~มาลาริน~** จะโทษใครล่ะทีนี้...เปิดคำพิพากษาจำคุก “เบญจา-เลขาฯหญิงอ้อ” อุ้ม “โอ๊ค-เอม” ไม่ยื่นคำนวณภาษีหุ้น



MGR Online - เปิดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ยืนจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา “เบญจา หลุยเจริญ” อดีต รมช.คลัง และ เลขาฯหญิงอ้อ พร้อมลิ่วล้อกรมสรรพากร รวม 5 ราย ฐานช่วย “โอ๊ค - เอม” ไม่ยื่นคำนวณภาษีหุ้นชินคอร์ป


วันนี้ (19 ต.ค.) คำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ความยาว 58 หน้า มีเนื้อหาสรุปว่า ศาลอุทธรณ์ฯ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้า ที่ไม่เห็นด้วยกับศาลชั้นต้นที่พิจารณา ว่า ประเด็นคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 เกี่ยวกับกรณีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ออกหุ้นเพิ่มทุนให้แก่พนักงาน หรือขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด ซึ่งมีปัญหาว่าการออกหุ้นดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (1) หรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรได้ลงมติ ว่า พนักงานลูกจ้างซึ่งได้รับเงินไม่ว่าจะเป็นหุ้นที่มีการซื้อขายกันในหรือนอกตลาดหลักทรัพย์ เป็นเงินได้พึงประเมินซึ่งได้มีการร่างคำวินิจฉัยเสนอต่อปลัดกระทรวงการคลังแล้ว ปลัดฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการวินิจฉัยได้ลงชื่อในคำวินิจฉัยที่ 28/2538 ดังกล่าว ว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการ รวมถึงหุ้นทุกประเภทไม่ได้จำกัดเฉพาะหุ้นเพิ่มทุนหรือหุ้นทุนแต่อย่างใด แต่จำเลยเห็นว่าคำวินิจฉัยนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับหุ้นเพิ่มทุนหรือหุ้นทุนเท่านั้น เพราะจำเลยทั้งห้าเห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 41 กำหนดไว้ว่า ผู้อยู่ในประเทศไทยมีรายได้พึงประเมินและต้องเสียภาษีเงินได้ แต่กรณีการซื้อขายหุ้นต่ำกว่าราคาท้องตลาดนั้น จำเลยที่ 1 และ 3 กับ นายสมพงษ์ ตัณฑพาทย์ รองอธิบดีกรมสรรพากร พยานจำเลย เบิกความทำนองเดียวกัน ว่า การซื้อหุ้นในราคาถูกไม่มีกฎหมายประเมินผู้ซื้อ โดยกรมสรรพากรจะประเมินผู้ขายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) ดังนั้น ในธุรกรรมเดียวกัน กรมสรรพากรสามารถเก็บภาษีจากผู้ขายได้อยู่แล้ว จึงไม่มีการจัดเก็บภาษีจากผู้ซื้ออีก ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเก็บภาษีซ้ำซ้อนและไม่เป็นธรรมกับผู้ซื้อ และกฎหมายเฉพาะมาตรา 40 (4) (ข) กำหนดว่า เมื่อผู้ขายขายแล้วมีกำไร ต้องเสียภาษีจากกำไรที่ได้ แต่ถ้าขายเท่าทุนหรือขาดทุนก็ไม่ต้องเสียภาษี ซึ่งเรื่องนี้มีแนวตอบข้อหารือของกรมสรรพากรในสาระสำคัญ คือ ผู้ขายหุ้นในราคาต่ำกว่าตลาด เจ้าพนักงานมีอำนาจประเมินตามราคาตลาด ซึ่งพยานจำเลยก็เบิกความสนับสนุนแนวทางดังกล่าวว่า ส่วนผู้ซื้อนั้นยังไม่ถือว่ามีเงินได้จนกว่าจะมีการขายทรัพย์สินและมีกำไร และยังมีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาด้วย ส่วนนิยามคำว่าหุ้นทุนหรือหุ้นฝ่ายทุนนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้ว่า ห้ามขายต่ำกว่าราคาที่ตราไว้ แต่ขายสูงกว่าได้ ซึ่งส่วนต่างที่สูงกว่านั้นไม่ถือเป็นรายได้ของผู้ขาย และไม่ต้องเสียภาษี โดยหุ้นทุนนั้นมี 2 ประเภท คือหุ้นสามัญที่บริษัทออกเองในครั้งแรกของการจัดตั้งบริษัท และหุ้นเพิ่มทุน

