มาถ่ายภาพทางช้างเผือกตอนนั่งเครื่องบินอยู่บนฟ้ากันเถอะ

กระทู้นี้เป็นกระทู้บอกเล่าเทคนิควิธีการถ่ายภาพทางช้างเผือกเมื่ออยู่ในเครื่องบินที่กำลังบินอยู่บนฟ้า ถ้าพร้อมแล้วไปลุยกันเลยครับ


การถ่ายภาพทางช้างเผือกได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน มากจนเกิดดราม่าให้เสพได้ไม่เว้นแต่ละวัน (ฮา) การบันทึกภาพใจกลางทางช้างเผือกที่สวยงามนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง เช่นสภาพท้องฟ้าปลอดโปร่งไร้เมฆฝนและฝุ่นละออง ไร้อิทธิพลของแสงจันทร์รบกวน อยู่ในที่มีมลภาวะทางแสงจากแสงไฟประดิษฐ์น้อยที่สุด การบันทึกภาพทางช้างเผือกบนพื้นดินคงถือเป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่การบันทึกภาพทางช้างเผือกบนเครื่องบินที่กำลังลอยอยู่บนท้องฟ้าสูงจากระดับน้ำทะเล 9-12 กิโลเมตร นั้นต้องอาศัยเทคนิควิธีการที่พิเศษมากกว่าการถ่ายภาพบนพื้นดิน อย่างไรก็ตามการที่อยู่บนที่สูงยิ่งทำให้เราสังเกตเห็นทางช้างเผือกได้ชัดมากขึ้นเนื่องจากอยู่สูงเหนือกลุ่มฝุ่นละอองและความสว่างของแสงไฟประดิษฐ์ถูกลดทอนกำลังไป

ข้อมูลภาพถ่าย
ภาพซ้าย:
Sept 21, 2017 เวลาประมาณ 22:00 Denver, Colorado, USA
Nikon D810, Nikon 14-24 f2.8G
14mm iso12800 f/2.8 8sec จำนวน 11 ใบ ใช้เทคนิค Median Stacking เพื่อลด Noise
ภาพขวา:
Aug 24, 2016 เวลาประมาณ 22:00 New Mexico, USA
Nikon D610, Nikon 14-24 f2.8G
14mm iso6400 f/2.8 13sec

==============================

หัวใจสำคัญที่สุดของการถ่ายภาพทางช้างเผือกคือการวางแผน ยิ่งต้องถ่ายภาพทางช้างเผือกจากบนเครื่องบินด้วยแล้วต้องละเอียดมากกว่าเดิม ซึ่งจะขอจำแนกเป็นลำดับดังนี้ครับ

1. จะต้องเลือกวันเดินทางที่ปลอดแสงจันทร์รบกวนหรืออย่างน้อยจะต้องไร้แสงจันทร์รบกวนในช่วงเวลาที่จะทำการถ่ายภาพทางช้างเผือก Photopills และ TPE ถือเป็น Application ชั้นดีสำหรับการวางแผนถ่ายภาพครับ

2. และแน่นอนจะต้องเลือกเป็นเที่ยวบินในตอนกลางคืนที่ฟ้ามืดสนิทหลังพระอาทิตย์ตกดินอย่างน้อย 2 ชั่วโมง หรือก่อนพระอาทิตย์ขึ้นอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อให้ได้สภาพท้องฟ้าที่มืดที่สุด

3. ต้องรู้ทิศทางการบินของเที่ยวบิน เช่นบินจากทิศใต้ขึ้นเหนือ หรือจากตะวันออกไปทิศตะวันตก เพื่อดูความเป็นไปได้ในการสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกจากช่องหน้าต่างผู้โดยสาร

4. เนื่องจากโลกหมุนรอบตัวเองตลอดเวลา ทำให้เราสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกหมุนจากทิศตะวันออกเฉียงใต้เคลื่อนไปทางทิศใต้ และตกลับขอบฟ้าในทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตำแหน่งของใจกลางทางช้างเผือกจะเปลี่ยนไปในแต่ละวันและแต่ละเดือนในรอบปี เราจะต้องหาตำแหน่งของใจกลางทางช้างเผือกคร่าวๆ ณ เวลาที่เราคาดว่าจะถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือกจากห้องโดยสาร เช่นต้องรู้ว่าช่วงเดือนสิงหาคมทางช้างเผือกจะอยู่ทางทิศใต้เมื่อฟ้ามืดสนิทช่วงหัวค่ำ มีลักษณะการวางตัวกึ่งๆ แนวตั้ง

