แชร์ประสบการณ์การเรียนต่อ ป.โท ในออสเตรเลียจนกระทั่งได้มาเป็นอาจารย์จำเป็นที่มหาลัยในนครเมลเบิร์น

สวัสดีครับเพื่อน ชาวพันทิป

พอดีผมเห็นเพื่อนสนิททั้งสองคนมีกระทู้แบบมีสาระแบบจริงจังในพันทิป ช่วงนี้จะเปลี่ยนงาน มีความว่างๆ ผมก็เลยอยากจะมาเล่ากะเค้าบาง ซึ่งสองกระทู้ที่ถูกกล่าวถึงนั่นก็คือ

แชร์ประสบการณ์ฝึกงานในบริษัท Mobile Application ระดับโลก [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

แชร์ประสบการณ์การเด็กทุน ป.โท สวีเดน ฝึกงานที่ Ericsson และได้เป็นวิศวกรที่ Volvo Cars [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

สำหรับท่านใดที่ยังไม่เคยอ่านก็รบกวนคลิ๊กเข้าไปดูหน่อยแล้วกันนะครับ เชื่อว่าคงจะได้ประโยชน์ไม่น้อยเลยทีเดียว และสำหรับกระทู้นี้ผมจะมาเล่าประสบการณ์จากนักศึกษาจนเป็นอาจารย์ที่เมืองเมลเบิร์นประเทศออสเตรเลียครับ โดยการเล่าถึงประสบการณ์ในครั้งนี้ไม่ได้มีเจตนาในการโอ้อวดแต่อย่างใด แต่อยากจะเล่าเพื่อเป็นกำลังใจ… อะไรก็เกิดขึ้นได้ครับ

กระทู้นี้เป็นกระทู้เล่าเรื่องกระทู้แรกจริง ๆ ถ้าเกิดรูปเยอะไป หรือเขียนอะไรผิดพลาดไปก็ขออภัยไว้ก่อนแล้วกันนะครับ

ภาพถ่ายเมืองเมลเบิร์นกับแม่น้ำ Yarra ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านเมือง

แนะนำตัวกันก่อน
ตัวผมเองเพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย RMIT ที่เมลเบิร์น ออสเตรเลียครับผม ก่อนหน้านั้นจบการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร(SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เหมือนกับเพื่อนทั้งสองเจ้าของกระทู้ข้างต้น หลังจากจบก็ทำงานทำการเป็นโปรแกรมเมอร์อยู่ปีกว่าก่อนที่จะตัดสินใจเรียนต่อครับ ปัจจุบันทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์แล้วก็อาจารย์ไม่ประจำ(Casual Academic) ให้กับมหาวิทยาลัย RMIT ครับ

ทำไมต้องเมลเบิร์น
ความจริงก่อนจะมาก็ไม่ได้คิดมากอะไรเท่าไหร่ จริง ๆ ก็สองจิตสองใจว่าจะมาที่นี่ดีหรือเปล่าหรือจะยื่นมหาลัยที่ประเทศอื่นเพราะเพื่อน ๆ ส่วนใหญ่จะไปอังกฤษ อีกทั้งเพื่อนสนิทอีกสองคนก็ยังอยู่ที่สวีเดน แต่ด้วยความฝันที่อยากจะทำหาประสบการณ์ที่ต่างประเทศแบบไม่ต้องออกแรงมากเพราะเรียนจบที่นี่รัฐบาลเค้าใจดีให้อยู่ต่ออีกสองปี และดีกรีความน่าอยู่อันดับหนึ่งของโลกจากนิตยสาร The Economist ถึง 7 ปีซ้อนก็เลยทำให้หวยมาออกทีเมืองนี้


ตอนแรกก็มองซิดนีย์เอาไว้บ้างแต่จากประสบการณ์อันโชคโชนเรื่องการแย่งกันกินแย่งกันใช้ในเมืองกรุงแล้วก็ขออยู่ห่างๆ บรรยากาศแบบนั้นสักพักจะดีกว่า

