ห้องเพลง**คนรากหญ้า**พักยกการเมือง มุมเสียงเพลง มุมนี้ไม่มีสีไม่มีกลุ่ม มีแต่เสียง 3/9/2560 - จากปฐพีแห่งแสง NEBULA M78

กระทู้คำถาม

สวัสดีครับอมยิ้ม17 สมาชิกห้องเพลงทุกๆท่าน วันนี้วันอาทิตย์ MC แอ๊ด (WANG JIE) เข้าประจำการอีก 1 วันครับ อมยิ้ม36

เมื่อวานนี้ คุยเรื่อง "ไอ้มดแดง" ไปแล้ว ก็ทำให้รู้สึกว่าตัวเองกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ซึ่งก็ทำให้รู้สึกมีความสุขแบบเด็กๆ เมื่อได้เห็นฮีโร่ที่ตัวเองชื่นชอบปรากฏตัวออกทีวี...

วันนี้ก็ขอกลับไปเป็นเด็กอีกรอบ ด้วยการพูดถึงเรื่องราวของ "ฮีโร่ต่างดาว" พวกเขามาจากดวงดาวอันไกลโพ้น มาอยู่บนโลก และป้องกันโลกใบนี้จากบรรดาเหล่าสัตว์ประหลาดต่างดาว คนแล้วคนเล่า จากดาวบ้านเกิดของพวกเขาซึ่งมีสมญานามว่า "ปฐพีแห่งแสงสว่าง" (LAND OF LIGHT) ดาว NEBULA M78 ใช่แล้ว....MC กำลังจะพูดถึง เหล่าฮีโร่ผู้ซึ่งมีชื่อขึ้นต้นว่า "อุลตร้าแมน" (ULTRAMAN) นั่นเอง

ย้อนกลับเมื่อสองแสนปีก่อน ในจักรวาลอันแสนกว้างใหญ่ มี กาแล็กซี่ M78 ที่ประกอบไปด้วยดวงดาวกว่า 69 ล้านดวง และที่ใจกลางกาแล็คซี่แห่งนั้น มีดวงดาวดวงหนึ่งชื่อว่า “ดินแดนแห่งแสงสว่าง” หรือ “ดาวอุลตร้า

ดาวดวงนี้มีขนาดใหญ่กว่าโลก 60 เท่าและมีประชากร “เผ่าพันธุ์อุลตร้า” อาศัยอยู่กว่า 180,000 ล้านคน ในตอนนั้นประชากรของดาวอุลตร้ายังมีลักษณะไม่แตกต่างจากมนุษย์บนโลก

อยู่มาวันหนึ่ง ดวงอาทิตย์ที่คอยให้มอบแสงสว่างและเป็นแหล่งพลังงานให้กับดาวอุลตร้า เกิดระเบิดและสูญสลายไปในพริบตา ทำให้ทั้งดาวตกอยู่ในความมืดมิด ประชากรของดาวอุลตร้าจำนวนครึ่งหนึ่ง ค่อยๆ ล้มตายลง ด้วยความหนาวเย็นและความอดอยาก

เมื่อเห็นดังนั้น “ผู้อาวุโสอุลตร้า” ผู้นำของดาวอุลตร้าในขณะนั้น ได้รวบรวมนักวิทยาศาสตร์ที่ยังมีชีวิตรอด ค้นคว้าหาวิธีที่จะทำให้ชาวเมืองที่เหลือสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไป และท้ายที่สุด พวกเขาก็สามารถคิดค้นดวงอาทิตย์เทียม ที่เกิดจากเครื่องปฏิกรณ์พลังงานพลาสม่า (Plasma Spark)

ชาวอุลตร้าก็ใช้ชีวิตกันอย่างสงบสุขเรื่อยมา แต่เครื่องปฏิกรณ์พลังงานพลาสม่า ไม่ได้ปล่อยแต่พลังงานพลาสม่าเท่านั้น แต่มันยังปล่อยพลังงาน ดิฟเฟอร์เรเตอร์ (Differator Energy) ออกมาด้วย ซึ่งหลังจากชาวอุลตร้าได้อาบพลังงานดิฟเฟอร์เรเตอร์มาหลายแสนปี รูปร่างของพวกเขาก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป มีพละกำลังที่แข็งแรงยิ่งขึ้น สามารถบินและปล่อยลำแสงพลังงานออกมาจากร่างกายได้

ข่าวดังกล่าวได้รู้ถึงหูของชนเผ่ามนุษย์ต่างดาว เอมพิร่า พวกเขาจึงรวบรวมกองทัพและสัตว์ประหลาดจากทั่วจักรวาล เข้าโจมตีดาวอุลตร้าเพื่อแย่งชิงแหล่งพลังงานดิฟเฟอร์เรเตอร์ ชาวอุลตร้าจึงรวมพลังกันเพื่อต่อต้านการรุกรานครั้งนี้ โดยมีผู้นำคือ “เจ้าพ่ออุลตร้า”

หลังจากการสู้รบอย่างยาวนาน ในที่สุดชาวอุลตร้าก็เป็นฝ่ายชนะ แต่ผลของสงครามครั้งนั้น เจ้าพ่ออุลตร้าได้รับบาดเจ็บอย่างหนัก และขณะที่เขากำลังรักษาตัวอยู่นั้น เขาก็ได้พบรักกับนางพยาบาลคนหนึ่ง ภายหลังได้แต่งงานกัน และนางพยาบาลนั้นก็ได้กลายเป็น “เจ้าแม่อุลตร้า”

เมื่อเจ้าพ่ออุลตร้าหายดี เขาคิดว่าในจักรวาลยังมีผู้ที่ต้องการข่มเหงผู้ที่อ่อนแอกว่าอยู่เสมอ เขาจึงก่อตั้ง กองบัญชาการรักษาความสงบแห่งจักรวาล  เพื่อคอยปกป้องดวงดาวที่อ่อนแอจากมนุษย์ต่างดาวและสัตว์ประหลาดอันชั่วร้าย โดยกองกำลังนี้ยังแยกออกเป็น หน่วยปราบปราม หน่วยลาดตระเวน หน่วยสื่อสารและหน่วยพยาบาล แต่ทั้งหมดก็มีหน้าที่สนับสนุนการปราบปรามเหล่าร้ายนั่นเอง ซึ่งพวกเขาจะกระจายตัวไปยัง 7 กาแล็คซี่ทั่วจักรวาล แน่นอนว่ารวมถึงกาแล็คซี่ทางช้างเผือกของเราด้วย

แม้ร่างกายของอุลตร้าแมนจะแข็งแกร่งเหนือมนุษย์ แต่หากต้องไปอยู่ในดวงดาวที่มีสภาพแตกต่างกันออกไป ก็อาจอยู่ได้นานไม่เท่ากัน ดังนั้นพวกเขาจึงต้องติด “ปุ่มเตือนพลัง” (Color Timer) เอาไว้บนหน้าอก เพื่อให้รู้ว่าควรอยู่บนดาวดวงนั้นนานเท่าไหร่ และสำหรับโลกเราก็คือ 3 นาที


อุลตร้าแมน 1 คนแรกที่มายังโลก

ยอดมนุษย์ อุลตร้าแมน (ภาษาญี่ปุ่น ウルトラマン = "อุรุโตะระมัน")

