ประสบการณ์ สอบไอเอลส์จาก overall 6.5 ไป 7.5 ภายใน 3 เดือนและแชร์การเลือกมหาลัยต่อโทอังกิด จากประสบการณ์ส่วนตัว

สวัสดีครับ เพื่อนๆชาวพันทิป
ผมตัดสินใจเขียนกระทู้นี้หลังจากที่พยายามสอบไอเอลส์มาหลายครั้งเพราะฝันอยากไปต่อนอก

เข้าใจความรู้สึกหลายๆคนที่กำลังเล็งมหาลัย ตั้งเป้าสอบ อ่านหนังสือ หรือกำลังลุ้นผลคะแนน
ผมจึงอยากเขียนกระทู้นี้เพื่อมาแบ่งปันเพื่อนๆทุกคนในคำถามที่หลายๆคนอาจจะสงสัย
และอยากแชร์แทคนิกต่างๆเพื่อให้คนที่คลำทางอยู่ได้เข้าใจปัญหาของตัวเองมากขึ้นในแต่ละพาร์ทของการสอบ
เพื่อที่จะได้คะแนนอย่างใจหวัง จะได้เอาไปยื่นมหาลัยที่ตัวเองอยากเข้าต่อไปครับ

นี่จะเป็นกระทู้ที่ยาวมากๆ หวังว่าจะมีประโยชน์สำหรับทุกคนนะครับ

จะให้ background ตัวผมเองเล็กน้อยนะครับ

ผมเพิ่งจบจากสถาปัตย์ จุฬาปีนี้ (2560) และรู้ตัวว่าจะไปเรียนต่อช้ามาก
คือรู้ตัวในช่วงเดือนธันวาคมปีที่แล้ว (2559) ซึ่งเท่ากับว่ามีเวลาเตรียมตัวเรื่อง
Recommendation SOP และบรรดา essays ที่ต้องใช้สัมภาษณ์น้อยมากๆ
และยังมีเวลาคุย วางแผนกับครอบครัวชนิดที่ว่าปุบปับรวดเร็ว

ผมเริ่มจากการเป็นเด็กสถาปัตย์ที่อยากเรียนสายธุรกิจ ที่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับมหาลัยใดใด
ไม่รู้เรื่อง ranking ไม่รู้เรื่อง TOP U ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเดี๋ยวนี้เค้ามีเอเจนซี่คอยช่วยทำเรื่องเอกสารให้
พอรู้ตัวปั๊ปก็เริ่มควานหาเอเจนซี่ เริ่มปรึกษาอาจารย์ เริ่มส่งใบสมัคร

และเริ่มรู้แล้วว่าต้องไปสอบไอเอลส์ ซึ่งต้องการอย่างต่ำ 6.5 โดยที่แต่ละพาร์ทไม่ต่ำกว่า 6.0
ซึ่งที่ยากที่สุดในบรรดาเด็กไทยคงหนีไม่พ้น academic writing ที่นับได้ว่าเป็น skill ที่พัฒนาได้ช้าที่สุด โดยผลลัพธ์จากความพยายามอย่างบ้าคลั่งคือ
ผมอัพคะแนนจาก 6.5 เป็น 7.5 ได้ภายในการสอบทั้งหมด 5 ครั้ง ซึ่งต้องขอบอกไว้ก่อนว่า
ผม "ไม่แนะนำ" ให้สอบหลายครั้งเพื่อให้ได้คะแนนที่ต้องการ เนื่องจากเปลืองสตางค์และเหนื่อยกายเหนื่อยใจมากๆ

แต่ผมอยากเอาประสบการณ์มาแบ่งปันเพราะอยากให้เพื่อนๆสอบครั้งแรกแล้วผ่านเลย
ไม่ต้องมานั่งไล่ไต่บันไดคะแนนเหมือนผมครับ มันเหนื่อยและท้อสุดๆ และควรจะวางแผนและทำการบ้านให้ดี
เพื่อให้คะแนนออกมาตามใจหวังนะครับ

ทั้งหมดเป็นประสบการณ์ส่วนตัว
และหากผิดถูกประการใดรบกวนคุยกันด้วยเหตุผลและขออภัยมา ณ ที่นี้ก่อนเลยนะครับ