เมลเบิร์นช่วงสิบโมงในวันอาทิตย์
สำหรับเมลเบิร์นนั้น เรียกได้ว่าเป็นเมืองที่เงียบถึงเงียบมากหากเทียบกับเมืองที่ไม่เคยหลับไหลอย่างกรุงเทพมหานครหรือซิดนีย์ ห้างร้านส่วนใหญ่ปิดตั้งแต่หกโมงเย็นในวันธรรมดาและอาจจะปิดดึกหน่อย(ประมาณสามทุ่มในวันพฤหัสกับศุกร์) ส่วนร้านอาหารส่วนมากจะปิดประมาณสี่ทุ่มโดยประมาณ

หลังจากการมาถึงได้สักหนึ่งเดือนความตื่นเต้นที่มีก็เริ่มจางไป ความเหงาเข้ามาแทนที่ เหงาถึงขั้นโทรกลับไปร้องให้กับที่บ้านจนถึงขั้นจะกลับไทยกันเลยทีเดียว ไหนใครบอกออสเตรเลียมีแต่คนไทยทำไมเราไม่เห็นจะเจอใครเลย

อากาศชวนเหงาขนาดไหน ถามใจดู??

ความจริงแล้วคนไทยหนะมีครับแต่ถ้าถามว่าเยอะหรือไม่ผมก็พูดได้ไม่เต็มปาก หากจะบอกว่าคนไทยมาเรียนภาษาที่นี่มีเยอะพอสมควรก็คงไม่ผิดสักเท่าไหร่ แต่ถ้าในระดับมหาลัยแล้วเรียกได้ว่าน้อยเต็มทีครับเรียกได้ว่าเวลาให้เพื่อนเดาว่ามาจากไหนทีไรก็ไม่เคยมีใครเดาได้ถูกเพราะคนไทยมาเรียนกันน้อยจริง ๆ เลยทำให้วงสังคมของผมช่วงแรกที่มาถึงมันแคบมาก อีกทั้งอากาศ วัฒนธรรม และมุกที่ฝรั่งเล่นไม่ค่อยจะอินยิ่งทำให้เหงาไปกันใหญ่ แต่ก็เหงาอยู่ได้ไม่นานหรอกครับเพราะโดนพายุการบ้านจากมหาวิทยาลัยเล่นงานเอาซะก่อน

บางทีมันก็ดูเงียบเกินไปจริง ๆ


สองปีกับการกลับมาเป็นนักเรียนอีกครั้ง
สำหรับการกลับมาเรียนมหาลัยในระดับปริญญาโทในครั้งนี้เรียกได้ว่าผมตั้งใจมาเต็มที่ครับ เพราะเข็ดจากผลการเรียน ป.ตรี ที่เมืองไทยทำให้การหางานที่เมืองไทยทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร บริษัทใหญ่หลายที่กำหนดเกรดไว้อย่างชัดเจนเลยทีเดียวเชียวทำให้ผลพลาดโอกาสทางด้านการงานไปหลายที่

การเรียนการสอนในประเทศออสเตรเลียทั้งหมดนั้นจะถูกสอนด้วยภาษาอังกฤษครับซึ่งก็ทำให้เบาใจไปได้ในระดับหนึ่งเพราะโดยส่วนตัวสามารถใช้ภาษาในระดับที่อ่านเขียนได้ แต่สิ่งที่ทำให้ชิวิตผมเหน็ดเหนื่อยมากถึงมากที่สุดในช่วงแรกคือระบบการเรียนการสอนของมหาลัยที่นี่ครับ ซึ่งในแต่ละวิชา ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยคลาสย่อยๆ อยู่ทั้งหมดสามคลาสด้วยกันเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ได้ครบทุกด้าน ก็จะประกอบไปด้วย