ผู้เป็นบิดาคิดค้น Ultraman นั้นคือ เอย์จิ สึบุรายะ ซึ่งเป็นผู้คิดค้น ตั้งแต่  10 JUL 1901 – 25 JAN 1970  อ.เอย์จิ สึบุรายะ เกิดเมื่อ วันที่ 10 กรกฏาคม 1901 ในชีวิตของอาจารย์ตอนเด็กสูญเสีย มารดาแต่เด็ก ส่วนพ่อติดงานที่ต่างประเทศทำให้ อ. ต้องอาศัยอยู่กับญาติ อ.มีความคิดอยากจะสร้างหนังเป็นของตัวเอง เมื่อได้ดูหนังเรื่อง King Kong ในปี 1933 เมื่อได้รับโอกาศก็ทำให้เป็นจริงได้สำเร็จกับหนังเรื่อง Godzilla ในปี 1954 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึง 6 ปี ซึ่งถือว่าประเทศญี่ปุ่นฟื้นตัวไวมากๆ และได้ก่อตั้งบริษัท สึบุระยะ สเปเชียล เอฟเฟ็คส์ โปรดักชั่นส์ ขึ้นมาในปี 1963  จากนั้นได้ทำการเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น สึบุรายะ โปรดักชั่นส์ ในปี 1968  ต่อมามีผลงานกำกับการแสดง ออกมาเป็น Ultraman Q หลังจากนั้น Ultraman ก็สร้างชื่อเสียงดังไปทั่วโลก หลังจากนั้น อ.เอย์จิ สึบุรายะ  ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 1970

แรกเริ่มเดิมที ก่อนจะมี "อุลตร้าแมน" นั้น มีซีรี่ส์ ชื่อว่า "อุลตร้า คิว" ออกมาก่อน เป็นซีรีส์ของญี่ปุ่นออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์โตเกียวจำนวน 28 ตอน แพร่ภาพออกอากาศในระบบขาวดำ ในช่วงปี ค.ศ. 1966 โดยเป็นเรื่องราวเรื่องลึกลับต่าง ๆ เช่น เอเลี่ยน, วิญญาณ, สัตว์ประหลาด เป็นต้น โดยที่มนุษย์ต้องต่อสู้กับสัตว์ประหลาดเหล่านี้ด้วยตัวเอง คล้ายกับซีรีส์เรื่องลึกลับในแนวสืบสวน เช่น The X-Files

ที่สำคัญคือ "อุลตร้า คิว" มีคนไทยคนหนึ่งที่มีส่วนทำให้เกิดขึ้นด้วย นั่นคือ คุณ สมโพธิ แสงเดือนฉาย นักศึกษาด้านภาพยนตร์ชาวไทยที่ได้เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น และได้มีโอกาสฝึกงานกับบริษัท โตโฮ โดยขณะนั้นทางบริษัทผลิตแต่เพียงภาพยนตร์สัตว์ประหลาดที่มีตัวเอก คือ ก็อตซิลลา กับ คิงคอง ฉายตามโรงภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว ต่อมาความนิยมในโทรทัศน์มีมากขึ้น ทำให้พฤติกรรมของผู้ชมเปลี่ยนไป เอจิ สึบุระยะ บุคลากรคนสำคัญของโตโฮ จึงเกิดความคิดที่จะผลิตผลงานด้านโทรทัศน์ออกมาโดยตั้งบริษัทใหม่ คือ สึบุระยะโปรดักชั่นส์ โดยจะใช้สัตว์ประหลาดทั้ง 2 ตัวนี้เป็นตัวเอก แต่ทว่าทางคุณสมโพธิไม่เห็นด้วย และได้เสนอความคิดของตนเอง เกี่ยวกับซูเปอร์ฮีโร่ร่างยักษ์ผู้ใจดี คือ อุลตร้าแมน แก่สึบุระยะ

ปรากฏว่าสึบุระยะเห็นด้วยกับแนวความคิดนี้
และได้ผลิตซีรี่ส์ชื่อว่า อุลตร้า คิว ขึ้นมานำร่องก่อนเพื่อหวังผลทางด้านจิตวิทยา ให้ผู้ชมรู้สึกเจ็บแค้นใจที่เห็นสัตว์ประหลาดต่าง ๆ มากมายอาละวาดแต่ไม่มีใครปราบได้ ต่อมาเมื่ออุลตร้าแมนได้ฉายต่อ จึงทำให้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้น คุณสมโพธิ แสงเดือนฉาย จึงนับว่าเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งซึ่งทำให้เกิด "อุลตร้าแมน" ขึ้นมาในภายหลังจากที่ซีรี่ส์ "อุลตร้าคิว" จบลง
และถือว่านั่นเป็นซีรีส์เรื่องแรกของสึบุระยะโปรดักชั่นส์และเป็นจุดกำเนิดของซีรีส์ชุดอุลตร้าแมนในเวลาต่อมา

อุลตร้าแมนคนแรก เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ "ชิน ฮายาตะ" ที่เสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการตามล่าสัตว์ประหลาดของอุลตร้าแมน ยอดมนุษย์อุลตร้าแมน มนุษย์ต่างดาวจากกาแล็กซี่เนบิวล่า M78 จึงเลือกตัวเขาเป็นร่างสถิตย์เพื่อคืนชีวิตให้ ฮายาตะสามารถแปลงร่างเป็นอุลตร้าแมนได้โดยการชูและกดปุ่มที่ "เบต้าแคปซูล" และมีเวลาในการปราบสัตว์ประหลาดจากนอกโลกขนาดยักษ์ 3 นาที ในระหว่างนั้นเขายังทำหน้าที่อยู่ในหน่วยกองกำลังพิทักษ์ที่ชื่อ "หน่วยวิทยะ" หรือ "SSSP" (Science Special Search Party) อีกด้วย มีจำนวนตอนทั้งหมด 39 ตอน ตั้งแต่ปี 1966 – 1967 (MC อายุ 2-3 ขวบ) หัวเราะ

ถัดจากนั้นก็เป็น "อุลตร้าแมน 2" ออกฉายทั้งหมด 28 ตอน  ซึ่งเป็นที่นิยมมากๆ ตั้งแต่ ปี 1966 – 1980 ถ้าสังเกตช่วงระยะปีจะเห็นว่าอุลตร้าแมนคนนี้อยู่จนถึงปี 1980 อีกชื่อหนึ่งที่นิยมเรียกกันคือ "อุลตร้าแมนแจ๊ค"

"การกลับมาของอุลตร้าแมน" เป็นชื่อเดิมของ ทีวีซีรีส์ "ยอดมนุษย์ อุลตร้าแมน แจ็ค" เป็นทีวีซีรีส์ชุดที่ 3 ของอุลตร้าซีรีส์

