ทางออกนอกตำรา
โดย : บากบั่น บุญเลิศ
ผู้ใดชักใย EARTH ลากรายย่อยไปกระทำชำเรา
ขออนุญาตผู้อ่านนำพาท่านไปชมมินิซีรี่ส์ของ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ที่กำลังถูกบันทึกไว้ว่า โตเร็ว เคลมเร็ว แต่จะจบเร็วหรือไม่ ไม่ช้ารู้ผล
ปี 2553 EARTH เข้าจดทะเบียน MAI เมื่อ Backdoor หุ้น APC ธุรกิจหลักชองบริษัท EARTH คือจ้างบริษัทอื่นไปขุดถ่านหินในเหมืองที่อินโดนีเซีย และส่งออกไปขายให้ประเทศต่างๆ ประเทศหลักคือจีนที่เป็นผู้ใช้ถ่านหินหลัก ก่อนจะเซ็นสัญญากับทางการจีนในการจัดส่งถ่านหินให้ ดูแล้วธุรกิจนี้ถือว่าดีมากๆ
แต่เกิดอะไรขึ้นมาไม่มีใครรู้ วันที่ 11 พ.ค 2560 ราคาหุ้น EARTH ร่วง FLOOR แรกจากหุ้นละ 4 บาทเศษลงมามาที่ 2.82 บาท เรียกว่าสร้างความฮือฮาในหมู่นักลงทุน พอวันที่ 12 พ.ค. 2560 ราคาหุ้นร่วง FLOOR ที่สอง ที่ 1.98 บาท หลังบริษัทแจ้งงบไตรมาส 1 ที่ขาดทุน 68 ล้านบาท ตอนนั้นเกิดปรากฎการณ์ซื้อขายหุ้นกันสนั่นลั่นทุ่ง ท่ามกลางข่าวลือว่าผู้ถือหุ้น 2 กลุ่มในตระกูล “คำดี” กับ “พิหเคนทร์” ทะเลาะกันจนมีผู้ถือหุ้นใหญ่เทขายหุ้นสนั่นยังกะมีงานปาร์ตี้ใหญ่
ต่อมาผู้บริหารปฏิเสธว่า ทั้ง 2 กลุ่มไมได้ทะเลาะกันยังรักกันดี และพื้นฐานบริษัทไม่เปลี่ยน ที่ราคาลงเป็นไปตามภาวะตลาด แต่เชื่อหรือไม่ ในวันที่ 12 พ.ค.2560 เจ้าของบริษัท EARTH ทั้ง ขจรพงศ์ คำดี และคนในตระกูลพิหเคนทร์ เทขายหุ้นออกมา 9.59% หรือ 339 ล้านหุ้น เพราะถูกบังคับขาย จากการเอาหุ้นไปค้ำประกันกับโบรกเกอร์ เพื่อกู้เงินก้อนไปลงทุนในธุรกิจอื่น
ผมแกะรอยออกไป พบว่า ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่นำหุ้นหุ้นไปค้ำประกันเงินกู้โบรกเกอร์ 2-3 ราย โดยเอาหุ้นค้ำใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “FUTURES” ที่เป็นสัญญาอ้างอิงกับหุ้นอีกทีหนึ่ง แต่จะมีตัวคูณของกำลังเงินที่กว้างจาก 1 เป็น 10 เท่า ถือเทคนิกออกแรงน้อย แต่สามารถยกของที่มีน้ำหนักมากกว่าคล้ายๆ กับเรื่องคานดีดคานงัด เรียกว่า leverage
นักลงทุนซื้อ Futures ได้โดยตรงกับโบรกเกอร์ ขานึงโบรกเกอร์จะรับขาย Futures แต่อีกขาหนึ่งโบรกเกอร์จะไปซื้อหุ้น EARTH ในตลาดในมูลค่าที่เท่ากันเพื่อปิดความเสี่ยง แต่เรื่องมันไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะการ leverage มันจะเร่งให้เงินของนักลงทุนได้และเสียเร็วกว่าปกติ เช่น ถ้าเราใช้ leverage 4 เท่า หุ้นลงไป 25% ก็เหมือนเราเงินหมดตัวไป 100% แล้ว
โบรกเกอร์จึงตั้งเงื่อนไขว่า ถ้าหุ้น EARTH ลง ไปถึงระดับหนึ่ง โบรกเกอร์ จำเป็นต้องบังคับขายทุกราคา เพราะกลัวว่า เมื่อนักลงทุนหมดตัวจะไม่มีเงินมาจ่ายถ้าหุ้นยังลงไปอีก เมื่อบังคับขายหุ้น EARTH ทุกราคา ราคาก็เลยลงติด FLOOR
นี่จึงเป็นที่มาของหุ้น EARTH ที่ร่วงต่ำเตี้ยติดดิน 2 ฟลอร์ใน 2 วัน เพราะผู้บริหารหาเงินไปใช้ในกิจการอื่นว่ากันว่า วงเงินที่ถูกบังคับขายนั้นเงินหายไป 3,200 ล้านบาท เลยทีเดียว
มหากาพย์หุ้นEARTH ยังไม่จบ วันที่ 7 มิ.ย.2560 บริษัทประกาศผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E 40 ล้านบาท และบอกว่า น่าจะจ่ายคืนหนี้งวดต่อๆไปไม่ได้เช่นกัน..
