ทริป เดิน เที่ยว กรุงเทพ - ตลาดไร้คาน ชมรถไฟเก่า วัดอมรินทราราม พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช


เรารู้จัก “ตลาดวัดทอง” หรือ ”ตลาดไร้คาน”  จากโพสเชิญชวนให้ไปเที่ยว "heART market" ของ เครือข่ายท่องเที่ยวภาคประชาสังคม  แต่แทนที่จะไปเที่ยวตามปกติ  จู่ๆ อาเจ้ก็ดันสมัครเป็นแม่ค้าขายม้าห้อในงานซะอย่างงั้น

ด้วยความอยากรู้ว่าหน้าตาสถานที่เป็นยังไง ของกินเจ้าถิ่นอร่อยขนาดไหน  ทริปนี้เลยเกิดขึ้น  บทความแบ่งเป็นสองช่วงเช่นเคยครับ  ช่วงแรกข้อมูลเน้นๆ ส่วนผมโม้จะอยู่ข้างล่าง


ใครอยากชิมม้าห้อฝีมืออาเจ้ หรือกินอาหารโบราณอื่นๆ เชิญได้ที่งาน "heART market" ณ. ตลาดไร้คาน 16 - 17 กันยายน 2560 เวลา 09.00-15.30 น. จ้า  ถ้าบอกว่ามาจากหมีเป็ด อาเจ้แจกม้าห้อฟรีเลยเอ๊า



รายละเอียดงาน https://goo.gl/ErHStF

===================================================
ข้อมูล
===================================================


พิกัด
---------------------------------------------
ตลาดไร้คาน (ตลาดวัดทอง) - 13.7624719  100.4784616
วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร - 13.763302  100.4768251
รถจักรไอน้ำ สถานีรถไฟธนบุรี - 13.7605795  100.4788689
วัดอมรินทราราม - 13.7604102  100.4828815
พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช - 13.7586458  100.4852137
ตลาดวังหลัง - 13.7560803  100.4863878




ทริป
---------------------------------------------
ทริปเดินเที่ยวแบบที่ควรจะเป็น
9.00 - ตลาดวัดทอง  ชิมอาหารโบราณ
10.15 - วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร
11.00 - รถจักรไอน้ำ สถานีรถไฟธนบุรี
11.30 - วัดอมรินทราราม
12.30 - ตลาดวังหลัง ถ้าไม่ชอบเบียดเสียด ศูนย์อาหารศิริราชก็เป็นตัวเลือกที่สะดวกดีครับ
13.30 - พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช ข้างในห้ามถ่ายรูป แต่การจัดแสดงเจ๋งมาก ห้ามพลาด


เดินเละเทะแบบหมีเป็ด...
12.00 - ตลาดไร้คาน (ตลาดวัดทอง)  ถึงช้าขนาดนี้ ตลาดวายหมดแล้วฮะ
13.15 - สถานีรถไฟธนบุรี
14.00 - วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร
15.00 - วัดอมรินทราราม  
15.30 - พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช
16.30 - ตลาดวังหลัง
17.30 - กินศูนย์อาหารในศิริราช  เราซื้อขนมก็อกๆ แก๊กๆ กินที่ตลาดวังหลัง  แต่มากินจานหลักที่นี่



บรรยากาศในศูนย์อาหาร






ที่จอดรถ
---------------------------------------------
1)
จอดรถด้านหลังวัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร

2)
อีกจุดที่ “อาจ” จอดรถได้ คือในบริเวณโรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม  
ที่ใช้คำว่า “อาจ” เพราะแบบนี้ครับ
ที่นี่อาจปิด ไม่ให้เข้าจอด ถ้ามีคนมาเล่นกีฬากันเยอะๆ  และเวลาปิดประตูไม่แน่นอน ควรถามพี่เจ้าหน้าที่ให้แน่ใจจ้า

3)
จอดรถบริเวณตลาดสถานีรถไฟธนบุรี ที่นี่อาจต้องเสียค่าจอดเล็กน้อย และต้องเดินย้อนกลับไปที่ตัวตลาดไกลขึ้นนิดหน่อย






สถานที่ท่องเที่ยว
---------------------------------------------
ตลาดไร้คาน (ตลาดวัดทอง)

เวลา   9.00 - 16.00  ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ สัปดาห์ที่ 1 และ 3 ของเดือน  จากประสบการณ์ ราวเที่ยงตลาดก็วายแล้วครับ


ตลาดอายุกว่า 100 ปี ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกน้อย ในชุมชนบ้านบุ (ซึ่งขึ้นชื่อด้านการทำขันลงหิน)  มีความโดดเด่นที่โครงสร้าง คือไม่มีคานและเสากลาง จนกลายมาเป็นที่มาของชื่อ “ตลาดไร้คาน” ซึ่งก่อนหน้านี้มันถูกทิ้งร้าง แต่ชาวบ้านบุกำลังช่วยกันฟื้นฟูให้มันกลับมามีชีวิตอีกครั้ง  

มาถึงนี่แล้วอย่าลืมชิม “เรไร” ขนมโบราณ ที่ผมก็เพิ่งเคยเห็น รสหวานมันเค็มปะแล่ม หอมแบบไทยๆ




วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร

เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมทีชื่อวัดทอง เป็นสถานที่ที่พระเจ้าตากสิน ใช้ประหารชีวิตเชลยศึกพม่า เพื่อความปลอดภัยของพระนคร
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงบูรณะวัดแห่งนี้ใหม่ทั้งหมด และพระราชทานนามให้ใหม่ว่า "วัดสุวรรณาราม"  ส่วนภาพเขียนฝาผนังถูกวาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยจิตรกรชั้นครูถึงสองท่าน ถือว่างดงามที่สุดในยุคต้นรัตนโกสินทร์

ที่นี่ถูกใช้เป็นสถานที่พระราชทานเพลิงศพเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5

อ้างอิง
https://th.wikipedia.org/wiki/วัดสุวรรณารามราชวรวิหาร
http://oknation.nationtv.tv/blog/supawan/2012/07/09/entry-1




สถานีรถไฟธนบุรี

สถานีธนบุรีที่เราเห็นในปัจจุบัน ในอดีตคือสถานีบางกอกน้อย  ส่วนสถานีที่เราให้ความสนใจคือ สถานีธนบุรีดั้งเดิม ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไป 800 เมตร  ถึงแม้ว่าจะยกเลิกการใช้งานไปในปี 2546 แต่คงใช้เก็บรถจักรไอน้ำซึ่งยังใช้งานได้ และใช้เป็นโรงซ่อมรถไฟ

สถานีธนบุรีดั้งเดิมยังถูกใช้ในนวนิยายเรื่องคู่กรรม โดยเป็นฉากจบและสถานที่โกโบริเสียชีวิต

อ้างอิง
https://th.wikipedia.org/wiki/สถานีรถไฟธนบุรี_(เดิม)#cite_note-2




วัดอมรินทราราม

เดิมทีชื่อ “วัดบางว้าน้อย” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาประมาณปี 2200  วัดแห่งนี้ได้รับการบรูณะต่อเติมในสมัยรัชกาลที่ 1  และได้รับชื่อใหม่ว่า “วัดอมรินทราราม”

วัดแห่งนี้ได้รับการทำนุบำรุงอย่างดีจากเจ้านายหลายพระองค์  ไม่ว่าจะเป็นภูเขาเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธฉายจำลอง  มณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง  กุฏิ  วิหาร  หอไตร และหอระฆัง  แต่น่าเสียดายที่มันได้รับความเสียหายอย่างหนักจากการทิ้งระเบิดในสงครามโลกครั้งที่สอง  จึงเหลือสิ่งก่อสร้างเท่าที่เห็นในปัจจุบัน

อ้างอิง
http://www.lib.su.ac.th/web-temple/index.php?option=com_content&view=article&id=45&Itemid=42
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9560000137898




พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช

เวลา    
     • 10.00 - 17.00  จันทร์, พุธ - อาทิตย์  (ซื้อบัตรได้ถึง 16.00 แต่ชมได้ถึง 17.00)
     • พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์  10.00 - 16.00  จันทร์, พุธ - ศุกร์
ราคา  
     • ผู้ใหญ่ อายุ 18 ปีขึ้นไป  80 บาท
     • เด็ก อายุไม่เกิน 18 ปี  25 บาท
อื่นๆ
     • ห้ามถ่ายรูป


พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช ประกอบไปด้วยอาคารสองหลัง คือตึกอดุลยเดชวิกรม และตึกกายวิภาคศาสตร์  มีการจัดแสดง 5 ส่วนดังนี้

ตึกอดุลยเดชวิกรม
     • พิพิธภัณฑ์พยาธิวิทยาเอลลิส
     • พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์  สงกรานต์ นิยมเสน
     • พิพิธภัณฑ์ปรสิตวิทยา

ตึกกายวิภาคศาสตร์
     • พิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์และห้องปฏิบัติการ สุด แสงวิเชียร
     • พิพิธภัณฑ์กายวิภาค-คองดอน

ก่อนอื่นต้องซื้อบัตรที่ชั้น 2 ของตึกอดุลยเดชวิกรม เก็บไว้ให้ดีเพราะยังต้องใช้อีก อย่าลืมแวะไปดูศพของซีอุย มนุษย์กินคนที่โด่งดังในอดีต  จากนั้นเดินไปชมพิพิธภัณฑ์กายวิภาค-คองดอน ที่ตึกกายวิภาคศาสตร์  

ส่วนพิพิธภัณฑ์ก่อนประวัติศาสตร์ เวลาเปิดแสดงไม่ค่อยเป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวเท่าไหร่  มีโอกาสสูงที่คุณจะพลาดเหมือนผม  แต่ไม่น่าเสียดายครับ เท่าที่เปิดก็คุณภาพคับแก้วแล้ว

ที่นี่ยังมีอีกพิพิธภัณฑ์ คือพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน  แต่เราถึงค่อนข้างเย็น เลยไม่ได้เข้าไป (ถ้าคุณอยากเที่ยวสองพิพิธภัณฑ์ ราคาบัตรจะเพิ่มเป็น 150 บาท สำหรับผู้ใหญ่  และ 50 บาท สำหรับเด็ก)

อ้างอิง
http://www.vcharkarn.com/varticle/38645




ตลาดวังหลัง

ตลาดที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นพระราชวังในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ในสมัยรัชกาลที่หนึ่ง  ก่อนหน้านี้ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ไม่คึกคักอย่างในปัจจุบัน

อ้างอิง
http://www.9anant.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=539393471
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่