เรื่องราวคือ ฮิเดกิ โก หนุ่มนักขับรถซิ่ง ที่ตายเนื่องจากเข้าไปช่วยเหลือเด็กและสุนัขที่กำลังถูกยางรถที่กำลังร่วงลง จนได้รับการยอมรับจากยอดมนุษย์ อุลตร้าแมนแจ็ค และเลือกตัวเขาเป็นร่างสถิตย์ โดยในการแปลงร่างของโกจะต้องรวบรวมพลังจิตพร้อมทั้งชูมือขึ้น โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วยใดๆ ยอดมนุษย์อุลตร้าแมนแจ็ค มีเวลาในอยู่บนโลก 3 นาที เช่นเดียวกับ ยอดมนุษย์ อุลตร้าแมน 1 ฮิเดกิ โก ยังได้เข้าร่วมกับสมาชิกในหน่วยปราบสัตว์ประหลาด กองกำลังพิทักษ์ในซีรีส์นี้มีชื่อว่า "แม็ต" MAT : Monster Attack Team อีกด้วย มีจำนวนตอนทั้งหมด 51 ตอน

อุลตร้าแมน แจ็ค ในประเทศไทยระยะแรก ๆ เรียกว่า อุลตร้าแมน 2 เนื่องจากมีรูปร่างลักษณะที่คล้ายอุลตร้าแมนตัวแรกมาก ต่างกันเพียงมีรอยขีดเป็นเส้นเล็ก ๆ ตามรอยสีแดงใหญ่ และสีแดงบริเวณต้นขาไม่ลงมาเป็นแถบยาวเหมือนอุลตร้าแมนตัวแรก สาเหตุที่ใช้ชื่ออุลตร้าแมนแจ็คนั้น ในภาคคอมมิคซีรีส์อันโดรเมรอส (ภาคคอสโมแท็กเตอร์) ซึ่งมีการกล่าวถึงพี่น้องอุลตร้ามาก และถูกเรียกว่าอุลตร้าแมน 2 หรือ อุลตร้านิวแมน ภายหลังทางญี่ปุ่นเปลี่ยนชื่อเป็น อุลตร้าแมนแจ็ค เพื่อเป็นการตลาดในการขายของเล่นและไม่ให้สับสนกับชื่อ อุลตร้าแมน 1

ถัดมาเป็น Ultraman Seven ยอดมนุษย์หมายเลข 7 1967 – 1968

"แดน โมโรโบชิ"ที่เป็นร่างสถิตของยอดมนุษย์ อุลตร้าเซเว่น จากหน่วย UG (Ultra Guard) และสามารถแปลงร่างเป็นอุลตร้าเซเว่นได้โดยการสวม "อุลตร้าอายส์" และมีเวลาในการปราบสัตว์ประหลาดจากนอกโลกขนาดยักษ์ 3.5 นาที มีจำนวนตอนทั้งหมด 49 ตอน แต่ได้มีการงดฉายตอนที่ 12 เนื่องจากมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับระเบิดปรมาณู จึงได้ฉายในญี่ปุ่นทั้งหมด 48 ตอน อุลตร้าเซเว่น เป็นอุลตร้าแมนตัวแรกที่มีสีแดง โดยมีสีเงินคล้ายเกราะคลุมบริเวณบ่าและต้นแขน และมีลักษณะต่างไปจากอุลตร้าแมนตัวอื่นๆ คือ ไม่มีคัลเลอร์ไทม์เมอร์ที่หน้าอก แต่จะเปลี่ยนมาเป็นแผงรับพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อนนำมาปรับเปลี่ยนเป็นพลังงานไปอยู่ที่หน้าผากโดนเป็นจุดเล็กๆแทน และสามารถถอนหงอนบนศีรษะซึ่งเรียกว่า"อาย สลักเกอร์"ใช้เป็นอาวุธไม้ตายได้ เขาเป็นขวัญใจของเด็กๆ เป็นอันมาก ได้รับความนิยมกว่าทุกตัวที่เคยมีมา อุปกรณ์แปลงร่างเหมือนแว่นตา เมื่อทำขายก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า (MC เองก็เคยมี) หัวเราะ
Credit: วิกิ และเว็บอื่นอีก 2-3 แห่ง

พบกันใหม่ เสาร์/อาทิตย์หน้าครับ

แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 32
อุลตร้าแมน เป็นใคร!? (จากวิกิพีเดีย)



       ยอดมนุษย์ อุลตร้าแมน เป็นทีวีซีรีส์ชุดแรกของทีวีซีรีส์อุลตร้าซีรีส์ โดยมีเรื่องราวเกี่ยวกับ"ชิน ฮายาตะ"ที่ตายเนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการตามล่าสัตว์ประหลาดของอุลตร้าแมน ยอดมนุษย์ อุลตร้าแมน มนุษย์ต่างดาวจากกาแล็กซีเนบิวล่า M78 จึงเลือกตัวเขาเป็นร่างสถิตเพื่อคืนชีวิตให้ ฮายาตะสามารถแปลงร่างเป็นอุลตร้าแมนได้โดยการชูและกดปุ่มที่ "เบต้าแคปซูล" และมีเวลาในการปราบสัตว์ประหลาดจากนอกโลกขนาดยักษ์ 3 นาที ในระหว่างนั้นเขายังทำหน้าที่อยู่ในหน่วยกองกำลังพิทักษ์ที่ชื่อ หน่วยวิทยะ หรือ SSSP(Science Special Search Party) อีกด้วย มีจำนวนตอนทั้งหมด 39 ตอน

       ลักษณะสำคัญ

       ร่างกายเป็นสีเงินและมีลวดลายบนลำตัวเป็นสีแดง ใบหน้ารูปไข่มีความละม้ายกับรูปปั้นพระพุทธรูปของชาวโลก ดวงตากลมใหญ่เปล่งแสงได้ในขณะต่อสู้หรือใช้พลังจิต สัณฐานของร่างกายคล้ายมนุษย์แต่ใหญ่โตกว่า สูงกว่ามนุษย์ถึง 20 เท่า และมีน้ำหนักมากกว่ามนุษย์ถึง 400,000 เท่า ที่หน้าอกจะมีปุ่มวงกลมเป็นสัญญาณแจ้งสถานะการอยู่/ปรากฏร่างบนโลก อุลตร้าแมนสามารถอยู่บนโลกได้เป็นเวลา 3 นาที เมื่อครบ 3 นาที ปุ่มแจ้งเตือนกลางหน้าอกที่เรียกกันว่า คัลเลอร์ ไทเมอร์ จะเปลี่ยนสีน้ำเงินเป็นสีแดง พร้อมส่งเสียงและกะพริบแสดงให้เห็นว่าอุลตร้าแมนไม่สามารถต่อสู้ได้แล้ว ทั้งนี้เนื่องจากความไม่เหมาะสมของสภาพแวดล้อมบนโลกนั่นเอง

       ประวัติ

       อุลตร้าแมนติดตามสัตว์ประหลาด เบมูล่ามาจนถึงโลกมนุษย์และประสบอุบัติเหตุ ทำให้ฮายาตะเจ้าหน้าที่วิทยะ SSS เสียชีวิต เขาจึงมอบชีวิตให้กับฮายาตะ และมอบเบต้าแคปซูลใว้ให้ เพื่อที่ฮายาตะจะได้แปลงร่างเป็นเขาเมื่อมีผู้ประสงค์ร้ายมารุกรานโลก อุลตร้าแมนอยู่คุ้มครองโลกจนกระทั่งพ่ายแพ้ให้กับเซตตอนจึงกลับดาวอุลตร้า

