Samsung ออกเสียงว่า แซมซัง แต่ทำไมตอนเข้าไทยครั้งแรก บริษัทถึงตั้งชื่อภาษาไทยว่า ซัมซุงคะ หรือออกเสียงแบบเกาหลี

เราก็ได้ยินซัมซุงมาแต่เล็กแต่น้อย พอไปเรียนต่างประเทศ เพื่อนๆ เรียก แซมซัง รวมทั้งเพื่อนชาวเกาหลีด้วย
วันนี้ดู commercial ads ของ Samsung ก็ออกเสียง แซมซัง ชัดเจน แต่ชื่อบริษัทก็คงไม่เปลี่ยนมาเป็นแซมซังประเทศไทยอยู่แล้ว

แค่สงสัยว่าคนที่นำมาไทยในตอนแรกทำไมจึงตั้งชื่อว่า ซัมซุงค่ะ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 4
ความจริงแล้วคนเกาหลีเขาถ่ายสระเสียงนี้แบบ Anglicisation เป็น u ถูกต้องแล้วครับ ฝรั่ง(ที่พูดอังกฤษ)ก็ออกเสียงถูกเหมือนคนเกาหลีด้วย ถ้าถ่ายเสียงแบบ Romanization มาตรฐานจะถ่ายเป็น eo ในเกาหลีใต้ และ ŏ ในเกาหลีเหนือ

จริง ๆ แล้วสระ ㅓ นี้ไม่ได้ตรงกับเสียง “ออ” [ɔ] ในภาษาไทยนะครับ แต่เป็นคล้ายกึ่งออกึ่งอา [ʌ] ซึ่งตรงกับ u ในภาษาอังกฤษเช่นในคำว่า sun cut hub แต่หูคนไทยได้ยินคนเกาหลีออกเสียงสระเสียงนี้ฟังคล้าย ๆ “ออ” แต่แปลกที่คนไทยกลับได้ยิน sun cut hub ในภาษาอังกฤษเป็น “อะ” [a] คือ ซัน คัท ฮับ ในขณะที่เกาหลีได้ยินตรงกับคนอังกฤษเพราะเป็นสระเสียงเดียวกันคือ [ʌ]

ผมสรุปให้เห็นง่าย ๆ ดังนี้

1.เสียงที่แท้จริง : เกาหลี 성 (แซ่, ดาว ฯลฯ) = อังกฤษ sung (ร้องเพลง) = [sʌŋ] (แต่ ซ เกาหลีจะพ่นลมด้วย ซฺฮ) นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนเกาหลีถ่ายเสียง ㅓ เป็น u เช่น Samsung

2.เสียงที่หูคนไทยได้ยิน : เกาหลี 성 = ซอง [sɔŋ] แต่อังกฤษ sung = ซัง [saŋ] เพราะภาษาไทยไม่มีสระ [ʌ] อย่างเกาหลีกับอังกฤษ

ถ้าคนไทยกำหนดให้สระ ㅓ เท่ากับ ออ ฉะนั้นที่ถูกต้องควรเรียกว่า “ซัมซอง” แต่คนไทยก็ใช้ “ซัมซุง” กันมานานจนคนไทยคุ้นเคยแล้วก็ใช้ซัมซุงไป ซุงก็ซุง ซึ่งฝรั่งชาติที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษก็มักอ่านเหมือนคนไทย เพราะเข้าใจผิดว่า u คือ อู แต่จริง ๆ แล้วอิงภาษาอังกฤษ (Anglicisation) ไม่ใช่ Romanization

ในทางกลับกัน คนเกาหลีออกเสียงสระ “เอาะ,ออ” [ɔ] ในภาษาไทยเป็น ㅗ โอะ,โอ [o] เพราะใกล้เคียงที่สุดที่หูคนเกาหลีได้ยิน ฉะนั้น “บางกอก” ในภาษาเกาหลีจึงกลายเป็น 방콕 ไม่ใช่ 방컥



ผมขอเสนอเกร็ดเล็กน้อยเกี่ยวกับการถ่ายเสียงภาษาเกาหลี

ที่เห็นบ่อยมี 3 แบบ 2 แบบแรกเเรียกว่า Romanization (ใช้ภาษาละตินอัางอิง) ซึ่งราชบัณฑิตฯของเราก็ให้ใช้แบบนี้ โดยดัดแปลงจากสัทอักษรสากล (IPA) ภาษาเกาหลีมี 2 แบบย่อย เก่ากับใหม่

อีก 1 แบบคือ Anglicisation (ใช้ภาษาอังกฤษอ้างอิง) มักพบบ่อยในชื่อคน สื่อไม่เป็นทางการ ส่วนประเทศไทยเราใช้ในชื่อคนประปรายและในสื่อบันเทิงที่เรารู้จักกันดีคือ “ภาษาคาราโอเกะ” นั่นเอง

Romanization ภาษาเกาหลีที่พบบ่อยมี 2 แบบคือ
1.แบบใหม่ Revised Romanization of Korean (RR) เป็นระบบถ่ายเสียงมาตรฐานที่ประเทศเกาหลีใต้ใช้ในปัจจุบัน
2.แบบเก่า McCune-Reischauer (MR) ปัจจุบันใช้เฉพาะประเทศเกาหลีเหนือ

เปรียบเทียบสระเกาหลี (บางตัว) โดยถ่ายเสียง 3 แบบ จากซ้ายไปขวาตามลำดับคือ RR - MR - Anglicisation
ㅏ = a - a - a/ar
ㅓ = eo - ŏ - u
ㅗ = o - o - o
ㅜ = u - u - oo
ㅡ = eu - ŭ - u/eu
ㅣ= i - i - ee
ㅔ = e - e - e
ㅐ= ae - ae - ae/ai

삼성 Samseong - Samsŏng - Samsung
현대 Hyeondae - Hyŏndae - Hyundai
박 (แซ่คน) Bak - Pak - Park
이 (แซ่คน) I - I - Lee

จะเห็นได้ว่าชื่อ “Samsung” ใช้หลัก Anglicisation ซึ่งอิงภาษาอังกฤษเป็นหลัก ถ้าถ่ายแบบมาตรฐาน (RR) ต้องเป็น Samseong

อีกชื่อที่คุ้นเคยกันคือ “ฮุนได” Hyundai นี่ก็ ใช้หลัก Anglicisation ถ้าถ่ายแบบ RR ต้องเป็น Hyeondae
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่