จดหมายเหตุงานพระบรมศพ เรื่องงานพระบรมศพกรมหลวงโยธาเทพ สมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนปลาย



จดหมายเหตุงานพระบรมศพ เรื่องงานพระบรมศพกรมหลวงโยธาเทพ สมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนปลาย
ปี เถาะ พุทธศักราช ๒๒๗๘
พระกระแสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สอบเรื่องราวตำราพระเมรุกรมหลวงโยธาเทพ
กับพระราชพงศาวดาร
ทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๔๕
................................
     เมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชาแล้ว ท่านผู้หญิงเดิมซึ่งตั้งเป็นพระมเหสีกลาง อันได้เป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงขุนหลวงเสือมา ออกไปอยู่พระตำหนักวัดดุสิตซึ่งเป็นตำหนักเดิมของเจ้าแม่วัดดุสิตครั้งพระนารายณ์เห็นจะเป็นจัดการเพื่อให้เหมือนครั้งพระนารายณ์ ภายหลังตั้งให้เป็นกรมพระเทพามาตย์
พระมเหสีขวา กรมหลวงโยธาทิพ พระมเหสีซ้าย กรมหลวงโยธาเทพ ออกไปตั้งตำหนักอยู่ริมวัดพุทไธศวรรย์ ปี มะโรง โทศก จุลศักราช ๑๐๖๒ โสกันต์ตรัสน้อยที่ตำหนักนั้น เป็นปีที่ ๓ ในแผ่นดินขุนหลวงเสือ ดูไม่เกี่ยวข้องอันใดกับราชการตลอดทั้งแผ่นดิน
     ขุนหลวงท้ายสระขึ้นเสวยราชย์ปีจออัฐศก จุลศักราช ๑๐๖๘
     ปีเถาะตรีศก จุลศักราช ๑๐๗๓ กรมพระเทพามาตย์สวรรคต ดูการศพจะไม่สู้กระไรนัก เห็นจะไม่ได้เผาในเมือง
     ปี มะแมสัปตศก จุลศักราช ๑๐๗๗ กรมหลวงโยธาทิพทิวงคตทำการพระเมรุขื่อ ๕ วา ๒ ศอก สูง ๒๐ วา ๒ ศอก มีพระเมรุทองศพขึ้นรถ งาน ๗ วัน
     ขุนหลวงบรมโกษฐ์ขึ้นเสวยราชย์ ปีชวด จัตวาศก จุลศักราช ๑๐๙๔ ราชาภิเษกในวังหน้า แลเสด็จอยู่ในวังหน้า ซึ่งไม่เข้ามาอยู่ในวังหลวงนั้น คงจะเป็นด้วยไม่ทรงไว้ใจพวกวังหลวง กลัวจะยังไม่สิ้นเสี้ยนหนามแลอีกประการหนึ่งดูก็เก๋ดีคล้ายพระนารายณ์ สังเกตดูแผ่นดินขุนหลวงบรมโกษฐ์ชอบเล่นแบบอย่างบุราณมาก เช่นมหาดเล็กขี่ตอไปสั่งราชการเป็นต้น แต่มีเหตุซึ่งจำต้องเข้าไปอยู่ในวังหลวงเมื่อภายหลัง คือถูกเจ๊กเข้าปล้นวังเมื่อปีขาลฉศก จึงได้ลงมือซ่อมปราสาท เห็นจะได้เข้ามาอยู่ในวังหลวงราวปลายปีเถาะสัปศก ฤาปีมะโรงอัฐศก กรมหลวงอภัยนุชิตจึงได้มาสิ้นพระชนม์ที่พระปรัศในวังหลวงเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๒
     กรมหลวงโยธาเทพสิ้นพระชนม์ วันจันทร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๖ ปี ระกาสัปตศก ศักราช ๑๐๙๗ อยู่ในระหว่างเสด็จอยู่วังหน้า แต่ไม่มีปรากฏในพระราชพงศาวดาร
     ข้อที่อ้างตัวอย่างพระบรมศพปีฉลูเบญจศก ๑๐๙๕ นั้น คือ พระบรมศพขุนหลวงท้ายสระ ซึ่งทำพระเมรุน้อย ขื่อ ๕ วา ๒ ศอก เท่าพระเมรุกรมหลวงโยธาทิพ แต่พระเมรุทั้ง ๒ คราวนี้ คงจะเป็นงาน ๓ วัน
๔ วัน ทั้งเก็บพระอัฐิ ฤา ๕ วันทั้งฉันท์สามหาบเปล่าๆอย่างเดียวกัน ด้วยในขณะนั้นเจ้าแผ่นดินดูกลัวแถบวังหลวงมากจะเสด็จออกจากวังเสมอหน้าจักรวรรดิ์ก็ต้องรีบกลับ อยู่ได้เพียงชั่วโมงหนึ่งเป็นอย่างช้า แลข้าราชการก็ร่วงโรยเบาบาง เพราะฆ่ากันเสียมาก
     แผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม ฆ่าขุนนางเก่าครั้งแผ่นดินเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์
     แผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ฆ่าขุนนางพวกพระเชษฐา แต่เห็นจะน้อย
     แผ่นดินพระนารายณ์ ฆ่าขุนนางที่เป็นพวกเจ้าฟ้าไชยแลพระศรีสุธรรมราชา เห็นจะเกือบหมดเปลี่ยนใหม่ทั้งสำรับ
     แผ่นดินพระเพทราชา ฆ่าขุนนางแผ่นดินพระนารายณ์หย่อยมาจนถึงไปตีนครราชสีมา เห็นจะเรียกว่าเกือบหมดได้
     แผ่นดินขุนหลวงเสือ เห็นจะฆ่ามาก เพราะคนนิยมเจ้าพระขวัญ ฤาพวกเจ้าพระพิไชยสุรินทร์ จะเป็นขุนนางอยู่ไม่ได้
     แผ่นดินขุนหลวงท้ายสระเคราะห์ดีไม่ต้องฆ่าใคร แต่ขุนนางแผ่นดินขุนหลวงเสือเห็นจะมีน้อย เพราะอยู่ในราชสมบัติน้อยไม่เต็มที่
     แผ่นดินขุนหลวงบรมโกษฐ์ ชาววังหลวงเห็นจะตายเกือบหมดแต่สมุหนายกยังถอดลงเป็นพระยาราชนายก ซึ่งนับว่าเป็นคนออกค่าชื่ออยู่คนเดียว
เพราะฉะนั้นขุนนางในจดหมายตำรานี้จึงได้ร่องแร่ง เพราะแรกเสวยราชย์หาคนตั้งไม่ทัน ฤาตั้งผู้ใดขึ้นก็ไม่รู้ตำราเก่าเลยทั้งสิ้น
คิดดูในระหว่าง ๙๐ ปี ฆ่าเทกันทิ้งเสียถึง ๗ ครั้ง เกือบเป็น ๑๓ ปี ครั้งหนึ่ง ฤาถ้ารอดตายก็กลายเป็นไพร่หลวงแลตะพุ่นหญ้าช้าง ถ้าจะนับพวกไม่ตาย ก็ต้องว่าผู้ดีกลายเป็นไพร่ ไพร่กลายเป็นผู้ดีถึง ๗ ครั้ง ใน ๙๐ ปี นั้นๆ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่