ลูกสไตร์คในเบสบอลหมายถึงคนตี ตีลูกออกหรือเปล่าคะ

ลูกสไตร์คในเบสบอลหมายถึงคนตี ตีลูกออกหรือเปล่าคะ

แล้วถ้าตีโดนลูกจะนับเป็น1คะแนนหรือเปล่าคะ?
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 7
ขอยกที่เคยอธิบายเรื่องเบสบอลมาลงให้ทั้งหมดเลยละกันนะครับ เผื่อใครผ่านมาแล้วสนใจอยากอ่านครับ

-----------------------------------
เนื้อหาในส่วนนี้อาจไม่ได้อธิบายครบทุกส่วนทุกข้อของกฎกติกาการแข่งขัน แต่สำหรับผู้ที่ไม่เคยดูมาการเลยคิดว่าน่าจะครบถ้วนในการเริ่มดูเริ่มทำความเข้าใจ และสามารถดูได้อย่างสนุกนะครับ เนื่องจากไม่ค่อยมีเวลารูปประกอบอาจน้อยไปสักหน่อย ไว้ว่างๆ จะทำใหม่ให้มีภาพประกอบเยอะขึ้นเพื่อที่จะได้เข้าใจง่ายขึ้นอีกที

สำหรับคนที่เพิ่งจะเริ่มดูและยังไม่เข้าใจอะไรเลย ในช่วงแรกอยากแนะนำให้ดูและทำความเข้าใจก่อนว่า ลูกแบบไหนเป็นสไตรค์ แบบไปฟาวล์ แบบไหนเป็นบอล ยังไม่ต้องสนใจเรื่องอื่น ดูสัก 2-3 อินนิ่งก็น่าจะพอจับจุดได้ พอเข้าใจตรงนี้แล้วค่อยไปทำความเข้าใจเรื่องการวิ่ง กับการรับบอลของฝ่ายรับต่ออีกทีครับ

[⚾️ตำแหน่งทีมรับ]

ในแต่ละตำแหน่งของทีมรับจะมีหมายเลขซึ่งแสดงถึงตำแหน่งการยืน จะเห็นได้ที่สกอร์บอร์ด หมายเลขนี้ไม่ใช่ลำดับการตีนะครับ
1 หรือ P คือ พิทเชอร์
2 คือ แคทเชอร์
3 คือ เฟิร์สท์เบส
4 คือ เซคั่นเบส
5 คือ เธิร์ดเบส
6 คือ ชอร์ตสต็อป
7 คือ เลฟท์
8 คือ เซ็นเตอร์
9 คือ ไรท์

สำหรับลำดับการตีบนสกอร์บอร์ดจะเรียงจากบนลงล่าง หรือจากซ้ายไปขวาแล้วแต่สนาม

===================================
⚾️[เป้าหมายของทีมรับทีมบุก]
ในการเล่นเบสบอล แต่ละฝ่ายจะมีผู้เล่นตัวจริงฝ่ายละ 9 คน โดยจะสลับกันเป็นฝ่ายบุกและฝ่ายรับ ฝ่ายทีมเหย้าในสกอร์บอร์ดจะอยู่ด้านล่าง ทีมเยือนด้านบน ฝ่ายเหย้าจะเริ่มจากเป็นทีมรับก่อน ซึ่งเป้าหมายของทีมบุกและทีมรับจะมีดังนี้

-ทีมรับเป้าหมายคือป้องกันไม่ให้ผู้เล่นฝ่ายบุกกลับโฮม (วนกลับมาที่จุดตี) และทำให้ฝ่ายบุกเอาท์ให้ได้ 3 คน

-ทีมบุกคือหาทางตีแล้ววิ่งกลับมาที่โฮมเบสให้ได้

สำหรับทีมรับสามารถเปลี่ยนตำแหน่งการยืนได้ ส่วนการจัดลำดับตีของทีมบุกจะเป็นสิ่งตายตัว ไม่สามารถเปลี่ยนลำดับได้ การเปลี่ยนผู้เล่นลงไปแทน ก็จะเข้าไปอยู่ในลำดับตีของผู้เล่นคนเดิมในเรื่องการเปลี่ยนตัว สามารถเปลี่ยนตัวได้ตลอดเวลา แต่คนที่ถูกเปลี่ยนออกแล้วจะไม่สามารถกลับมาเล่นใหม่ได้

การได้คะแนนมาจากการที่รันเนอร์วิ่งกลับโฮมได้ 1 คน ต่อ1 รัน แต่ถ้ามีการตีโฮมรัน มีกี่คนก็ได้คะแนนตามนั้น

