รากนครา วิกฤตการณ์รัฐเจ้าฟ้าไทยใหญ่ พ.ศ.2426 (ร.ศ.102)

ละครอิงประวัติศาสตร์ช่วง พม่าเสียเมือง สยามเสียดินแดน ฝรั่งล่าอาณานิคม ในยุคควีนวิคเตอเรีย ค.ศ.1883
ก่อนเกิดสงครามพม่า-อังกฤษ ครั้งที่ 3 และเกิดจักรวรรดิ์อินเดียในเวลาต่อมา

เรื่องราวส่วนใหญ่อยู่บริเวณรัฐฉาน ล้านนา มัณฑะเลย์
กลุ่มภาษาไท กะได
อักษรไทย และ พม่า
ส่วนภาษาพม่าในเรื่อง บอกเล่าแทนด้วยภาษากลาง สำเนียงกรุงเทพ

ชาติพันธ์ที่ปรากฏในเรื่อง ได้แก่
ไทยเขิน เชียงตุง
ล้านนาตะวันออก แพร่ น่าน
พม่า มัณฑะเลย์

เชียงเงิน เป็นเมืองขนาดใหญ่ อยู่ทางตอนใต้ของรัฐฉาน เหนือเชียงราย ติดแม่น้ำสาละวิน
มีความเจริญรุ่งเรืองเทียบเท่า เชียงใหม่ ล้านนา และ เชียงรุ่ง(景洪 จิ่งหง) สิบสองปันนา
เป็นเส้นทางการสำคัญเชื่อมต่อระหว่าง สิบสองปันนา กับล้านนา โดยมีพ่อค้าชาวจีนฮ่อเดินทางค้าขาย


ประตูเมืองป่าแดง และแนวกำแพงเวียงเชียงตุงสุดท้ายที่หลงเหลือ

กำแพงเวียงเชียงเงิน
ความยาวของกำแพงนั้นคาดว่า ยาวพอๆกับกำแพงเวียงเชียงใหม่ แต่สูงใหญ่กว่า มี 12 ประตู
เช่นเดียวกับอมรปุระ และมัณฑะเลย์ ประตูทั้ง ๑๒ แทนปีนักษัตร ๑๒ ราศี รับอิทธิพลจากอมรปุระ
แม้กำลังพลนับหมื่นคน มิสามารถล้อมได้หมด แค่ฝั่งทิศเหนือ ต้องตั้งค่ายทหารทางทิศนี้ถึง 12 ค่าย


ประวัติศาสตร์เทียบเคียงในละคร
พ.ศ.2107 เชียงเงินอ่อนน้อมต่อพม่าในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง เชียงเงินเป็นประเทศราชพม่า 200 ปี

พ.ศ.2314 พระเจ้าตากสินมหาราช ยกกองทัพมาตีเชียงใหม่ พระญาจ่าบ้านได้ชักชวน
เจ้ากาวิละ บุตรเจ้าฟ้าชายแก้ว แห่งลำปาง เข้าร่วมกองทัพธนบุรีขับไล่พม่าออกจากล้านนา
(ปลดแอกบรรดาหัวเมืองแถบนั้น มาสวามิภักดิ์ต่อสยาม เพราะเงื่อนไขดีกว่า)

พ.ศ.2319 ตีเมืองเชียงใหม่สำเร็จล้านนาจึงรวมเข้ากับสยาม พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแต่งตั้ง
พระยาจ่าบ้าน เป็น พระยาวชิรปราการ ครองนครเชียงใหม่
เจ้ากาวิละ เป็น พระยากาวิละ ครองนครลำปาง ต่อมาได้สถาปนาเป็น พระเจ้ากาวิละ
ขึ้นกับกรุงธนบุรี แต่พม่าไม่ละความพยายามได้ยกทัพมาตีเชียงใหม่อีกหลายครั้ง

สภาพเชียงใหม่ในสมัยพระยาจ่าบ้านปกครอง มีประชากรเพียง 1,900 คน
เมื่อพม่ายกทัพมาล้อมเชียงใหม่อีกครั้ง พระยาจ่าบ้านจึงทิ้งเมืองเชียงใหม่หนีไปลำปาง
ผู้คนต่างกระจัดกระจายไปตามที่ต่างๆ เชียงใหม่ร้างถึง 20 ปี
พระเจ้ากาวิละได้ฟื้นฟูเชียงใหม่ขึ้นอีกครั้ง หลังขออาสาทำคุณไถ่โทษ ไปตีเมืองเชียงแสนจึงถูกปล่อยตัวออกมา
ส่วนพระยาจ่าบ้าน ที่ต้องโทษมาด้วยกันป่วยตายในคุกที่กรุงธนบุรี
      
