กรงกรรม จุฬามณี ว่าที่ละครช่อง 3


ปกหน้า และสันปก หนา 840 หน้า จำนวน 69 บทนิยาย
จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แสงดาว

คำโปรยปกหน้า

.
มนตราและเสน่ห์ยาแฝดแผ่คลุมจนมืดคล้ำ
ด้วยแรงรัก แรงชิงชัง และแรงอาฆาตแค้น
มีทางใดเล่าที่พวกเขาจะพ้นจาก ‘กรง’ นี้

----------------------------------------------------------
คำโปรยปกหลัง

เมื่อ ’บ้านแบ้’ เปรียบเหมือนกรงแห่งกรรม เป็นบ่อลึกที่เอ่อขังความสกปรกโสมมไว้ พอถึงคราวที่กระแสกรรมชักนำคนหลายชีวิตไหลหลั่งเข้ามา ด้วยแรงรัก แรงแค้น และแรงอาฆาตมาดร้าย มุ่งหมายถึงความพินาศหายนะ ซึ่งทุกคนก็อ้างเหตุผลและความชอบธรรมของตนทั้งนั้น
.
แม้ว่า เรณู จะมาสู่ ‘กรง’ แห่งนี้ด้วยความรักความเสน่หาต่อ ปฐม ลูกชายคนโตแห่งบ้านตระกูลแบ้ แห่งอำเภอชุมแสง แต่การเข้ามาของเธอกลับมืดดำด้วยอำนาจมนตราและเสน่ห์ยาแฝด เธอจึงได้รับแรงกระแทกกลับรุนแรงจนแทบเอาตัวไม่รอด แต่เพราะแรงรักเธอจึงสู้อย่างอดทน
.
สะใภ้ที่อดีตคือหญิงทำงานบาร์จากฐานบินตาคลี จู่ๆ จะเข้ามาชุบมือเปิบครองสมบัติพัสถานแห่งบ้านแบ้ มีหรือที่สะใภ้รองผู้ที่ต้องกล้ำกลืนฝืนทนกับการสูญเสียชายคนรักให้เธอไปจะยินยอมง่ายๆ การต่อต้านอย่างหนักหน่วงจึงเกิดขึ้น ว่ากันว่า...ต้องแตกหักจนถึงจุดจบของชีวิต...มันจึงสะสาแก่ใจ...

---------------------------------------------------------
คำนำสำนักพิมพ์




จากใจนักเขียน

 

 

หลังจากละครเรื่อง ‘สุดแค้นแสนรัก’ ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ดังเปรี้ยง เฟสบุ๊คผมก็มีเพื่อน ๆ ขอเป็นเพื่อนจนเต็มอัตรา  และหนึ่งในนั้นก็มี พี่น้อย ปรารถนา ปลื้มสูตร พอได้รู้จักกันจึงได้รู้ว่าพี่น้อยเป็นเพื่อนกับญาติของผม พี่น้อยเป็นคนนครสวรรค์เช่นกัน พี่น้อยชื่นชอบละครสุดแค้นแสนรักเป็นอย่างมาก และพี่น้อยก็บอกกับผมว่า ชีวิตของแกได้รู้เห็นเรื่องราวของคนธรรมดาที่ไม่ธรรมดาแบบนางแย้มมากมาย ...หลาย ๆ เรื่องฟังแล้วน่าสนใจ แต่ก็ยืดยาวจนผมจำไม่ไหว จนต้องบอกให้   พี่น้อยเขียนลงสมุดมาให้โดยเปลี่ยนชื่อแซ่ของคนต้นเรื่องเสีย แต่พี่น้อยบอกว่า ถ้าเปลี่ยนเป็น ก. ข. ค. หรือ เอ บี ซี จะไม่ได้อรรถรส ผมก็บอกว่า     ถ้าอย่างนั้นก็เอาที่สะดวกใจ สามเดือนถัดมา พี่น้อยส่งสมุดมาให้เล่มหนึ่ง ใช้ดินสอเขียนด้วยตัวบรรจง ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าใจเต้นแรง คำเดียว ที่ผุดขึ้นมา ในความรู้สึกคือ ‘กรรม’ ยาวขึ้นมาหน่อยก็ ‘กรรมแท้ๆ ’ รึยาวขึ้นมาอีกนิดก็ ‘เวรของกรรม’ และคำว่า กรรม นี้ ทำให้ผมหวนไปนึกถึง วรรคหนึ่งของคำนำที่ บก.รักชนก นามทอน เขียนให้นิยาย ‘ชิงชัง’ ซึ่งเป็นผลงานเรื่องแรกในบรรณพิภพของผม ‘ผู้ใด ก่อกรรม ก่อบุญ ผู้นั้นรับกรรม รับบุญ’ และด้วยเค้าโครงเรื่องเดิมจากบันทึกของพี่น้อยเป็นเรื่องภายในครอบครัว ทำให้นึกถึง ซีรีส์จีนที่เคยชื่นชอบ เรื่อง ‘บ้านตระกูลเกา’ ขึ้นมา ครั้นจะเขียนเรื่อง บ้านตระกูล... บ้าง ก็รู้สึกเสียดายคำว่า ‘กรรม’ สุดท้าย หลังจากประมวลรวม ๆ  เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวเล็ก ๆ ในชุมชนขนาดย่อมของจังหวัดนครสวรรค์ ชื่อ ‘กรงกรรม’ ก็แวบเข้ามา...



