เสด็จสู่ฟากฟ้าสุราลัย พระมหากรุณาธิคุณจารึกในใจไทยชั่วกาล ... ข้าพระพุทธเจ้า *ห้องเพลงคนรากหญ้า* ๒๖/๑๐/๒๕๖๐ น้ำตาคนไทย

วันที่ ๒๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ รัตนโกสินทร์ศก ๒๓๖

ถือเป็นวันที่ประวัติศาสตร์ชาติไทยบันทึกไว้ว่า เป็นวันที่คนไทยทุกคนเศร้าโศกเสียใจที่สุดวันหนึ่ง

เพราะเป็นวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

หมายกำหนดการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร


ตามพระราชประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณจะมีรูปแบบการถวายพระเพลิงอยู่แบบเดียว

แต่ในปัจจุบันนี้มีรูปแบบทั้งสิ้น ๔ แบบคือ

การสุมเพลิงพระบรมศพบนพระจิตกาธาน (กรณีพระบรมศพอยู่ในพระบรมโกศ)

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

กรณีพระบรมศพอยู่ในพระบรมโกศ เป็นการถวายพระเพลิงแบบโบราณราชประเพณี

ที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่มีการประดิษฐานพระบรมศพอยู่ในพระบรมโกศ

แต่ปัจจุบันไม่มีการใช้วิธีนี้แล้ว เพราะคุมเพลิงได้ยาก

เจ้าพนักงานต้องคอยฉีดน้ำเลี้ยงแล้วคอยดูทิศทางลมตลอดเวลา


วิธีนี้ ใช้เป็นครั้งสุดท้ายในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ ๒๕๒๘


สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗



การสุมเพลิงพระบรมศพบนพระจิตกาธาน (ในกรณีที่พระบรมศพอยู่ในหีบพระบรมศพ)

เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อครั้งงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

วันที่ ๑๐ มีนาคม พ.ศ ๒๕๓๙

เนื่องจากพระบรมศพของพระองค์ประดิษฐานในหีบ สำนักพระราชวังจึงตั้งหีบพระบรมศพบนพระจิตกาธาน

แล้วนำพระบรมโกศวางทับอีกชั้นหนึ่ง ก่อนถวายพระเพลิงบนพระจิตกาธานนั้น

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี


คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี


การสุมเพลิงในเตาไฟฟ้า (กรณีพระศพอยู่ในหีบ) เกิดขึ้นเมื่อครั้งพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนคริทร์

วันที่๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ ๒๕๕๑ ที่ประดิษฐานพระศพในหีบ ไม่ได้พระราชทานเพลิงบนพระจิตกาธาน

แต่ได้อัญเชิญหีบพระศพลงจากพระจิตกาธาน แล้วนำเข้าไปพระราชทานเพลิงในเตาไฟฟ้าทางฝั่งตะวันตกของพระเมรุแทน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

พระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์



สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์


การสุมเพลิงพระศพในเตาไฟฟ้า (กรณีพระศพอยู่ในพระโกศ)

เกิดขึ้นในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี วันที่ ๙ เมษายน พ.ศ ๒๕๕๕

เนื่องจากมีการประดิษฐานพระศพในพระโกศตามโบราณราชประเพณี แต่ในช่วงการพระราชทานเพลิงจริง

ได้นำพระโกศลงจากพระจิตกาธาน อัญเชิญไปเข้าเตาไฟฟ้าด้านตะวันตกของพระเมรุเพื่อพระราชทานเพลิง

โดยครั้งนั้นเป็นเตาแบบพิเศษที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติ เพื่อให้พระโกศเข้าไปข้างในเตาได้


สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี


สำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ในครั้งนี้พบว่าจะใช้วิธีการสุมเพลิงพระบรมศพในเตาไฟฟ้า โดยมีการติดตั้งเตากึ่งไฟฟ้าที่มีการระบายควัน

