ไขปม: แอบดูคำตอบ ทำไม 'ฉลาดเกมส์โกง'ถึงตีตลาดจีนได้สำเร็จ

ไขปม: แอบดูคำตอบ ทำไม 'ฉลาดเกมส์โกง'ถึงตีตลาดจีนได้สำเร็จ


อันดับที่ 6 ของโลก กับการทำรายได้ของภาพยนตร์ไทยในการตีตลาดใหญ่สุดอย่างโลกแบบจีน 'ฉลาดเกมส์โกง'มีอะไรดีถึงยึดใจแฟนๆได้?

ภาพยนตร์ 'ฉลาดเกมส์โกง' หรือ Bad Genius ใช้ชื่อจีนว่า 'เทียนไฉเชียงโส่ว' (天才枪手)  เข้าฉายในจีนตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม และเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ทำรายได้ในจีนเป็นอันดับที่ 2 โดยตัวเลขประมาณการวันอาทิตย์อยู่ที่ 16.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 560 ล้านบาท เป็นรองเพียง Never Say Die (羞羞的铁拳) ภาพยนตร์จีนที่ทำรายได้มากกว่าเกือบสองเท่า ที่ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 990 ล้านบาท

เมื่อตลาดจีนเป็นตลาดภาพยนตร์ที่ใหญ่สุดในโลก เพราะจำนวนประชากรมหาศาล ถ้าหากยึดตลาดได้ย่อมหมายถึงรายได้มหาศาล แล้วทำไม "ฉลาดเกมส์โกง" ถึงกลายเป็นปรากฏการณ์หนังไทย ทั้งตอนเข้าฉายในประเทศไทย และออกไปสู่ตลาดโลก

ภาพยนตร์ไทยที่จะไปตีตลาดนอก ต้องมีความเป็นสากล

ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีได้พูดคุยกับ นายนคร โพธิ์ไพโรจน์ หัวหน้ากองบรรณาธิการฝ่ายหนังไทย นิตยสาร Bioscope ถึงสาเหตุที่ "ฉลาดเกมส์โกง" ได้รับเสียงตอบรับที่ดี นครมองว่า"ฉลาดเกมส์โกง" มาในจังหวะที่ไม่มีภาพยนตร์ไทยเรื่องไหนวางตัวแบบนี้ คือหนังที่เรานิยามลำบากเหมือนกันว่าจะเป็นหนังดรามา ทริลเลอร์ หรือแอ็คชั่น แต่รวมๆ แล้วมันเป็นหนังที่องค์ประกอบทุกอย่างสนับสนุนกันให้เป็นหนังที่ดูสนุก นครกล่าวว่าส่วนตัวค่อนข้างชอบหนังเรื่องนี้และเอาใจช่วยให้มันเดินทางไปได้ไกลที่สุด เพราะเห็นความเป็นสากลของมัน ไม่จำเป็นว่าคนดูหนังฝั่งสแกนดิเนเวียจะต้องมาเข้าใจระบบการศึกษาของไทยอย่างถ่องแท้ แต่ก็สามารถดูมันให้สนุกได้เพราะมันคือการต่อสู้กับระบบของคนตัวเล็กๆ ส่วนผู้กำกับ (บาส นัฐพล พูนพิริยะ)  นี่เป็นหนังยาวเรื่องที่สอง สิ่งหนึ่งที่พอจะใช้ยืนยันตัวตนคนทำหนังได้แล้วคือความมุทะลุและลูกบ้าดีเดือดทางจังหวะภาพยนตร์ และเขายังคงต้องพิสูจน์ตัวเองต่อไปในความแม่นยำทางการเล่าเรื่อง นับเป็นคนทำหนังที่น่าจับตามองอีกคน

ส่วนความสำคัญของจีนในแง่กำลังบริโภคนั้น นครชี้ว่าในสถานการณ์ตอนนี้ ไม่เฉพาะแค่หนังไทยเท่านั้น แต่ทั่วโลกก็ยังพยายามเข้าไปเจาะตลาดหนังในจีน โดยเฉพาะฮอลลีวูด เพราะมันเป็นตลาดใหญ่ ทั้งผู้ลงทุนและคนดูมีกำลังมากพอ แต่สำหรับกรณีความสำเร็จของ ฉลาดเกมส์โกง นับเป็นครั้งแรกที่หนังไทยมาได้ไกลระดับนี้ในจีน เพราะที่จีนจะมีข้อจำกัดอยู่มากมาย เช่นเรื่องรักร่วมเพศ ทำให้ที่ผ่านมา หนังที่มีเนื้อหาทำนองนี้ เช่น รักแห่งสยาม หรือ Yes or No เป็นการสร้างฐานแฟนคลับจากกลุ่มเล็กๆ ก่อน แล้วค่อยขยายฐานไปเรื่อยๆ จากหนังเถื่อน แฟนซับ เป็นส่วนใหญ่ 

แล้วทำไมแฟนจีนถึงอินกับ "ฉลาดเกมส์โกง"? นครวิเคราะห์ว่า เรื่องการสอบที่เป็นประเด็นสำคัญของ "ฉลาดเกมส์โกง" น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญให้หนังประสบความสำเร็จในจีนได้ และอาจรวมถึงเกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ กล่าวคือในประเทศแถบเอเชียหลายๆ ประเทศที่มีค่านิยมทางการศึกษาคล้ายๆ กัน แต่อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่าหนังจะไปได้ไกลกว่านั้น วัดจากที่มันคว้ารางวัตามเทศกาลจากฝั่งตะวันตกมาด้วย ส่วนหนึ่งเพราะมันไม่ได้พูดแค่เรื่องการศึกษา แต่คือการเอาชนะระบบของคนตัวเล็กๆ สิ่งนี้มากกว่าที่เป็นเรื่องสากล จนพาหนังไปได้ไกล