เพียงแค่นั้น เปิดตลาดวันที่ 8 มิ.ย.2560 ราคาหุ้นร่วง FLOOR ที่สาม เหลือหุ้นละ 1.45 บาท
ตอนนั้น EARTH แจ้งว่า สิ้นไตรมาส 1/2560 EARTH มีหนี้ 23,000 ล้านบาท เป็นหนี้ 1) ตั๋วแลกเงิน 2,382 ล้านบาท 2) ทรัสต์รีซีท 5,308 ล้านบาท 3) แพคกิ้งเครดิต 4,791 ล้านบาท 4) เงินกู้ธนาคาร 4,213 ล้านบาท 5) หุ้นกู้ 5,475 ล้านบาท
ทรัพย์สินของ EARTH เป็น เงินสด 1,238 ล้านบาท ย้ำนะครับเป็นเงินสดแค่นี้ ลูกหนี้การค้า 5,734 ล้านบาท สินค้าคงเหลือ 1,978 ล้านบาท เงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า 8,461 ล้านบาท ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ 1,821 ล้านบาท สิทธิในเหมืองถ่านหิน 8,207 ล้านบาท เงินจองสิทธิในการซื้อสินค้า 7,608 ล้านบาท
เห็นข้อมูลที่ฝ่ายบริหารแจ้งไว้แค่นี้ นักลงทุนรายย่อยทุกคนต่างเล็งผลเลิศ ประกอบกับนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่าต่ำสุดแล้วเมื่อเทียบเคียงจากขนาดสินทรัพย์และขีดความสามารถที่บริษัทมี วันที่ 12-14 มิ.ย.2560 มีนักลงทุนแห่เข้ามาช้อนซื้อหุ้น EARTH อย่างคึกคัก ผลที่ตามมาจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยเพิ่มจากเกือบ 7,000 ราย เป็น 18,000 ราย ตามคำแถลงของ ขจรพงศ์ คำดี ประธานกรรมการบริหาร แต่ข้อมูลที่ผมสืบเสาะจาก ก.ล.ต.ทะลุไป 2 หมื่นราย ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2560 ราคาถูกลาก 1.20 บาท มาปิดที่ 1.46 บาท เรียกว่า ซื้อขายเปลี่ยนมือกันขนานใหญ่วันละ 7-9 พันล้านบาท
วันที่ 15 มิ.ย.2560 บริษัท EARTH แจ้งข่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ได้ผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงิน 717 ล้านบาท เข้าเงื่อนไข ทำให้ต้องถูกเจ้าหนี้หุ้นกู้ 2 ล็อต 5,500 ล้านบาท เรียกหนี้คืนได้ ซึ่งกระทบสภาพคล่องของบริษัทอย่างหนักตลาดหลักทรัพย์ฯจึงขึ้น H และ SP หุ้น EARTH ตั้งแต่นั้นมา ราคาสุดท้ายที่ติดดอยกันจนถึงทุกวันนี้ 1.46 บาท หุ้น EARTH ก็ซื้อขายไม่ได้อีกเลย
วันที่ 23 มิ.ย.2560 ก.ล.ต. สั่งให้ EARTH จัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ หรือ special audit โดยต้องเป็นผู้สอบบัญชีจากบริษัท big4 เพื่อตรวจสอบรายการเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้าและเงินจองสิทธิในการซื้อสินค้าว่า มีจริงหรือไม่? และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบภายใน 30 วัน
วันที่ 21 ก.ค.2560 บริษัท EARTH ขอผ่อนผันการส่งรายงานผล special audit ต่อ ก.ล.ต. ให้ขยายเวลาออกไป ต่อมา กลต.ไม่ผ่อนผันให้ และเร่งให้ EARTH นำส่งรายงานผล special audit โดยเร็ว