เมื่อแรกพระเจ้ากาวิละยังไม่อยู่ในเวียงเชียงใหม่ แต่ตั้งมั่นอยู่ที่เวียงป่าซาง ลำพูนก่อน
เพื่อ เก็บออมตอมไพร่ เป็นเวลา 14 ปี จึงเข้าไปฟื้นฟูเชียงใหม่โดยมีนโยบาย

เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง เพื่อซ่องสุมไพร่พลโดยเร็วที่สุด
หลังจากสิ้นสมัยพระเจ้ากาวิละ ประชากรที่พระเจ้ากาวิละกวาดต้อนมามีจำนวนถึง 50,000-70,000 คน
การอพยพผู้คนจากล้านนาตอนบน สู่เชียงใหม่ยังมีอีกหลายระลอกจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5

บทบาทในการเทครัวไม่ได้มีเฉพาะเชียงใหม่เท่านั้น ยังมีน่าน อีกเมืองหนึ่ง

พ.ศ.2331 เมืองน่าน ทุ่มเทกำลังในการขับไล่พม่าและฟื้นฟูเมืองน่าน เข้าด้วยสยาม

พ.ศ.2333 นโยบายเก็บผักใส่ซ้าเก็บข้าใส่เมือง ของเมืองน่าน เริ่มต้นขึ้นในสมัยเจ้าสุมนเทวราช
มีการกวาดต้อนชาวไทยลื้อ จากเมืองล้า เมืองพง เมืองหลวงภูคา และเมืองเชียงแขง
เข้ามาตั้งถิ่นฐานในน่าน จึงกลับเป็นบ้านเป็นเมืองอีกครั้ง ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

สงคราม อังกฤษ- พม่า ครั้งที่ 1
พ.ศ.2367 หลังการสวรรคตของพระเจ้าปดุง ราชอาณาจักรอังวะเริ่มเสื่อมลง
พระเจ้าจักกายแมง ราชนัดดาของพระเจ้าปดุงทรงมีปัญหาขัดแย้งกับอังกฤษ
จากการที่พม่ายกทัพไปปราบกบฏในแคว้นมณีปุระ และข้ามไปรุกรานอัสสัม จิตตะกอง
ทำให้อังกฤษไม่พอใจ เพราะทั้งสองแคว้นเป็นของอังกฤษ

ลอร์ดฮาสติงท์ ผู้สำเร็จราชการของอังกฤษประจำอินเดีย
ส่งสาสน์ของเจ้าครองแคว้นอัสสัม และจิตตะกอง ที่ยอมเป็นรัฐในอารักขาอังกฤษให้กับพม่า
เพื่ออ้างสิทธิเหนือแคว้นทั้งสอง และขอให้ทัพพม่าถอนกำลังออกไป

ทว่าฝ่ายพม่าได้ประกาศว่าสาส์นนั้นเป็นของปลอม และยกทัพเข้าโจมตีแคว้นทั้งสอง โดยได้รับชัยชนะเหนืออัสสัม
รวมทั้งเกาะชาปุระใกล้กับฝั่งจิตตะกองซึ่งเป็นของอังกฤษ ถูกกองทัพพม่าบุกยึดด้วย
จากนั้นพม่าได้วางแผนโจมตีพรมแดนเบงกอล เหตุการณ์เหล่านี้สร้างความไม่พอใจให้กับอังกฤษเป็นอย่างมาก
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1824 ลอร์ดแอมเฮิร์ส ข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดียประกาศสงครามกับพม่า

กองทัพอังกฤษได้ผลักดันทัพพม่าออกจากอัสสัม ทว่า มหาพันธุละ แม่ทัพใหญ่พม่าสามารถขับไล่กองกำลังอังกฤษ
ที่พรมแดนจิตตะกองออกไปได้ อังกฤษจึงเปิดแนวรบใหม่โดยส่งทหาร 11,000 นาย
ภายใต้การนำของนายพล อาชิบัล แคมเบลล์เข้าโจมตีกรุงย่างกุ้งทางทะเล และตีเมืองได้ในวันที่ 11พฤษภาคม ค.ศ.1824
หลังพ่ายแพ้ กองทหารพม่าล่าถอยเข้าไปในป่าของเมืองพะโค

มหาพันธุละได้เดินทัพมาถึงย่างกุ้งพร้อมทหาร 60,000 นาย ทว่ากองทัพพม่าพ่ายแพ้ต่ออังกฤษ และมหาพันธุละเสียชีวิตในที่รบ  