คลาส lecture - ในคลาสนี้ การเรียนการสอนก็จะคล้ายกันกับเมืองไทยครับ โดยที่นักศึกษาก็จะต้องเข้าไปฟังบรรยาย โดยแต่ละวิชาก็จะมีเทคนิคการบรรยายแตกต่างกันไป โดยปกติแล้วผู้บรรยายก็จะเป็นอาจารย์หรือนักวิจัยที่ทำงานให้กับมหาลัย หรืออาจจะเป็นบุคคลที่มาจากภาคธุรกิจที่มีประสบการณ์ในวิชานั้น ๆ

คลาส tutorials - ในคลาสนี้นักเรียนทุกคนจะต้องเข้ามานั่งคุยกันครับ ปกติแล้วการสอนจะแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่ม ๆ คละกันไปในแต่ละครั้งเพื่อให้ได้ความหลากหลายทางความคิด โดยที่หัวข้อในการพูดคุยนั้นจะเป็นเนื้อหาที่ต่อยอดมาจาก lecture นั่นเอง โดยปกติแล้วนักเรียนจะถูกแจ้งหัวข้อเหล่านี้ตั้งแต่วีคแรกของการเรียนครับ วิชาไหนโหด ๆ หน่อยก็จะแจกเอกสารที่ต้องอ่านทั้งหมดมาตั้งแต่ต้นเทอมเลย แต่ใครจะแบ่งอ่านยังไงก็แล้วแต่เทคนิคของแต่ละคนครับ

พื้นที่ว่างตามหรือโต๊ะนั่งในมหาลัยเป็นสถานที่ ๆ ไม่เคยว่างครับ มาสายก็ไม่มีที่นั่งกันไป
ที่สำคัญคือต้องอ่านก่อนเข้ามาเรียนคลาสนี้ ไม่อย่างนั้น... คุณจะคุยกับเค้าไม่รู้เรื่อง ในคลาสนี้จะไม่การบรรยายใดๆ เกิดขึ้นทั้งสิ้นครับแต่ว่าการเข้ามาเรียนจะทำให้เกิดการถกเถียงถึงปัญหาที่ได้ถูกออกแบบเอาไว้เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาเพิ่มเติมนั่นเอง หลายๆ ไอเดียที่เอาไปเขียนรายงานผมก็ได้จากคลาสนี้เช่นเดียวกัน

คลาส practical - คือคลาสที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้นักเรียนเอาความรู้จากสองคลาสแรกไปใช้แก้ปัญหาจริงในโลกครับ ซึ่งปัญหาที่เอามาให้แก้กันส่วนใหญ่ก็จะมาจาก case study ของบริษัทต่างๆ ทั่วทุกมุมโลกครับ ซึ่งคำตอบส่วนใหญ่ที่ได้จากคลาสนี้จะเอาไปใช้ในการทำงานส่งได้เป็นอย่างดี


สำหรับการบ้านหรือโปรเจคแทบทั้งหมดจะเป็นงานกลุ่มซึ่งก็ส่วนมากจะได้จับกลุ่มกันเอง เด็กจีนก็จะจับกลุ่มกันเอง อินเดียก็จะไม่ค่อยมีใครต้องการเพราะส่วนใหญ่จะติดทำงานข้างนอกไม่ค่อยช่วยชาวบ้านซะเท่าไหร่จึงลงเอยด้วยการเกาะกลุ่มกันเองหรือไม่ก็รอเป็นตัวแถม ส่วนนักศึกษาไทยอย่างผมก็แล้วแต่บุญแต่กรรมที่ทำมาแต่ปกติก็จะจับกลุ่มกับคนเดิม ๆ ที่ทำงานด้วยกันแล้วรู้สึกโอเคแล้วก็ไปจอยกับชาวบ้านเค้าอีกที