ในที่สุดเชือกก็ขาดผึง วันที่ 24 ก.ค.2560 บริษัท EARTH ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัท อ้างว่าอยู่ในภาวะที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ด้วยมูลหนี้ 4.74 หมื่นล้านบาท และทรัพย์สิน 3.18 หมื่นล้านบาท
วันที่ 25 ก.ค. ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ขอให้ EARTH แจกแจงว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นของเจ้าหนี้ไหนบ้าง มีการตั้งด้อยค่าทรัพย์สินหรือไม่ เลยไป 6 วัน วันที่ 31 ก.ค.2560 EARTH ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ มีหนี้เกิดขึ้นมาใหม่ 26,000 ล้านบาท เกิดจากคู่ค้าของบริษัทได้ยื่นฟ้องบริษัท
ก่อนจะปรับบอร์ดใหญ่ใน 4 ส.ค.2560 คราวนี้มีการดึง “สีเขียว” เข้ามาเป็นบอร์ด นั่นคือ พ.อ.คณยศ สุขสงวน เป็นกรรมการ แทน นายพิสุทธิ์ พิหเคนทร์
ยังไม่จบ วันที่ 8 ส.ค.2560 ขจรพงษ์ คำดี แถลงฟ้อง ธนาคารธนชาต เรียกค่าเสียหาย 6 หมื่นล้านบาท ฐานนำความลับของบริษัทไปบอก ธนาคารกรุงไทย จนศาลสั่งอายัดบัญชีเงินฝากของ EARTH ที่ฝากไว้ที่ธนาคารธนชาต 800 ล้านบาท ซึ่งขจรพงศ์บอกว่า ได้เปิดไว้ในใต้อาคารสำนักงานและได้สั่งจ่ายเงินอออกไปยังประเทศจีน แต่ไม่ยอมนำเงินก้อนดังกล่าวมาชำระหนี้ตั่วบีอีที่ครบกำหนดชำระ และต้องใช้วิธีการ “ชักดาบ” ต่อมาธนาคารธนชาตประกาศฟ้องกลับ และจนถึงบัดนาว ธนาคารธนชาตยังไม่ได้รับหมายเรียก และสำเนาคำฟ้องที่ EARTH ฟ้องศาลเลย
ที่น่าพิลึกกึกกือคือ EARTH แจ้งขอร้องต้อศาลขอฟ้องเรียกค่าเสียหายจากธนาคารธนชาตแบบคดีอนาถา ไม่ขอจ่ายค่าธรรมเนียม ฤชา และค่าเงินวางศาล
ผมกำลังพาคุณผู้อ่านไปทวงถามจริยธรรมของผู้บริหาร มิลตัน ฟรายด์แมน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังเขียนไว้เป็นคัมภีร์ว่า “…บริษัทต้องรับผิดชอบต่อลูกจ้างโดยตรง และความรับผิดชอบของผู้บริหารโดยทั่วไปแล้วจะเป็นการทำเงินให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้ ขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องทำให้สอดคล้องกับกติกาทางสังคมด้วย ทั้งในด้านของกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติเชิงจริยธรรม …” จริยธรรมทางธุรกิจ จึงเป็นมาตรการคอยกำกับการดำเนินธุรกิจของเอกชนที่ว่า สิ่งใดถูกหรือสิ่งใดผิด
ชักดาบหนี้บีอีที่ตัวเองสร้าง แต่แอบโอนเงินสดไปต่างประเทศ ให้ข้อมูลครึ่งหนึ่งเพื่อล่อแมลงเม่าให้เข้ากองไฟ แล้วชักดาบเงินกู้แบงก์รัฐ...พอเขาจับได้ก็ดอดฟ้องเกินกว่าหนี้สิน ในแบบอนาถา...ผมไม่รู้ว่า...จะบอกคุณอย่างไรดี...
