเที่ยวของป้า

หลายเดือนมานี้เจ็บป่วยเป็นระยะ น้ำหนักลด พยายามกินให้มากแต่ก็ยังตีน้ำหนักขึ้นไม่ได้อย่างที่ต้องการ เวลาป่วย ไม่สบาย รู้สึกมึนหัว อ่อนเพลีย หมดแรง ก็ล้มตัวลงนอน ดีขึ้นก็ลุกขึ้นมาทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆต่อไป เพราะที่จริงที่บ้านไม่มีอะไรต้องทำมากมายเลย สองอาทิตยที่ผ่านมาอาการป่วยเริ่มมากขึ้น เริ่มอ่อนเพลีย วิงเวียน หมดแรงมากขึ้น รู้สึกไม่ดีก็ลงไปนอนอีกเช่นเคย แต่ตอนนี้ถี่มากขึ้น บางวันนึกอยากออกไปช้อปข้างนอกบ้าง ไปถึงร้าน อยู่ ๆ เกิดหมดแรง หน้ามืด ต้องรีบกลับบ้านมานอนพัก คิดว่าตัวเองคงมีปัญหาเกี่ยวกับความดันโลหิตที่ต่ำอยู่เสมอ นอนพักคงดีขึ้น แต่พอนอนไปแล้วรู้สึกไม่ดีขึ้น ยังโหรงเหรง โงนเงนมากเลย ใจสั่นมากกว่าที่เคยเป็น เลยนำเครื่องมือการเช็คความดันโลหิตออกมาเช็ค โอ้ ! ความดันขึ้นสูง แต่ที่สำคัญคือการเต้นหรือการบีบของหัวใจมันเร็วและช้าแบบผิดปกติ พอวัดได้ถึง 166 ครั้งต่อนาที เริ่มไม่ไหว ไปโรงพยาบาลทันที หมอเอาเข้าห้องตรวจเช็ค มันขึ้นไปถึง 188 ครั้งต่อนาที ตอนนั้นคือนอนพังพาบอยู่บนเตียงแบบงง ๆ

------
จากห้องฉุกเฉินเขาให้เช็คเลือด ทำอัลตร้าซาวด์ขา เพราะขาบวม เกรงว่าจะมีอาการเลือดคลั่งเป็นลิ้ม ทำเอ็กซเรย์ทรวงอก ทำ cat scan หัวใจ และอะไรอีกมากมาย หมอให้ยาเพื่อให้อาการเต้นของหัวใจที่เร็วมากลดลงจนมาอยู่ที่ราว 100 ครั้งต่อนาที พอรู้ผลเลือด หมอก็บอกว่าต้องแอดมิดนะ เพราะคิดว่าการเต้นผิดปกติของหัวใจครั้งนี้มาจากปัญหาโรคไทรอยด์


