How to เก่งทุกภาษาภายใน 6 เดือน

How ya doing?!

การเรียนภาษาที่สอง (หรือภาษาที่สาม) สำหรับบางคนอาจจะเป็นเรื่องไกลตัว เพราะเวลาจะเรียนภาษาแต่ละทีมันมีคำถามเยอะ เรียนเรื่องอะไรก่อน? คำนี้แปลว่าอะไร? ใช้คำนี้ถูกไหม? และที่สำคัญ เราต้องใช้เวลาเรียนนานเท่าไหร่?

Chris Lonsdale มีคำถามนี้ติดอยู่ในตัวตลอดเวลาเช่นกัน "เราจะเรียนรู้ให้เร็วขึ้นได้อย่างไร?" เขากล่าว และพยามใช้เวลากว่าค่อนชีวิตค้นหาวิธีที่จะทำให้มนุษย์เราเรียนรู้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น (to accelerate learning) โดยเฉพาะในเรื่องของภาษา และเขาได้มาพูดใน Tedx Talks ถึงหลักการและวิธีการที่เขาค้นพบที่จะช่วยให้เราเรียนภาษาให้คล่องได้ภายในหกเดือน
ในกระทู้นี้ผมจะมาสรุปทฤษฏีของเขาและเพิ่มเติมตัวอย่างเข้าไปเล็กน้อยให้เพื่อน ๆ ได้เห็นภาพและเอาไปปรับใช้ได้ง่าย ๆ ครับ


Chris Lonsdale เป็นนักจิตวิทยา นักภาษาศาสตร์ และนักวิชาการศึกษาชาวนิวซีแลนด์ เขาจบจาก University of Canterbury มีผลงานคือเป็นผู้คิดค้นระบบการเรียนภาษาอังกฤษแบบกังฟู (the Kungfu English system) และเป็นผู้เขียนหนังสือ The Third Ear
เขาสามารถพูดภาษาจีนและฝรั่งเศสได้อีกด้วย
  
"ทุกคนสามารถเรียนภาษาให้เก่งได้ภายใน 6 เดือน" - Chris Lonsdale

Source: How to learn any language in six months - Chris Lonsdale - TEDxLingnanUniversity

Link: https://youtu.be/d0yGdNEWdn0

ก่อนจะไปอ่าน5 หลักการ และ 7 วิธีของ Chris อีกเรามาดู 2 เรื่องที่ Chris เขาย้ำก่อนนะครับ

2 สิ่งที่เราไม่จำเป็นต้องมี
1. พรสวรรค์
2. เงินไปอยู่ประเทศที่เรากำลังเรียนภาษา (A drowning man can’t learn to swim - คนที่กำลังจมน้ำเขาจะเรียนว่ายน้ำได้อย่างไร เหมือนกัน จะเรียนภาษาได้ไม่ใช่ว่าจะเก็บของไปเรียนที่ประเทศนั้นเลย สำหรับหลายคนวิธีนี้ยิ่งทำให้เรียนภาษาช้ากว่าเดิมหลายเท่า)

4 คำสำคัญที่ควรจำไว้: meaning (ความหมาย), relevance (ความสำคัญ/ตรงประเด็น), attention (ความสนใจ), memory (ความจำ)
สี่อย่างนี้สำคัญมาก เพราะในภาษาเราจะพบเจอพวกมันเชื่อมโยงกันอยู่เสมอ เดี๋ยวในขณะที่เพื่อน ๆ อ่านไปเรื่อย ๆ จะเริ่มเห็นภาพเองครับ

เรามาเริ่มจาก 5 หลักการก่อนเลย

หลักการที่ 1: โฟกัสเนื้อหาในภาษานั้นที่สำคัญต่อตัวเรา
    ลองนึกถึงเครื่องมือช่างดูครับ มีหลายชื้นจนเราเลือกใช้ไม่ถูกเลย แต่ไม่แน่ว่ามันอาจจะมีอยู่สองสามชิ้นที่เราพอจะคุ้นเคยและใช้ได้พอตัวอยู่ ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นเครื่องมือที่เราเคยจับมาใช้อยู่บ้าง สิ่งทีจะบอกก็คือ เวลาเรียนภาษาก็เหมือนกับเครื่องมือนี่แหละครับ เวลาเราเรียนก็ให้เลือกโฟกัสแค่เนื้อหาของเรื่องที่สำคัญต่อเรา ถ้าเราทำงานในวงการดนตรี แน่นอนว่าเราก็ควรเรียนคำศัพท์ทางดนตรีให้มากกว่าเรื่องอื่น หรือเราทำงานด้านวิศวะ ก็ให้ศึกษาคำศัพท์ในด้านนั้น