พอหอมปากหอมคอนะครับ ผมจะขอแบ่งกระทู้นี้ออกเป็นหลายๆส่วน คล้ายๆสารบัญ
เพื่อให้เพื่อนๆหาสิ่งที่ตัวเองต้องการได้เร็วที่สุด จะได้ไม่ต้องเสียเวลามากนะครับ

1. การเลือกมหาลัยและการใช้เอเจนซี่ ควรหรือไม่ควร
2. การเขียน SOP และ ขอ Recommendation จากอาจารย์
3. เลือกสถานที่สอบ IDP หรือ British Council (ความคิดเห็นส่วนตัว)
4. UKVI or Academic Training
5. ทริคในการสอบ(ความคิดเห็นส่วนตัว) ในพาร์ทฟัง พูด และอ่าน
6. ทริคในการเตรียมตัวพาร์ทเขียน และประสบการณ์ตรง
7. การ Regrade คะแนนและ เหตุการณ์สุดวิสัยอื่นๆ

1. การเลือกมหาลัย คอร์ส และการใช้เอเจนซี่ ควรหรือไม่ควร

1.1ความจำเป็นในการใช้เอเจนซี่

คุณควรใช้เอเจนซี่ หากคุณต้องการแบ่งเบาขั้นตอนบางอย่างหากคุณต้องการสมัครหลายมหาลัย
หรือต้องการร่อนใบสมัคร เพื่อดูว่าคุณสมบัติของคุณพอจะเข้าที่ไหนได้บ้าง แต่พึงรู้ไว้ว่าหากคุณหวังที่จะยื่นมหาลัยที่เป็น TOP U ส่วนมากจะไม่ค่อยมีเอเจนซี่ครับ เราต้องทำขั้นตอนทั้งหมดเอง จริงๆผมมองว่าเอเจนซี่สำคัญสำหรับคนที่ข้อมูลน้อยและยังเป็นมือใหม่ แต่คุณต้องรู้ว่าถึงแม้เอเจนซี่จะบอกว่าเขาไม่คิดค่าบริการ แต่เขาได้ส่วนแบ่งหากคุณสมัครในนามเขา ดังนั้น เขาจึงมีแนวโน้มที่จะให้ข้อมูลโอนเอียงเพื่อดันให้คุณเข้าไปในมหาลัยที่คุณต้องการ จริงๆคุณอาจจะเก่งกว่านั้นก็ได้ แต่เขาสามารถแอบเชียร์และให้ข้อมูลมหาลัยที่ให้เงินเขามากกว่าได้ จึงจำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลด้วยตัวคุณเองด้วย และผมอยากเตือนคนที่อยากใช้เอเจนซี่เพราะอยากลดขั้นตอน และทำให้การสมัครเรียนต่อง่ายขึ้น จริงๆเป็นความคิดที่ผิดครับ คุณควรจะรับผิดชอบเรื่องของตัวคุณเองให้ได้ เมื่อคุณฝันจะไปเรียนต่อแล้ว มันไม่ยากอะไรหากคุณจะค่อยๆอ่านและแกะขั้นตอนที่คุณต้องทำ ทีละขั้นๆ คุณจะได้เข้าใจ รู้จัก และชินกับระบบของมหาลัยที่คุณอยากเข้าเอาไว้

1.2 การเลือกคอร์สเรียน

ส่วนการเลือกมหาลัยและคอร์ส ก่อนเข้าไปคุยกับเอเจนซี่ คุณจำเป็นคต้องปรึกษาผู้มีความรู้ หรืออาจารย์ เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึก ผนวกกับปัจจัยต่างๆแล้วแต่คุณพิจารณาเช่น คุณชอบอยู่ในเมืองหรือบ้านนอก คุณชอบชื่อเสียงของมหาลัยหรือชอบคอร์สใหม่ที่ถูกใจคุณ มหาลัยไหนโด่งดังในองค์ความรู้ที่คุณต้องการจจะเรียน อาจารย์ในมหาลัยคนไหนทำ research และเชี่ยวชาญเรื่องที่คุณอยากทำ dissertation หรือแม้กระทั่งจำนวนคำของ dissertation ก็มีผลครับ

