[CR] พาไปเที่ยวจัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช.

หากใครอยากหาที่เที่ยวเองหรือพาน้อง ๆ ลูก ๆ หลาน ๆ ไปเที่ยว แบบดูมีความรู้อยู่ในห้องแอร์เก๋ ๆ เดินทางไปง่าย ๆ ขอแนะนำให้มาที่จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. กันครับ

จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. เป็นกึ่งพิพิธภัณฑ์กึ่งศูนย์การเรียนรู้ดูแลโดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ตั้งอยู่บริเวณชั้น 4 – 5 ของอาคารจามจุรีสแควร์ ติดสถานีรถไฟ MRT สามย่าน เดินทางสะดวกมากครับ (อย่าสับสนกับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ หรือ พิพิธภัณฑ์ลูกเต๋าที่คลองห้า ปทุมธานีนะครับ คนละที่กัน)

โดยเมื่อท่านมาถึงจามจุรีสแควร์แล้วให้เลือกขึ้นบันไดเลื่อนฝั่งร้าน MK สุกี้ ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงชั้น 4 จะไปโผล่หน้าจัตุรัสวิทยาศาสตร์เอง แต่หากใช้บันไดเลื่อนกลางขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงชั้น 4 จะพบกับศูนย์หนังสือจุฬาก็อย่าได้งง ให้หาทางเดินทะลุออกไปได้เช่นกันครับ โดยสามารถเข้าชมได้ฟรี (ยกเว้นเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษ และชมนิทรรศการบทเรียนในความมืดที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม)

บริเวณด้านหน้าของจัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช.

โดยภายในจะมีนิทรรศการ รวมถึงอุปกรณ์ สื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ หมุนเวียนกันไป แต่ไม่ได้มีกำหนดที่แน่นอนว่าจะเปลี่ยนทุก ๆ กี่เดือน โดยวันที่ผมเข้าไปเยี่ยมชมคือวันจันทร์ที่ 25 กันยายน 2560 พื้นที่ต่าง ๆ ในการจัดแสดงมีดังนี้ครับ

แผนผังการจัดนิทรรศการภายในจัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช.


พื้นที่มีสองชั้น คือ ชั้น 4 กับชั้น 5
จะขอพาทุก ๆ คนชมไปทีละโซนเลยนะครับเริ่มต้นที่โซน A กันเลย


โซน A นิทรรศการสนุกกับ 10 อาชีพนักวิทยาศาสตร์

ในโซนนี้เขาได้จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับ 10 อาชีพนักวิทยาศาสตร์ โดยเป็นป้ายประชาสัมพันธ์และอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบอาชีพต่าง ๆ เป็นหลักนะครับ โดยถ้าเข้าชมเป็นหมู่คณะและมีการนัดหมายล่วงหน้าจะสามารถขอเจ้าหน้าที่จัดกิจกรรมการทดลองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแต่ละอาชีพได้อีกด้วย แต่ผมเข้าไปแบบ Walk in จึงได้เพียงแต่อ่านป้ายประชาสัมพันธ์ครับ

นิทรรศการสนุกกับ 10 อาชีพวิทยาศาสตร์

อาชีพที่แนะนำ 10 อาชีพประกอบด้วย
1. นักธรณีวิทยาปิโตรเลียม
2. วิศวกรชีวการแพทย์
3. นักปรับปรุงพันธุ์พืช
4. นักนิติวิทยาศาสตร์
5. Animator
6. นักพัฒนาซอฟต์แวร์
7. นักออกแบบผลิตภัณฑ์
8. นักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง
9. นักวิทยาศาสตร์อาหาร
10. นักคิดค้นยา


โซน B

โซนนี้จริง ๆ ตามป้ายเป็นกิจกรรมนิทรรศการอยู่กับยุงแต่เหมือนจะหมดหน้าร้อนยุงหายหมด (อันนี้ผมเพ้อเจ้อเอง) เลยกลายเป็นโซนเครื่องเล่นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์แทน มีเครื่องเล่นมากมาย มีป้ายอธิบายประกอบวางไว้อย่างชัดเจน และเครื่องเล่นร้อยละ 90 ยังใช้งานได้ครับ เป็นโซนที่ผมชอบและเพลินมาก ๆ  มีเครื่องเล่นอะไรบ้างไปดูกัน โซนนี้อุปกรณ์เยอะจะมีรูปเยอะตามนะครับ


เครื่องเล่นที่ 1 : ต่อวงจรไฟฟ้า เป็นเครื่องเล่นที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการต่อวงจรไฟฟ้าครับ จะมีสวิซต์ให้หมุนแทนการต่อสายไฟ ซึ่งมีให้ทดลองสองแบบคือการต่อวงจรไฟฟ้าแบบขนาน (ฝั่งซ้ายของรูป) และแบบอนุกรม (ฝั่งขวาของรูป) พร้อมมีเครื่องวัดความต่างศักย์และปริมาณกระแสไฟฟ้าให้ดูว่าการต่อแบบต่าง ๆ ให้ค่าอะไรอย่างไรบ้าง เครื่องเล่นนี้ยังใช้ได้ดีครับ


