JJNY : จี้ ปปท.ตรวจซ้ำสต็อกข้าว พาณิชย์กล่อม 700 คลังเคลียร์หนี้

กระทู้คำถาม
คลังข้าวร้อง “ป.ป.ท.” ตรวจสอบซ้ำข้าวในสต๊อกรัฐบาล หลังมติ นบข.ลดเกรด ข้าวดีกลายเป็นข้าวเสียŽ ยกคลัง ถูกกดราคาขายเป็นอาหารสัตว์ แบกภาระจ่ายค่าชดเชย “ส่วนต่าง” อ่วม ด้าน อคส.ออกโรงกล่อม 700 คลังกลาง หวั่นส่งมอบข้าวชะงัก กลายเป็น “ดราม่า” กระทบชิ่งคดีจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์”

ข้อถกเถียงในเรื่อง "ข้าวดี-ข้าวเน่า" ในคลังรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ถูกโยงให้เป็นเรื่องการเมืองว่า โครงการจำนำข้าวไม่มีข้าวเสื่อมสภาพ จนกลายมาเป็นกระแสร้อนแรงขึ้นในช่วงที่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กำลังจะมีคำพิพากษาคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยข้อกล่าวหา ปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ในวันที่ 25 สิงหาคมที่จะถึงนี้ แม้ความเกี่ยวข้องของปัญหาจะไม่มีผลโดยตรงต่อคดีของอดีตนายกรัฐมนตรี แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึง "ความบกพร่อง-หละหลวม" ในกระบวนการตรวจสอบสต๊อกข้าวของรัฐบาล และนำมาซึ่งการหาผลประโยชน์จากกองข้าวในคลัง จนกระทบไปถึงผู้ประกอบการเจ้าของคลังรับฝากข้าวที่จะต้องส่งมอบข้าวสารในคลังให้กับผู้ชนะการประมูลสต๊อกข้าวของรัฐบาล

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานกรณี น.ส.อิศราภรณ์ คงฉวี ผู้แทนเจ้าของคลังวรโชติ (หลัง 2) อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นผู้รับฝากเก็บข้าวสารหอมปทุมจากโครงการรับจำนำปี 2556/2557 ให้กับองค์การคลังสินค้า (อคส.) ปริมาณ 66,361 กระสอบ (หรือ 6,631 ตัน) ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปที่ สำนักงานป้องกันและปราปรามการทุจริตในภาครัฐ เขตพื้นที่ 1 (ป.ป.ท.) เมื่อที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขอให้ยุติการส่งมอบข้าวสารที่เก็บรักษาในคลังวรโชติ ให้กับบริษัท วี ซี เอฟ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นผู้ชนะประมูลซื้อข้าวในคลังนี้ และร้องขอให้ มีการตรวจสอบสต๊อกข้าวในคลังใหม่Ž

โดยเจ้าของคลังวรโชติ (หลัง 2) ยืนยันว่า ข้าวหอมปทุมจากโครงการรับจำนำปี 2556/2557 ที่เก็บรักษาไว้ในคลังมีคุณภาพดี และสามารถนำไปบริโภคได้ ไม่ควรถูกนำมาจัดกลุ่มเป็น ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมที่ไม่ใช่สำหรับคนบริโภค (อาหารสัตว์ ) ซึ่งทำให้รัฐได้รับเงินจากการประมูลข้าวเพื่ออาหารสัตว์เพียง กก.ละ 5.07 บาท จากราคาตลาดที่ซื้อขายกัน กก.ละ 17-18 บาท ส่งผลให้รัฐบาลเสียประโยชน์จากมูลค่าข้าวที่ลดลง และยังทำให้ คลังวรโชติ มีความ "เสี่ยง" ที่จะต้องชดใช้ "ส่วนต่างราคาข้าว" ในคลังให้กับรัฐบาล ดังนั้นจึงควรยุติการรับมอบเพื่อเก็บข้าวไว้เป็นหลักฐาน และให้หน่วยงาน ป.ป.ท.เข้ามาตรวจสอบสต๊อกข้าวใหม่