ศาลอุทธรณ์ฯ เห็นว่า คำวินิจฉัยภาษีที่ 28/2538 มีข้อความระบุว่า กรมสรรพากรขอให้คณะกรรมการ วินิจฉัยว่า กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำหุ้นไปแจกหรือขายในราคาต่ำกว่าตลาดให้กับพนักงาน ลูกจ้าง กรรมการ ที่ปรึกษา หรือบุคคลผู้รับทำงานให้ในลักษณะทำนองเดียวกัน ถือว่าบุคคลดังกล่าวได้รับเงินได้พึงประเมินที่จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ จำนวนเท่าใด ซึ่งคณะกรรมการก็ได้มีคำวินิจฉัย ว่า กรณีเช่นนั้นที่มีการนำหุ้นไปขายให้กับบุคคลตามข้อตกลงพิเศษในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด กรณีย่อมถือได้ว่าบุคคลดังกล่าวรับเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 แล้ว จึงต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้น ไม่ว่าหุ้นดังกล่าวจะมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการจำหน่ายจ่ายโอน และไม่ว่าหุ้นดังกล่าวจะเป็นหุ้นที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือนอกตลาด ซึ่งคำให้การของอดีตที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์จัดเก็บภาษี พยานโจทก์ก็เบิกความว่า คำวินิจฉัยนั้นไม่ได้หมายความเฉพาะหุ้นเพิ่มทุน แต่รวมถึงหุ้นทั่วไป ซึ่งในคำวินิจฉัยนั้นไม่ได้ใช้คำว่าหุ้นเพิ่มทุน ดังนั้นเมื่อพิจารณาที่มาของคำวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 แล้ว คณะกรรมการมีเจตนาต้องการใช้คำว่า “หุ้น” จึงหมายถึง “หุ้น” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นสามัญ หุ้นกู้ หุ้นบุริมสิทธิ์ โดยมีความหมายรวมถึงหุ้นทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทเอง หุ้นของบริษัทอื่นที่บริษัทได้มา ไม่ว่าจะเป็นหุ้นของบริษัทในประเทศหรือต่างประเทศ หุ้นที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลถือหุ้นในบริษัทอื่น ทั้งในตลาดหลักทรัพย์หรือนอกตลาดหลักทรัพย์ จากข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงไม่อาจรับฟังว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ที่ 28/2538 ว่าจะหมายความเฉพาะหุ้นเพิ่มทุนตามที่จำเลยทั้งห้ากล่าวอ้าง ดังนั้น การซื้อขายหุ้นระหว่างบริษัท แอมเพิลริช กับ นายพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา ซึ่งต่ำกว่าราคาท้องตลาด เข้าเงื่อนไขคำวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 จึงต้องเสียภาษีเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 อุทธรณ์ของจำเลยทั้งห้าฟังไม่ขึ้น