เครื่องเล่นที่ 2 : ภาพไม่รู้จบ ภายในถูกติดด้วยกระจก ทำให้เกิดภาพสะท้อนกันไปมาไม่รู้จบ เป็นภาพที่สวยงามเหมือนอยู่ในยานอวกาศเลยครับ ภาพที่ได้เป็นแบบนี้ครับ


มาดูเครื่องเล่นถัดไปนะครับ


เครื่องเล่น 3 : แบตเตอรี่มือ เครื่องนี้จะให้ความรู้ว่าการใช้มือสัมผัสแผ่นโลหะที่ต่างกันสองชนิดทำให้เกิดแบตเตอรี่ขึ้น อิเล็กตรอนจะไหลจากโลหะแผ่นหนึ่งไปยังอีกแผ่นหนึ่ง แต่จากการทดลองพบว่าเครื่องนิ่งสนิทคาดว่าพังครับ


เครื่องเล่น 4 : เส้นทางแสง เครื่องเล่นนี้ให้ความรู้เรื่องของลำแสงสะท้อน ดัชนีหักเหของแสง จริง ๆ แท่งพลาสติกจะต้องยาวไปสุดอีกฝั่งหนึ่งแต่มันหักครับ เลยเหลือเท่าที่เห็นแต่ที่เหลืออยู่ก็เพียงพอจะให้มุมมองกับเราได้ดังภาพต่อไปนี้ครับ


มาดูเครื่องต่อไปกันต่อดีกว่า


เครื่องเล่น 5 : ใยแก้วนำแสง เครื่องนี้อธิบายหลักการทำงานของใยแก้วนำแสงครับ ดูตัวอย่างได้จากภาพประกอบ


เครื่องเล่นถัดไป


เครื่องเล่น 6 แท่งแก้วล่องหน เมื่อจุ่มแท่งแก้วลงในน้ำ จะทำให้แท่งแก้วหายไปดังรูปครับ

แท่งแก้วเมื่อจุ่มน้ำ

เครื่องนี้อธิบายเรื่องการหักเหและการสะท้อนของแสง ใครเก่งฟิสิกส์คงไม่พลาดนะครับ


เครื่องเล่น 7 : แป้นหมุนลวงตา เครื่องนี้เมื่อเราหมุนแป้นแล้วจะทำให้เกิดภาพสามมิติครับ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอคลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
เครื่องถัดไป เป็นเครื่องเดียวในกลุ่มที่อธิบายความรู้ทางคณิตศาสตร์ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ครับ


เครื่องเล่น 8 : เกมความน่าจะเป็น หลักการของเครื่องนี้ก็คือให้เราหยอดลูกบอลโลหะลูกเล็ก ๆ ลงในช่องรูปวงกลมสีแดงด้านบน เมื่อหยอดไปหลาย ๆ ลูก ผลที่ได้คือลูกบอลโลหะส่วนใหญ่จะไหลลงมาในช่องกลาง ถ้าจะคำนวณให้ลึกซึ้งต้องเอาความรู้เรื่องรูปสามเหลี่ยมปาสคาลเข้ามาช่วย (เริ่มจะพูดไม่รู้เรื่องแล้วไปเครื่องเล่นถัดไปเลยดีกว่า)


เครื่องเล่น 9 : ภาพยนตร์มือหมุน เครื่องเล่นนี้ภายในจะมีภาพนกในท่าต่าง ๆ หลาย ๆ ภาพ เมื่อเรามองจากด้านข้างผ่านช่องขณะที่เครื่องเล่นกำลังหมุน สมองจะสั่งการเราให้นำภาพที่เห็นมาต่อกันจนเห็นเป็นภาพเคลื่อนไหวครับ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

เครื่องเล่น 10 : หน้าต่างสร้างภาพ เครื่องเล่นนี้จะให้เรามองวัตถุผ่านรู แล้วหยิบปากกามาวาดรูปบนกระจก ต้องการให้ความรู้เรื่องภาพ Perspective แต่ปากกาหลุดหายไปไหนไม่รู้ทั้งสองด้าม เลยวาดไม่ได้ครับ


เครื่องเล่น 11 : รู้สึกจากมือสัมผัส เครื่องเล่นนี้ให้ความรู้เกี่ยวกับการปรับตัวของร่างกายเมื่อสัมผัสสิ่งเร้าต่าง ๆ