1.3ขั้นตอนการสมัครโดยทั่วไป

หลังจากรู้แล้ว ก็ลองเข้าไปคุยกับเอเจนซี่ได้เลย แต่อย่าไว้ใจเขาสะหมดนะครับ คุณต้องรู้ username password หรือคอยติดตามสถานะของใบสมัครอยู่สม่ำเสมอ โดยมากขั้นตอนก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ก็คือลงทะเบียนออนไลน์ในหน้าของแต่ละคอร์ส ใส่ SOP, ยื่น Recommendation, ข้อมูลส่วนตัว, English Proficiency Test (IELTS, TOEFL), ประสบการณ์ทำงานต่างๆ, CV Resume Portfolio (ถ้ามี) และก็ส่งใบสมัคร หลังจากนั้นมหาลัยก็จะทำการพิจารณา ส่วนมากก็เดือนถึงสามเดือน หากคุณผ่านหมด เขาก็จะให้ UNCONDITIONAL LETTER (รับเข้าเรียนอย่างไม่มีเงื่อนไข) ส่วนหากคุณผ่าน แต่ยังมีบางอย่างต้องทำเช่น ยังเรียนไม่จบ(แบบผม) หรือยังสอบไอเอลส์ไม่ผ่าน เขาก็จะให้ CONDITIONAL LETTER (รับเรียนอย่างมีเงื่อนไข) ซึ่งเขาก็จะลิสท์มาเป็นข้อๆว่าตรงไหนยังไม่ผ่าน มาถึงตรงนี้นะครับ ใครบอกว่าเกรดไม่สำคัญ บางทีเขาดูเกรดนะครับ อย่างกรณีมหาลัยที่ผมสมัคร Imperial Business School ดูที่ 3.25 ซึ่งหากได้ต่ำกว่านี้ คงมีโอกาสติดน้อยลงครับผม หลังจากที่คุณทำแต่ละเงื่อนไขผ่านแล้ว เขาก็จะให้คุณสแกนหรือส่งเอกสารไปทางไปรษณีย์ เพื่อนำเลข CAS มายื่นขอ VISA และก็ทำการจองหอพัก จองตั๋ว คร่าวๆประมาณนี้ครับ

2. การเขียน SOP และ ขอ Recommendation จากอาจารย์

สำหรับคนที่ไม่ได้จิ๊จ๊ะกับอาจารย์จะทำใจลำบาก ตรงนี้ต้องเตือนก่อนเลยว่าใครที่คิดว่าตัวเองจะต้องไปเรียนต่อแน่ๆ ควรมีอาจารย์ที่สนิทสักหนึ่งหรือสองท่านคอยให้คำแนะนำ ซึ่งถ้าสนิท ตัวอาจารย์จะรู้จักเรา จะเข้าใจที่ไปที่มา ใส่ใจพอที่จะรู้ว่าเราเก่งอะไรไม่เก่งอะไร จึงจะสามารถเขียน Recommendation ได้สอดคล้องกับ SOP สำหรับคนที่ไม่เข้าใจว่า SOP คืออะไรนะครับ มันย่อมาจาก Statement of Purpose เอาง่ายๆคือ ทำไมคุณจะมาเรียน หรือหยาบกว่านั้นคือ ทำไมกูต้องรับเข้าเรียน มีอะไรดี นั่นเองครับ ซึ่งผมมองว่ามันจะต้องสอดคล้องกับสิ่งที่คุณเคยเป็น สิ่งที่คุณเป็นตอนนี้ และแผนอนาคตของคุณ ส่วนใหญ่ใน SOP ก็จะพูดถึงที่มา แรงบันดาลใจของคุณในวิชาต่างๆที่คุณสนใจเรียน ประวัติคร่าวๆทั้งการเรียนและการทำงาน และเหตุผลว่าทำไมคุณถึงอยากเรียน ซึ่งมันจำเป็นต้องสอดคล้องกับ Recommendation Letter จากอาจารย์หรือผู้ว่าจ้างของคุณ จึงจะทำให้ใบสมัครคุณแข็งแรง และมีสิทธิได้มากขึ้น รู้งี้แล้วก็เริ่มคุยกับอาจารย์หรือนาของคุณได้แล้วหล่ะครับ