       ข้อมูลจำเพาะ

       ความสูง : 40 เมตร
       น้ำหนัก : 35,000 ตัน
       อายุ : 20,000 ปี
       ความเร็วในการบิน : 5 มัค
       พลังกระโดด : 800 เมตร
       ความเร็วในการเคลื่อนที่ในน้ำ : 200 นอต
       พลังยก : มากกว่า 100,000 ตัน
       ตำแหน่ง : หัวหน้ากองทหารรักษาการณ์ทางช้างเผือก
       ดาวบ้านเกิด : ดาวอุลตร้า นครแห่งแสง เนบิวล่า M78
       ท่าไม้ตาย : แสงสเปเซียม, อุลตร้าสแลซ, พลังแสงน้ำอุลตร้า, อุลตร้าไซโคคิเนซิส, เทเลพอเทชั่น
       การป้องกัน : รีบาวด์บีม
       มาโลกครั้งแรก : ค.ศ. 1966
       อุปกรณ์การแปลงร่าง : เบต้าแคปซูล (Beta Capsule)
       ร่างมนุษย์ : ชิน ฮายาตะ สมาชิกหน่วย SSS
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 30
เกิดไม่ทันยุคอุลตร้าแมน แต่เคยซื้อเป็นหนังสือการ์ตูนมาอ่าน และซื้อของเล่นหรือเสื้อผ้าที่เกี่ยวกับอุลตร้าแมนอยู่บ่อยๆครับ

และมานึกถึงอุลตร้าแมนอีกรอบก็เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เรื่องเกี่ยวกัลลิขสิทธิ์ที่แท้จริงว่าตกลงมันเป็นยังไงกันแน่ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น  ลองเอาข้อมุลจากเวปผู้จัดการมานำเสนอตรงนี้แทนก้แล้วกันครับ


มหากาพย์อุลตร้าแมน ศึกยอดมนุษย์ของ “สมโพธิ แสงเดือนฉาย”


ฟ้องร้องแย่งชิงลิขสิทธิ์ยอดมนุษย์ “อุลตร้าแมน” กันมายาวนานกว่าสิบปีจนกลายเป็นมหากาพย์ระหว่างนักสร้างหนังชาวไทย “สมโพธิ แสงเดือนฉาย” กับบริษัทซึบูราญ่า โปรดักชั่น(โตเกียว) ของญี่ปุ่น ในที่สุดศาลญี่ปุ่นก็เคาะออกมาแล้วว่าลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนทั่วโลกเป็นของสมโพธิ ซึ่งมีสิทธิในตัวอุลตร้าแมนทุกประเทศทั่วโลกยกเว้นประเทศญี่ปุ่น ยุติคดีประวัติศาสตร์ซึ่งถือว่าใช้เงินในการดำเนินการฟ้องร้องและใช้เวลาในการไต่สวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากได้ข้อสรุปฮอลลีวูดบินตรงมาซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นภาพยนตร์จอยักษ์สุดอลังการ ซึ่งจะได้พระเอกผิวสีชื่อดัง “วิล สมิธ” มาแสดงนำ
       
       เป็นเวลาสิบปีเต็มสำหรับคดีแย่งสิทธิในคาแร็กเตอร์ยอดมนุษย์ชื่อดัง “อุลตร้าแมน” ที่สมโพธิถูกบริษัทซึบูราญ่าดำเนินการฟ้องร้องไม่ให้เขาดำเนินการสร้างตลอดจนนำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับอุลตร้าแมนไปเผยแพร่เพราะอ้างว่าเป็นลิขสิทธิ์ของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นแห่งนี้ ซึ่งสมโพธิที่ได้รับการมอบกรรมสิทธิ์ในตัวยอดมนุษย์ชื่อดังมาจาก “โนโบรุ ซึบูราญ่า” ลูกชายของ “เอยิ ซึบูราญ่า” อาจารย์ของสมโพธิในสมัยที่เขาไปศึกษาวิชาภาพยนตร์ที่ญี่ปุ่นก็ยืนยันว่าตัวเองเป็นเจ้าของไอเดียในการสร้างยอดมนุษย์อุลตร้าแมนและทุ่มเทต่อสู้ถึงขั้นต้องวางมือจากงานประจำเพื่อให้ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ในตัวอุลตร้าแมน
       
       การสืบคดีเป็นไปอย่างยากลำบากเพราะสัญญาการมอบลิขสิทธิ์เกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อนซึ่งไม่มีลายลักษณ์อักษรหรือกระทั่งลายเซ็นของผู้มอบลิขสิทธิ์เพื่อนำมายืนยันทางกฎหมายเหมือนในปัจจุบัน มีเพียงหนังสือเอกสารเก่าๆ กับตราประทับของบริษัทซึบูราญ่าที่บอกว่าได้มอบลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนนอกประเทศญี่ปุ่นให้กับสมโพธิเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
       
       และนั่นก็ทำให้การตัดสินคดีนี้เป็นไปอย่างยากลำบาก ทั้งฝ่ายสมโพธิและฝ่ายบริษัทญี่ปุ่นต้องงัดพยาน หลักฐานต่างๆ มาต่อสู้กันในชั้นศาลมากมาย เป็นผลให้การตัดสินคดีนี้ยืดเยื้อเกือบสิบปี มีการฟ้องร้องกันทั้งสองฝ่ายไม่ต่ำกว่าสามครั้ง จนเรื่องดำเนินมาถึงข้อสรุปที่ว่าสมโพธิเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนนอกประเทศญี่ปุ่นแต่เพียงผู้เดียวเมื่อประมาณสองปีที่แล้ว ซึ่งถ้าบริษัทยักษ์ใหญ่จากฮอลลีวูดไม่เดินทางมาซื้อลิขสิทธิ์จากสมโพธิตลอดจนจัดงานแถลงข่าวว่าจะสร้างภาพยนตร์เรื่องอุลตร้าแมนภาค 4 หลายคนก็คงจะลืมหรือตลอดจนไม่เคยรู้มาก่อนว่าบทสรุปของคดีนี้คือสมโพธิเป็นผู้ชนะ ซึ่งเท่ากับว่าเจ้าของอุลตร้าแมนที่แท้จริงก็คือคนไทยนั่นเอง
       
       ชัยชนะของ “สมโพธิ”
       30 กันยายน พ.ศ. 2553 วงการภาพยนตร์โลกต้องบันทึกเอาไว้ว่าคดีประวัติศาสตร์ที่มีการดำเนินการฟ้องร้องต่อสู้เพื่อชิงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนนอกประเทศญี่ปุ่นนั้นเดินทางมาถึงบทสรุปที่เคาะโดยศาลสูงในประเทศญี่ปุ่นว่าสิทธิในตัวอุลตร้าแมนนอกประเทศญี่ปุ่นทั้งหมดตกเป็นของนักสร้างภาพยนตร์ชาวไทย “สมโพธิ แสงเดือนฉาย”
       
       ศาลญี่ปุ่นนั่งบัลลังก์ตัดสินให้บริษัทซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด(โตเกียว) ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่สมโพธิเป็นเงินจำนวน 16 ล้านเยน และสั่งให้บริษัทซึบูราญ่าฯสูญเสียสิทธิที่จะใช้คาแร็กเตอร์อุลตร้าแมนทุกที่ทั่วโลกยกเว้นประเทศญี่ปุ่น
       