          ‘บ้าน’ ก็เปรียบเสมือน ‘กรง’ หากคนในบ้าน ประพฤติปฏิบัติดี ทำแต่กรรมดี เรื่องดี ๆ ย่อมเกิดขึ้นกับคนในบ้าน หากแต่คนในบ้าน ประพฤติชั่ว ทำบาป อยู่เนือง ๆ เรื่องร้าย ๆ ย่อมเข้ามา เฉกเดียวกับสำนวนที่ว่า ‘กงเกวียนกำเกวียน’



          สรุปแก่นเรื่องได้ดังนั้นแล้ว ก็หวนมานึกถึง งานสไตล์ของตัวเอง คือ ต้องให้ตัวละครโลดแล่นไปตามอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดนครสวรรค์ ก่อนหน้านั้นเคยให้ชิงชังเดินเรื่องที่ อำเภอพยุหะคีรี ที่อำเภอลาดยาวก็มีนิยาย   สุดแค้นแสนรัก และ ทุ่งเสน่หา-วาสนารัก คราวนี้ก็ถึงคิว อำเภอชุมแสง ซึ่งเป็นชุมชนริมแม่น้ำน่าน มีอายุของชุมชนมายาวนาน มีทั้งแม่น้ำน่านไหลผ่าน มีรางเหล็กพาขบวนรถไฟขึ้นล่องมานับร้อยปี...ซึ่งถือว่ามี ‘วิถี’ ให้เล่น หลังจาก ปักหมุด เรื่องกรงกรรมไว้ที่ชุมแสงแล้ว ก็กลับไปอ่านทวนสมุดบันทึกของพี่น้อยอีกรอบ ก็รู้สึกว่า ถ้ายกเอาเรื่องมาทั้งยวง ทุกเหตุการณ์ที่   พี่น้อยเล่าเห็นทีได้มีฟ้องร้องกันแน่ ๆ ก็เลยต้อง หลบเลี่ยง และบิดเส้นเรื่อง เปลี่ยน ชาติตระกูลของตัวละคร ทีแรกก็คิดไม่ออกว่าจะสร้างตัวละคร ที่ว่าร้ายพอ ๆ กับนางแย้มนั้นได้อย่างไร ให้คนอ่านไม่รู้สึกว่า ‘แบบนี้อีกแล้ว’ เมื่อคิดไม่ตก ก็คลิ๊กเข้ายูทูปย้อนไปดูละครสุดแค้นแสนรักอีกรอบ... พอถึงตอนที่นางย้อย พี่สาวนางแย้มโผล่หน้ามาปฏิเสธกับอัมพรว่านางแย้มไม่ได้พายงยุทธมาซ่อนไว้ที่บ้านของตัว... ตัวละคร ที่ร้ายพอ ๆ กับนางแย้มที่กำลังนึกถึงก็แล่นปราบเข้ามาในทันที...