    คริสเล่าว่ามีผู้หญิงที่เขารู้จักคนหนึ่งเรียนพิมพ์คีย์บอร์ดภาษาจีนมา 9 เดือน แต่ให้ตายยังไงก็พิมพ์ไม่เป็นสักที คืนหนึ่งเจ้านายโทรมาบอกว่าเธอต้องพิมพ์คู่มือการฝึกงานส่งภายในสองวัน ที่สำคัญคือต้องพิมพ์เป็นภาษาจีน! ไม่อยากเชื่อว่าภายใน 48 ชั่วโมงเธอสามารถเรียนพิมพ์ภาษาจีนได้สำเร็จ ทั้ง ๆ ที่เวลาตั้ง 9 เดือนเธอไม่ได้อะไรเลย เพราะว่าในคืนนั้น การพิมพ์ภาษาจีนมันสำคัญต่อชีวิตการทำงานเธอมาก คริสจึงเน้นย้ำว่าเราควรจะโฟกัสเนื้อหาที่สำคัญต่อตัวเราให้มากที่สุด
    
หลักการที่ 2: ใช้ภาษา(ที่เรียนมา)ตั้งแต่วันแรก
    ครั้งหนึ่งคริสได้มีโอกาสไปประเทศจีน โดยที่เขาพูดภาษาจีนไม่เป็นเลยสักคำ ระหว่างทางเขาใช้เวลา 8 ชั่วโมงนั่งคุยกับผู้โดยสารชาวจีนคนหนึ่ง ที่สำคัญคือตลอดทั้งคืนพวกเขาคุยกันเป็นภาษาจีน โดยผู้โดยสารคนนั้นทั้งวาดรูป ใช้มือแสดงท่าทาง พร้อมแสดงสีหน้าต่าง ๆ ประกอบการพูดเสมอ
        พอถึงประเทศจีนคริสได้มีโอกาสไปเดินเที่ยว เขาพบว่าตัวเขากลับสามารถเข้าใจภาษาจีนได้มากขึ้น สองอาทิตย์หลังจากนั้นเขาได้ยินบทสนทนาของคนจีนที่เดินผ่านไปมา เขาพบว่าตัวเองสามารถเข้าใจเนื้อหาบางส่วนของบทสนทนาเหล่านั้น ทั้ง ๆ ที่เขายังไม่ได้เริ่มเรียนภาษาจีนแบบจริง ๆ จัง ๆ เลย สิ่งเดียวที่ช่วยให้คริสเข้าใจภาษาจีนมากขึ้นก็คือ เขาได้ซึมซับภาษาจีนจากผู้โดยสารบนรถไฟคืนนั้น  ซึ่งมันก็นำเราไปสู่หลักการที่ 3

หลักการที่ 3: เมื่อเราเริ่มเข้าใจภาษา เราจะเริ่มเรียนรู้มันโดยไม่รู้ตัว
    ในข้อนี้ผมอยากแนะนำให้เพื่อน ๆ รู้จักกับ ‘Comprehensible input’ ซึ่งเป็นทฤษฎีการเรียนภาษาที่ถูกคิดค้นโดย Stephen Krashen อธิบายแบบคร่าว ๆ ก็คือ Comprehensible input คือภาษาที่เราสามารถเข้าใจได้แม้ว่าเราจะไม่ได้เข้าใจคำศัพท์และโครงสร้างของมัน คล้าย ๆ กับการฝึกเดาคำศัพท์นั่นแหละครับ สำหรับผู้เรียน ระดับความยากของ input ที่เราจะนำมาใช้เรียนนั้น (input อาจจะเป็นวีดีโอ ไฟล์เสียง บทความ หรืออะไรก็ตาม) จะต้องมีระดับสูงกว่าตัวแค่เลเวลเดียวเท่านั้น (ถ้าภาษาเราอยู่ระดับ beginner ก็ลองฝึกตีความจากเนื้อหาในระดับ pre-intermediate / ถ้าเราระดับกลาง ๆ (intermediate) ก็ลองฝึกกับระดับ pre-advance หรือ advance เลยก็ได้)
    พอเราเริ่มฝึกตีความจากสิ่งที่ยากกว่าเรา 1 ระดับ มันทำให้เราโฟกัสไปที่การตีความหมายมากกว่า และนั่นแหละครับจะทำให้เราเข้าใจภาษานั้นได้เร็วยิ่งขึ้น      