       ส่วนหนึ่งของคำพิพากษาที่ 10273 บอกว่าศาลแขวงกรุงโตเกียวได้มีคำสั่งให้จำเลยจ่ายเงินค่าเสียหายแก่โจทก์เพื่อชดใช้ค่าเสียหายที่ได้จากผลประโยชน์ต่างๆ เช่น การให้ไลเซนส์ การใช้สิทธินอกประเทศญี่ปุ่นจำนวน 16,363,636 เยน นับตั้งแต่วันที่ 26 เดือนมิถุนายน 2549 พร้อมดอกเบี้ยปีละ 5% จนกว่าจะชำระหมด
       
       นอกจากนั้น คำสั่งของศาลโตเกียวยังส่งผลให้บริษัทซึบูราญ่าโปรดักชั่นส์ จำกัด (โตเกียว) ต้องหยุดทำธุรกรรมต่างๆ เพราะไม่มีสิทธิใดๆ ในประเทศไทยแล้ว นอกจากนั้น ศาลแขวงกรุงโตเกียวญี่ปุ่นยังบังคับไม่ให้บริษัทสร้างหนังของญี่ปุ่นแห่งนี้ ออกไปดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุลตร้าแมนนอกประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
       
       นี่คือชัยชนะของสมโพธิหลังจากที่ก่อนหน้านี้เขามีเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาลเกี่ยวกับการแย่งชิงลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนกับบริษัทซึบูราญ่าฯมาแล้วถึงสองครั้ง โดยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2546 ที่บริษัทสร้างหนังชื่อดังของญี่ปุ่นดำเนินการฟ้องสมโพธิเพราะต้องการลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนนอกประเทศญี่ปุ่นกลับมาเป็นของตัวเอง หลังจากที่ยอดมนุษย์จากกาแล็กซีเนบิวล่า M 78 กลับมาโด่งดังระเบิดไปทั่วโลก โดยอ้างว่าหนังสือสัญญาการโอนลิขสิทธิ์ที่สมโพธิถือครองอยู่เป็นของปลอม แต่การต่อสู้ในชั้นศาลครั้งนั้นสมโพธิเป็นฝ่ายชนะและได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
       
       แต่เรื่องมาเข้มข้นเมื่อซึบูราญ่าไม่ยอมแพ้ หลังจากเห็นสมโพธิสร้างอุลตร้าแมนตัวใหม่ขึ้นมาได้แก่ อุลตร้าแมนมิลเลเนี่ยม, อุลตร้าแมนอีลิท และยังสร้างซีรีส์โปรเจกต์อุลตร้าแมนโดยมีดาร์คอุลตร้าเป็นตัวใหม่ขึ้นมาอีกตัว ซึบูราญ่าฯก็เต้นผ่างไปฟ้องต่อศาลที่ประเทศไทยเพื่อยับยั้งไม่ให้สมโพธิสร้างอุลตร้าแมนตัวใหม่แตกยอดจากอุลตร้าแมนชุดเก่าที่สมโพธิได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์นอกประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในการตัดสินคดีครั้งนั้นซึบูราญ่าเป็นผู้ชนะคดีเป็นเหตุให้สมโพธิต้องระงับโปรเจกต์อุลตร้าแมนตัวใหม่รวมถึงซีรีส์อุลตร้าแมนที่ลงทุนไปแล้วมหาศาลอีกด้วย
       
       ความพ่ายแพ้ของสมโพธิในครั้งนั้นเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องครั้งสุดท้ายเพื่อให้ศาลทำหน้าที่ตัดสินชี้ขาดไปเลยว่าลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนนอกประเทศญี่ปุ่นซึ่งนำมาซึ่งรายได้มหาศาลหลักพันล้านบาทต่อปีนั้นเป็นของใครกันแน่ระหว่างสมโพธิกับบริษัทซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด(โตเกียว) ซึ่งสมโพธิยื่นฟ้องบริษัทซึบูราญ่าต่อศาลโตเกียว ในขณะที่บริษัทซึบูราญ่าเองก็ฟ้องกลับสมโพธิต่อศาลที่กรุงเทพฯ ด้วย แต่ศาลที่กรุงเทพฯ ยกฟ้องไป จึงเหลือเพียงคดีที่ศาลโตเกียวต้องทำหน้าที่ไต่สวนซึ่งมาได้ข้อสรุปว่าสมโพธิเป็นผู้ถือครองลิขสิทธิ์อุลตร้าแมนนอกประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมานี่เอง
       ย้อนกลับไปเมื่อ 50 กว่าปีก่อน ที่มาที่ไปของมหากาฬพย์การฟ้องร้องที่ยืดเยื้อเรื้อรังครั้งนี้มาจากไอเดียที่ผุดแวบขึ้นมาในหัวของสมโพธิ ซึ่งกลายมาเป็นชนวนในการแย่งชิงสิทธิในตัวอุลตร้าแมนในเวลาต่อมา น้อยคนนักที่จะรู้ว่าอุลตร้าแมนถือกำเนิดจากความคิดฝันและจินตนาการของเด็กชายที่อาศัยอยู่ในวัดซึ่งมีนามว่า “สมโพธิ แสงเดือนฉาย” คนนี้นั่นเอง


ต้นกำเนิดอุลตร้าแมน

       “สมโพธิ แสงเดือนฉาย” เกิดเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2484 เป็นบุตรของบิดาชาวจีนที่อพยพมาจากมณฑลกวางตุ้ง กับมารดาชาวอยุธยา สมโพธิเกิดที่จังหวัดสมุทรปราการ จากนั้นก็ย้ายไปอยู่จังหวัดอยุธยา บิดาประกอบธุรกิจโรงงานน้ำแข็ง ชีวิตในวัยเด็กของสมโพธิจะคุ้นเคยกับโบราณสถาน โบราณวัตถุทั้งวัดวาอารามและพระพุทธรูปเป็นอย่างมากเนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากบ้าน สมโพธิกับเพื่อนๆ จึงไปเดินเล่นตามโบราณสถาน ได้เห็นได้สัมผัสโบราณสถาน พระพุทธรูปมาตั้งแต่วัยเยาว์
       
       ภาพพระพักตร์ของพระพุทธรูปที่นิ่งสงบและดูหนักแน่นแข็งแรงนั่นเองที่ฝังอยู่ในความทรงจำของสมโพธิมาตลอด ถึงขั้นเคยนั่งจินตนาการเล่นๆ ตอนที่อยู่ที่วัดเก่าแห่งหนึ่งว่าถ้าพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ ทั้งหลายมีชีวิตสามารถเดินเหินเหมือนคนทั่วไปได้จะเป็นอย่างไร ซึ่งสมโพธิก็เก็บจินตนาการนั้นเอาไว้ในใจเรื่อยมา
       