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา /หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศราษกิจ /ฉบับ 3288 ระหว่างวันที่ 17-19 ส.ค.2560
ผู้ใดชักใย EARTH ลากรายย่อยไปกระทำชำเรา
ทางออกนอกตำรา
โดย : บากบั่น บุญเลิศ
ผู้ใดชักใย EARTH ลากรายย่อยไปกระทำชำเรา
ขออนุญาตผู้อ่านนำพาท่านไปชมมินิซีรี่ส์ของ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ ที่กำลังถูกบันทึกไว้ว่า โตเร็ว เคลมเร็ว แต่จะจบเร็วหรือไม่ ไม่ช้ารู้ผล
ปี 2553 EARTH เข้าจดทะเบียน MAI เมื่อ Backdoor หุ้น APC ธุรกิจหลักชองบริษัท EARTH คือจ้างบริษัทอื่นไปขุดถ่านหินในเหมืองที่อินโดนีเซีย และส่งออกไปขายให้ประเทศต่างๆ ประเทศหลักคือจีนที่เป็นผู้ใช้ถ่านหินหลัก ก่อนจะเซ็นสัญญากับทางการจีนในการจัดส่งถ่านหินให้ ดูแล้วธุรกิจนี้ถือว่าดีมากๆ
แต่เกิดอะไรขึ้นมาไม่มีใครรู้ วันที่ 11 พ.ค 2560 ราคาหุ้น EARTH ร่วง FLOOR แรกจากหุ้นละ 4 บาทเศษลงมามาที่ 2.82 บาท เรียกว่าสร้างความฮือฮาในหมู่นักลงทุน พอวันที่ 12 พ.ค. 2560 ราคาหุ้นร่วง FLOOR ที่สอง ที่ 1.98 บาท หลังบริษัทแจ้งงบไตรมาส 1 ที่ขาดทุน 68 ล้านบาท ตอนนั้นเกิดปรากฎการณ์ซื้อขายหุ้นกันสนั่นลั่นทุ่ง ท่ามกลางข่าวลือว่าผู้ถือหุ้น 2 กลุ่มในตระกูล “คำดี” กับ “พิหเคนทร์” ทะเลาะกันจนมีผู้ถือหุ้นใหญ่เทขายหุ้นสนั่นยังกะมีงานปาร์ตี้ใหญ่
ต่อมาผู้บริหารปฏิเสธว่า ทั้ง 2 กลุ่มไมได้ทะเลาะกันยังรักกันดี และพื้นฐานบริษัทไม่เปลี่ยน ที่ราคาลงเป็นไปตามภาวะตลาด แต่เชื่อหรือไม่ ในวันที่ 12 พ.ค.2560 เจ้าของบริษัท EARTH ทั้ง ขจรพงศ์ คำดี และคนในตระกูลพิหเคนทร์ เทขายหุ้นออกมา 9.59% หรือ 339 ล้านหุ้น เพราะถูกบังคับขาย จากการเอาหุ้นไปค้ำประกันกับโบรกเกอร์ เพื่อกู้เงินก้อนไปลงทุนในธุรกิจอื่น
ผมแกะรอยออกไป พบว่า ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่นำหุ้นหุ้นไปค้ำประกันเงินกู้โบรกเกอร์ 2-3 ราย โดยเอาหุ้นค้ำใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “FUTURES” ที่เป็นสัญญาอ้างอิงกับหุ้นอีกทีหนึ่ง แต่จะมีตัวคูณของกำลังเงินที่กว้างจาก 1 เป็น 10 เท่า ถือเทคนิกออกแรงน้อย แต่สามารถยกของที่มีน้ำหนักมากกว่าคล้ายๆ กับเรื่องคานดีดคานงัด เรียกว่า leverage
นักลงทุนซื้อ Futures ได้โดยตรงกับโบรกเกอร์ ขานึงโบรกเกอร์จะรับขาย Futures แต่อีกขาหนึ่งโบรกเกอร์จะไปซื้อหุ้น EARTH ในตลาดในมูลค่าที่เท่ากันเพื่อปิดความเสี่ยง แต่เรื่องมันไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะการ leverage มันจะเร่งให้เงินของนักลงทุนได้และเสียเร็วกว่าปกติ เช่น ถ้าเราใช้ leverage 4 เท่า หุ้นลงไป 25% ก็เหมือนเราเงินหมดตัวไป 100% แล้ว
โบรกเกอร์จึงตั้งเงื่อนไขว่า ถ้าหุ้น EARTH ลง ไปถึงระดับหนึ่ง โบรกเกอร์ จำเป็นต้องบังคับขายทุกราคา เพราะกลัวว่า เมื่อนักลงทุนหมดตัวจะไม่มีเงินมาจ่ายถ้าหุ้นยังลงไปอีก เมื่อบังคับขายหุ้น EARTH ทุกราคา ราคาก็เลยลงติด FLOOR
นี่จึงเป็นที่มาของหุ้น EARTH ที่ร่วงต่ำเตี้ยติดดิน 2 ฟลอร์ใน 2 วัน เพราะผู้บริหารหาเงินไปใช้ในกิจการอื่นว่ากันว่า วงเงินที่ถูกบังคับขายนั้นเงินหายไป 3,200 ล้านบาท เลยทีเดียว
มหากาพย์หุ้นEARTH ยังไม่จบ วันที่ 7 มิ.ย.2560 บริษัทประกาศผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E 40 ล้านบาท และบอกว่า น่าจะจ่ายคืนหนี้งวดต่อๆไปไม่ได้เช่นกัน..