เจ้าของคลังร้อง

อย่างไรก็ตาม กรณีการจัดกลุ่มข้าวที่ผิดพลาด ไม่ใช่เกิดเฉพาะกรณีของคลังวรโชติ (หลัง 2) เพียงคลังเดียว แต่ยังเกิดกับคลัง บจก.ประสิทธิ์ชัยอุบลโซลาร์ไรซ์ 2011 หลัง 9 จ.อุบลราชธานี และยังเกิดกับ "คลังกลาง" ที่รับฝากเก็บข้าวจากโครงการรับจำนำปี 2556/2557 ที่พร้อมเปิดให้ตรวจสอบใหม่อีกประมาณ 10-20 แห่ง เช่น คลังถาวรโชคชัย อ.เสาไห้ จ.สระบุรี, คลัง บ.โรงสีแสงไพฑูรย์ (2002) จำกัด จ.ปทุมธานี, คลัง หจก.โรงสีไฟธารา (1993) อ.เมือง จ.ลพบุรี, คลัง หจก.โรงสีไฟเจริญประภา อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี และคลังเปรมศิริ พืชผล จ.พิษณุโลก แต่คลังรับฝากเก็บข้าวเหล่านี้ ยังไม่มีการนำข้าวออกมาประมูลขาย

แหล่งข่าวเจ้าของคลังกลางรายหนึ่งกล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงการตรวจสอบคลังข้าวโครงการรับจำนำข้าวชุดคณะทำงานที่มี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เป็นประธาน เมื่อปี 2557 ว่า คณะทำงานได้ตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพข้าว โดยแบ่งเป็น ข้าวถูกมาตรฐาน เกรด P เกรด A เกรด B และข้าวที่ผิดมาตรฐานมาก เช่น มีข้าวหักปนอยู่สูง มีเมล็ดเสียเมล็ดเหลืองปนอยู่มาก ยุ่ยเป็นผุยผง เมล็ดลาย ขึ้นรา มีกลิ่นเหม็น มีฝุ่น ซึ่งไม่คุ้มหรือไม่อาจปรับปรุงเพื่อการบริโภคของคน ให้ระบุเป็น ข้าวเกรด C และยังมีข้าวผิดชนิด

ขณะนั้นในคลังมีข้าวอยู่จำนวน 80,000 กระสอบ แบ่งออกเป็น 5 กอง โดย 4 กองถูกจัดเป็นข้าวถูกมาตรฐานเกรด A B P แต่มีอีก 1 กองที่ถูกจัดเป็นข้าวเกรด C ต่อมา คณะกรรมการนโยบายข้าว หรือ นบข. ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 มีมติให้กำหนดกลุ่มข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลใหม่ ด้วยการแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ข้าวทั่วไป, ข้าวเพื่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และข้าวเพื่ออุตสาหกรรมพลังงาน โดยใช้หลักเกณฑ์ว่า หากคลังใดมีข้าวเกรด C ตั้งแต่ 20% ขึ้นไป ให้ข้าวคลังนั้นจะถูกเป็น ข้าวอุตสาหกรรม "ทำให้ข้าวในคลังของผมที่มีเกรด C จำนวน 1 กอง จาก 4 กองที่เป็นข้าวดี แต่คิดเป็น 20% กลายเป็นข้าวเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไปทั้งโกดัง"

อย่างไรก็ตาม ที่ไม่มีเจ้าของคลังรับฝากเก็บข้าว "คัดค้าน" ผลการตรวจสอบและการจัดเกณฑ์ข้าวในคลังใหม่ ก็เพราะสมัยนั้นไม่มีการแจ้งผลการตรวจสอบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรให้เจ้าของคลังรับทราบ ทำให้ทุกคนไม่รู้ว่า คลังของตัวเองถูกจัดให้เป็นข้าวกลุ่มใด แต่ละคนจึงต้องติดตามผลการตรวจสอบคลังของตัวเองจากประกาศแนบท้าย TOR การเปิดระบายข้าวของรัฐบาลแต่ละครั้งว่า มีชื่อคลังอยู่ใน List หรือไม่ ประกอบกับมติ นบข.ข้างต้นก็เป็นมติที่สามารถทำได้ "โดยไม่มีใครคัดค้าน" เพราะก่อนหน้านี้มีการใช้ มาตรา 44 ให้ความคุ้มครองข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