       ในยุคนั้นภาพยนตร์ญี่ปุ่นได้เริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามาในประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย ซึ่งประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ได้รับอิทธิผลจากภาพยนตร์แนวสัตว์ประหลาดบุกโลกของญี่ปุ่นเข้าเต็มๆ เรียกว่าเด็กผู้ชายทั่วประเทศถึงกับหลงใหลคลั่งไคล้สัตว์ประหลาดรูปร่างใหญ่โตอย่างก็อตซิลล่า กาเมร่า กันทั้งเมือง สมโพธิเองก็เป็นหนึ่งในเด็กที่ชื่นชอบสัตว์ประหลาดตัวใหญ่และแอบคิดฝันเล่นๆ ว่าถ้ามียอดมนุษย์ที่ร่างกายใหญ่โตออกมาสู้กับสัตว์ประหลาดได้คงจะสนุกไม่น้อย
       
       ความชื่นชอบในศิลปะภาพถ่ายและภาพยนตร์ซึ่งเป็นศาสตร์ที่กำลังบูมในยุคนั้นทำให้สมโพธิเข้าศึกษาทางด้านการถ่ายภาพและภาพยนตร์ที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ และได้คะแนนดีเป็นอันดับต้นๆ เมื่อสำเร็จการศึกษา สมโพธิเข้าทำงานฝ่ายภาพยนตร์โฆษณาของธนาคารออมสิน ด้วยทักษะฝีมือและความรักความชอบที่ฉายแววโดดเด่น ทำให้หลังจากทำงานไปได้เพียงไม่กี่ปี สมโพธิก็ได้รับทุนจากธนาคารออมสินที่ร่วมกับธนาคารมิตซุยไปให้ไปศึกษาต่อด้านภาพยนตร์กับบริษัทโตโฮ โปดักชั่นส์ ซึ่งเป็นบริษัทชื่อดังที่ทำภาพยนตร์แนวสัตว์ประหลาดในยุคนั้นที่ประเทศญี่ปุ่น
       
       การเดินทางไปศึกษาต่อ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นกับบริษัทผลิตภาพยนตร์แนวสัตว์ประหลาดชื่อดังนี้เองที่ทำให้สมโพธิได้มีโอกาสพบกับผู้กำกับ ผู้สร้างหนังฝีมือดีของญี่ปุ่นมากมาย โดยเฉพาะอาจารย์เอยิ ซึบูราญ่า ซึ่งเป็นอาจารย์หมายเลขหนึ่งที่สอนวิชาการทำภาพยนตร์ให้สมโพธิ และสมโพธิเองก็ให้ความเคารพอาจารย์เอยิเสมอมา
       
       ความสัมพันธ์ระหว่างสมโพธิกับอาจารย์เอยิเป็นไปด้วยดี อาจารย์เอยิรักและดูแลสมโพธิเหมือนเป็นลูกคนหนึ่ง ในขณะที่อาจารย์เอยิเองก็มีลูกชายที่อายุมากกว่าสมโพธิชื่อ “โนโบรุ” ซึ่งสมโพธิกับโนโบรุก็รักและนับถือกันเหมือนเป็นพี่น้องกันจริงๆ เลยทีเดียว
       
       หลังจากศึกษาด้านภาพยนตร์ที่บริษัทโตโฮ โปรดักชั่นส์จนจบ สมโพธิก็ได้รับการชักชวนให้ไปทำงานกับอาจารย์เอยิ ที่บริษัทซึบูราญ่าที่อาจารย์เอยิเพิ่งก่อตั้งมา ซึ่งสมโพธิก็ตอบรับคำชวนนั้นและมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับบริษัทซึบูราญ่า โปรดักชั่นส์ จำกัด(โตเกียว) ตั้งแต่ยุคเริ่มแรก ช่วงนั้นซึบูราญ่าผลิตหนังสัตว์ประหลาดเป็นหลักตามความนิยมของผู้ชมและตลาดในยุคนั้น แต่สมโพธิได้เสนอไอเดียที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่วัยเยาว์แก่อาจารย์เอยิที่ว่าถ้ามียอดมนุษย์ร่างยักษ์ออกมาต่อสู้กับสัตว์ประหลาดน่าจะสนุกมากขึ้น ซึ่งอาจารย์เอยิเองก็สนใจข้อเสนอของสมโพธิไม่น้อย
       
       หลังจากนั้นโปรเจกต์การสร้างยอดมนุษย์ร่างใหญ่เท่าสัตว์ประหลาดของซึบูราญ่าก็ถือกำเนิดขึ้น โดยมีทีมงานมากมายที่ช่วยกันส่งภาพสเกตช์ยอดมนุษย์ในจินตนาการมาให้อาจารย์เอยิคัดเลือก ซึ่งยอดมนุษย์ที่มีต้นแบบมาจากพระพุทธรูปปางเปิดโลกของสมโพธิก็เป็นหนึ่งในแบบที่ถูกส่งไปให้อาจารย์เอยิคัดเลือกด้วย
       
       ในที่สุดอาจารย์เอยิและทีมผู้สร้างก็เลือกภาพสเกตช์ที่ต่อยอดมาจากใบหน้าพระพุทธรูปที่สมโพธิเสนอ และนั่นก็เป็นต้นแบบของอุลตร้าแมนตัวแรกที่มีการพัฒนาต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

       ภาพยนตร์อุลตร้าแมนประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงตั้งแต่ปีแรกที่ฉาย เด็กผู้ชายทั่วญี่ปุ่นและทั่วเอเชียต่างชื่นชอบและคลั่งไคล้ยอดมนุษย์ตัวใหม่ไปตามๆ กัน
       
       เวลาผ่านไป สมโพธิกลับมาเปิดบริษัทสร้างภาพยนตร์ของตัวเองที่ประเทศไทยในชื่อบริษัทไชโย โปรดักชั่นส์ โดยนำเอาวิชาความรู้ที่ได้มาจากซึบูราญ่าในการผลิตภาพยนตร์ในแนวทางที่ตัวเองชื่นชอบนั่นคือหนังสัตว์ประหลาดที่เต็มไปด้วยเทคนิคมากมายที่ถือว่าทันสมัยที่สุดในยุคนั้น โดยหนังที่สมโพธิสร้างในยุคแรกๆ ได้แก่ ท่าเตียนซึ่งเป็นหนังที่เกี่ยวกับพญานาคและตำนานการเกิดท่าเตียน หนุมานพบ 7 ยอดมนุษย์ซึ่งเป็นการนำเอาตัวละครเอกจากเรื่องรามเกียรติอย่างหนุมานมาพบกับ 7 ยอดมนุษย์ซึ่งก็คืออุลตร้าแมนที่เขาเป็นเจ้าของไอเดียนั่นเอง หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากทำรายได้ถล่มทลายและกลายเป็นกระแสที่ทำให้คนพูดถึงไปนาน
       
(มีต่อ)
ความคิดเห็นที่ 26
ไหนๆก็เป็นวันเกิด โดราเอม่อนแล้ว แถมไปอีกเรื่องนึงเลยครับ เขียนวันอื่นก็ไม่เหมาะสมเท่าวันนี้