5. หลังจากได้เที่ยวบินที่ตรงตามเงื่อนไขที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือการจองที่นั่งริมหน้าต่าง และจะต้องจองในกาบที่สามารถมองเห็นทางช้างเผือกได้ ขอแนะนำให้จองช่วงที่คาบเกี่ยวกับส่วนปีกของเครื่องบิน เพื่อจะได้ใช้ปีกเครื่องบินเป็นองค์ประกอบในภาพ

ภาพ screen shot จาก application TPE บน iOS

ตัวอย่างพอสังเขปในการวางแผนมีดังนี้
สมมติต้องการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังเมืองเลห์ประเทศอินเดีย (เริ่มจากทิศตะวันออกมุ่งหน้าทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) ช่วงกลางเดือนเดือนสิงหาคม เราจะต้องจองเที่ยวบินหัวค่ำและช่วงเวลาที่เหมาะสมในการถ่ายภาพทางช้างเผือกคือเวลาประมาณ 21:00 น. (ทิศใต้) จนถึง 00:30 น. (ทิศตะวันตกเฉียงใต้) จากภาพประกอบด้านบน ประเทศไทยอยู่ด้านล่างทางขวามือ (BKK) ส่วนเลห์อยู่ที่จุดกากบาทสีเทาบริเวณหมุดสีแดง (Leh) เม็ดกลมๆ สีขาวคือการพาดผ่านของทางช้างเผือก ส่วนที่เป็นใจกลางทางช้างเผือกคือเม็ดสีขาวที่อ้วนๆ (milky way core) จากเงื่อนไขต่างๆ ทำให้เราต้องจองที่นั่งทางด้านกาบซ้ายของเครื่องบิน (เมื่ออยู่บนเครื่องบินแล้วหันหน้าไปทางเดียวกับหัวเรือให้เลือกที่นั่งทางด้านซ้ายมือ) เพื่อที่จะสามารถสังเกตเห็นใจกลางทางช้างเผือกได้ตลอดการเดินทาง

==============================


เมื่อวางแผนจองเที่ยวบินและที่นั่งเรียบร้อยแล้ว เราก็มาดูกันต่อไปว่าอุปกรณ์อะไรบ้างที่จำเป็นในการถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือกจากห้องโดยสารเครื่องบิน

1. กล้องและเลนส์มุมกว้าง 14-16mm บนกล้อง Full frame หรือ 10mm บนกล้อง APSC เลนส์ที่ใช้ควรมีความไวแสงมาก หรือรูรับแสงที่กว้างเช่น f/1.4, f/1.8, f/2.8 เนื่องจากอยู่บนเครื่องบินที่เคลื่อนตัวจะไม่สามารถเปิดหน้ากล้องนานถึง 20 หรือ 30 วินาที จะทำให้ภาพสั่นไหว

2. ขาตั้งกล้องขนาดพอเหมาะแนะนำให้ถอดแกนกลางออกไม่เช่นนั้นแกนกลางจะทำให้ขาดความยืดหยุ่นในการเซ็ทอัพ หรือตัวจับยึดที่สามารถรับน้ำหนักกล้องและเลนส์ให้อยู่นิ่งได้

3. สายลั่นชัตเตอร์ที่สามารถสั่งให้ถ่ายภาพต่อเนื่องได้

4. เสื้อคลุมสีดำหรือผ้าคลุมสีดำขนาดใหญ่พอที่จะสามารถคลุมกล้องทั้งหมดและปิดช่องมองหน้าต่างได้มิด เพื่อป้องกันแสงจากห้องโดยสารสะท้อนเข้าไปที่ช่องมองหน้าต่าง เนื่องจากเป็นผนังกั้นสองชั้นจึงทำให้มีแสงสะท้อนเกิดขึ้น ถ้าไม่สามารถบล็อคแสงได้สนิทจะทำให้เกิดแสงสะท้อนเข้ามารบกวนตามภาพนี้ครับ


5. เทปกาวที่แปะแล้วสามารถลอกออกได้ง่ายไม่ทิ้งคราบสกปรกเป็นภาระให้กับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ใช้สำหรับแปะผ้าดำให้ยึดติดกับผนัง มันจะช่วยได้เยอะมากเพราะถ้าเราจะคอยนั่งจับผ้าดำไว้เป็นเวลานานในลักษณะท่าทางผิดธรรมชาติก็จะทำให้เมื่อยล้าและถ่ายได้น้อยรูป ภาพด้านล่างคือการใช้เสื้อคลุมสีดำและเทปกาวสำหรับการเซ็ทอัพ กล้องจะอยู่ในเสื้อสีดำทั้งหมด นายแบบอาจจะดูมึนๆ หน่อยนะครับ