หลายๆคนจะโม้ใน SOP มากเกินไป ผมมองว่าไม่งาม จริงอยู่ที่คุณต้องโฆษณาตัวเอง แต่ทุกคนย่อมมีจุดอ่อน คุณไม่สามารถบอกได้ว่าคุณเก่งที่สุด แต่สิ่งที่ผมแนะนำคือคุณสมบัติต่างๆเช่น ความขยัน ความกระหายรู้ ความพยายาม พวกนี้ใส่เข้าไปได้ ส่วนเรื่องการโม้ให้อาจารย์เขียนให้คุณใน Recommendation ดีกว่าครับ

3. เลือกสถานที่สอบ IDP หรือ British Council (ความคิดเห็นส่วนตัว)

ผมเชียร์ IDP นะครับ ไม่ได้ได้ค่าโฆษณาหรืออื่นใด แต่มีหลายเหตุผลจากประสบการณ์การสอบมาแล้วทั้งสองที่ 3 ครั้ง British 2 ครั้ง IDP ผมปลื้มกับ IDP มากกว่า มาจะเล่าให้ฟัง

3.1 สถานที่
ทั้งสองสะดวกพอกัน British สอบที่ รร Landmark ส่วน IDP สอบที่รรมณเฑียร แต่อย่างนึงที่ชอบมากกว่าของ IDP คือห้องน้ำอยู่ใกล้กับที่สอบมาก คุณจะเสียเวลาเพียงแค่ไม่ถึงสองนาทีกับการไปห้องน้ำในรรมณเฑียร แต่เสียเวลาประมาณ 4 นาทีในการเข้าที่แลนมาร์ค เพราะมันอยู่ไกลกว่า และใครที่เคยสอบคงรู้ว่าบางทีมันทำไม่ทัน โดยเฉพาะพาร์ทอ่านกับเขียน จึงคิดว่าเชีย IDP ดีกว่า

3.2 อุปกรณ์
IDP เป็น Wireless Infrared Audioset ซึ่งมีซ่าบ้างขึ้นอยู่กับสถานที่ๆคุณนั่ง บางทีตอนสอบฟังอาจตัดไปเลยจึงต้องเช็คดีๆในตอนเข้าสอบ แต่รวมๆไม่มีปัญหาครับ ฟังได้ดี ส่วน British เป็น Wireless Radio รึป่าวไม่ใจ ไม่ต้องมีตัวกระจายสัญญาณแบบ Infrared รวมๆคล้ายกันครับ

3.3 สอบพูด
IDP ให้เวลาพูดมากกว่า ถามเยอะกว่า (ประมาณ 15 นาที แต่ British ให้ 11 นาที)โดยส่วนตัวผมว่าคุ้มกว่าเพราะคุณมีโอกาสในการแสดงฝีมือในการพูดมากกว่า ในเรื่องของสำเนียง IDP เป็น Australian ส่วน British เป็น British ซึ่งจะมีความเหน่อตามการพูดของผู้คุมสอบเล็กน้อย แต่รวมๆฟังชัดครับ เรื่องของคะแนน ผมสอบ British ได้ 6.5-7.0 แต่สอบ IDP กระเด้งไป 8.0 จึงคิดว่า IDP ให้คะแนนส่วนนี้ง่ายกว่าครับ พาร์ทพูดใครที่เคยไปตปท หรือแลกเปลี่ยนจะได้เปรียบกว่ามาก

ส่วนในเรื่องของทริค เดี๋ยวจะแนะนำในหัวข้อ 5 และ 6 ต่อไป

3.4 อื่นๆ
ทั้งสองที่หนาวมาก เตรียมเสื้อหนาวไปด้วย
เอาน้ำเข้าไปได้นะ แต่อย่าดื่มเลยครับ ดื่มละปวดฉี่
เรื่องเวลา British จะเคร่งมากๆ ผมเคยไปสอบพูดช้าไปนาทีเดียวเขาตัดออกเลยครับ โหดมากๆ