หลักการที่ 4: ฝึกใช้ภาษาจริง ๆ (Physiological training)
    มีนักเรียนคนหนึ่งเก่งภาษาอังกฤษมาก ๆ ทุกเทอมได้เกรด 4 ตลอด พอเธอมีโอกาสได้ย้ายไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา เธอกลับพบว่าตัวเองไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่เพื่อน ๆ ชาวอเมริกันพูดเลย เธอฟังภาษาอังกฤษไม่ออก! พอคนคุยกับเธอก็ไม่สามารถตอบได้ จนผู้คนรอบตัวเธอเริ่มถามว่าหนูหนวกหรือเปล่า และแน่นอนครับ เธอหูหนวก หนวกภาษาอังกฤษ! (English deaf) เพราะในหูเรามี filters (ตัวกรองเสียง) และพวกมันคอยทำหน้าที่กรองเสียงที่เราไม่รู้จักออกไป ทำให้เราไม่ได้ยินเสียงเหล่านั้น และเมื่อเราไม่ได้ยินเราก็ไม่เข้าใจ และเมื่อเราไม่เข้าใจเราก็จะไม่สามารถเรียนรู้ได้
    ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องฝึกพูด เราต้องฝึกใช้กล้ามเนื้อใบหน้า บนหน้าเรามีอวัยวะอยู่ 43 ชิ้น เราต้องรู้ว่าเสียงนี้ต้องใช้อวัยวะไหนบ้าง เพื่อที่จะสื่อสารออกมาให้ถูกต้อง ยกตัวอย่างจากเสียงตัว V ในภาษาอังกฤษ หลายคนคิดว่ามันออกเสียงเหมือน ว.แหวน บ้านเรา แต่ที่ไหนได้ มันต้องใช้ฟันบนกับริมฝีปากล่างเพื่อออกเสียงนี้ (คล้าย ๆ กับ ฟ.ฟัน แต่มีเสียงออกมาด้วยไม่ได้มีแค่ลม)

แล้วถ้าเรายังดื้อไม่ยอมฝึกออกเสียงให้ถูกต้อง เราก็จะพบว่าทุกครั้งที่เราพูดคำที่มีตัว v (van, victory, violence) ฝรั่งเขาก็จะงง! และอาจก่อให้เกิดความผิดพลาดในการสื่อสารได้

หลักการที่ 5: 'อารมณ์ในการเรียน'เป็นสิ่งสำคัญ (Psycho-physiological state matters!)
    ถ้าเรากำลังอารมณ์ไม่ดี เราไม่มีวันเรียนรู้เรื่องแน่นอน การเรียนจะมีประสิทธิภาพที่สุดก็ตอนที่เรากำลังมีความสุข ผ่อนคลาย สิ่งที่สำคัญคือเราต้องเรียนรู้ที่จะรับมือและอดทนกับความกำกวมของคำศัพท์ (ambiguity) หากเราตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องเข้าใจทุกคำศัพท์ร้อยเปอร์เซนต์ เราก็คงต้องเป็นบ้าไปก่อนจะเรียนภาษาจบแน่ ๆ และเราก็จะต้องหัวเสียอยู่ตลอดเวลาที่เรียนเพราะแน่นอนว่าไม่มีใครที่จะเข้าใจคำทุกคำได้ร้อยเปอร์เซนต์ แต่หากเราโอเคกับการที่จะได้บ้างไม่ได้บ้างและโฟกัสอยู่ที่สิ่งที่เราได้คำศัพท์ที่เราเข้าใจมากกว่าจะไปหัวเสียกับสิ่งที่เราไม่ได้และคำศัพท์ที่เราไม่เข้าใจ เราก็จะเรียนภาษาได้รวดเร็วและยังสนุกมากขึ้นอีกด้วย เพราะในทุกภาษานั้นมี ambiguity หรือความกำกวมของมันอยู่แน่นอน

ดูอีก 7 วิธีการต่อในคอมเมนต์นะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่