อยู่บนจิตกาธาน จุดที่มีการถวายดอกไม้จันทน์ โดยด้านบนของจิตกาธานนั้น

จะอัญเชิญพระบรมโกศมาตั้งประกอบเป็นเกียรติยศ เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพจริง

เตาสุมเพลิงทำงาน เจ้าพนักงานจะเปิดฝาพระโกศออก ปิดพระฉากบังเพลิง ให้เหมือนโบราณราชประเพณี


ป.ล เนื้อหาและรูปภาพจากเพจ คลังประวัติศาสตร์ไทย

ป.ล ๒ เม้นท์ย่อยจะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับธรรมเนียมการถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ป.ล ๓ ขอชื่นชมรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐรวมทั้งจิตอาสาทุกคนที่ทำงานอย่างเข้มแข็ง

เป็นระเบียบเรียบร้อย รวมทั้งประชาชนคนไทยทุกคนที่แสดงออกถึงพลังความรัก ความจงรักภักดีที่มีต่อพระองค์ท่าน
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 29
พระราชประเพณี เผาพิธี (เผาหลอก) และ เปิดเพลิง (เผาจริง)

ประเพณีนี้ เพิ่งมีครั้งแรกเมื่อครั้งพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

โดย ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๖ ทรงบันทึกเอาไว้ ความว่า

"แท้จริงเปนความคิดของพวกเจ้าพนักงานเผาศพหลวง ในตอนปลาย ๆ รัชกาลที่ ๕

เพื่อมิให้ผู้ที่ไปช่วยงานเผาศพ เดือดร้อนรำคาญเพราะกลิ่นแห่งการเผาศพ ในเวลาที่ทำพิธีพระราชทานเพลิง

จึงปิดก้นโกษฐ์หรือหีบไว้เสีย และคอยระวังถอนธูปเทียนออกเสียจากภายใต้เพื่อมิให้ไฟไหม้ขึ้นไปถึง

ต่อตอนดึกเมื่อผู้คนที่ไปช่วยงานกลับกันหมดแล้ว จึงเปิดไฟและทำการเผาศพจริง ๆ

ในเวลาที่เผาจริง ๆ เช่นว่านี้ มักมีพวกเจ้าภาพอยู่ที่เมรุบ้าง

จึงเกิดนึกเอาผ้าทอดให้พระสดัปกรณบ้างตามศรัทธา ดังนี้จึงเกิดเปนธรรมเนียมขึ้นว่า

ผู้ที่มิใช่ญาติสนิทให้เผาในเวลาพระราชทานเพลิง

ญาติสนิทเผาอีกครั้งหนึ่งเมื่อเปิดเพลิง

กรมนเรศร์เป็นผู้ที่ทำให้ธรรมเนียมนี้เฟื่องฟูขึ้น และเป็นผู้ตั้งศัพท์ เผาพิธี และ เผาจริง ขึ้น

เลยเกิดถือกันว่าผู้ที่เป็นญาติและมิตรจริงของผู้ตายถ้าไม่ได้เผาจริงเป็นการเสียไป และการเผาศพจึ่งกลายเป็นเผา 2 ครั้ง"

ป.ล อ้างอิงจากหนังสือ ประวัติต้นรัชกาลที่ ๖


ป.ล๒ กรมนเรศร์ คือ กรมพระนเรศวรวรฤทธิ์ ซึ่งเป็นแม่กองสร้างพระเมรุ


ป.ล ๓ กรมพระนเรศวร ฯ มีพระโอรส คนหนึ่งคือ พระวรวงค์เธอพระองค์เจ้า บวรเดช

ป.ล ๔ กรมพระนเรศวร ฯ เป็นต้นตระกูล กฤษดากร

cnck
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 3
อาจจะมีผู้สงสัยว่า ในริ้วขบวนพระอิสริยยศทั้งริ้วขบวนที่ ๑ ๒ ๓

ทำไมไม่เห็นหีบพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ฯ ?