4. UKVI or Academic

อธิบายง่ายๆคือการสอบไอเอลส์มีสองแบบ แบบที่ 1 คือ UKVI แพงกว่า เอาไว้สำหรับคนที่คิดว่าคะแนนไม่น่าจะผ่าน ติวยังไงก็ไม่น่าได้ เขาจะให้คุณไปเรียนคอร์สภาษาก่อนตามจำนวนคะแนนที่ขาดครับ เช่น เขาเอาไอเอลส์ 6.5 คุณได้ 6.0 คุณอาจต้องไปเรียนเพิ่ม 1 เดือน และสอบภาษาก่อนเข้าเรียน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทั้งค่าเรียนและค่ากินอยู่ ส่วนแบบ Academic คือแบบปกติ ไม่สามารถใช้ยื่นคอรส์ภาษาได้ ถ้าได้คะแนนไม่ถึงต้องสอบใหม่อย่างเดียว ซึ่งอยู่ที่แต่ละคนพิจารณานะครับ ส่วนตัวถ้าให้แนะนำคือ หากคุณมีเวลาเตรียมตัวเยอะคุณสอบปกติได้ แต่หากคุณไม่มีปัญหาเรื่องเงิน และคิดว่าอยากไปเรียนคอร์สภาษาเพื่อหาเพื่อน และไปอยู่ก่อน ก็สามารถสอบแบบ UKVI ได้ครับ

ขอเตือนก่อนว่าการไปเรียนคอร์สภาษาก่อนหรือ Pre-Sessional Course ไม่ได้การันตีว่าคุณจะได้เข้าเรียนนะครับ คุณต้องผ่านก่อน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ผ่านแหละ แต่บอกไว้เผื่อบางคนไม่รู้

5. ทริคในการสอบ(ความคิดเห็นส่วนตัว) ในพาร์ทฟัง พูด และอ่าน

ผมเองจะบอกแค่เทคนิกแต่ละพาร์ทนะครับ ส่วนรายละเอียดให้ลองหาอ่านตามกระทู้อื่นๆเอา
คิดว่าน่าจะมีคนเขียนเยอะแล้ว

พาร์ทฟัง (Listening) คะแนนที่อ้างอิงของผมที่เคยได้ : 7.0-8.0

- เช็คอุปกรณ์ก่อนเสมอว่าได้ยินไหม
- คุณมีเวลาฟังรอบเดียวถ้าหลุดคุณต้องปล่อยผ่านและฟังอันใหม่ทันที
- อย่าพึ่งรีบตอบสิ่งแรกที่ได้ยิน ให้คุณฟังไปก่อนแล้วทำความเข้าใจเพราะบางทีมันหลอก
- เอกพจน์ พหูพจน์ เติม S ES มีผล ให้ฟังและเขียนดีๆ ตัวใหญ่ (Capital Letter) มีผลเช่นกัน
- สติ สติ และสติ

พาร์ทพูด (Speaking) คะแนนที่อ้างอิงของผมที่เคยได้ : 6.5-8.0

แรกๆผมยังไม่รู้เทคนิกครับ แต่ภายหลังเริ่มเข้าใจสถานการณ์ในห้องสอบและประกอบกับไปสอบกับ IDP ซึ่ง environment มันต่างด้วย เลยได้คะแนนดีขึ้นเรื่อยๆ

ให้พูดไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะ Task 2 ห้ามหยุด
ห้ามหลุดหัวข้อที่เขาถาม อย่าแถมากครับ ถ้ารู้ตัวว่าหลุดให้รีบกลับมา
เทคนิกการพูด ให้พยายามแบ่งส่วนและจัดระเบียบการพูดให้ดี หากเขาถามว่าทำไมชอบ A ให้บอกว่า ที่ชอบเพราะมีสองเหตุผล หนึ่ง A1 สอง A2 ใช้คำเชื่อมครับเช่น Firstly, Secondly, However, Another Reason,That's why พยายามนำคนฟังให้เข้าใจลำดับการพูดครับ จะได้คะแนนดี

พาร์ทอ่าน (Reading) คะแนนที่อ้างอิงของผมที่เคยได้ : 7.5-8.5

หลังจากสอบมาหลายครั้ง รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องอ่านทุกตัวอักษรครับ อ่านข้ามๆได้ จับ keyword แล้วหา
ให้พยายามเลือกข้อที่เราจะตอบก่อนด้วย บางข้อง่าย บางข้อยาก
ตัวอักษรจะหมดละครับ เดี๋ยวจะมาพิมต่อนะครับ ...

ใครที่อยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการสอบไอเอลส์และเทคนิก สามารถแอดไลน์มาได้ที่ kavin.cherd นะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่