เพียงแค่นั้น เปิดตลาดวันที่ 8 มิ.ย.2560 ราคาหุ้นร่วง FLOOR ที่สาม เหลือหุ้นละ 1.45 บาท
ตอนนั้น EARTH แจ้งว่า สิ้นไตรมาส 1/2560 EARTH มีหนี้ 23,000 ล้านบาท เป็นหนี้ 1) ตั๋วแลกเงิน 2,382 ล้านบาท 2) ทรัสต์รีซีท 5,308 ล้านบาท 3) แพคกิ้งเครดิต 4,791 ล้านบาท 4) เงินกู้ธนาคาร 4,213 ล้านบาท 5) หุ้นกู้ 5,475 ล้านบาท
ทรัพย์สินของ EARTH เป็น เงินสด 1,238 ล้านบาท ย้ำนะครับเป็นเงินสดแค่นี้ ลูกหนี้การค้า 5,734 ล้านบาท สินค้าคงเหลือ 1,978 ล้านบาท เงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้า 8,461 ล้านบาท ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ 1,821 ล้านบาท สิทธิในเหมืองถ่านหิน 8,207 ล้านบาท เงินจองสิทธิในการซื้อสินค้า 7,608 ล้านบาท
เห็นข้อมูลที่ฝ่ายบริหารแจ้งไว้แค่นี้ นักลงทุนรายย่อยทุกคนต่างเล็งผลเลิศ ประกอบกับนักวิเคราะห์ต่างประเมินว่าต่ำสุดแล้วเมื่อเทียบเคียงจากขนาดสินทรัพย์และขีดความสามารถที่บริษัทมี วันที่ 12-14 มิ.ย.2560 มีนักลงทุนแห่เข้ามาช้อนซื้อหุ้น EARTH อย่างคึกคัก ผลที่ตามมาจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยเพิ่มจากเกือบ 7,000 ราย เป็น 18,000 ราย ตามคำแถลงของ ขจรพงศ์ คำดี ประธานกรรมการบริหาร แต่ข้อมูลที่ผมสืบเสาะจาก ก.ล.ต.ทะลุไป 2 หมื่นราย ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ส.ค.2560 ราคาถูกลาก 1.20 บาท มาปิดที่ 1.46 บาท เรียกว่า ซื้อขายเปลี่ยนมือกันขนานใหญ่วันละ 7-9 พันล้านบาท
วันที่ 15 มิ.ย.2560 บริษัท EARTH แจ้งข่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ได้ผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงิน 717 ล้านบาท เข้าเงื่อนไข ทำให้ต้องถูกเจ้าหนี้หุ้นกู้ 2 ล็อต 5,500 ล้านบาท เรียกหนี้คืนได้ ซึ่งกระทบสภาพคล่องของบริษัทอย่างหนักตลาดหลักทรัพย์ฯจึงขึ้น H และ SP หุ้น EARTH ตั้งแต่นั้นมา ราคาสุดท้ายที่ติดดอยกันจนถึงทุกวันนี้ 1.46 บาท หุ้น EARTH ก็ซื้อขายไม่ได้อีกเลย
วันที่ 23 มิ.ย.2560 ก.ล.ต. สั่งให้ EARTH จัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ หรือ special audit โดยต้องเป็นผู้สอบบัญชีจากบริษัท big4 เพื่อตรวจสอบรายการเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้าและเงินจองสิทธิในการซื้อสินค้าว่า มีจริงหรือไม่? และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบภายใน 30 วัน
วันที่ 21 ก.ค.2560 บริษัท EARTH ขอผ่อนผันการส่งรายงานผล special audit ต่อ ก.ล.ต. ให้ขยายเวลาออกไป ต่อมา กลต.ไม่ผ่อนผันให้ และเร่งให้ EARTH นำส่งรายงานผล special audit โดยเร็ว