โดราเอมอน (Doraemon) เป็นการ์ตูนญี่ปุ่น แต่งโดย ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ เรื่องราวของหุ่นยนต์แมว โดราเอมอน เกิดวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2655 (ค.ศ. 2112) มาจากอนาคตเพื่อกลับมาช่วยเหลือ โนบิ โนบิตะ เด็กประถมจอมขี้เกียจด้วย ของวิเศษ จากอนาคต โดราเอมอนเริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อ เดือนมกราคม พ.ศ. 2513 โดย สำนักพิมพ์โชงะกุกัง โดยมีจำนวนตอนทั้งหมด 1,344 ตอน ต่อมาในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2540 โดราเอมอนได้รับรางวัลเทะซุกะ โอซามุ ครั้งที่ 1 ในสาขาการ์ตูนดีเด่น  อีกทั้งยังได้รับเลือกจากนิตยสารไทม์เอเชีย ให้เป็นหนึ่งในวีรบุรุษของทวีปเอเชีย จากประเทศญี่ปุ่น  จากนั้นในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2551 โดราเอมอนก็ได้รับเลือกให้เป็นทูตสันถวไมตรี เพื่อการประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้บริษัทบันได ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าการ์ตูนที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น ยังได้ผลิตหุ่นยนต์โดราเอมอนของจริงขึ้นมาในชื่อว่า "My โดราเอมอน" โดยออกวางจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2552

ในประเทศไทย โดราเอมอนฉบับ หนังสือการ์ตูน มีการตีพิมพ์โดยหลายสำนักพิมพ์ในช่วงก่อนที่จะมีลิขสิทธิ์การ์ตูน แต่ปัจจุบัน สำนักพิมพ์ เนชั่น เอ็ดดูเทนเมนท์ เป็นผู้ได้รับลิขสิทธิ์ในการจัดพิมพ์แต่เพียงผู้เดียว ส่วนฉบับอะนิเมะ ออกอากาศทางช่อง 9 อ.ส.ม.ท. หรือ โมเดิร์นไนน์ทีวี ในปัจจุบัน และวางจำหน่ายในรูปแบบวีซีดี-ดีวีดี ลิขสิทธิ์โดยบริษัท โรส วิดีโอ

เนื้อเรื่องส่วนมากจะเกี่ยวกับปัญหาของ โนบิตะ เด็กชายชั้น ป.5 ที่มักถูกเพื่อนๆ แกล้ง (แต่บ่อยครั้งก็เป็นฝ่ายหาเรื่องใส่ตัวเอง) ไม่ค่อยชอบทำการบ้าน, ไม่ชอบอ่านหนังสือ และไปโรงเรียนสายบ่อยๆ โดยมีเพื่อนที่เป็นตัวละครสำคัญในเรื่องคือ โดราเอมอน (โนบิตะทำอะไรไม่ค่อยเป็น ต้องพึ่งโดราเอมอนแทบทุกอย่าง) หุ่นยนต์แมวจากอนาคตที่คอยดูแลช่วยเหลือโนบิตะตลอดเวลาด้วยของวิเศษจากอนาคต ไจแอนท์ เด็กที่ดูเป็นอันธพาล แต่ที่จริงเป็นคนอารมณ์อ่อนไหวและรักการร้องเพลง ซูเนโอะ ผู้มีฐานะทางบ้านดีที่สุดในกลุ่ม มีนิสัยชอบคุยโม้ เป็นคู่หูกับไจแอนท์ที่คอยกลั่นแกล้งโนบิตะอยู่ตลอด เดคิสุงิ เป็นเด็กเรียนเก่ง นิสัยดี รักความถูกต้อง มีน้ำใจ แต่ไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก ชิซุกะ ผู้หญิงเพียงคนเดียวในกลุ่มเป็นเด็กเรียนดี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น เป็นเด็กสาวที่โนบิตะหลงรัก ในอนาคตก็ได้มาเป็นเจ้าสาวของโนบิตะด้วย ไจโกะ น้องสาวของไจแอนท์ ไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก ตัวละครสำคัญนอกจากนี้ก็มี โดเรมี หุ่นยนต์แมวที่มีกระเป๋า 4 มิติ และของวิเศษ (แต่จะออกน่ารักๆ ดูเป็นแบบผู้หญิงมากกว่า) เช่นเดียวกับโดราเอมอนผู้เป็นพี่ชาย และคุณพ่อและคุณแม่ของโนบิตะ ซึ่งคุณแม่ดูจะมีบทบาทในเรื่องมากกว่าคุณพ่อ

แม้ว่าโนบิตะ ไจแอนท์ ซูเนโอะ และคนอื่นจะดูเหมือนมีปัญหากันบ่อยแต่ลึกแล้วก็รักและช่วยเหลือกันดี จะเห็นได้จากตอนพิเศษต่างๆ ที่เด็กกลุ่มนี้ต้องออกไปผจญภัย (บางทีก็นอกโลก ใต้ทะเล หรือยุคไดโนเสาร์)

การ์ตูนโดราเอมอน ได้รับแรงบันดาลใจเมื่อ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) เนื่องจากนักวาดการ์ตูนทั้ง 2 ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ ได้ลงโฆษณาการ์ตูนเรื่องใหม่ของเขาทั้งสองไว้ว่าจะมีตัวเอกที่ออกมาจากลิ้นชัก ในนิตยสารการ์ตูนฉบับต้อนรับปีใหม่ ที่จะมาแทนการ์ตูน เจ้าชายจอมเปิ่น แต่ในความจริงแล้วทั้งสองยังไม่มีไอเดียเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องนี้แม้แต่น้อยเลย เมื่อใกล้ถึงเวลาส่งต้นฉบับก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับทั้งสองเป็นอย่างมาก

ฮิโรชิ ฟุจิโมโตะ หนึ่งในนักวาดการ์ตูน ได้เผอิญเห็น แมวจรจัด ที่มักแอบเข้ามาเล่นที่บ้านของตนเองเป็นประจำ เขามักจะชอบจับแมวตัวนี้มาหาหมัด จนเวลาล่วงเลยมาถึง 04.00 น. ก็ยังไม่มีไอเดียเกี่ยวกับการ์ตูนเรื่องใหม่ ทำให้ฮิโรชิโมโหตัวเองเป็นอย่างมาก และคิดเลยเถิดไปว่าโลกนี้น่าจะมีไทม์แมชชีน เพื่อย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีต หลังจากนั้นฮิโรชิได้เผลอหลับไปด้วยความอ่อนล้า เมื่อเขาสะดุ้งตื่นขึ้นมา ทำให้เขาตกใจว่าตนเองเผลอหลับไป จึงรีบวิ่งลงจากบันไดบ้านไปสะดุดกับตุ๊กตาล้มลุกญี่ปุ่นของลูกสาวที่ตกอยู่บนพื้น

เหตุนี้เองทำให้ฮิโรชิเกิดไอเดียขึ้นโดยนำหน้าแมวจรจัดมาผสมกับตุ๊กตาญี่ปุ่น สร้างออกมาเป็นตัวละครหุ่นยนต์แมวจากอนาคตคอยช่วยเหลือเด็กชายที่แสนจะไม่ได้เรื่อง และตั้งชื่อว่า โดราเอมอน เป็นคำผสมระหว่าง "โดราเนโกะ" กับ "เอมอน" ในภาษาญี่ปุ่น
โดราเนโกะนั้นแปลว่าแมวหลงทาง ส่วนคำว่า "เอมอน" เป็นคำเรียกต่อท้ายชื่อของเด็กชายในสมัยก่อนของประเทศญี่ปุ่น และได้เปิดตัวในปีเดียวกัน เริ่มตีพิมพ์ในนิตรยสารโยะอิโกะ, นิตยสารโยชิเอ็ง และนิตยสารเพื่อการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 1-4 (เดือนมกราคม ค.ศ. 1970)

