LTF ไม่ใช่ซื้อตัวไหนก็ได้นะ!


เคยมีคำพูดเล่นๆ กันว่ามี 2 สิ่งที่คนเราหนีไม่พ้นก็คือ ความตาย และ ภาษี สำหรับความตาย คงไม่มีใครหนีพ้น แต่ภาษียังพอมีวิธีลดภาษีได้ผ่านการวางแผนภาษี

เมื่อพูดถึงการวางแผนภาษี ประโยคยอดฮิตที่คนแนะนำกันมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นการซื้อ LTF แต่ปัจจุบันการลงทุน LTF เพื่อลดหย่อนภาษีนั้นมีการปรับเปลี่ยนจากการถือครอง 5 ปีปฏิทินเป็น 7 ปีปฏิทินอย่างซื้อปี 60 จะขายได้ก็ต้องปี 66 เป็นอย่างน้อย ทำให้คนที่คิดจะลงทุนต้องทำการบ้านกันมากขึ้น จากเดิมอาจจะไม่ค่อยเน้นเพราะคิดว่าลงทุนในหุ้นเหมือนกัน ความเสี่ยงก็คงพอๆ กัน ถือ 3 ปีนิดๆ ก็ขายได้แล้ว แต่เมื่อต้องถือลงทุนนานขึ้น คำถามก็คงตามมาว่า อ่าววว! แล้วฉันจะลงตัวไหนดีล่ะในตลาดก็มีให้เลือกเยอะไปหมด ทางเลือกของบางคนก็คงดูที่ผลตอบแทนที่ผ่านมาเป็นหลัก แต่บางทีหากเราดูเฉพาะผลตอบแทนก็อาจจะไปอยู่บนยอดดอยแบบไม่รู้ตัวก็เป็นได้

วันนี้ K-Expert ขอสรุปข้อมูลที่สำคัญโดยแบ่งตามประเภทการลงทุนของ LTF เพื่อไปใช้ในการเลือกซื้อสำหรับช่วงที่เหลือของปีนี้กันนะครับ

ประเภทแรก LTF แม้จะมีระดับความเสี่ยงของกองทุนที่เท่ากันอยู่ที่ระดับ 6 แต่หากไปดูในนโยบายการลงทุนก็มีบางกองทุนที่เหมาะกับคนรับความเสี่ยงได้ไม่สูงนัก เงินคือของรักของข้า กองทุน LTF ประเภทนี้จะจำกัดสัดส่วนลงทุนหุ้นไม่เกิน 70% หรือ 75% ของเงินลงทุน โดยส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนตราสารหนี้ ก็พอจะลดความเสี่ยงลงได้บ้าง

ประเภทที่สอง แบบนี้จะต่างจากแบบแรกคือ เปิดกว้างให้มีการลงทุนหุ้นได้ถึง 100% จึงเหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้สูง โดยมีรูปแบบการลงทุนแบบ Passive Fund คือเป็นการลงทุนแบบเชิงรับ ลงทุนในหุ้นตามดัชนี SET หรือ SET 50 อธิบายง่ายๆ คือลงทุนอ้างอิงตามตลาดหุ้น ถ้าช่วงไหนหุ้นขึ้นกองทุนประเภทนี้ก็จะขึ้นด้วย แต่ถ้าช่วงไหนตลาดหุ้นเป็นขาลงกองทุนประเภทนี้ก็ลงเช่นกัน

ประเภทสุดท้าย LTF ประเภทนี้ลงทุนหุ้นได้ถึง 100% เช่นกัน จึงเหมาะกับคนที่รับความเสี่ยงได้สูง แต่จะต่างกับประเภทที่สองเพราะเป็นการลงทุนแบบ Active Fund คือการลงทุนเชิงรุก ที่ผู้จัดการกองทุนพยายามทำผลตอบแทนให้ชนะตลาด กองทุน LTF ประเภทนี้มีทางเลือกหลากหลายเช่น เน้นการลงทุนหุ้นเล็กที่มีโอกาสเติบโตสูง หรือเน้นลงทุนหุ้นใหญ่ที่มีพื้นฐานดี เป็นต้น

LTF ที่พูดมาทั้งหมดอาจจะมีทั้งกองที่จ่ายปันผล หรือ ไม่จ่ายปันผล โดยกองที่จ่ายปันผลนั้นจะนำกำไรที่ได้มาจ่ายให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน เหมาะกับคนที่ต้องการรายได้ระหว่างทาง แต่ก็ต้องแลกกับภาษีของเงินปันผลประมาณ 10% แต่ในส่วนของกองที่ไม่จ่ายปันผลนั้น จะนำกำไรที่ได้ไปลงทุนต่อ เหมาะกับคนที่ต้องการรับผลตอบแทนแบบเต็มๆ เมื่อขายกองทุนออกมา

ข้อมูลพวกนี้หาดูได้ไม่ยากครับ แค่เพียงเปิดดูนโยบายการลงทุนจาก Fund Fact Sheet ก็จะมีอธิบายไว้ชัดเจน ให้เพื่อนๆ ใช้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการตัดสินใจซื้อ LTF ไม่แนะนำให้ดูแต่ผลตอบแทนย้อนหลังอย่างเดียวนะครับ ที่สำคัญเราต้องให้เงินไปทำงานแทนเราบ้าง อย่าทำงานคนเดียวเดี๋ยวเงินจะนั่งๆนอนๆสบายเกิน

เพื่อนๆ มีเทคนิคในการเลือก LTF ยังไงกันบ้าง มาแชร์เป็นไอเดียให้กับเพื่อนๆ ท่านอื่นกันได้นะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่