ปรับเปลี่ยนสายรถเมล์ ประชาชนได้อะไร เมืองได้อะไร?

กระทู้คำถาม
นงลักษณ์ ดิษฐวงษ์
นักวิชาการผังเมือง

จากข่าวปรับเปลี่ยนเลขสายรถเมล์ใหม่ (หรือ Reroute) ที่เป็นกระแสของชาวเมืองช่วงนี้ ตอนแรกเข้าใจว่าเปลี่ยนเอาตัวอักษรภาษาอังกฤษมาร่วมให้ชาวต่างชาตินักท่องเที่ยวเข้าใจ ภายใต้กระแส AEC ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ที่ช่วงนี้เงียบๆ ไป) แล้วก็ค่อยถือโอกาสขึ้นราคาค่าโดยสาร แก้ขาดทุนสะสมของ ขสมก. ด้วยวิธีการที่ง่ายที่สุด?

อยากรู้เลยลองค้นหาข้อมูลเพิ่ม ก็ได้มาว่าการเปลี่ยนหมายเลขปรับสายรถเมล์ ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนเลขเบอร์เอาตัวอักษรภาษาอังกฤษเข้าไปในเลขหมายสายรถเมล์ แต่เป็นการปรับสายการการเดินรถ ตัดเส้นทางเดินรถให้สั้นลง ตัวอักษรภาษาอังกฤษย่อมาจากตัวย่อของสี G มาจาก Green สีเขียว และสีเขียวที่ว่าคือสีที่ใช้แทนเขตการเดินรถของ ขสมก. (สีเขียว เขตการเดินรถที่ 1 และ 2 R=Red สีแดง แทนเขตการเดินรถที่ 3 และ 4 Y=Yellow สีเหลือง แทนเขตการเดินรถที่ 5 และ 6 B=Blue สีน้ำเงิน แทนเขตการเดินรถที่ 7 และ 8 E=Express way สายนี้ขึ้นทางด่วน)

อักษรภาษาอังกฤษย่อมาจากชื่อสีในภาษาอังกฤษ แต่สีนี้มาจากการแบ่งเขตพื้นที่ในการเดินรถเมล์ การเปลี่ยนสายรถเมล์ไม่ใช่เปลี่ยนแค่เบอร์เลขสายรถเมล์ แต่มีการปรับเส้นทางการเดินรถด้วย นับเป็นความพยายามในการที่จะปฏิรูป/ปรับปรุงจัดระบบรถเมล์ของไทยครั้งใหญ่จริงๆ

แต่การสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคมอาจจะไม่พอ ประกอบกับสังคมไทยอุดมดราม่า ไม่ค่อยหาเหตุหาผล หรือสนใจที่จะค้นหาที่มาที่ไป หรือการวิพากษ์ในเชิงเหตุผลเพื่อให้เกิดการพัฒนา ช่วยกันปรับปรุงให้ระบบมันดีขึ้นมากกว่าไหวไปตามอารมณ์ แค่ว่าทำให้คนงง ทำให้คนสับสน ทำให้ยุ่งยาก สิ่งที่ควรคือ เสนอสิว่าควรทำอย่างไรไม่ให้งง ควรทำอย่างไรไม่ให้สับสน ควรทำอย่างไรไม่ให้ยุ่งยาก พร้อมกับทำความเข้าใจว่า ทำไมเพราะอะไร ขสมก.จึงคิดใหญ่ เล่นใหญ่มาก ที่จะเปลี่ยนแปลงความเคยๆ เดิมๆ ของคนใช้รถเมล์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ปรากฏดราม่าต่างๆ นานาพาเหรดกันมารายวัน โดยไม่มีใครวิพากษ์หรือหาเหตุที่ ขสมก.พยายามทำอยู่ และไม่ลองหาผลดีที่จะเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงนี้

สิ่งที่อยากให้คิดเพิ่มต่อไปอีกในกรณีนี้ นอกจากการสื่อสารสาธารณะที่ทำได้ไม่พอแล้ว สิ่งที่ต้องการให้คิดต่อไปอีกคือ การคิดให้ครบถ้วน “อย่างเป็นระบบ” ในประเด็น “นโยบายสาธารณะด้านการขนส่งเมือง”