มีผลทำให้ราชการปรับเปลี่ยนวิธีการกำหนดเกณฑ์ข้าวในคลังใหม่ เพื่อเร่งระบายขายข้าวสต๊อกรัฐบาลจากโครงการรับจำนำข้าวให้หมด หวังลดค่าฝากเก็บ "ทันทีที่รู้ว่าข้าวในคลังของตนถูกจัดเกรดเป็นข้าวเพื่ออุตสาหกรรม ผู้ประกอบการคลังก็ได้ขอซื้อข้าวที่ตัวเองเก็บรักษาคืน โดยให้ราคาที่สูงกว่า เช่น คาดการณ์ว่าจะมีผู้ประมูลข้าวในราคา 10 บาท เราก็ให้ราคาถึง กก. 11-11.25 บาท แต่รัฐบาลไม่ยอมขายเพราะ ราคาดังกล่าวต่ำกว่าราคาเกณฑ์กลางขั้นต่ำ (ฟลอร์ไพรซ์) และเมื่อจัดกลุ่มใหม่แล้ว ปรากฏข้าวในคลังของเรากลายมาอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ โรงสีไม่สามารถที่จะเข้าร่วมประมูลได้ เพราะไม่มี ใบ รง.10 (ใบอนุญาตตั้งโรงงานอาหารสัตว์) ทำให้ผิดกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไข TOR จึงไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้ ขณะที่คนที่ประมูลได้คือ ผู้ที่มีใบอนุญาต รง. คือ บริษัทอาหารสัตว์และปุ๋ยต่าง ๆ" เจ้าของคลังกล่าว



รับเละชดเชยส่วนต่างเกรดข้าว

ผลของการจัดกลุ่มข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลใหม่ของ นบข.ข้างต้น ทำให้มี ข้าวคุณภาพดีŽ ถูกเหมารวมเป็น ข้าวกลุ่มสองเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ มีผลกับทำให้ราคาขายต่ำลงอีก และเชื่อมโยงถึงความรับผิดชอบในฐานะเจ้าของคลังตามสัญญาเก็บฝากข้าวที่เจ้าของคลังทำสัญญาไว้กับองค์การคลังสินค้า (อคส.) กับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ในโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/2557 ซึ่งระบุว่า เจ้าของคลังต้องรับผิดชอบปริมาณและคุณภาพข้าวในคลังที่เก็บ แตกต่างจากโครงการรับจำนำก่อนปี 2556/2557 ที่เป็นการ สัญญาเช่าคลังŽ ความรับผิดชอบคุณภาพข้าวในคลังจะเป็นของเซอร์เวเยอร์ และหัวหน้าคลัง อคส.-อ.ต.ก. ที่ประจำอยู่ที่คลัง ไม่ใช่ของเจ้าของคลังŽ

"วิธีการนี้ถึงจะไม่ใช่การโกงรัฐ แต่ก็ทำให้รัฐเสียประโยชน์จากรายได้จากการขายข้าวในสต๊อกที่ลดลง นอกจากนี้ยังทำให้เจ้าของคลังที่รับเก็บฝากข้าวจำนำปี 2556/2557 ต้องจ่ายชดเชยส่วนต่างมากขึ้นเป็นเท่าตัว เช่น ข้าว 5% จำนำเป็นข้าวเปลือกตั้งต้นตันละ 15,000 บาท คิดเป็นต้นทุนข้าวสารตันละ 25,000 บาท ถ้าขายข้าวสาร 5% ทั่วไปจะได้ 10 บาท แต่พอข้าวในคลังถูกจัดเกรดเป็นอาหารสัตว์ ราคาขายเหลือ 5.70 บาท หรือขาดทุนจากราคาจำนำตันละ 19.30 บาท และยังขาดทุนจากราคาตลาดปัจจุบันที่ขายกันอยู่ที่ กก. 12-13 บาท หรือ 2 บาท/กก. ดังนั้นรัฐบาลคงเรียกชดเชยจากผู้ฝากเก็บเท่ากับต้นทุนรับจำนำ ยิ่งกรณีคลังวรโชติ ที่เก็บข้าวหอมปทุม แต่ขายได้เพียง กก.ละ 5.07 บาท จากราคาตลาด กก.ละ 17-18 บาท ก็ยิ่งมีส่วนต่างสูง" เจ้าของคลังเก็บฝากกล่าว

นอกจากนี้ ที่เจ้าของคลังเก็บฝากออกมาเรียกร้องขอให้ระงับการรับมอบข้าวเพื่อเก็บข้าวในคลังไว้เป็นหลักฐานว่า "ข้าวของเค้าไม่ใช่ข้าวเสื่อมที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ แต่เป็นข้าวที่คนบริโภคได้" นั่นก็เพราะการปล่อยให้มีการรับมอบข้าวในคลังออกไป ผู้ชนะการประมูลก็จะทำการคัดแยกเอาข้าวดี หรือข้าวที่ปรับปรุงได้ออกไป "ขายต่อ" ทำกำไรให้กับโรงสี หรือขายไปทำข้าวถุง ตลอดจนขายให้กับผู้ส่งออกเพื่อทำการส่งออกไปยังตลาดแอฟริกา "ตรงนี้สามารถทำกำไรได้อีก 30-40% จากราคาที่ประมูลข้าวในคลังออกมา"

