[Review] American Made: เหตุเกิดจากอเมริกัน...


By มาร์ตี้ แม็คฟราย

ต้องขอสารภาพว่าตอนที่ดูตัวอย่างหนังเรื่องนี้ในครั้งแรก มีความ “งง” ระดับหนึ่ง เพราะไม่เข้าใจว่าหนังจะเล่าเรื่องของอะไร เป็นหนังแนวไหน (จะตลก ..ก็ไม่น่า หรือจะแอ็คชั่น .. ก็ไม่ขนาดนั้นมั้ง) รู้เพียงแต่ว่าโทนหนังดูจะเป็นเชิงเล่าแบบมีสีสันและดูวินเทจพอสมควรจากเพลงประกอบที่ใช้ในตัวอย่าง และ ทอม ครูส แสดงนำ (ที่ก็เพิ่งล่มปากอ่าวมาสด ๆ ร้อน ๆ กับ The Mummy)

แต่ด้วยความที่เห็นรายชื่อผู้กำกับเป็น ดั๊ก ไลแมน ซึ่งเป็นผู้กำกับที่เคยทำหนังตลาดได้โคตรสนุกแต่กระแสเงียบเกินคาดเมื่อ 3 ปีก่อนอย่าง Edge of Tomorrow กอปรกับคะแนนวิจารณ์ของหนังและกระแสจาก Twitter ต่างเริ่มชมกันอย่างหนาหูมากขึ้น ทำให้ความอยากดูในหนังเรื่องนี้สูงขึ้นมากทีเดียว

จิกกัดความเป็น ‘อเมริกันชน’ แบบสนุกเกินคาด

ตามที่เตรียมใจก่อนหน้าเข้าโรง ว่าหนังคงไม่ใช่หนังแอ็คชั่นระเบิดลูกโตแน่นอน (ซึ่งก็ไม่ใช่จริง ๆ) ซึ่งหากจะกำหนดแนวหนังมันคือเป็น ตลก ดราม่า อาชญากรรม ผสมปนกันไปมากกว่า

โดยหนังเป็นเรื่องราวในช่วงยุคสิ้นสุดสงครามเย็นของอเมริกา เมื่อ แบร์รี่ ซีล นักบินฝีมือดีที่ถูก ซีเอไอ ดึงตัวมารับภารกิจขับเครื่องบินถ่ายภาพกลุ่มกองกำลังติดอาวุธในประเทศในแทบทวีปอเมริกาใต้ แต่เมื่อทำภารกิจเรื่อยไป เขากลับพบช่องทางการหาเงินมหาศาลด้วย “ยาเสพติด” อันเป็นสินค้าที่กำลังเฟื่องฟูอย่างมากของแทบประเทศในอเมริกาใต้ในยุคนั้น จากเรื่องนี้เองทำให้เกิดความวุ่นวายตามมา ที่ลามไปถึงทั้งซีไอเอ ทำเนียบขาว และแก๊งค้ายา ที่เป็นเรื่องเป็นราวไปใหญ่โต

หนังโปรโมตตัวเองว่าเป็น Based on true story ในตอนแรกก็นึกว่าจากชีวิตของตัวละครนำหรือเปล่า แต่พอดูไปแล้วไม่น่าใช่ เพราะคิดว่าจะเป็นเหตุการณ์จริงจากการหยิบวีรกรรมจริงของทั้ง ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน, ซีไอเอ, หรือราชายาเสพติดในตำนานอย่าง พาโบล เอสโคบา มาปู้ยี่ปู้ยำโดยมีตัวละครสมมติอย่างแบร์รี่ ซีลเป็นจุดศูนย์กลางที่เชื่อมทุกเรื่องเข้าด้วยกันมากกว่า

ดังนั้นสำหรับคนที่อยากดูหนังเรื่องนี้ อาจจะจำเป็นต้องรู้พื้นหลังของบุคคลสำคัญในยุคสมัยนั้นเสียหน่อย ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีเรแกน และแนนซี่ ภรรยา, พาโบล เอสโคบา, จอร์จ และ จอร์จ จูเนียร์ สองพ่อลูกตระกูลบุช หรือ บิล คลินตัน ที่ในตอนนั้นยังเป็นเพียงผู้ว่าการรัฐอาคันซอร์ และสถานการณ์คร่าว ๆ ของอเมริกาในช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น ก็จะอินและเข้าใจเหตุผลของการกระทำมากขึ้น

ซึ่งในจุดนี้ต้องยกเครดิตให้กับนักเขียนบทหน้าใหม่ชื่อไม่คุ้นอย่าง แกร์รี่ สปินเนลลี่ ที่สามารถหยิบเรื่องราววายป่วงของหลายบุคคลจริงมาผูกกันให้เป็นเรื่องเป็นราวได้สนุก จิกกัดและชวนติดตามขนาดนี้ เพราะหากดูจบแล้วจะได้เห็นว่าทั้งหมดนั้นหนังพยายามจิกกัดความเป็นอเมริกันอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเรื่องการเมือง

ตามชื่อหนัง ..เพราะเรื่องทั้งหมดเริ่มจากอเมริกาไปแส่เรื่องชาวบ้านเองแท้ ๆ

ความสามารถในการเล่าเรื่องของ ดั๊ก ไลแมน ที่ท็อปฟอร์มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ต้องขอสารภาพอีกเรื่อง ผมไม่เคยรู้สึกว่า ดั๊ก ไลแมน เป็นผู้กำกับที่เก่งกาจอะไรมากมาย มาก่อนเลย ...