พ.ศ.2367(ค.ศ.1825) เมษายน นายพลแคมเบลล์ยึดเมืองแปร เมืองหลวงของพม่าตอนล่างไว้ได้
การสู้รบยังดำเนินเรื่อยมาจนถึงสิ้นปี ค.ศ. 1825  และ 24 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1826 ฝ่ายพม่าขอสงบศึก

พ.ศ.2368(ค.ศ.1826) 23 พฤศจิกายน ได้มีการทำสนธิสัญญาการค้าระหว่างพม่ากับอังกฤษขึ้น โดยวางอยู่บนผลประโยชน์ของทั้งฝ่าย
ผลจากสนธิสัญญา พม่าต้องเสียแคว้นยะไข่ และมณีปุระให้กับอังกฤษ แลกกับการที่อังกฤษถอนทัพออกจากดินแดนพม่าตอนล่าง


สงครามอังกฤษ – พม่า ครั้งที่สอง

พ.ศ.2395(ค.ศ.1852) พระเจ้าจักกายแมงผู้ทำสนธิสัญญากับอังกฤษได้ประชวร จนพระสติวิปลาสและถูกโค่นราชบัลลังก์
จากนั้น พระเจ้าพุกามแมง พระโอรสของพระองค์ซึ่งขึ้นครองราชย์แทน ได้ฉีกสนธิสัญญาใช้ความรุนแรงกับอังกฤษ

อังกฤษได้ส่งสาส์นถึงพระเจ้าพุกามแมง โดยประกาศว่า ปฏิบัติการต่อต้านจะเริ่มขึ้น
หากพระองค์ไม่ทรงยอมปฏิบัติตามสนธิสัญญาเดิมที่พระราชบิดาเคยทำไว้ ทว่าฝ่ายพม่ายังคงนิ่งเฉย

วันที่ 1 เมษายน ค.ศ.1852 เมื่อไม่มีคำตอบจากฝ่ายพม่า กำลังทหาร 8,100 นายที่นำโดยนายพลเอช ที ก็อดวิน
และกองเรือที่บังคับบัญชาโดยผู้การแลมเบิร์ต เคลื่อนพลและเปิดฉากสงครามครั้งที่สองระหว่างพม่ากับอังกฤษ
กองทัพอังกฤษเข้ายึดเมืองเมาะตะมะในวันที่ 5 เมษายน และเข้ายึดกรุงย่างกุ้งในวันที่ 12

วันที่ 14 เมษายน หลังการต่อสู้อย่างรุนแรงระหว่างกองทหารพม่ากับอังกฤษ พระมหาเจดีย์ชเวดากองถูกทัพอังกฤษยึดไว้ได้
จากนั้นทัพอังกฤษเข้ายึดพะสิมและเมืองพะโค ได้ตามลำดับหลังการปะทะกันประปรายรอบบริเวณเจดีย์พระธาตุมุเตา
และด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารบริษัท อีสต์ อินเดีย กับรัฐบาลอังกฤษ ลงมติให้
ผนวกพื้นที่ตอนล่างของหุบเขาอิระวดี รวมทั้งเมืองแปรเข้าไว้ในเขตปกครอง

จากนั้นในเดือนธันวาคม ลอร์ดดาลฮูส ข้าหลวงอังกฤษประจำอินเดียแจ้งกับพระเจ้าพุกามแมงของพม่าว่า

อาณาเขตพม่าตอนล่างถือว่าอยู่ในเขตปกครองของอังกฤษ
และถ้ากองทหารของพระองค์ทำการต่อต้านใดๆ
กองทัพอังกฤษจะเข้าสลายอาณาจักรทั้งหมดของพระองค์


พ.ศ.2426 รัฐบาลอังกฤษได้จัดทำ สนธิสัญญาเชียงใหม่ พ.ศ. 2426 ขึ้นแทนฉบับเดิมที่หมดอายุไขลง
โดยมีเนื้อหาสาระคล้ายคลึงกับสนธิสัญญาฉบับเดิม คือ เกี่ยวกับเรื่องให้ความคุ้มครองคนในบังคับของทั้งสองฝ่าย
เรื่องความร่วมมือในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน การป่าไม้ และส่วนที่แตกต่างคือ
ว่าด้วยอำนาจของศาลต่างประเทศ และการตั้งรองกงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่


สงครามอังกฤษ- พม่า ครั้งที่สาม (1885-1886)