ในการแข่งขันจะแข่งกันทั้งหมด 9 อินนิ่ง ใน 9 อินนิ่งนี้ ถ้าทีมเหย้าทำคะแนนนำอยู่จนจบครึ่งบนหรือครึ่งแรกของอินนิ่ง 9 การแข่งก็จะจบเลย ไม่ต้องแข่งครึ่งหลังต่อ

แต่ถ้าเกิดยังเสมอกันอยู่ ก็จะต่อเวลาออกไปเรียกว่าเอ็กซ์ตร้าอินนิ่ง จบอินนิ่งไหนถ้ามีผลต่างเกิดขึ้นการแข่งก็จะจบตรงนั้น ในเมเจอร์ลีกของอเมริกาจะแข่งกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีผู้ชนะ แต่ในญี่ปุ่นจะแข่งกันไม่เกิน 12 อินนิ่ง ถ้าทำอะไรกันไม่ได้ก็จะเสมอกันไป

ในการแข่งขันรายการพิเศษ อาจมีการเพิ่มกฎบางข้อในช่วงต่อเวลาเพื่อให้เกมจบเร็วขึ้นได้ด้วย เช่นให้มีรันเนอร์อยู่ที่เบส 1, 2 ตั้งแต่เริ่มช่วงเอ็กซ์ตร้าอินนิ่งได้เลย

===================================
⚾️[อธิบายสนาม]

จากรูปจะเห็นเส้นที่ลากยาวจากแบ็ตเตอร์บ็อกซ์ออกไป เรียกว่าฟาวล์ไลน์ หรือเส้นฟาวล์ ถ้าผู้ตีตีออกด้านหลังเส้นนี้จะตกพื้นหรือขึ้นไปบนอัฒจันทร์จะเป็นลูกฟาวล์ (เดี๋ยวจะอธิบายเพิ่มเติมทีหลัง) บริเวณพื้นที่ส่วนในจนถึงขอบพื้นที่สีน้ำตาลเรียกว่าอินฟิลด์ ด้านนอกจะเรียกเอาท์ฟิลด์

===================================
⚾️[สไตรค์โซน, ฟาวล์, บอล, สไตรค์ และเอาท์]
เรื่องที่ต้องทำความเข้าใจต่อไปคือเรื่อง ลูกไหนที่พิทเชอร์ขว้างมาแล้วเป็นสไตรค์ ลูกไหนเป็นบอล ลูกไหนฟาวล์ และแบบไหนคือเอาท์

-สไตรค์โซน
ก่อนอื่นขอเริ่มที่เรื่องสไตรค์โซน สไตรค์โซนถ้ามองจากด้านบนก็คือพื้นที่แผ่นโฮมเพลทสีขาวๆห้าเหลี่ยมนั่นแหละครับ ส่วนความสูงของสไตรค์โซนจะแปรผันกับความสูงของแบ็ตเตอร์หรือผู้ตี โดยส่วนบนของสไตรค์โซนจะอยู่ประมาณลิ้นปี่หรือราวนม ส่วนล่างของสไตรค์โซนคือบริเวณหัวเข่าส่วนล่าง ความกว้างก็คือขนาดของโฮมเพลทไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้ามองจากด้านหน้าก็จะเป็นพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าสมมติที่ลอยอยู่กลางอากาศ

-สไตรค์
มาถึงเรื่องที่ว่า ลูกไหนบ้างที่เป็นสไตรค์ ฟาวล์ หรือบอล แยกได้ดังนี้ครับ (สมมติว่าตอนนี้ไม่มีรันเนอร์หรือผู้เล่นฝ่ายบุกได้ออกไปที่เบสเลย)
1. พิทเชอร์ขว้างบอลเข้ามาในบริเวณสไตรค์โซน แบ็ตเตอร์ยืนดูเฉยๆ ลูกนี้เป็นสไตรค์

2. พิทเชอร์ขว้างบอลเข้ามาในบริเวณสไตรค์โซน แบ็ตเตอร์สวิงไม้ไม่โดนลูก ลูกนี้เป็นสไตรค์

3. พิทเชอร์ขว้างบอลเข้ามาในบริเวณสไตรค์โซน แบ็ตเตอร์สวิงไม้โดนลูกออกไปหลังเส้นฟาวล์ ไม่ว่าจะตกพื้นหรือขึ้นไปบนอัฒจันทร์ ลูกนี้เป็นฟาวล์บอล และเป็นสไตรค์

3.1 สมมุติว่ามีการสไตรค์ไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ถ้าตีโดนลูกออกไปเป็นฟาวล์จะไม่นับเป็นสไตรค์ที่ 3 แต่จะสามารถฟาวล์ได้เรื่อยๆ จนกว่าจะเกิดเหตุการณ์ให้เอาท์, เดดบอล หรือโฟร์บอล ซึ่งจะอธิบายต่ออีกที