ระบบการขนส่งเมืองมีความสำคัญมากในการพัฒนาเมือง มีผลทำให้เมือง “โต” หรือ “ตาย” ในระบบการขนส่งมวลชนของเมือง ไม่ใช่มีแค่รถไฟฟ้า แต่ต้องมีรถเมล์เข้าไปร่วมด้วย รถเมล์ BRT เป็นตัวอย่างของการออกแบบขนส่งเมืองที่ดี เสียดายที่คิดไม่สุด หากกำจัดอุปสรรคเรื่องสถานีจุดจอดการเชื่อมต่อไปสู่การเดินทางอื่นที่เกี่ยวกัน พัฒนาต่อเพิ่มขยายเส้นทาง ควบรวมคิดร่วมไปกับระบบของรถเมล์สายอื่นๆ เราจะได้ขนส่งมวลชนอีกทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์การเดินทางของคนในเมือง ที่มีความยืดหยุ่นในการปรับเส้นทางการเดินรถดีกว่าระบบราง ส่งต่อคนเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนหลัก หรือเป็นสามารถขนส่งมวลชนหลักของเมืองที่ทำได้เร็วทำได้เลย ไม่ต้องลงทุนมหาศาลอย่างรถไฟฟ้า ราคาการให้บริการรถไฟฟ้าต่ำสุดอยู่ที่ 15 บาท (เช่น จากชิดลมไปสยามระยะเดินได้สบายๆ) ถ้าไกลหน่อยจากหมอชิตข้ามไปบางหว้า ฝั่งธนฯ 52 บาท ไม่แพงสำหรับใครหลายคน แต่กับคนอีกกลุ่มหนึ่งถ้าต้องจ่ายไป-กลับวันละ 100 บาท ขณะที่เงินได้วันละ 300 บาทคงไม่ใช่ละ ต่อให้เกิดรถไฟฟ้าครบทุกสายตามแผนการก่อสร้างที่รัฐวางไว้ แต่ก็จะมีคนรายได้น้อยกลุ่มนี้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าในการเดินทางประจำวันได้แน่นอน

รถเมล์และรถไฟเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีราคาถูก ซึ่งอันที่จริงแล้วขนส่งมวลชนเมืองควรเป็นสวัสดิการหนึ่งที่รัฐ “ต้อง” จัดให้ประชาชน ทำไมรัฐต้องจัดให้ เพราะขนส่งมวลชนเมืองเป็นความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของคนเมืองในปัจจุบันที่ต้องมีการเดินทางประจำวัน

ปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นความจำเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพยาบาล (ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง) การศึกษา เหล่านี้ทั้งหมดต้องย้ำว่า ณ จุดที่รัฐพึงจัดให้ประชาชนนั้นเป็นเพียง “ขั้นพื้นฐาน” เพราะอะไรจึงเป็นสวัสดิการที่รัฐ “ต้อง” จัดให้แก่ประชาชน อะไรๆ ก็ให้รัฐจัด อะไรก็ขอต่อรัฐ มาเอาภาษีของคนกลุ่มหนึ่งไปประเคนให้คนอีกกลุ่มหนึ่งอีกแล้วหรือ ไม่ใช่เช่นนั้นแน่นอน แต่เป็นเพราะประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ล้วนมีความสำคัญต่อบ้านต่อเมือง กลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มหนึ่งที่เป็นกำลังสำคัญของเมือง ในการสร้างผลิตภาพของเมือง เป็นกลุ่มคนที่เป็นรากเป็นฐานของเมือง เป็นกลุ่มคนที่ให้บริการแก่เมือง ในห้างหรูๆ ไม่ได้มีแค่ร้านหรูๆ ในร้านอาหาร ร้านขายของในห้าง ภายใต้ภาพความหรูหรานั้น มีพนักงานขาย พนักงานเสิร์ฟ คนครัว คนปั้นซูชิ คนทำความสะอาด ข้างนอกรอบๆ ห้างก็มีคนขายอาหารขายส้มตำข้างถนน คนกวาดขยะ เราจะเอาพวกเขาไปอยู่ตรงส่วนไหนของเมืองกัน

ด้วยรายได้ที่น้อย ทางเลือกในการใช้ชีวิตของคนกลุ่มนี้จึงมีน้อยตามไปด้วย สวัสดิการต่าง ๆ ที่รัฐจัดให้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของพวกเขาลงได้ และเมื่อภาระค่าใช้จ่ายของพวกเขาลดลง เงินในกระเป๋าของเขาก็จะเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อกำลังซื้อ หรือกำลังในการผลิต และจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตในระบบรวมของเมืองให้สูงขึ้นไปด้วย และเขาก็คงจะเข้าร้านสะดวกซื้อได้ถี่ขึ้นล่ะค่ะ

ว่าจะแค่พูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสายรถเมล์แบบภาษาชาวบ้าน ที่ไม่ใช่ภาษานักวิชาการผังเมือง ไหงมาลงที่กลุ่มคนรายได้น้อยก็ไม่รู้ แต่เพราะเขาเป็นกำลังหลักเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเมือง และเราต้องพัฒนาเมืองแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เราถึงต้องคิดเรื่องระบบขนส่งมวลชนเมืองแบบให้ครบถ้วนให้เป็นระบบตอบโจทย์คนทุกกลุ่มในเมืองจริง ๆ

Credit:
ปรับเปลี่ยนสายรถเมล์ ประชาชนได้อะไร เมืองได้อะไร
https://prachatai.com/journal/2017/08/72803
Published on Mon, 2017-08-14 22:11
เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟซบุ๊ก NOY DISTHAWONG [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่