วางแผนก่อนพาพ่อแม่เที่ยวยังไงไม่ให้ทะเลาะกันระหว่างทริปดีนะ (เคล็ดลับท่องเที่ยวกับผู้สูงอายุให้สนุก ตอน3)

สวัสดีค่ะ Along the way https://www.facebook.com/alongthewaymoment/ กลับมากับเกร็ดการท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใครนะคะ บทความก่อนหน้านี้ ตอน1https://alongthewaymoment.wordpress.com/2017/07/06/เที่ยวกับผู้สูงอายุตอน1/ และ ตอน2 https://alongthewaymoment.wordpress.com/2017/07/14/เคล็ดลับท่องเที่ยวกับผ/ เคล็ดลับท่องเที่ยวกับพ่อแม่หรือผู้สูงอายุให้สนุก ได้กล่าวถึงการเตรียมตัวคร่าวๆสำหรับการไปเที่ยวและทิปเล็กๆน้อยๆที่จะให้ทำผู้สูงอายุสนุกไปกับการท่องเที่ยวนะคะ ตอนที่3 นี่ก็เลยอยากจะพูดถึงปัญหาที่จะต้องเจอแน่ๆเวลาพาผู้สูงอายุไปเที่ยวแบบไปกันเองและการแนวทางไอเดียในการแก้ปัญหานะคะ

** หมายเหตุภาพประกอบอาจไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหานะคะ 55 มันหารูปตรงหัวข้อยากมากค่ะ**

จัดทริปพาไปเที่ยวแต่พอไปผู้สูงอายุแล้วไม่ชอบ

อันนี้เห็นใจนะคะ เป็นปัญหาหลักๆระดับชาติที่ทำให้เด็กๆหรือลูกๆไม่อยากพาพ่อแม่หรือผู้สูงอายุไปเที่ยวกันเลยทีเดียว เก็บเงิน ลางาน วางแผน จองโน่นนี่ วุ่นวายสุดๆ พอไปแล้วท่านไม่ชอบกัน แสดงออกทั้งสีหน้า ท่าทางและวาจา มันบั่นทอนกำลังใจคนจัดเหลือเกิน…

ปัญหาและแนวทางการแก้ไข (อาจจะใช้ไม่ได้กับทุกคนนะคะ แต่จะลิสต์เท่าที่คิดออกค่ะ)

1.บางทีไม่ได้คุยกันก่อนว่าท่านอยากไปไหน

ถ้าพาไปที่ๆไม่อยากไปมันก็ไม่ค่อยมีความหมาย ตัวอย่างง่ายๆนะคะ อย่างเราไม่ชอบเที่ยวประเทศเขตร้อนหรือช่วงหน้าร้อน ดังนั้นถ้าใครชวนไปประเทศแถวเส้นศูนย์สูตร เราก็ไม่อยากไป แม้แต่เขตอื่นๆถ้าหน้าร้อนหลังๆนี่ก็จะพยายามหลีกเลี่ยงรู้สึกไม่คุ้มเงินที่จ่ายไป อ่ะทีนี้มาลองคิดดูว่าถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่คิดคล้ายๆเราแต่เกรงใจไม่กล้าปฎิเสธลูกหลานแล้วสุดท้ายก็ไปด้วย คือใจมันไม่ชอบตั้งแต่ก่อนไปละ พอไปถึงมันก็ร้อนอย่างที่คิด เดินเหนื่อยอีก เหงื่อออกทั้งวัน ปวดขา อาการก็ต้องออกเป็นธรรมดา

แนวทางแก้ไข อยากให้คุยกันให้ดีๆค่ะ ว่ามีอะไรที่เค้าไม่ชอบไม่อยากไปหรือเปล่าเพราะมันเป็นค่าใช้จ่ายที่มากอยู่ คุยกันล่วงหน้ายาวๆตั้งแต่เริ่มคิดเลยก็ดีค่ะ เช่นต้นปีคิดว่าปลายปีอยากจะพาไปเที่ยวต่างประเทศ มีงบเท่านี้นะ จะทำให้ไปประเทศนี้นั้นโน้นได้ อยากไปที่ไหนเป็นพิเศษไหมลองไปคิดดูก่อนก็ได้นะ ถ้าแบบนี้ก็จะทำให้มีเวลาคิดเยอะขึ้นค่ะ