หนังของไลแมนไม่ได้แย่ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรโดดเด่นที่ชัดเจนจนจำได้ หรือนำมาเป็นเอกลักษณ์ที่จะคิดถึงเมื่อนึกถึงเขา เขาทำหนังอย่าง The Bourne Identity (ภาคแรกของแฟรนไชส์ เจสัน บอร์น) ได้สนุก ดูเพลิน แต่ด้วยลีลาและจังหวะก็ยังดูนิ่งเกินไปสำหรับผม เพราะสุดท้ายคนก็จดจำความโครมครามและตื่นเต้นในภาค Supremacy และ Ultimatum จากฝีมือของ ‘ลุงสั่น’ พอล กรีนกราสส์ ที่มารับช่วงต่อมากกว่าอยู่ดี จนมาถึง Mr. and Mrs. Smith ก็ถือว่าเป็นหนังดูสนุก ไลแมนกำกับการแสดงของนักแสดงออกมาได้ดี(อาจเพราะทั้ง แบรด พิทท์ และ แองเจลีน่า โจลี นั้นมีเสน่ห์ล้นจอกันอยู่แล้ว) แต่ในเรื่องการดำเนินเรื่องก็ยังเป็นปัญหาอยู่ดี เพราะนับตั้งแต่กลางเรื่องไปจนจบ เราจะพบว่าจังหวะหนังอ่อนแรงลง ทำให้หนังมีความเอื่อยเฉื่อย ฉากแอ็คชั่นช่วงไคลแมกซ์ก็ไม่ได้สนุกเหมือนช่วงกลางเรื่อง เหมือนกับว่าไลแมนยังมีปัญหาในเรื่องการควบคุมจังหวะการเล่าเรื่องมาก ๆ

จนมาถึง Jumper นี่ยิ่งแล้วใหญ่ หนังมาพร้อมคอนเซ็ปต์น่าสนใจอย่างยิ่ง แต่ปัญหาเดิมก็เกิดอีกแล้ว เพราะหลังจากที่ Jumper เริ่มเรื่องอย่างคึกคักและน่าสนใจ ไม่ถึงครึ่งเรื่องด้วยซ้ำ หนังก็อ่อนแรงเหลือเกิน กว่าจะกลับไปมีแรงก็ต้องเป็นไคลแมกซ์อีกทีไปแล้ว (แต่คงต้องโทษบทหนังด้วยที่ต้องบอกตามตรงว่า แย่)

หลังจากนั้นทำให้ไลแมนไม่ได้อยู่ในสายตา จนกระทั่ง Edge of Tomorrow ที่ตอนนั้นไม่ได้อยากดูด้วยซ้ำ แต่ได้ดูเพราะเพื่อนลากไปดู แต่พอดูแล้วความคิดต่อไลแมนก็เปลี่ยนทันที เพราะหนังสนุกมาก ชอบมากจนยกให้เป็นหนังตลาดจ๋าที่ดูสนุกที่สุดเรื่องหนึ่งของปีนั้นไปเลย ปัญหาเดิมที่มีมาตลอดของไลแมนกลับหายเกลี้ยง เพราะกับ Edge of Tomorrow ไลแมนควบคุมจังหวะหนังโดยไต่ระดับสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่มีตกลงไปจนถึงไคล์แมกซ์ที่จบและปิดฉากได้สวยและมีชั้นเชิง มีมุกตลกแทรกมาให้ขำ แถมยังกำกับซีนอารมณ์ดราม่าระหว่างได้ดีอีกด้วย ฉากแอ็คชั่นก็ดูสนุก กลายเป็นหนังที่ลงตัวในทุกองค์ประกอบที่หนังตลาดเรื่องหนึ่งควรจะมี

จนมาถึงงานกำกับล่าสุดใน American Made ไลแมนทำได้แบบนั้นอีกครั้ง เหมือนกับที่ทำได้กับ Edge of Tomorrow แต่ทำได้ดีกว่าเดิมอีก เพราะใน Edge of Tomorrow ยังมีฉากแอ็คชั่นเป็นตัวชูรสบ้างนอกจากเรื่องราวและตัวละคร แต่กับเรื่องล่าสุดฉากแอ็คชั่นน้อยมาก แทบไม่มี เท่ากับว่าหนังเดินด้วยตัวละคร เรื่องราว และเหตุการณ์เท่านั้น แต่ไลแมนก็ทำให้ดูสนุกตั้งแต่เริ่มจนจบได้

โดยการเล่าเรื่องใน American Made ของไลแมน เป็นการเล่าเรื่องคล้ายกับหนังอย่าง Goodfellas หรือ The Wolf of Wall Street ของปู่มาร์ตี้ มาร์ติน สกอร์เซซี่ อยู่สูง จนคิดว่าน่าจะได้รับอิทธิพลมาเยอะ ทั้งจังหวะการเล่าเรื่องแบบกระฉับกระเฉง ผ่านเสียงบรรยาย (Voice Over) มีพลังขับเคลื่อนสูง เคล้าคลอด้วยเพลงยุค 70 และจังหวะการตัดต่อ เช่นการใช้การหยุดภาพ (Freeze-Frame) แม้ว่าหนังจะไม่ได้มีพลังสูงหรือเดือดเท่าหนังของลุงมาร์ตี้ (ซึ่งเป็นลายเซ็นเฉพาะตัวของลุงเท่านั้น ใครก็ลอกเลียนแบบไม่ได้ดีเท่าหรอก) แต่ก็นับว่าเป็นหนังที่ดูสนุกและพลังสูงประจำปีได้เลย

ขอบคุณรูปภาพจาก FB United International Pictures Thailand

ติดตามบทความจากภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆได้ที่ https://www.facebook.com/thelastseatsontheleft
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่