เบี้ยวไม่ยอมคืนแอลจี-ค่าเช่าคลัง

นอกจากนี้ เรื่องของ "ค่าเช่าคลัง" ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้น หลังจากคณะทำงานตรวจสอบสต๊อกข้าวของ ม.ล.ปนัดดา ตรวจสอบข้าวไปแล้วปรากฏ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้สั่งยุติการจ่ายค่าเช่าคลังทั้งหมดมาตั้งแต่ปี 2557 และไม่คืนหลักทรัพย์วางค้ำประกันการ (L/G) ที่เจ้าของคลังกลางวางมัดจำไว้กับ อคส. ในอัตรา 5% ของมูลราคาข้าวที่รับฝากเก็บด้วย ทั้งที่โดยปกติจะต้องคืนหลักทรัพย์ค้ำประกันหลังจากขายและส่งมอบข้าวในคลังไปแล้ว แต่ปรากฏเจ้าของคลังหลายแห่งขายข้าวที่เก็บอยู่ในคลังไปหมดแล้วเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา "ก็ยังไม่ได้ L/G คืน" แถมยังค้างค่าเช่าคลังอีก เช่น คลังของบริษัทพงษ์ลาภ, คลังศรีพรกิจ, คลังขุนศรี และคลังแสงไพฑูรย์

"เมื่อเกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้นมา เจ้าของคลังกลางก็ออกมาขู่ว่า จะไม่เปิดกุญแจให้ผู้ชนะประมูลไปรับมอบข้าว ส่งผลให้คู่สัญญาอย่าง อคส. ต้องรีบออกมาเคลียร์กับเจ้าของคลังกลางอย่างเร่งด่วน โดยในส่วนของคลังจังหวัดอ่างทอง ได้รับการติดต่อจาก อคส. ตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคมว่า จะคืน L/G ให้ และขอให้เปิดให้ บริษัทวีซีเอฟ มารับมอบข้าว แต่จนถึงวันที่ 17 กรกฎาคม ทางเจ้าของคลังก็ยังไม่ได้ L/G คืนตามที่ได้มีการตกลงไว้กับ อคส." แหล่งข่าวกล่าว

อคส.กล่อม 700 คลังปล่อยข้าว

ด้าน พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) กล่าวว่า ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 อคส.จะประชุมร่วมกับเจ้าของโกดัง-คลังสินค้า ที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2554-2557 ประมาณ 700 โกดัง เพื่อสรุปค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สิน ที่ อคส.จะต้องชำระให้กับโกดังที่เข้าร่วมโครงการ สำหรับค่ารับฝากเก็บข้าวที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้ดำเนินการเอาไว้ ซึ่งจากการประเมินภาระหนี้สินในเบื้องต้น จะอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท

"อคส.เห็นถึงภาระหนี้สินดังกล่าวแล้ว จึงจะหารือเพื่อยืนยันบัญชีหนี้สินที่ได้ติดค้างเอาไว้ เพื่อจะได้สรุปตัวเลขให้ตรงกัน อคส.ต้องการเร่งชำระหนี้สินให้แล้วเสร็จ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเจ้าของคลังไม่ยอมเปิดโกดังให้สำหรับผู้ที่ชนะการประมูลข้าวสต๊อกรัฐบาลได้ ทำให้ไม่สามารถรับมอบข้าวที่ชนะการประมูลได้" พล.ต.ท.ไกรบุญกล่าว

อย่างไรก็ตาม งบประมาณที่จะนำมาใช้ชำระหนี้สินให้กับโกดังนั้น เบื้องต้น อคส.ยังไม่ได้สรุปว่า งบประมาณดังกล่าวที่จะนำมาจ่ายนั้นมาจากงบประมาณในส่วนใด โดยจะขอสรุปตัวเลขภาระหนี้สินทั้งหมดก่อนเพื่อให้ชัดเจน จากนั้น อคส.จะได้ทำหนังสือเสนอให้กับ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาเห็นชอบต่อไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่