การฝึกซ้อมรับลูกเสิร์ฟในช่วงที่ร่างกายเหนื่อยล้าอ่อนแรง

อยากให้ทีมสต๊าฟโค้ชวอลเล่ย์บอลฝึกซ้อมการรับลูกเสิร์ฟของนักกีฬาแบบเข้มข้น ในช่วงที่ร่างกายเหนื่อยล้าอ่อนแรง คือ

1. ให้นักกีฬาที่ฝึกรับลูกเสิร์ฟไปวิ่งรอบสนามมาก่อน 1-2 รอบ และให้นักกีฬาชายหรือหญิงใครก็ได้ที่เสิร์ฟดี เสิร์ฟหนัก เสิร์ฟส่าย เสิร์ฟรับยาก มาเป็นคนเสิร์ฟ แล้วให้นักกีฬาที่ฝึกรับลูกเสิร์ฟ มารับเสิร์ฟให้เข้าจุดเซตเตอร์โซนให้ได้มากที่สุด โดยให้ฝึกรับติดต่อกันเป็นรอบ ๆ ละ 10 ลูกเป็นอย่างน้อย และต้องรับได้ excellence 8 ลูกเป็นอย่างต่ำ จึงจะถือว่าผ่านการทดสอบ

2. ทำซ้ำในข้อ 1 คือ รับเสร็จ 10 ลูกก็ให้กลับไปวิ่งรอบสนามแล้วมารับลูกเสิร์ฟใหม่อีก 10 ลูก ทำสลับกันแบบนี้ไปเรื่อย ๆ โดยไม่หยุดพัก หรือหยุดพักได้เล็กน้อยแบบตอนแข่งขันที่มี technical timeout การฝึกซ้อมแต่ละครั้งควรใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับเล่น 5 เซตในการแข่งขันจริง เพื่อฝึกให้นักกีฬามีทักษะการรับลูกเสิร์ฟที่แน่นอนและเสถียรไว้ใจได้ แม้ในยามที่ร่างกายเหนื่อยล้าและอ่อนแรงก็ตาม โดยฝึกจนกว่าจะอยู่ตัว และกลายเป็นทักษะติดตัวของนักกีฬาคนนั้นไปเลย

ประโยชน์ที่จะได้คือ

- นักกีฬาจะมีทักษะในการรับลูกเสิร์ฟได้หลากหลายประเภท (เสิร์ฟหนัก เสิร์ฟหยอด เสิร์ฟมุด เสิร์ฟส่าย) มากขึ้น เพราะเราฝึกซ้อมมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

- นักกีฬาจะมีสมรรถนะความแข็งแกร่งของสภาพร่างกายดีขึ้น ทั้งกำลังแขนและกำลังขา ทำให้สามารถควบคุมน้ำหนักและทิศทางการรับลูกวอลเล่ย์บอลให้เข้าจุดเซตเตอร์โซนได้มากขึ้น แม้จะอยู่ในสภาพร่างกายที่เหนื่อยล้าก็ตาม

- นักกีฬาสามารถยืนระยะเล่นเกมยาว 5 เซตติดต่อกันได้หลายแม็ทช์ได้โดยไม่หมดแรงง่าย ๆ (เพราะตอนฝึกซ้อม มีการวิ่งรอบสนามสลับกับรับลูกเสิร์ฟมาเยอะแล้ว) อีกทั้ง สามารถฟื้นตัวเร็วพร้อมที่จะเล่นต่อในวันรุ่งขึ้นได้ทันที


วลีเตือนใจ

"ยอมซ้อมโหด เล่นจริงสบาย ดีกว่า ซ้อมง่ายดาย แล้วแพ้ซ้ำซาก"   

ที่มาของข้อเสนอแนะเกิดจาก การแพ้ซ้ำซากให้กับทีมญี่ปุ่น ทั้ง ๆ ที่ความสามารถของนักกีฬาไทยของเราจริง ๆ แล้วสู้ได้ สกอร์ในเซต 3 4  และ 5 ที่เกิดขึ้น 25-16   25-16  และ  15-7  มันฟ้องว่า เราทำอะไรเขาไม่ได้ เมื่อนักกีฬาตัวจริงของเราหมดแรง ทักษะต่าง ๆ ที่เคยทำได้ดีตอนเซต 1 และ 2 ก็เริ่มเป๋ ส่วนตัวสำรองเลเวลก็ยังไม่ถึง เปลี่ยนตัวลงมาก็ช่วยอะไรไม่ได้ อาจจะต้องพิจารณาหานักกีฬาตัวสำรองเพิ่มเติม หรือไม่ก็ต้องรอ อร ปู แนน หายดีกลับมาร่วมทีมลุยกับญี่ปุ่นอีกสักตั้งหนึ่ง ไม่งั้นก็ต้องทนดูหนังซ้ำที่มีบทสรุปตอนจบเหมือนเดิม

สู้โว้ย !!! ทีมวอลเล่ย์บอลหญิงทีมชาติไทย 2017

ฝากคนที่มีโอกาสเข้าถึงทีมสต๊าฟโค้ชวอลเล่ย์บอลหญิงทีมชาติไทย ช่วยนำข้อเสนอแนะนี้ไปให้เขาพิจารณาด้วย ส่วนรูปแบบและวิธีการฝึกซ้อมจะเป็นอย่างไรก็สุดแท้แต่ทีมสต๊าฟโค้ชจะเห็นสมควร ขออย่างเดียวคือ ขอให้แก้ไขจุดอ่อนเรื่องพอนักกีฬาหมดแรง ฟอร์มการเล่นเริ่มแกว่ง ให้ได้ก็พอ

ขอบคุณครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่