 

          มีคำถาม ผุดขึ้นมามากมายว่า ‘นางย้อย’ พี่สาวนางแย้ม จาก     หนองนมวัว มาอยู่ในตลาดปากน้ำโพ ได้อย่างไร เมื่อหาทางออกให้ตัวละครหลักที่มีคาแรคเตอร์ซ้ำกับนางแย้มได้แล้ว เรื่องก็วิ่งมาเป็นสาย...ยืดยาว...

          ถ้าจะถามว่า ‘กรงกรรม’ เป็นภาคต่อของ ‘สุดแค้นแสนรัก’ ใช่หรือไม่ ก็ต้องบอกว่า ไม่ใช่ แม้จะเขียน ทีหลัง เขียนทั้งที่ไม่ได้คิดอะไรไว้ก่อนจะเขียน สุดแค้นฯ แต่ กรงกรรม ถือเป็นการอุดช่องโหว่บางเสี้ยวบางตอนของสุดแค้นฯ ก็ได้...สุดแค้นแสนรัก เริ่มเรื่อง เมื่อปี พ.ศ. 2515 แต่ กรงกรรม เปิดเรื่องเมื่อปี พ.ศ. 2510 และย้อนไปหาอดีต เมื่อครั้งนางย้อยกับนางแย้มเป็นสาว

          เมื่อผู้หญิงสองคน มาจาก รากเหง้าเดียวกัน หากจะมี อุปนิสัยใจคอคล้าย ๆ กัน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่ในความคล้ายนั้นย่อมมีความแตกต่าง เพราะต้นไม้ชนิดหนึ่ง เมื่อต้องไปเจริญเติบโตกับดินและสภาพอากาศที่แตกต่าง ย่อมมีขนาดและรสชาติเปลี่ยนไป...นางย้อยจึงมีความ    ร้ายกาจที่แตกต่างจากนางแย้ม จนความกังวลใจว่าอุปนิสัยตัวละคร  จะเหมือนกันคลายลง...

          ข้อยากถัดมา คือ ข้อมูล สภาพบ้านเมือง วิถีชีวิต ในอดีต ของคนและตลาดชุมแสงซึ่งมีอายุนับร้อยปี ทางเดียวที่จะทำให้สิ่งละอันพันละน้อยเกี่ยวพันเส้นเรื่อง สำเร็จ ลงได้ ก็คือการสอบถามคนในอำเภอชุมแสงเริ่มจาก คุณป้าสมหมาย วังกานนท์ จนถึงข้อมูลจากคุณแม่เบ็ญจา วิเศษพานิช ซึ่งมาช่วยทำให้ภาพของตลาดชุมแสงและตลาดตาคลีในยุคนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น ส่วนข้อมูล ชื่อ-แซ่ วัฒนธรรม ของคนจีนในแผ่นดินไทย ก็ต้องขอบคุณ คุณประพจน์ เลิศกชกร ที่อธิบายอย่างละเอียด และช่วยอ่านตรวจทาน...

 

 ขอบคุณ คุณสมรักษ์ ณรงค์วิชัย และคุณศจี บูรณะสัมฤทธิ์ จากช่อง 3 ที่คอยกระตุ้นถามความคืบหน้าและให้กำลังใจอยู่เนือง ๆ  ขอบคุณเพื่อน ๆ ในเฟสทุก ๆ ท่าน ที่ช่วยเหลือเรื่องข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ ขอบคุณยอดวิวยอดคอมเม้นท์ในเว็บห้องสมุดและในเวบเพจ จุฬามณี เฟื่องนคร ชอนตะวัน บุ๊คส์ ขอบคุณสำนักพิมพ์แสงดาว ที่พิมพ์รวมเล่มนิยายขนาดยาวเรื่องนี้ ท้ายที่สุดขอขอบคุณนักอ่านทุกท่านที่ให้กำลังใจเสมอมาและมีหนังสือเล่มนี้ รวมถึง e-book ไว้ในครอบครอง

ด้วยความขอบคุณยิ่ง

 

จุฬามณี

มิถุนายน 2560


แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่