4. พิทเชอร์ขว้างบอลออกนอกบริเวณสไตรค์โซน แบ็ตเตอร์ยืนดูเฉยๆ ลูกนี้เป็นบอล

5. พิทเชอร์ขว้างบอลออกนอกบริเวณสไตรค์โซน แบ็ตเตอร์สวิงไม้ไม่โดนลูก และไม้ผ่านโฮมเพลท ลูกนี้เป็นสไตรค์

6. พิทเชอร์ขว้างบอลออกนอกบริเวณสไตรค์โซน แบ็ตเตอร์สวิงไม้โดนลูกออกไปหลังเส้นฟาวล์ เหตุการณ์จะเหมือนข้อ 3.

-เมื่อครบ 3 สไตรค์ ถือว่าแบ็ตเตอร์คนนั้นเอาท์

*ถ้าเกิดว่าบอลที่พิทเชอร์ขว้างมาออกนอกสไตรค์โซน แต่แบ็ตเตอร์ขยับจะสวิงแต่ยั้งไว้ได้ ลูกนั้นจะเป็นบอล บางจังหวะการยั้งไม้อาจก้ำกึ่งว่าจะสวิงรึเปล่า การตัดสินขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ตัดสิน(อัมไพร์) บางครั้งผู้ตัดสินที่อยู่หลังแคทเชอร์จะถามจากผู้ตัดสินที่ประจำเบส 1 หรือ 3 ถ้า กางมือออกถือว่าไม่ได้สวิง ถ้ากำหมัดถือว่าสวิงไม้ไปแล้ว

ในกรณีที่พิทเชอร์ขว้างไปแล้ว แคทเชอร์รับไม่ได้ บอลอาจกลิ้งไปด้านหลัง ในกรณีนี้รันเนอร์สามารถวิ่งไปเบสถัดไปได้เลย ถ้าเห็นว่าเสี่ยงวิ่งไปแล้วทัน การขว้างของพิทเชอร์แบบนี้จะเรียกว่า ไวลด์พิทช์ (wild pitch)

*กรณีพิเศษอีกอย่างคือ ในกรณีที่ไม่มีรันเนอร์ที่เบสหนึ่ง สมมติว่าถ้า 2 สไตรค์แล้ว ลูกต่อมาพิทเชอร์ขว้างมาแล้วตกพื้นไม่เข้าสไตรค์โซน และแบ็ตเตอร์สวิงไม้ออกไปไม่โดนลูก แบ็ตเตอร์มีสิทธิวิ่งไปที่เบสหนึ่งได้ ในกรณีนี้ แบ็ตเตอร์บางคนก็วิ่งบางคนก็ไม่วิ่งแล้วแต่สถานการณ์ ถึงแม้ไม่วิ่งแต่เพื่อความชัวร์ว่าจะไม่ยึกยักโดนหลอกก็จะเห็นแคทเชอร์เอาบอลไปแตะตัวเพื่อให้เอาท์จริง หรือจะขว้างไปที่เบสหนึ่งก่อนที่รันเนอร์จะวิ่งไปทันเลยก็ได้เช่นกันครับ กรณีนี้แม้ว่ารันเนอร์จะวิ่งไปเบสหนึ่งทันไม่เอาท์ แต่พิทเชอร์ยังได้สถิติสไตรค์เอาท์อยู่ครับ

หรือถ้ามีรันเนอร์ที่เบสหนึ่ง แล้วเกิดกรณีเดียวกันคือ 2 สไตรค์ แล้วพิทเชอร์ขว้างตกพื้นแบตเตอร์สวิงไม้ไม่โดน แบตเตอร์จะเอาท์ทันที แต่ถ้ารันเนอร์เห็นว่ามีโอกาสเสี่ยงวิ่งไปเบสสองได้ทัน จังหวะนี้ก็สามารถทำได้ครับ

อีกกรณีหนึ่งคือถ้าเป็นสถานการณ์ 2 เอาท์แล้ว ไม่ว่าจะมีรันเนอร์ที่เบสไหนก็ตาม ถ้าเกิดกรณีพิเศษแบบนี้ผู้ตีสามารถวิ่งไปเบสหนึ่งได้ โดยฝ่ายรับต้องทำเอาท์ด้วยการเอาบอลทัชหรือขว้างไปที่ผู้เล่นเบสหนึ่งให้ทัน

-ถ้าพิทเชอร์ขว้างออกนอกสไตรค์โซนโดยที่แบ็ตเตอร์ไม่สวิงไม้จนครบ 4 บอล แบ็ตเตอร์คนนั้นจะได้ไปที่เบสหนึ่งทันที (เรียกว่าโฟร์บอล หรือวอล์ค หรือเบสออนบอลส์ (base on balls))