2.งบประมาณ กับ ช่วงเวลาในการท่องเที่ยวทำให้ความสนุกลดลง

อันนี้ก็ถือเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยากและมีผลมากค่ะ บางทีตัวคนพาไปก็คิดไม่ออกเพราะไม่เคยไปที่นั้นๆในช่วงเวลาที่วางแผนไว้เหมือนกัน แถมยังมีงบประมาณต้องคิดอีก บางคนก็รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ผู้ใหญ่ด้วยรวมออกมาเป็น 3-4เท่า ตัวเลขรวมมันก็หนักหนานัก ก็เลยอาจจะได้เลือกช่วงตั๋วถูก ซึ่งมักจะตรงกับ low season พอดี ตัวอย่างใกล้ตัวที่สุด ส่วนใหญ่ทุกคนจะอยากไปญี่ปุ่นกันสักครั้ง ดังนั้นเราก็อาจจะจัดทริปพาพ่อแม่ไปญี่ปุ่น ปกติตั๋วไปกลับตั้ง 15,000 แหน่ะ แต่เอ๊ะ ทำไมช่วงสิงหาคม กันยายน ราคาถูกจัง แค่ 8,xxx -9,xxx เอง จองเลย! ช่วงนี้ถูก!! ดีใจจังได้พาพ่อแม่ไปเที่ยวแล้ว  หารู้ไม่ว่าญี่ปุ่นหน้าร้อนนี่นรกดีๆนี่เองค่ะ 555 อาจจฟังดูเว่อร์ๆหน่อยนะคะ แต่มันร้อนอ้าวจริงๆค่ะ เดินแล้วเหงื่อไหลเป็นน้ำ ไม่เจอร้อนก็ต้องเจอพายุฝนตกจะไปดูฟูจิก็ดันโดนเมฆบังหมดอีก ผนตกทุลักทุเลไปหมด แถมเป็นประเทศที่ต้องเดินเยอะอีก พอไปถึงก็เลยต้องมีอาการไม่พอใจกันและหงุดหงิดใส่กัน เรานี่หลวมตัวไปโตเกียวปีที่แล้วเพราะตั๋วมันถูก อื้อฮื้อคิดว่าจะไม่ไปช่วงนี้อีกแล้วนะ

แนวทางแก้ไข อันนี้ต้องหาข้อมูลและจัดสรรกันให้ดีค่ะ มีความจำเป็นที่เด็กๆต้องหาข้อมูลเรื่องช่วงเวลาให้ดีนะคะ เรื่องอากาศ เรื่องวันหยุดงานเทศกาลประจำชาติศาสนาทั้งหลาย ไม่ใช่จะพาไปเที่ยวช็อปปิ้งกันไปถึงเค้าปิดร้านช่วง Easter กันทั้งประเทศอะไรแบบนี้ไม่โอเคนะคะ คือบางทีเราเลือกไปประเทศที่ถูกลงหน่อยในช่วงเวลาที่ high season อาจจะดีกว่าก็ได้ เช่นจากญี่ปุ่นหน้าร้อนจ่าย 30,000 ต่อคน เปลี่ยนเป็น 30,000 ไปเกาหลีตอนใบไม้ร่วงแทน (ถ้าญี่ปุ่นใบไม้ร่วงอาจจะเป็น 50,000) อะไรแบบนี้ค่ะมันอาจจะสนุกกว่าก็ได้นะ เรื่องนี้ก็ต้องลองนัดแนะคุยๆกันดูทั้งเรื่องงบประมาณความต้องการและช่วงเวลา ความเห็นแต่ละบ้านจะต่างๆกันไปลองหาทางออกกันค่ะ

3.ผู้สูงอายุมีความคาดหวังต่อสถานที่มากเกินไป

เรื่องนี้มีหลายสาเหตุและก็เป็นความคิดส่วนบุคคลด้วย หนึ่งคือบางทีเดี๋ยวนี้เราก็โดนสื่อและรูปต่างๆในอินเตอร์เนทหลอกเอาได้ เช่นรูปแสงเหนือที่ทุกคนเห็นกันเป็นสีเขียวๆเต็มท้องฟ้านั้นเวลาไปเห็นจริงๆถ้าค่า kp ไม่แรงพอคุณก็จะเห็นเป็นสีขาวเหมือนกับเมฆเลย ทำไมฉันไม่เห็นเหมือนคนอื่น! หรือรูปทะเลที่มองเห็นดาวล้านดวงที่ผ่านการแต่งรูปมานั้นก็ทำให้เวลาไปมองเห็นทะเลฟ้าทึมๆของเราช่างดูน่าเบือยิ่งนักเป็นต้น

อันนี้แนวทางการแก้ปัญหาคือต้องหาข้อมูลแล้วชี้แจงท่านไปตามจริงก่อนนะคะ อย่างเช่นเรื่องแสงเหนือตอนแรกเราก็คิดว่ามันจะเขียวแบบที่เห็นในรูป พอหาข้อมูลไปมาแล้วถึงได้ทราบว่ามันไม่เขียวเสมอไป ก็ต้องบอกพ่อแม่ไว้ก่อนว่า ต้องเข้าใจนะว่าสิ่งที่ตาเห็นกับกล้องเห็นนั้นมันอาจจะไม่เหมือนกัน  หรือรูปหุบเขสอวตารที่สวยๆนั่นเค้าเร่งสีในคอมนี่มาดูรูปที่คนทั่วไปถ่ายมันได้ประมาณนี้นะ กลัวแกผิดหวังกับเป้าหมายของทริป