เครื่องเล่น 12 : เสียงไหนสูงที่สุด เครื่องเล่นนี้แปลกตรงที่ว่า เมื่อเรากดทีละปุ่มเรียงไปเรื่อย ๆ เราเหมือนจะได้ยินเสียงที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่พอกดไปถึงจุดหนึ่งกลับไม่มั่นใจว่าปุ่มไหนให้เสียงที่สูงที่สุด เครื่องเล่นนี้อธิบายข้อสงสัยด้วยเรื่องของความถี่เสียงและระดับเสียง


เครื่องเล่น 13 : มอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องเล่นนี้ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าอธิบายเรื่องการทำงานของมอเตอร์ไฟฟ้าครับ โดยได้พยายามอธิบายว่าพลังงานไฟฟ้าทำให้มอเตอร์หมุนได้อย่างไร


เครื่องเล่น 14 : เส้นแรงแม่เหล็ก เครื่องนี้จะมีแท่งแม่เหล็กให้เราได้ลองนำไปวางไว้ตามตำแหน่งต่าง ๆ และสังเกตเข็มทิศในถาดและผงตะไบเหล็ก


เครื่องเล่น 15 : แม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องนี้เมื่อเราหมุนแป้นสีส้ม (ด้านขวา) จะเป็นการสร้างกระแสไฟฟ้า (หลอดไฟจะสว่างขึ้น) แต่เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านแท่งแม่เหล็ก (ทางซ้าย) ก็จะก่อให้เกิดสนามแม่เหล็กเกิดแรงดึงดูดแม่เหล็กขึ้น เคยเรียนตอนม.ปลาย ได้เห็นภาพแบบรูปธรรมก็วันนี้แหละครับ


เครื่องเล่น 16 : นักดำน้ำ เครื่องนี้มีคันโยกให้เราสามารถสูบอากาศเข้าไปในขวดโหลได้ และเมื่อสูบเข้าไปเรื่อย ๆ แรงดันน้ำภายในจะไปดันทำให้น้ำเข้าไปในวัตถุที่ลอยอยู่ที่ผิวขวดได้มากขึ้นจนทำให้วัตถุจมลงก้นขวดในที่สุด
ตัวอย่างผลการสูบลมเข้าเครื่องนักดำน้ำ



เครื่องเล่นที่ 17 : เบรกพลังแม่เหล็ก เครื่องเล่นนี้อธิบายเรื่องของวัสดุที่ใช้ในการนำไฟฟ้าที่ต่างกัน จะก่อให้เกิดกระแสไฟฟ้าที่ไม่เท่ากัน และกระแสไฟฟ้าก่อให้เกิดสนามแม่เหล็กด้วย เครื่องนี้จะทำให้รู้ว่าวัสดุใดนำไฟฟ้าได้ดีกว่ากัน


เครื่องเล่น 18 : จุดอ่อนในโครงสร้าง เครื่องเล่นนี้จะให้เราทดลองกดโครงสร้างที่เขามีไว้ให้ครับ เมื่อกดแล้วจะเห็นแสงที่แสดงถึงความอ่อนไหวต่าง ๆ ของโครงสร้างนั้น ๆ

ตัวอย่างผลการกดโครงสร้างของเครื่องเล่น “จุดอ่อนในโครงสร้าง”

เครื่องเล่น 19 : รอกผ่อนแรง เครื่องนี้ถ้าเราลองไปดึงวัตถุจากรอกทั้งสามเส้น จะรู้สึกได้เลยว่าแต่ละเส้นมันดึงยากง่ายไม่เท่ากัน เป็นผลมาจากระบบรอกที่ต่างกันนั้นเองครับ

ยังมีอีกเครื่องหนึ่งที่ไม่ได้มีป้ายบอกว่าต้องการอธิบายเรื่องอะไรครับ


เครื่องเล่น 20 เครื่องเล่นนี้ผมเดาว่าน่าจะอธิบายเรื่องความตึงเชือก บัพ ปฏิบัพ อะไรพวกนี้นะครับ

เครื่องเล่นเยอะมาก คนชอบวิทยาศาสตร์คงจะฟินกันไป ไปดูโซนอื่น ๆ กันต่อดีกว่า

โซน C (ปิดปรับปรุง)

จริง ๆ โซนนี้ผมอยากดูมากเลย เพราะผมเป็นหนุ่มไอทีคนนึง แต่วันนี้โซน C จากป้ายที่แจ้งไว้ว่าเป็นนิทรรศการการเดินทางของบิต ตอนนี้นิทรรศการนี้ถูกย้ายไปอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ คลองห้า แทนแล้วครับ (จากคำบอกของเจ้าหน้าที่) เขากำลังจัดทำนิทรรศการใหม่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับผู้สูงอายุ แต่ยังไม่มีกำหนดว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ครับ ข้ามไปโซน D เลยละกัน
ชื่อสินค้า:   จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช.
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่