การ์ตูนโดราเอมอน ลงตีพิมพ์พร้อมกันในนิตยสาร 6 ฉบับคือ นิตยสารโยะอิโกะ, นิตรยสารโยชิเอ็ง, นิตรยสารโชงะกุอิชิเน็นเซ (นิตยสารเพื่อการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 1), นิตรยสารโชงะกุนิเน็นเซ (นิตยสารเพื่อการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 2), นิตยสารโชงะกุซังเน็นเซ (นิตยสารเพื่อการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 3) และนิตยสารโชงะกุโยเน็นเซ โดยมีทั้งหมด 1,344 ตอน  โดยเขียนให้เหมาะกับผู้อ่านแต่ละระดับอายุ ซึ่งการ์ตูนได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

และในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2540 โดราเอมอนได้รับ รางวัลเท็ตซึกะ โอซามุ เป็นการ์ตูนดีเด่น

โดราเอมอนเป็นการ์ตูนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย และแม้ว่าเรื่องนี้จะจบลงไปนานแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นที่นิยมกันอยู่ โดยมีการพิมพ์ใหม่ หรือนำออกมาฉายซ้ำออกอากาศอยู่เรื่อยๆ

เคยมีการวิเคราะห์ด้วยเหตุผลทางจิตวิทยาว่าสาเหตุที่ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้เป็นที่นิยมมากนั้น เป็นเพราะตัวละครโนบิ โนบิตะ มีลักษณะเป็นคนอ่อนแอ ขี้แพ้ ทำอะไรก็มักไม่ค่อยสำเร็จ หากมีเรื่องที่ถนัดอยู่บ้างก็เป็นเรื่องที่สังคมไม่ให้ความสำคัญหรือการยกย่อง เช่น เล่นพันด้าย หรือ ยิงปืนแม่น และเนื่องจากลักษณะนี้เองทำให้ผู้อ่านส่วนใหญ่มีความรู้สึก "มีส่วนร่วม" และเปิดใจให้ตัวละครอย่างโนบิตะเข้ามาในจิตใจได้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว คนส่วนใหญ่ล้วนรู้สึกว่าตนเองคือผู้แพ้ คือผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกรังแก ไร้ความสามารถ หน้าตาไม่ดี ไม่มีความสามารถ และย่อมอยากและหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีผู้มาช่วยเหลือเรื่องต่างๆ ให้แก่เรา ซึ่งในเรื่องนี้ก็คือ โดราเอมอนนั่นเอง

โดราเอมอนนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นแม่อย่างหนึ่งก็ได้ จากเรื่องจะเห็นได้ว่า โดราเอมอนมักออกมาช่วยเหลือ ปกป้อง แก้ปัญหาให้โนบิตะ ในยามคับขันหรือเดือดร้อนเสมอๆ เป็นบทบาทของ "แม่ผู้ใจดี" ซึ่งก็คือสิ่งที่มนุษย์เราต้องการอยู่ลึกๆ และในบางตอนโดราเอมอนก็แสดงบท "แม่ใจร้าย" คือการแก้เผ็ดหรือปล่อยให้โนบิตะผจญกับความยากลำบากที่มักเป็นผู้ก่อขึ้นเองจากความรู้สึกในด้านชั่วร้าย เช่น การอิจฉาริษยาผู้อื่น การเกลียดชังผู้อื่น การโกหก เพื่อเป็นการสั่งสอนโนบิตะให้รู้จักความผิดชอบชั่วดี

นอกจากนี้ โดราเอมอนยังมีอิทธิพลทางวัฒนธรรม ดังนี้

หนังสือการ์ตูนโดราเอมอนเป็นหนึ่งในการ์ตูนญี่ปุ่นที่ขายได้มากกว่า 75,000,000 เล่ม

ประเทศแรกที่ฉายโดราเอมอนต่อจากญี่ปุ่น คือฮ่องกง ใน พ.ศ. 2524

หนังสือการ์ตูนโดราเอมอนมีหลายภาษาด้วยกัน ไม่ต่ำกว่า 9 ภาษาทั่วโลก ตีพิมพ์ในประเทศ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ สเปน จีน เวียดนาม

ประเทศเวียดนาม นิยมการ์ตูนโดราเอมอนเป็นอย่างมาก ถึงขนาดมีมูลนิธิเพื่อการศึกษาโดราเอมอน เริ่มตีพิมพ์ใน พ.ศ. 2536 แบบไม่ถูกลิขสิทธิ์ และใน พ.ศ. 2541 จึงมีการตีพิมพ์ฉบับลิขสิทธิ์ ก็ยังได้รับความนิยมเสมอมา

พ.ศ. 2525 หนึ่งในผู้ให้กำเนิดโดราเอมอน ฮิโรชิ ฟุจิโมโตะ ได้เดินทางมาประชาสัมพันธ์โดราเอมอนฉบับภาพยนตร์ให้กับทางไชโยภาพยนตร์ และออกรายการ "อาทิตย์ยิ้ม" ของดำรง พุฒตาล ทางช่อง 9

พ.ศ. 2531 โดราเอมอนได้รับเกียรตินำไปสร้างเป็นบอลลูนขนาดยักษ์ชื่อ "โดราบารุคุง" โดยปล่อยให้ลอยอยู่บนท้องฟ้ามาเป็นเวลานาน 12 ปี และจากนั้นในปี พ.ศ. 2543 ก็ได้มีการสร้างบอลลูนลูกใหม่ขึ้นมาในชื่อว่า "โดราเน็ตสึคิคิว นิโกคิ"

พ.ศ. 2535 ในการประกวดแข่งขันรถพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการรณรงค์ประหยัดพลังงาน ได้มีการผลิตรถพลังแสงอาทิตย์ตามตัวละครโดราเอมอนขึ้นมา เรียกว่า "โซราเอมอน"

พ.ศ. 2540 ในวันที่ 2 พฤษภาคม สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานข่าวการวางจำหน่ายแสตมป์โดราเอมอนที่ประเทศญี่ปุ่น มีสีเขียว ส้ม ชมพู และสีน้ำเงิน โดยมีการต่อแถวรอซื้อตั้งแต่เช้า

ในประเทศญี่ปุ่น มีรถไฟโดราเอมอนอยู่ด้วย โดยเป็นเส้นทางจากอาโอโมริไปฮาโกดาเตะ ตัวโบกี้มีการตกแต่งด้วยตัวละครจากโดราเอมอนทั้งภายนอกและภายใน และมีโบกี้พิเศษสำหรับแฟนคลับโดราเอมอน โดยมีภาพยนตร์การ์ตูน ของที่ระลึกจัดจำหน่าย รวมไปถึงพนักงานต้อนรับสวมหัวโดราเอมอนซึ่งคอยบริการอยู่บนรถไฟ

ข้อมูลจาก วิกิ. และภาพจาก กูเกิ้ล
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่