การใช้เสื้อคลุมสีดำบล็อคแสงสะท้อน

==============================


หลังจากเตรียมอุปกรณ์พร้อมแล้ว เรามาดูการตั้งค่าและวิธีการถ่ายภาพกันครับ

1. ใช้ระยะเลนส์ที่กว้างสุดที่เรามีเพื่อเก็บภาพท้องฟ้าและทางช้างเผือกให้ได้มากที่สุด

2. หมุนระยะโฟกัสที่ตัวเลนส์ไปที่บริเวณกึ่งกลางของช่วงอินฟินิตี้ (แต่ละเลนส์อาจจะมีจุดโฟกัสที่ทำให้เม็ดดาวชัดที่สุดแตกต่างกัน) และเปลี่ยนระบบโฟกัสที่ตัวเลนส์ให้เป็นแบบแมนวล อันนี้ห้ามลืมนะครับ มิเช่นนั้นกล้องจะทำการโฟกัสอยู่ตลอดเวลาที่เริ่มถ่ายช็อตถัดไป

3. ใช้ ISO ที่สูงที่สุดที่สามารถทำได้ (highest native iso) เช่น Nikon D610 ที่ iso6400 Nikon D810 ที่ ISO12800 เพื่อให้ได้สัญญาณแสงของดาวที่สว่างที่สุด

4. ใช้ค่ารูรับแสงที่กว้างที่สุดที่เลนส์เรามี เพื่อเปิดรับแสงมากที่สุด

5. ชัตเตอร์สปีดจะต้องทำการทดลองในแต่ละไฟลท์ ถ้าหากเที่ยวบินที่เราโดยสารมีสภาพอากาศดี บินได้ราบเรียบไม่ตกหลุมอากาศ แบบนี้จะสามารถใช้สปีดได้นานถึง 10-13 วินาที แต่ถ้าเที่ยวบินไม่ราบรื่นคงต้องใช้สปีดที่เร็วกว่านี้ เช่น 5-10 วินาที

6. ถ่ายภาพในแบบ Timelapse เพื่อให้กล้องบันทึกภาพต่อเนื่อง เพราะแต่ละครั้งที่เปิดหน้ากล้องไว้เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะตกหลุมอากาศหรือกล้องจะสั่นเมื่อใด และยังสามารถนำภาพที่ถ่ายต่อเนื่องมาทำ Median Stacking เพื่อลดนอยส์ได้อีกด้วย

7. หมั่นตรวจสอบภาพเป็นระยะ เช่นการโฟกัสเม็ดดาว (ซูม 100% เพื่อตรวจสอบ) เนื่องจากการสั่นไหวและการสัมผัสของอุปกรณ์อาจจะทำให้วงแหวนโฟกัสเคลื่อนตัว และทดลองที่ความเร็วชัตเตอร์กับ ISO ที่แตกต่างกัน เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้ภาพที่ดี

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
คลิปเบื้องหลังการถ่ายภาพทางช้างเผือกบนเครื่องบิน


Nikon D810, Nikon 1-24 f2.8G
14mm iso12800 f/2.8 8sec x 11 ภาพ ลด Noise ด้วยวิธี Median Stacking


สุดท้ายนี้อยากแนะนำให้มีเพื่อนที่รู้จักกันนั่งที่นั่งติดกับเราเพื่อจะได้ช่วยกันเซ็ทอัพ แล้วจะได้ไม่เป็นการรบกวนคนอื่นที่นั่งข้างๆ เพราะระหว่างเซ็ทอัพต้องขยับขยายกันพอประมาณ ผมโชคดีที่เดินทางไปกับแฟนผมก็เลยมีคนคอยช่วยอยู่ตลอด ได้ผลเป็นอย่างไรกันบ้างก็แวะเวียนไปทักทายกันได้ตามช่องทางนี้นะครับ

facebook page: www.facebook.com/boonrawdphotography
Instagram: @boonrawd_photography https://www.instagram.com/boonrawd_photography/
website: www.boonrawdphotography.com
กระทู้ก่อนหน้า: https://ppantip.com/topic/35611098
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่