ในที่สุดเชือกก็ขาดผึง วันที่ 24 ก.ค.2560 บริษัท EARTH ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการบริษัท อ้างว่าอยู่ในภาวะที่มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ด้วยมูลหนี้ 4.74 หมื่นล้านบาท และทรัพย์สิน 3.18 หมื่นล้านบาท
วันที่ 25 ก.ค. ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ขอให้ EARTH แจกแจงว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นของเจ้าหนี้ไหนบ้าง มีการตั้งด้อยค่าทรัพย์สินหรือไม่ เลยไป 6 วัน วันที่ 31 ก.ค.2560 EARTH ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ มีหนี้เกิดขึ้นมาใหม่ 26,000 ล้านบาท เกิดจากคู่ค้าของบริษัทได้ยื่นฟ้องบริษัท
ก่อนจะปรับบอร์ดใหญ่ใน 4 ส.ค.2560 คราวนี้มีการดึง “สีเขียว” เข้ามาเป็นบอร์ด นั่นคือ พ.อ.คณยศ สุขสงวน เป็นกรรมการ แทน นายพิสุทธิ์ พิหเคนทร์
ยังไม่จบ วันที่ 8 ส.ค.2560 ขจรพงษ์ คำดี แถลงฟ้อง ธนาคารธนชาต เรียกค่าเสียหาย 6 หมื่นล้านบาท ฐานนำความลับของบริษัทไปบอก ธนาคารกรุงไทย จนศาลสั่งอายัดบัญชีเงินฝากของ EARTH ที่ฝากไว้ที่ธนาคารธนชาต 800 ล้านบาท ซึ่งขจรพงศ์บอกว่า ได้เปิดไว้ในใต้อาคารสำนักงานและได้สั่งจ่ายเงินอออกไปยังประเทศจีน แต่ไม่ยอมนำเงินก้อนดังกล่าวมาชำระหนี้ตั่วบีอีที่ครบกำหนดชำระ และต้องใช้วิธีการ “ชักดาบ” ต่อมาธนาคารธนชาตประกาศฟ้องกลับ และจนถึงบัดนาว ธนาคารธนชาตยังไม่ได้รับหมายเรียก และสำเนาคำฟ้องที่ EARTH ฟ้องศาลเลย
ที่น่าพิลึกกึกกือคือ EARTH แจ้งขอร้องต้อศาลขอฟ้องเรียกค่าเสียหายจากธนาคารธนชาตแบบคดีอนาถา ไม่ขอจ่ายค่าธรรมเนียม ฤชา และค่าเงินวางศาล
ผมกำลังพาคุณผู้อ่านไปทวงถามจริยธรรมของผู้บริหาร มิลตัน ฟรายด์แมน นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังเขียนไว้เป็นคัมภีร์ว่า “…บริษัทต้องรับผิดชอบต่อลูกจ้างโดยตรง และความรับผิดชอบของผู้บริหารโดยทั่วไปแล้วจะเป็นการทำเงินให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้ ขณะเดียวกันพวกเขาก็ต้องทำให้สอดคล้องกับกติกาทางสังคมด้วย ทั้งในด้านของกฎหมายและธรรมเนียมปฏิบัติเชิงจริยธรรม …” จริยธรรมทางธุรกิจ จึงเป็นมาตรการคอยกำกับการดำเนินธุรกิจของเอกชนที่ว่า สิ่งใดถูกหรือสิ่งใดผิด
ชักดาบหนี้บีอีที่ตัวเองสร้าง แต่แอบโอนเงินสดไปต่างประเทศ ให้ข้อมูลครึ่งหนึ่งเพื่อล่อแมลงเม่าให้เข้ากองไฟ แล้วชักดาบเงินกู้แบงก์รัฐ...พอเขาจับได้ก็ดอดฟ้องเกินกว่าหนี้สิน ในแบบอนาถา...ผมไม่รู้ว่า...จะบอกคุณอย่างไรดี...
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา /หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศราษกิจ /ฉบับ 3288 ระหว่างวันที่ 17-19 ส.ค.2560