คดีต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 - 4 อีกว่า หนังสือตอบข้อหารือขัดกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 หรือไม่ ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้ว่า การตอบข้อหารือของจำเลยนั้นขัดกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ โดยจำเลยที่ 1 - 4 ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น เพราะการตอบข้อหารือของจำเลยไม่ใช่หุ้นเพิ่มทุน จึงไม่เข้าลักษณะคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ โดยศาลอุทธรณ์ฯ เห็นว่า น.ส.ปราณี คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 5 ได้หารือถึงอธิบดีกรมสรรพากร ว่า บ.แอมเพิลริช ตกลงขายหุ้น บมจ.ชินคอร์ป ที่ถือทั้งหมดให้นายพานทองแท้ โดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์แล้ว มีภาระต้องชำระภาษีตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ โดยประเด็นนี้มีรองอธิบดีกรมสรรพากรรับผิดชอบงานกฎหมาย พยานจำเลยเบิกความตอบโจทก์ว่า ถ้าขายในตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากเป็นข้อยกเว้นตามมาตรา 42 (17) ประกอบกฎกระทรวง แต่ถ้าเป็นการขายนอกตลาดหลักทรัพย์ตามข้อหารือ ผู้ซื้อยังไม่มีภาระภาษีจนกว่าจะขาย เมื่อหุ้นที่นายพานทองแท้ ซื้อเป็นหุ้นที่ บ.แอมเพิลริช ถือไว้ และการซื้อหุ้นในราคาถูก ส่วนต่างของราคาไม่เป็นเงินได้ของผู้ซื้อ และไม่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 ดังนั้น การจะตอบข้อหารือก็จะต้องพิจารณาก่อนว่า หุ้นที่นายพานทองแท้กับ น.ส.พินทองทา ซื้อเป็นหุ้นประเภทใด เพราะกรมสรรพากรมีแนวทางในการตอบข้อหารือระหว่างหุ้นทุน หุ้นเพิ่มทุน หรือหุ้นที่บริษัทผู้ขายถือไว้เป็นทรัพย์สินนั้นแตกต่างกัน โดยเมื่อพิจารณาหนังสือข้อหารือแล้ว ก็ทราบว่า นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา เป็นกรรมการของ บ.แอมเพิลริช แต่หุ้นที่ทั้งสองซื้อเป็นหุ้นของ บมจ.ชินคอร์ป ซึ่ง บ.แอมเพิลริช ถือไว้เป็นทรัพย์สิน จึงไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทั้งสองซื้อหุ้นทุนหรือหุ้นเพิ่มทุนของแอมเพิลริชแต่อย่างใด ซึ่งการซื้อหุ้นที่ถือไว้เป็นทรัพย์สินหรือสินค้านั้น แนวทางการตอบข้อหารือของกรมสรรพากรยึดถือมาตลอดว่า ยังไม่ถือว่าทั้งสองที่เป็นผู้ซื้อมีเงินได้พึงประเมิน ข้อเท็จจริงที่หารือนั้นจึงเป็นคนละกรณีกับข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ดังนั้น การตอบข้อหารือจึงไม่ขัดกับแนวทางคำวินิจฉัยที่ 28/2538 แต่ศาลอุทธรณ์ฯ เห็นว่า เมื่อคำวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 หมายถึงหุ้นทุกประเภท การตอบข้อหารือของจำเลยที่ 1 - 4 จะต้องใช้ดุลยพินิจตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ถูกต้องด้วย แต่ปรากฏว่า กรณีนี้ กรมสรรพากรเคยมีหนังสือรับด่วนที่สุด ลงวันที่ 30 พ.ย. 2543 ถึงประธานอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน สำนักงาน ป.ป.ช. แจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาระภาษี สรุปได้ความว่า กรณีบุคคลธรรมดาซื้อหุ้นโดยไม่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าหุ้นบริษัทนั้นจะจดหรือไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้ซื้อหุ้นไม่มีเงินได้พึงประเมิน จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เว้นแต่เป็นการซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าราคาที่พึงมี ซึ่งผลต่างระหว่างราคาที่พึงมีกับราคาซื้อเข้าลักษณะเป็นประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 ผู้ซื้อต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 - 4 ตอบข้อหารือเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น แต่กลับใช้ดุลพินิจตอบข้อหารือให้กับจำเลยที่ 5 แตกต่างกันว่า การซื้อหุ้นราคาต่ำกว่าตลาดเป็นการซื้อทรัพย์สินในราคาถูก ซึ่งเป็นเรื่องของการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย อันเป็นเรื่องปกติทั่วไปของการซื้อขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 453 ส่วนต่างของราคากับราคาตลาดจึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 จึงเป็นการขัดต่อกฎหมายและแนวทางปฏิบัติอย่างชัดเจน ซึ่งขัดแย้งกับเจตนารมณ์ในคำวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงการเสียภาษี อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 - 4 ฟังไม่ขึ้น


มีต่อค่ะ  นานาเรียน


แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  การเมือง กฎหมายการเมือง
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่