4.ชอบเปรียบเทียบ

สองคือผู้สูงอายุหลายคนก็ชอบเปรียบเทียบอย่างเช่นลูกเพื่อนพาพ่อแม่ไปเที่ยวสวิสเซอร์แลนด์ตอนสงกรานต์​ทำไมของเราพาไปแค่มาเลเซีย หรือทำไมอาหารญี่ปุ่นไม่อร่อยเลยกินดิบๆได้อย่างไรกัน รสชาติสู้อาหารไทยไม่ได้เลยจะพามาทำไม หรือกระทั่งเปรียบเทียบที่พักว่าทำไมหาที่พักไม่ดีให้ นอนไม่สบายไปกับทัวร์นอนดีกว่านี้ตั้งเยอะ

อันนี้แนวทางแก้ปัญหาจะวนๆไปที่ข้อ1 กับ 2 นะคะ แสดงว่าการสื่อสารก่อนจัดทริปยังไม่ดีพอต้องคุยกันเยอะๆหน่อย ถ้าอยากไปสวิสไม่อยากไปมาเลย์ก็ต้องรออีกห้าปีเนอะ เก็บเงินไม่ทัน รอได้ไหมถ้ารอไม่ได้อยากไปที่ไหนแทนดีคะ เรื่องอาหารก็อาจจะต้องพาไปกินที่เมืองไทยให้พอมีไอเดียก่อนถ้ารู้ว่าไม่ชอบจะได้พาไปกินให้ถูกอย่าง บางทีผู้สูงอายุบางคนก็มีความสุขกับการไปพัทยาหรือหัวหินแล้วกินดีนอนดีมากกว่าไปต่างประเทศอีกนะคะเช่นพาไปนอนโรงแรมห้าดาวกินซีฟู๊ดสดๆแฮปปี้มากกว่าไปนอนโฮสเทลแล้วกินข้าวปั้นเซเว่นทั้งทริป ดังนั้นการสื่อสารจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับการจัดทริปให้โดนใจกันค่ะ

5. เหนื่อยเกินไป

พอเหนื่อยๆก็จะหงุดหงิด ไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเด็กๆก็ด้วยก็จะทำให้มีปากเสียงกันมากขึ้น สาเหตุอาจจะมาจากการเดินที่เยอะไป เดินขึ้นลงบันไดหรือทางชันมากไป อากาศที่ร้อน ตอนกลางคืนนอนไม่สบายไม่ว่าจะเตียงไม่ดี หมอนไม่ได้ แอร์ไม่เย็น เสียงรอบๆดัง ทำให้คืนก่อนได้นอนแค่สี่ห้าชั่วโมงเป็นไปได้หลายอย่างมากค่ะ

เรื่องนี้แนวทางแก้ปัญหาจะใช้แค่การสื่อสารและพูดคุยน่าจะทำได้ยาก แนะนำว่าต้องวางแผนมาก่อน และถ้าไม่ทันแล้วจริงๆให้ใช้เงินแก้ปัญหาค่ะ! ทำงานหาเงินมาก็จะมามีประโยชน์ตอนนี้แหละ มาทั้งทีเอาให้สนุก เดินเยอะใช่ไหมเหนื่อยใช่ไหมโบกแท็กซี่เลย! บางทีไปหลายๆคนถูกกว่าเดินขึ้นๆลงๆรถไต้ดินอีกนะเออ (เคยแนะนำในตอนแรกไว้ว่าให้ขึ้นรถเมล์จะสบายหน่อย) ที่พักก็เลือกให้ดีๆหน่อย อ่านรีวิวเรื่องเตียงกับห้องพักจากแขกคนอื่นๆหน่อย ส่วนเรื่องย่านที่พักนี่อาจจะต้องหาข้อมูลหนักหน่อยค่ะ บางทีอะไรต้องซื้อก็ให้ซื้อนะคะ อย่างถ้าอากาศหนาวๆก็ไม่ควรฝืนทนด้วยเสื้อบางๆที่เราเอามา ต้องซื้อหมวกใหม่ ผ้าพันคอหรืออะไรก็ซื้อไปเถอะค่ะ ถือว่าได้ของให้ตัวเองและผู้สูงอายุกลับบ้านด้วย