พ.ศ.2428 สงครามครั้งนี้เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าสีป่อ หรือ ธีบอ และเป็นสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างพม่ากับอังกฤษ
ซึ่งส่งผลให้พม่าต้องสูญเสียเอกราชในเวลาต่อมา เหตุการณ์นี้เริ่มจากการที่บริษัท Bombay-Burma Trading Company
ถูกยกเลิกสิทธิที่ไม่ต้องเสียภาษีให้ทางการพม่า เรื่องราวลุกลามจนทางอังกฤษยื่นหนังสือร้องเรียนต่อราชสำนักพม่า
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ.1885

วันที่ 9 พฤศจิกายน ทางพม่าปฏิเสธที่จะเจรจาด้วย ดังนั้นแผนการเข้ายึดมัณฑะเลย์และล้มล้างราชบัลลังก์ของพระเจ้าสีป่อ จึงเริ่มขึ้น



ละครทุนสูงถ่ายทำแบบภาพยนตร์ ตัดต่ดได้กระชับ น่าติดตาม
ฉากท้ายตอนที่ 1 ที่พระเอกคุยกับอุปราช จู่ๆมีภาพแทรกที่พระเอกยืนห่างจากหัวม้า
ทั้งที่ก่อนน่าเพิ่งเอามือลูบหัวม้า

ฉากน้องนางเอกเดิน แบบม้ากระทืบโรง ดูรู้เลยว่าแสบทั้งเรื่อง
แต่ฉากนางเอกเดินเห็นจากด้านหลัง เดินเร็วไปหน่อยดูไม่งามเมื่อนุ่งผ้าซิ่น

ฉากกลางคืนมืดไปหน่อย ต้องเร่งให้สว่างแบบนาคีที่แก้ไขแล้ว
กำกับศิลป์ได้งดงาม เลือกมุมแต่ละสถานที่ได้ดี
CG ฉากพระเอกมองผ่านหน้าต่างเรือนดูนางเอกขี่ม้า ทำใช้ได้แต่โทนสีต่างกัน
แผ่นที่แสดงแต่ละเมือง เข้าใจง่าย

เสื้อผ้าตรงยุค ไม่ลิเกหรือแฟนตาซีจนหลุดโลก
เครื่องประดับประณีต ใส่ใจแม้รายละเอียดเล็กน้อย เช่น ต่างหู กระประถินผิว กำยานในห้องบรรทมอุปราชองค์ก่อน

ภาษาพูด แม้จะไม่เนิบเป็นเหนือทุกคน แต่การแสดงเต็มที่ ความตั้งใจเกินร้อย
บันทึกเสียงมีรั่วเข้าไมค์มาบ้าง พอผ่านได้ตามมาตรฐานละคร เพราะเวลาจำกัด

ผกก.เน้นที่พฤติกรรม การตัดสินใจของตัวละคร ในการเดินเรื่อง ทำให้ผู้ชมเข้าใจที่มาที่ไป
ไม่ใช่ตามลมตามทาง และยังมีปัจจัยภายนอกมาบีบคั้น กดดัน ทำให้อารมณ์ความรู้สึกตัวละครดูลึกไม่แบนราบ
รับส่งกันได้เป็นธรรมชาติ ไม่ว่าจะโต้ตอบเกทับกันไปมา เฉือดเฉือน พี่น้องหักเหลี่ยมโหด

พระเอกน่าจะเทครัวไปเลยแบบพระลอ จะได้ไม่ต้องคิดให้กลุ้ม จนต้องเทียวไปเทียวมาทั้งที่เรือนรับรอง กับสวนดอกไม้

กระบือหนึ่งห้ามอย่า   ควรครอง
เมียมิ่งอย่ามีสอง       สี่ได้
โคสามอย่าควรปอง   เป็นเหตุ
เรือนอยู่สี่ห้องให้       เดือดร้อนรำคาญฯ


                                       โคลงโลกนิติ

ห้ามมีเมียสองคน แต่สี่คนได้ เพราะสามารถแบ่งฝ่ายตบตีวิวาทกันได้ชัดเจน
มีคนเดียวไม่มีปัญหาแน่นอน ถ้ามีสามคน จะคุมเชิงกันอยู่ เรื่องวิวาทจะไม่รุนแรงนักมั้ง


หวังจะตอนต่อไปจะสนุกน่าติดตามยิ่งๆไปอีก
ขอบคุณช่อง3 ผู้จัดและคณะ ที่ผลิตผลงานคุณภาพ

ท้ายนี้ผิดพลาดประการใดผู้เขียนต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ ขอบคุณครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  รากนครา ละครโทรทัศน์ 3 HD (BEC) ณฐพร เตมีรักษ์ (แต้ว)
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่