เรื่องส่วนแบ่งรายได้จากการจัดฉายภาพยนตร์ไทยในต่างประเทศมีโมเดลอย่างไรบ้าง นครเล่าว่า นปัจจุบันนี้ การซื้อขายสิทธิ์หนังไทยในต่างประเทศ ส่วนมากเป็นการขายสิทธิ์ขาด หากมองในมุมของผู้สร้างหนังไทยเอง ก็เป็นการลดความเสี่ยงที่จะต้องลุ้นตัวเลขหลังจากนี้ ราคาและรูปแบบการซื้อขายก็เปลี่ยนแปลงไปตามวัฒนธรรมการดูหนังด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการมีแพลทฟอร์มแบบสตรีมมิงเข้ามา หนังฮอลลีวูดเริ่มมีนายทุนเป็น Netflix หรือ Amazon Studio กันมากขึ้น เพราะคนดูกำลังเทไปที่ช่องทางดังกล่าว อย่างกรณี "ฉลาดเกมส์โกง" เท่าที่ลองศึกษาดูก็เป็นการขายสิทธิให้ผู้จัดจำหน่ายไปจัดการเอาเอง แต่การที่หนังประสบความสำเร็จระดับนี้ คือขึ้นอันดับ 6 ของโลกจากการฉายที่จีนเท่านั้น อาจสร้างอำนาจต่อรองให้ GDH ในการซื้อขายหนังเรื่องต่อไปได้มากขึ้น 

นครมองจุดที่แตกต่างของภาพยนตร์ไทยเวลาไปสู่ตลาดโลกหรือเวทีประกวดว่าหากย้อนไปเมื่อสัก 15 ปีก่อน หนังไทยมีความน่าสนใจในตลาดโลก เพราะค่อนข้างมีความหลากหลาย นนทรีย์ นิมิบุตร  เป็นเอก รัตนเรือง หรือ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง แต่ละคนต่างมีแนวทางเป็นของตัวเอง เมื่อโลกจับจ้องมาที่วงการหนังไทยก็ยังเจออีกคหลากหลายความท้าทายให้ได้ค้นหาคนทำหนังใหม่ๆ แต่พอสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการยังปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมการดูหนังไม่ทัน ทำให้ความหลากหลายค่อยๆ ลดลง และไม่สามารถสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ มาท้าทายได้นัก ฉะนั้นหากมองตามความเป็นจริงแล้ว สายตาของโลกที่มีต่อหนังไทย ในสายเทศกาลยังคงมีเพียง อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล สาย martial art ยังคงเป็น โทนี จา ซึ่งเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่สิบปีก่อนแล้ว รุ่นใหม่หน่อยอาจจะมี นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ และ อโนชา สุวิชากรพงศ์ แต่ก็ไม่ได้มีพลังมากพอที่จะเป็นภาพแทนให้เป็นที่จดจำว่าภาพรวมของหนังไทยในตลาดโลกเป็นอย่างไรกันแน่ 

ท้ายสุดนี้นครพูดถึงบทบาทของรัฐในการส่งเสริมหนังไทยไปลุยตลาดโลกว่า ปัญหาหลักของภาครัฐในภารกิจการผลักดันหนังไทยออกสู่ตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นสายเทศกาลหรือเชิงพาณิชย์ คือยังไม่เข้าใจในตัวหนังแต่ละเรื่องมากพอ กล่าวคือเราทำได้แค่เป็นกลไกในการสนับสนุนอย่างการให้ทุน ออกบูธตามเทศกาล โปรโมทการท่องเที่ยวดึงคนมาถ่ายหนังในประเทศ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรถึงจะผลักดันหนังแต่ละเรื่อง คนทำหนังแต่ละคน ไปสู่ที่ต่างๆ ของโลกได้อย่างถูกที่ถูกเวลา การส่งออกภาพยนตร์คือการส่งออกทางวัฒนธรรม แต่คำว่าวัฒนธรรมสำหรับภาครัฐอาจมีนิยามที่ไม่กว้างนัก ยกตัวอย่างเปรียบเทียบใกล้ๆ กับวงการหนังกัมพูชา ที่มีประวัติศาสตร์อันโหดร้าย แต่ก็ส่งหนังที่ถ่ายทอดความโหดร้ายเหล่านั้นไปประกวดในเวทีออสการ์มาก็บ่อย จนเคยเข้าถึงรอบ 5 เรื่องสุดท้ายมาแล้ว และเรื่องล่าสุด First They Killed My Father ก็เป็นตัวเต็งเรื่องสำคัญอีกด้วย หรือวงการหนังฟิลิปปินส์ที่โด่งดังในเทศกาลหนังอย่างต่อเนื่อง ก็เล่นงานภาครัฐและปัญหาของระบบแบบไม่ไว้หน้าเช่นกัน 

ที่มา Voice tv 21   by พิเชฐ ยิ่งเกียรติคุณ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่