การบ้านหรือโปรเจ็คทุกวิชาถูกออกแบบมาเพื่อให้นำความรู้ที่เพิ่งเรียนมาไปใช้ นักเรียนจะรู้ตั้งแต่แรกว่าคะแนนแต่ละส่วนคิดเป็นกี่ % ของงานทั้งหมด นอกจากนี้ยังรู้อีกว่าต้องเริ่มทำงานจากจุดไหนเพราะใบสั่งงานจะบอกไว้อย่างชัดเจนมาก ว่าแต่ละจุดต้องการเทสอะไรนักเรียนและควรที่จะทำงานยังไงเพื่อให้ได้คะแนนสูง ซึ่งสิ่งนี้เป็นอะไรที่ดีงามมากเพราะทำให้ไม่เสียเวลากับอะไรที่ไม่ควรเสียอีกทั้งยังได้คนคว้าอะไรที่ควรจะรู้จริง ๆ ซึ่งถ้าเราทำออกมาได้ตามเป้าแล้วคนตรวจก็จะให้คะแนนเต็มได้ไม่ยากและถ้าหากไม่เต็มทุกคะแนนที่ถูกหักจะถูกคอมเมนท์ไว้อย่างละเอียดว่าทำไมถึงหักและที่ดีควรจะเป็นเช่นไร

ส่วนการสอบที่นี่เรียกกันได้ว่าชิลมาก ๆ ถ้าเข้าใจเนื้อหาที่เรียนมาและทำการบ้านเองก็เรียกได้ว่าผ่านได้แบบไม่ยากเย็นนักเพราะว่าไม่ต้องจำอะไรเลย สูตรทุกสูตรรวมไปถืงอะไรต่อมิอะไรที่จำแล้วหนักหัวมีให้เปิดในห้องสอบทั้งหมดท้ายชุดคำถาม ยิ่งไปกว่านั้นก่อนสอบจะมีตัวอย่างข้อสอบมาให้ลองทำกัน ช่วยให้เข้าใจโครงสร้างของข้อสอบและรู้ว่าควรอ่านเน้นจุดไหน ส่วนสถานที่สอบเรียกได้ว่าแฟนซีสุด ๆ เพราะมหาวิทยาลัยที่นี่ไม่ได้จัดสอบกันตามห้องเหมือนที่เมืองไทยครับ แต่จะไปเช่าสถานที่ข้างนอกซึ่งมีห้องขนาดใหญ่แล้วให้นักเรียกนั่งสอบเป็นพัน ๆ คนพร้อมกัน บางมหาลัยก็เช่าสนามกีฬา บางมหาลัยก็เช่า exhibition center ในการจัดสอบ ส่วนมหาลัยผมชิคสุดด้วยการจัดสอบที่สนามแข่งม้าครับผม

ภาพสถานที่สอบจากการสอบวันสุดท้ายครับผม

ห้าสิบ ห้าสิบ คือสัดส่วนระหว่างคะแนนเก็บจากโปรเจ็คหรือการบ้านและคะแนนสอบหรือบางวิชาก็มีแต่การบ้านทำให้ไม่ต้องสอบกันเลยทีเดียว จะเห็นได้ว่าการเรียนการสอนที่นี่เน้นให้นักเรียนเอาความรู้และเครื่องมือที่ได้เรียนมาไปใช้งาน อันไหนไม่ได้ใช้อาจจะมีสอนเพื่อให้นักเรียนมีไอเดียแต่จะไม่ถูกนำเอาไปวัดผล มีอยู่หนึ่งวิชาที่เนื้อหาเกือบครึ่งที่ผมถูกสอนแต่ไม่ได้ถูกนำไปออกข้อสอบเพราะเป็นสิ่งที่ควรรู้ไว้และไม่ใช่สิ่งที่นักศึกษาจะใช้เวลาแค่สองชั่วโมงในห้องสอบหาคำตอบได้(เพิ่งมารู้ตอนหลัง)

เราอาจจะพบเจอการสอนลักษณะแบบนี้ได้ในการเรียนการสอนระดับปริญญาโทในประเทศไทย แต่ที่ออสเตรเลียนักเรียนจะเจออะไรแบบนี้มาตั้งเริ่มเรียนมหาวิทยาลัยกันเลยทีเดียวทำให้เพื่อนมชาวออสซี่ทุกคนจะชินกับอะไรแบบนี้อยู่แล้ว ส่วนตัวผมเองนั้นก็เสียศูนย์ไปสักพักอยู่เหมือนกัน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่