หลังจากแอดมิด มีการตรวจเช็คจากหมอประจำบ้านและหมอเฉพาะทางอีกหลายอย่าง มีการฉีดยาช่วยลดการเต้นของหัวใจ ให้ยาลดการทำงานของไทรอยด์ สุดท้ายหมออนุญาตให้ออกมาพักที่บ้านได้ตามที่เราขอ แต่บอกว่าไม่วางใจเลย เพราะเม็ดเลือดขาวของเราน้อยมาก ให้ระวังการติดเชื่อ เพราะสภาพตอนนี้คือหากเราติดเชื้อใด ๆ ก็ตาม ร่างกายเราจะไม่มีเม็ดเลือดขาวมากพอที่จะต่อต้าน หรือจับเชื้อโรคต่าง ๆ อยู่โรงพยาบาล 3 วัน พอกลับมาบ้านเราก็นอนต่อ คือหมดแรง ทำอะไรหักโหมไม่ได้อีกหลายวัน วันนี้รู้สึกดีขึ้นหน่อย เลยมาอัพเดทข้อมูลเสียหน่อย เผื่อจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านค่ะ
------
โรคไฮเปอร์ไทรอยด์ (hyperthyroid ฝรั่งออกเสียง ไฮเพอร์ไตรอยด์) หรือ ไทรอยด์เป็นพิษ เป็นอาการที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมามากว่าปกติ หรือ ที่เรียกว่า hyperthyroidism หรือ overactive thyroid อาการเป็นพิษของต่อมไทรอยด์เกิดจากฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ที่ถูกสร้างมากขึ้นจะหลั่งเข้าไปในกระแสโลหิต ออกฤกษ์กระตุ้นอวัยวะต่าง ๆ ให้ทำงานมากขึ้น หัวใจจะถูกกระตุ้นมากที่สุด ทำให้เกิดอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและแรง บางครั้งก็ไม่สม่ำเสมอ ทำให้เหนื่อยง่าย ทำให้ผู้ป่วยนอนไม่หลับ กล้ามเนื้ออ่อนแรง มือสั่น น้ำหนักลด ผมร่วง เหนื่อยง่าย และขี้ร้อน บางครั้งผู้ป่วยบางคนก็มีอาการอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด โดยโรคนี้ผู้จะเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ป้าจะเป็นมากกว่าลุงว่างั้น
------
ที่จริงเราเคยเป็นโรคนี้มาแล้วสมัยยังสาว ครั้งนั้นทำงานน้ำหนักลดวูบ มือสั่น ใจสั่น ไปตรวจรักษาด้วยการกินยา ก็หายไปในราว 3 ปีหลังจากเป็น พอมาตอนนี้แก่แล้วที่จริงหมอไม่อยากรักษาด้วยการให้ยาเพราะโอกาสหายน้อยมากเนื่องมากจากเคยเป็นมาแล้ว พอมาย้ำเป็นครั้งที่สองกับสุขภาพร่างกายที่ฉะราขึ้นแก็เลยอยากให้ผ่าตด แต่เราไม่เห็นด้วย บอกว่าลองกินยาก่อนแล้วกัน เหตุที่หมอไม่อยากให้ใช้ยาเพราะยาตัวที่รักษาโรคนี้หรือยาต้านไทรอยด์คือ Methimazole ซึ่งใช้ลดการสร้างฮอร์โมนนี้มีผลข้างเคียงหรือ side effects ต่อร่างกาย คือ ทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (Agranulocytosis) แล้วส่งผลให้ร่างกายเป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งหลังจากที่หมอให้ยานี้แก่เราในโรงพยาบาล ตรวจเช็คแล้วเม็ดเลือดขาวก็ต่ำมาก ซึ่งหมอก็เป็นห่วงว่าเราจะติดเชื่ออย่างง่ายดาย และอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ถ้าเราเดินทางไปตะลอนทัวร์ Colombia
-------
ดังนั้นหมอจึงให้เราตรวจเช็คเลือดอีกครั้งในวันอังคารนี้ เพื่อดูว่าผลไทรอยด์และเม็ดเลือดขาวเป็นอย่างไร เราก็อยากเที่ยวนะ แต่ก็กลัวเหมือนกันแหละว่าตัวเราเองจะรอด ปลอดภัยไหม เพราะนอกจากเรื่องค่าไทรอยด์ที่อาจส่งผลให้เรามีอาการเต้นของหัวใจเร็วมากแล้ว เราอาจมีปัญหาการติดเชื้อ และปัญหาที่ตามมาเมื่อหัวใจเต้นเร็วเกินไปนั่นคืออาจเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ส่งผลให้เกิด Stroke คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือ หลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก เอ้อ ! น่ากลัวจัง แล้วป้าจะได้ไปเที่ยวไหมเนี่ย?


ป.ล. โรคไทรอยด์มีสองประเทศคือ hyperthyroid และ hypothyroid  วันนี้มีภาพที่เกี่ยวขอ้งที่ได้จากเนตมาให้ดูพร้อมรูปที่ถ่ายเมื่ออยู่ รพ. มาให้ดูค่ะ

***สนใจการตะลอนทัวร์ของป้าดูได้จากเพจนี้นะคะ https://www.facebook.com/BBTravelAroundTheWorld/
***ไง ไง ก็กดไลค์ให้บ้างนะคะ ป้าจะได้มีกำลังใจเขียน อิ อิ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่