ขุนช้างขุนแผน เป็นวรรณกรรมมุขปาถะ ที่แต่งเพื่อเสียดสีสังคมหรือไม่ครับ?

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีโอกาสไปฟังบรรยายเกี่ยวกับความฝันในหอแดงของ อ.ธนัสถ์ เกี่ยวกับเจตจำนงค์ของการแต่งเรื่องนี้แล้วแฝงเกี่ยวกับการเสียดสีสังคม-ราชสำนัก-ชนชั้นขุนนาง รวมถึงองค์ความรู้อื่นๆในด้านการใช้ชีวิต ประเพณี การจัดสวน หรือวัฒนธรรมโบราณภายในเนื้อหาได้อย่างแยบคาย

พอได้ฟังแล้วก็ทำให้ย้อนกลับมาคิดถึงเรื่องขุนช้างขุนแผนของไทยครับ เพราะเรื่องนี้ก็คล้ายๆกับความฝันในหอแดงหลายประการ ที่แม้โครงเรื่องจะเป็นรักสามเส้าของขุนช้าง-ขุนแผน-นางพิมพ์ รวมถึงเรื่องราวการผจญภัยของขุนแผน แต่เรื่องนี้ก็ได้แฝงวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม รูปแบบสังคมเอาไว้ในท้องเรื่องอย่างแยบยล แถมเรื่องนี้ก็มีมาตั้งแต่ช่วงกลางอยุธยา ที่ระบบชนชั้นขุนนางของไทยขึ้นถึงจุดสูงสุดในด้านอำนาจและความมั่งคั่ง คล้ายๆกับสังคมขุนนางของจีนครับ

เลยทำให้ผมสงสัยว่า กลุ่มคนที่เริ่มแต่งหรือสร้างนิทานเสภาเรื่องนี้มาตั้งแต่สมัยอยุธยานั้น มีเป้าประสงค์คล้ายๆกับเฉาเสวี่ยฉินหรือเปล่าครับ ที่ต้องการจะเสียดสีสังคมขุนนางและราชสำนัก แต่จะพูดโต้งๆหรือเขียนเป็นหนังสือออกมาก็จะต้องพระราชอาญาหัวกุดโดนถอดเป็นไพร่กันเสียเปล่าๆ เลยต้องแต่งเป็นเสภาปากต่อปากโดยอาศัยโครงเรื่องหลักเป็นรักสามเส้าและการผจญภัยเอาไว้ แล้วเอาเรื่องราวการเสียดสีราชสำนักมาสอดแทรกไว้ในเรื่องผ่านตัวละครแทน หากราชสำนักจะเอาผิดก็โบ้ยว่าเป็นเรื่องเล่าจากตัวละคร ไม่เกี่ยวกับบุคคลหรือเหตุการณ์จริงใดๆ

แต่ทว่านิทานเรื่องนี้ก็ถูกเกลา ตัดต่อ เรียบเรียงใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 2 ซึ่งไม่แน่ว่าเนื้อหาบางส่วนที่ล่อแหลมหรือคล้ายกับเรื่องที่เกิดจริงเกินไปอาจจะโดนตัดออกไปแล้ว ทำให้เราโยงเรื่องราวในขุนช้างขุนแผน กับเหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์ได้ยาก

ทุกท่านคิดว่า แนวคิดนี้เป็นไปได้หรือไม่ครับ ขอบคุณครับผม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่