ภูมิภาค ชาวนครพนมแห่ร่วมทำบุญข้าวสากสืบสานประเพณีเก่าแก่

ภูมิภาคชาวนครพนมแห่ร่วมทำบุญข้าวสากสืบสานประเพณีเก่าแก่




พุทธศาสนิกชนจำนวนมาก และทุกอำเภอทุกสถานที่ออกมาร่วมทำบุญตักบาตรตั้งแต่เช้าตรู่  ตลอดจนหน้าตลาดสดเขตเทศบาลเมืองนครพนม เพื่อสืบสานประเพณีดั้งเดิมอันเก่าแก่ครั้งโบราณ



โดยวันนี้ (5ก.ย.) ตรงกับวันพระขึ้น15 ค่ำ เดือนสิบ ชาวอีสาน เรียกว่า บุญข้าวสาก โดยชาวบ้านจะเตรียมอาหารชนิดต่างๆ ห่อด้วยใบตองไว้แต่เช้ามืด ข้าวสากจะห่อด้วยใบตองกล้วยกลัดหัว กลัดท้าย มีรูปคล้ายกลีบข้าวต้มแต่ไม่พับสั้น ต้องเย็บติดกันเป็นคู่ ห่อที่ 1 คือ หมาก พลู และ บุหรี่ ห่อที่ 2 คือ อาหารคาวหวาน อย่างละเล็กอย่างละน้อย ประกอบด้วย  ข้าวเหนียว เนื้อปลา เนื้อไก่ หมู และใส่ลงไปอย่างละเล็กอย่างละน้อยถือเป็นอาหารคาว  อีกห่อ จะประกอบด้วย กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง แตงโม สับปะรด ฟักทอง  เป็นอาหารหวาน
  
ช่วงเช้าจะนำภัตตาหารไปถวายพระภิกษุสามเณรครั้งหนึ่งก่อน พอถึงเวลาประมาณ 9 ถึง 10 โมงเช้า พระสงฆ์จะตีกลอง ญาติโยมจะนำอาหารที่เตรียมไว้มาถวายพระสงฆ์ โดยการถวายจะใช้วิธีจับสลาก เมื่อทุกคนมาพร้อมกันแล้ว ผู้ที่เป็นและเครื่องปัจจัยไทยทานก็นำไปประเคนให้พระรูปนั้นๆ จากนั้นพระเณรจะฉันเพล ให้พรญาติโยมจะพากันรับพรแล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว ชาวบ้านยังนำเอาห่อข้าวสากไปวางไว้ตามบริเวณวัด พร้อมจุดเทียนและบอกกล่าวให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้วมารับเอาอาหารและผลบุญที่อุทิศให้ นอกจากนี้ ชาวบ้านจะนำอาหารไปเลี้ยง ผีตาแฮก ณ ที่นาของตนด้วย เป็นเสร็จพิธีทำบุญข้าวสาก



วันพระขึ้น  15 ค่ำ   เดือนสิบของทุกปี ชาวจีนถือเอาเป็นวันไหว้พระจันทร์

คนภาคกลาง เรียกว่าเป็นบุญข้าวสารท คนไทยภาคเหนือ เรียกว่าวันทำบุญสลากภัตร  (เชียงใหม่เรียกว่าบุญ 12 เป็ง) พี่น้องชาวใต้  เรียกว่าบุญชิงเปรต และอีสาน   เรียกว่าบุญข้าวสาก
    