มีธรรมเนียมโบราณที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ "ธรรมเนียมลักพระศพ"




พระราชพิธีพระบรมศพ และการทำพระศพเจ้านายแต่ดั้งเดิม มีธรรมเนียมหนึ่ง

ซึ่งเรียกว่า ลักพระศพ หรือ ลักศพ โดยเป็นขั้นตอนหนึ่งของการเตรียมงานก่อนวันถวายพระเพลิง

หรือพระราชทานเพลิง โดยเจ้าพนักงานที่รับผิดชอบจะอัญเชิญพระบรมศพ หรือ พระศพ

จากที่ประดิษฐานเวลากลางคืนมายังพระราชยาน หรือ ยานพาหนะ เพื่อตั้งกระบวนรอเคลื่อนไปยังพระเมรุหรือเมรุในเช้าวันนั้น

ทั้งนี้ต่อมามีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับกาลสมัย เมื่อปีพ.ศ.2430

ในงานพระศพของสมเด็จเจ้าฟ้ามหามาลา ที่ปรากฎในหนังสือราชกิจจานุเบกษา

ได้ให้รายละเอียดในงานพระศพครั้งนั้น ความว่า

“ณ วันอาทิตย์ ขึ้นสามค่ำ เป็นวันเตรียมชักพระศพ ครั้นเวลาค่ำได้ตั้งขบวนแห่แต่วังสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา

เชิญพระศพไปลงเรือที่ท่าพระ ล่องลงไปขึ้นที่ศาลต่างประเทศ ตั้งขบวนแห่

เชิญพระศพไปขึ้นพระมหาเวชยันตราชรถ ที่หน้าวัดเชตุพนเป็นการเงียบอย่างลักพระศพ”



การลักพระศพนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกพระศพ แต่จะเกิดขึ้นกับบางกรณีเท่านั้น เช่น

วังที่ตั้งพระศพนั้นอยู่ไกล หรือ อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำ ห่างไกลจากวัดจากพระเมรุ

ที่จะทำการพระราชทานเพลิง ดังนั้นการลักพระศพก็คือ

การอัญเชิญพระศพมายังสถานที่ ที่สะดวกต่อการจัดริ้วขบวน เเละที่สำคัญคือเป็นการย่นเวลาให้เร็วขึ้น

มาถึงยุคปัจจุบัน  ธรรมเนียมการปฏิบัติเกี่ยวกับพระบรมศพ และพระศพของพระราชวงศ์นั้น

ได้มีการปรับเปลี่ยนไปมากจากอดีต เห็นได้อย่างชัดเจนเรื่องหนึ่งก็คือ

มีการนำหีบมาใช้ทรงพระศพแทนการใช้พระโกศ ดังนั้น

เมื่อพระศพประดิษฐานลงหีบ พอถึงวันแห่จึงทำให้บนพระมหาราชรถนั้นมีเพียงพระโกศเปล่า

เนื่องจากพระมหาราชรถสร้างไว้ตั้งแต่ต้นกรุงออกแบบให้วางได้เฉพาะพระโกศเท่านั้น

หีบทรงพระศพจึงไม่สามารถขึ้นวางบนพระมหาราชรถได้

เจ้าพนักงานจึงต้องทำการลักพระศพล่วงหน้าไปก่อนในเวลากลางคืน

โดยอัญเชิญหีบทรงพระศพเข้ายังรถตู้ยนต์พระที่นั่ง จากนั้นตั้งขบวนเคลื่อนไปยังท้องสนามหลวง

พอถึงก็ชักพระศพขึ้นยังพระเมรุเพื่อรอริ้วขบวนพระราชพิธี ที่จะแห่พระโกศเปล่าตามมาในภายหลังดังหมายกำหนดการ


ป.ล ๑ เนื้อหาส่วนหนึ่งจาก หนังสือธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย

ป.ล๒ "ลักพระศพ" ไม่ใช่พระราชพิธี แต่เป็น ธรรมเนียมการปฏิบัติ

cnck
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่