คุณหญิงปัทมาปิ๊งไอเดีย ไทยจัดยูธโอลิมปิค

คุณหญิงปัทมา ไอโอซี เมมเบอร์ มีแผนเสนอไทยเจ้าภาพยูธโอลิมปิคเกมส์ในอนาคต


คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เดินทางกลับจากประเทศเปรู ถึงประเทศไทย โดยมีคณะที่ปรึกษาและคณะกรรมการสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ตัวแทนจากสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย และสื่อมวลชนไปให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น หลังจาก คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ตำแหน่งอันทรงเกียรติสูงสุดในฐานะบุคลากรด้านการกีฬาของโลก

คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล เผยว่า “การได้รับตำแหน่งครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานกับ IOC อย่างเป็นทางการ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงในการได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานร่วมกับ IOC ตามพันธกิจและบทบาทของ IOC คือ ส่งเสริมสนับสนุนองค์กร การพัฒนา และความร่วมมือด้านกีฬา รวมถึงการจัดการแข่งขัน โดยร่วมมือกับองค์กรรัฐและเอกชนที่มีความสามารถในการพยายามทำให้กีฬาได้รับใช้มนุษยชาติและส่งเสริมสันติภาพ IOCส่งเสริมสนับสนุนด้านจริยธรรมและการปกครองที่ดีในการกีฬาและการศึกษาของเยาวชน ส่งเสริมสนับสนุนองค์กรกีฬา การพัฒนาและความร่วมมือด้านกีฬา รวมถึงการจัดการแข่งขัน ทำให้กีฬาได้รับใช้มนุษยชาติและส่งเสริมสันติภาพ IOC ให้การสนับสนุนนักกีฬาระดับโอลิมปิก นักกีฬาระดับทวีป นักกีฬาโอลิมปิกเยาวชน ผู้ฝึกสอน การพัฒนาโครงสร้างกีฬาระดับประเทศ พัฒนาการบริหารงานของคณะกรรมการโอลิมปิกในแต่ละประเทศ จัดอบรมภายในประเทศสำหรับผู้บริหารด้านกีฬา การอบรบผู้บริหารนานาชาติเรื่องการจัดการกีฬา การแลกเปลี่ยนคณะกรรมการโอลิมปิกจากแต่ละประเทศ ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมทางกีฬา ความช่วยเหลือถูกส่งมายังคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศนั้นๆ โดยผ่านทางโปรแกรมต่างๆ สมาคมกีฬาต่างๆของแต่ละประเทศสามารถขอความช่วยเหลือและเงินสนับสนุนจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้ โดยผ่านทางคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศของตน โดยมีคณะกรรมาธิการด้านสร้างความสมัครสมานจัดสรรงบประมาณผ่านทางโปรแกรมต่างๆ”

สำหรับตัวเองจะปฏิบัติหน้าที่ในการประสานงาน ส่งเสริม สนับสนุนและสร้างความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ การกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาต่างๆ รวมถึงสหพันธ์กีฬาต่าง ๆ โดยจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน Olympic Movement และใช้ประโยชน์จากการกีฬาและคุณค่าของโอลิมปิกในการให้ความรู้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน โดยยึดถือปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณ เป็นอิสระจากอิทธิพลทางการเมืองหรือการค้า”

คุณหญิงปัทมาเล่าว่า  “สำหรับประเด็นสำคัญในการประชุม เช่น Olympic Agenda 2020 ประกอบด้วย Sustainability ความยั่งยืนเรื่องการออกแบบและการก่อสร้างสถานที่ด้านกีฬา วิธีการจัดการทรัพยากร ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ ทุกฝ่ายต้องร่วมกันสร้างโลกที่ดีกว่า ยั่งยืนกว่าผ่านทางกีฬา  สิ่งที่สอง คือ Credibility ความน่าเชื่อถือด้านจริยธรรม ทุกฝ่ายต้องมีความซื่อสัตย์ ความโปร่งใสทุกด้านโดยเฉพาะด้านการเงิน โดยใช้มาตรฐานสากลควบคุม และสุดท้าย คือ Youth เยาวชน ให้ความสำคัญกับเยาวชน สนับสนุนให้เล่นกีฬาโดยผ่าน sports initiation programs หรือโครงการแนะนำกีฬาเพื่อให้เยาวชนได้เล่นกีฬาประเภทต่างๆ มีศูนย์นักกีฬาโอลิมปิกที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกอย่าง ทั้งเรื่องการแข่งขัน การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามสารกระตุ้น”

“IOCเพิ่มชนิดกีฬาในโอลิมปิกโตเกียว 2020 ครั้งแรก จะเพิ่มกีฬา 5 อย่าง ประกอบด้วย เบสบอล / ซอฟบอล, คาราเต้, สเกตบอร์ด, ปีนผา ,เซิร์ฟ” คุณหญิงปัทมากล่าว

นอกจากนี้คุณหญิงปัทมาเผยต่อว่าคณะกรรมการประกาศประเทศที่จะจัดการแข่งขันโอลิมปิกอย่างเป็นทางการ โดยในปี 2024 จะจัดการแข่งขันที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และในปี 2028 ที่นครลอส แองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา และทาง IOC จะไม่เน้นการลงทุนมหาศาลเพื่อสร้างสิ่งก่อสร้างในการจัดโอลิมปิก แต่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน สำหรับปารีสมีสถานที่จัดงานและการแข่งขันอย่างถาวรอยู่แล้ว และเพิ่มสถานที่จัดงานชั่วคราวบางส่วน 95% ของสถานที่อยู่ภายในรัศมี 10 กม. และสถานที่ใหม่ที่จะสร้างต้องมีผลประโยชน์ในระยะยาว และสำหรับลอสแองเจลลิสมีโอลิมปิกพาร์คใน 4 ภูมิทัศน์ที่ต่างกัน เพื่อจัดแข่งกีฬาประเภทต่างๆ ซึ่งทุกที่เชื่อมโยงกันได้โดยการคมนาคมสาธารณะที่สะดวก ใช้หมู่บ้านนักกีฬาที่มหาวิทยาลัย UCLA ขณะที่ประเทศไทย หากจะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ มหกรรมกีฬาอันดับโลกคงต้องเริ่มจากกีฬายูธโอลิมปิกเกมส์ก่อน ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูง แต่ต้องหาปรึกษาหารือกับทางรัฐบาลเพราะเป็นโครงการใหญ่ในอนาคต เราต้องเตรียมข้อมูลให้มากที่สุด"

https://www.posttoday.com/sports/world/516007
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่