ตามตำนานของคนอีสานเล่าถึงมูลเหตูที่มีการทำบุญข้าวสาก มีเรื่องเล่าไว้ในธรรมบทว่า มีบุตรชายกฎุมพี(คนมั่งมี)ผู้หนึ่ง เมื่อพ่อสิ้นชีวิตแล้วแม่ได้หาหญิงผู้มีอายุและตระกูลเสมอกันมาเป็นภรรยา แต่อยู่ด้วยกันหลายปีไม่มีบุตร แม่จึงหาหญิงอื่นมาให้เป็นภรรยาอีก ต่อมาเมียน้อยมีลูก เมียหลวงอิจฉา จึงคิดฆ่าทั้งลูกและเมียน้อยเสีย    ฝ่ายเมียน้อยเมื่อก่อนจะตายก็คิดอาฆาตเมียหลวงไว้ ชาติต่อมาฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นแมว อีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นไก่ แมวจึงกินไก่และไข่ ชาติต่อมาฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นเสือ อีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นกวาง เสือจึงกินกวางและลูก ชาติสุดท้าย ฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นคนอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิดเป็นยักษิณี  พอฝ่ายคนแต่งงานคลอดลูก นางยักษิณีจองเวร ได้ตามไปกินลูกถึงสองครั้งต่อมามีครรภ์ที่สาม นางได้หนีไปอยู่กับพ่อแม่ของตนพร้อมกับสามี เมื่อคลอดลูกเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงพร้อมด้วยสามีและลูกกลับบ้าน พอดีนางยักษิณีมาพบเข้า นางยักษิณีจึงไล่นาง สามีและลูก นางจึงพาลูกหนีพร้อมกับสามีเข้าไปยังเชตวันมหาวิหาร ซึ่งพอดีพระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงพระธรรมเทศนาอยู่   นางและสามีจึงนำลูกน้อยไปถวายขอชีวิตไว้ นางยักษ์จะตามเข้าไปในเชตวันมหาวิหารไม่ได้ เพราะถูกเทวดากางกั้นไว้ พระพุทธเจ้าจึงโปรดให้พระอานนท์ไปเรียกนางยักษ์เข้ามาฟังพระธรรมเทศนา พระองค์ทรงสั่งสอนไม่ให้พยาบาทจองเวรกัน แล้วจึงโปรดให้นางยักษ์ไปอยู่ตามหัวไร่ปลายนา
              
นางยักษ์ตนนี้มีความรู้เกณฑ์เกี่ยวกับฝนและน้ำดีปีไหนฝนจะตกดีปีไหนฝนจะตกไม่ดี จะแจ้งให้ชาวเมืองได้ทราบ ชาวเมืองให้ความนับถือมาก จึงได้นำอาหารไปส่งนางยักษ์อย่างบริบูรณ์สม่ำเสมอ นางยักษ์จึงได้นำเอาอาหารเหล่านั้นไปถวายเป็นสลากภัต แด่พระภิกษุสงฆ์วันละแปดที่เป็นประจำ
              
ชาวอีสาน  จึงถือเอาการถวายสลากภัต หรือบุญข้าวสากนี้เป็นประเพณีสืบต่อกันมา และเมื่อถึงวันทำบุญข้าวสาก นอกจากนำข้าวสากไปถวายพระภิกษุ และวางไว้บริเวณวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ชาวนาจะเอาอาหารไปเลี้ยงนางยักษ์ หรือผีเสื้อนาในบริเวณนาของตนเปลี่ยนเรียกนางยักษ์ว่า "ตาแฮก"



พระธาตุประสิทธิ์นับเป็นอีกหนึ่งพระธาตุที่มีชื่อเสียงทั้งในด้านความงามและในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์  อันเป็นที่เลื่องชื่อกล่าวขานกันไปทั่ว พระธาตุประสิทธิ์แห่งนี้นั้น เป็นพระธาตุประจำวันของผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระธาตุประสิทธิ์กล่าวกันว่าหากผู้ใดได้ไปกราบไหว้นมัสการแล้ว ผู้นั้นก็จะได้รับอานิสงส์ประสบผลสำเร็จในหน้าที่การงาน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีผู้ไปกราบไหว้อธิษฐานขอพรเรื่องการงานกันเป็นอย่างมาก
    
สำหรับพระธาตุประสิทธิ์แต่เดิมเป็นเจดีย์เก่าแก่ที่ชำรุดทรุดโทรมปกคลุมไปด้วยเถาวัลย์ ห้องภายในปรากฏว่ามีพระพุทธรูปเก่าแก่อยู่หลายองค์ซึ่งถูกค้นพบโดยชนเผ่าญ้อ ในขณะที่กำลังหนีภัยสงครามระหว่างอาณาจักรล้านช้าง เวียงจันทน์กับพม่าและอาณาจักรเชียงใหม่ในสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐา ถึงปี พ.ศ. 2436 จึงได้มีการบูรณะเป็นครั้งแรกและกลายมาเป็นพระธาตุประสิทธิ์ ซึ่งต่อมาก็ได้มีการบูรณะต่อเติมสืบเนื่องมา โดยเลียนแบบพระธาตุพนมซึ่งมีลักษณะเป็นรูปทรงสี่แหลี่ยม มีความกว้างขนาด 7.52 เมตร มีประตูปิด-เปิดทั้งสองด้าน  
    
ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและอรหันต์ธาตุรวมทั้ง 7 องค์ พระธาตุประสิทธิ์นับเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองประจำจังหวัดมาช้านาน ในวันขึ้น 10 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 จะมีการจัดงานเทศกาลนมัสการพระธาตุประสิทธิ์เป็นประจำทุกปี

http://www.banmuang.co.th/news/region/89920#.Wa5qQ3fkQMY.facebook
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่