-เมื่อแบ็ตเตอร์เอาท์ครบสามคนก็จะเปลี่ยนข้างกันครับ

===================================
⚾️[ฮิต]
คราวนี้มาทำความเข้าใจกันว่า ลูกตีแบบไหนถึงจะเป็นฮิตและแบ็ตเตอร์ได้ออกไปที่เบสหนึ่งกันครับ (แบ็ตเตอร์หรือผู้ตี เมื่อตีออกมาแล้วจะเรียกว่ารันเนอร์ครับ) สมมติกรณียังไม่มีรันเนอร์ที่เบสไหนเลย

แบ็ตเตอร์หวดลูกออกไปจะกลิ้งอยู่ในอินฟิลด์หรือลอยไปตกบริเวณเอาท์ฟิลด์ แล้วแบ็ตเตอร์วิ่งไปเหยียบเบสหนึ่งได้ก่อนที่ผู้เล่นฝ่ายรับจะส่งบอลกลับมาที่ผู้เล่นตำแหน่งเฟิร์สท์ แยกเป็นกรณีดังนี้

-ถ้าผู้เล่นตำแหน่งเฟิร์สท์(หรือตำแหน่งอื่นวิ่งเข้ามาแทนที่ก็ได้) เอาเท้าแตะไว้ที่เบสหนึ่งค้างไว้ ถ้าบอลเข้าถุงมือก่อนที่รันเนอร์จะเหยียบเบสได้ (พุ่งเอามือไปแตะก็ได้) ถือเป็นเอาท์
-ถ้าผู้เล่นตำแหน่งเฟิร์สท์ไม่ได้เอาเท้าแตะไว้ที่เบสหนึ่งค้างไว้ เมื่อรับบอลเข้าถุงมือจะต้องเอาเท้า (จริงๆร่างกายส่วนไหนก็ได้)ไปแตะที่เบสหนึ่งให้ทันก่อนรันเนอร์เหยียบเบส ก็จะเป็นเอาท์
-ถ้าบอลเข้าถุงมือผู้เล่นตำแหน่งเฟิร์สท์และนำไปแตะตัวรันเนอร์ได้ก่อนถึงเบสหนึ่ง ก็เป็นเอาท์เช่นกัน

-ในกรณีวิ่งเข้าเบสหนึ่ง รันเนอร์ไม่จำเป็นต้องหยุดที่เบส เหยียบแล้วผ่านไปเลยได้ แต่ถ้าเป็นเบสอื่นต้องหยุดให้ร่างกายสัมผัสเบสไว้ ถ้าไม่อย่างนั้นผู้เล่นฝ่ายรับสามารถเอาบอลมาแตะตัวเป็นทัชเอาท์ได้ครับ

*ถ้าหวดลูกลอยออกไปไม่ว่าจะอยู่อินฟิลด์, เอาท์ฟิลด์ หรือหลังเส้นฟาวล์ ถ้าผู้เล่นฝ่ายรับรับบอลได้ก่อนตกถึงพื้น จะเป็นฟลายบอลถือว่าเป็นเอาท์

-กรณีที่แบ็ตเตอร์ตีลูกตกในอินฟิลด์แต่ยังไม่เลยเบสหนึ่งหรือสาม แล้วกลิ้งออกไปหรือกระดอนออกไปหลังแนวเส้นฟาวล์(ทั้งลูก) ลูกนี้จะเป็นฟาวล์บอล แต่ถ้าลูกตกตั้งแต่เบสหนึ่งหรือสาม (โดนเบสก็ได้) แล้วกลิ้งหรือกระดอนออกไปหลังแนวเส้นฟาวล์ ลูกนี้จะเป็นแฟร์บอล การเล่นก็จะดำเนินต่อไป

ในกรณีที่แบตเตอร์ตีไปแล้วน่าจะถูกเอาท์ได้ เช่นตีไปตกตรงหน้าพิทเชอร์ ซึ่งพิทเชอร์ก็แค่ขว้างไปเบสหนึ่งก็เอาท์แล้ว แต่ถ้าเกิดว่าพิทเชอร์ทำลูกหลุดมือ หรือขว้างให้ผู้เล่นเบสหนึ่งรับไม่ได้ กรณีนี้จะกลายเป็นเอเรอร์ แบตเตอร์ไม่ได้สถิติฮิต แต่ได้เบสไป สกอร์บอร์ดจะขึ้นตัว E

===================================
(ต่อความเห็นล่างนะครับ ตัวอักษรเกินกำหนด)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่