อีกอย่างคืนต้องมีไหวพริบในการปรับเปลี่ยนแผนค่ะ คือเรามาเที่ยวมาสนุกก็ไม่ต้องตามแผนหมดก็ได้ บางอย่างยืดหยุ่นได้ก็ปล่อยๆไปบ้าง พ่อแม่ชอบวัดนี้มากมาแล้วสวยอยากอยู่นาน ก็ไม่ต้องไปเร่งจะไปดูร้านขายหนังสือที่เราเล็งมาก็ได้ หรือจะให้ท่านเดินเล่นแล้วเดี๋ยวเราไปคนเดียว ค่อยนัดเวลากลับมาเจอกันมันก็ได้นี่คะ การเปลี่ยนแผนเล็กๆน้อยทำให้ทริปสนุกขึ้นและทุกคนได้ทำสิ่งที่ชอบนะคะ

6. อาหารการกินไม่ถูกปาก

อันนี้ใครไม่เจอกับตัวไม่รู้เนอะ เวลากินของไม่อร่อยไม่ถูกใจมันไม่โอเค พลังงานและความมีชีวิตชีวามันจะหายไปหมด 55 ไม่ได้เว่อร์นะ แต่ผู้เขียนเองก็เคยไปเข้าค่ายที่ให้กินแต่อาหารที่เราไม่ชอบทุกวันเป็นเวลา 10วัน ช่วงนั้นทรมานมากกกก รู้สึกไม่ค่อยมีแรงและไม่มีความครีเอทีฟเอาเสียเลย หลังจากนั้นเลยเรียนรู้ว่า เวลาไปไหนขอให้กินอาหารให้ถูกปาก ส่วนอาหารประจำถิ่นที่ควรจะลองควรจะชิมก็เป็นตัวเสริมเข้าไปให้ได้รสชาติของทริป ต้องลองคิดดูว่าถ้าคนอายุไม่เยอะยังคิดแบบนี้ แล้วผู้สูงอายุที่เคยชินกับอาหารแบบที่ตัวเองชอบมาตลอดชีวิตจะรู้สึกอย่างไร นี่ก็จะเป็นหนึ่งในชนวนของการอารมณ์เสียใส่กันในทริปค่ะ

แนวทางอันนี้ง่ายมากๆ เค้าชอบอะไรก็ให้เค้ากินค่ะ บางร้านมันมีอาหารหลายชาติผสมกันก็สั่งกันคนละอย่างสองอย่างจะได้แย่งกันกินด้วยสนุกดี หรือถ้าเอาง่ายมากๆนะคะ ก็ไปพวก food court ตลาดนัด หรือตามซุปเปอร์ที่เค้ามีอาหารให้ตักกลับบ้านก็ได้ค่ะ วิธีนี้จะทำให้ได้เห็นอาหารก่อนแถมผู้สูงอายุยังได้เลือกเองอีกด้วยค่ะ บางคนก็อาจจะมีการพกเครื่องปรุงหรืออาหารสำเร็จมาจากเมืองไทยก็เป็นวิธีที่ดี สะดวกวิธีไหนก็ลองกันดูเลย

7. ทัศนคติต่อสิ่งที่ไม่คาดฝัน

เรื่องนี้ยากหน่อยเพราะเป็นนิสัยของแต่ละคนที่หล่อหลอมมาตั้งแต่เกิดแล้ว ตัวอย่างเช่นการหลงทางเวลาไปที่ไหนไม่ว่าจะแถวบ้านตัวเองหรือต่างประเทศก็ตาม แต่ละคนก็จะมีปฏิกริยาต่างๆกันไปอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น
-บางคนก็ เออดีนะได้เห็นเส้นทางใหม่ๆที่ไม่เคยเห็น อ๊ะ ตรงนั้นมีร้านที่ท่าทางน่าสนใจด้วยแวะไปดูเสียหน่อยดีกว่า สนุกไปกับมันเลย
-บางคนก็ โหย เสียเวลาจังเดินมาตั้งไกลหลงทางอีก เหนื่อยแล้วทำไมนำทางห่วยอย่างงี้ (แต่ตัวเองก็ไม่เคยคิดจะช่วยดูแผนที่นะ) ไม่ไหวๆ แบบนี้ก็เซ็งๆกันนิดนึง
-บางคนก็ โกรธ ดุว่าคนนำทางอีก ทำไมไม่เตรียมตัว ไม่หาข้อมูลมาให้ดีก่อน แบบนี้วันหลังไม่ต้องพามาหรอก เดินอย่างไกลไม่สนุกเลย อันนี้อาการหนักนะคะไม่ควรทำเด็ดขาด
-บางคนเป็นคนนำเอง หลงเอง หงุดหงิดเอง แล้วก็พาลดุคนเดินตามมาว่าไม่เห็นช่วยอะไรเลยก็มีค่ะ

ค่ะ ตัวอย่างก็น่าจะเห็นชัดอยู่ไม่ต้องไปไกลถึงต่างประเทศหรือบางทีแค่ไปต่างจังหวัดก็มีอาการแบบนี้แล้ว ไหนจะมีสิ่งไม่คาดฝันอีกมากมายฝนตก พายุเข้า ร้านที่อยากไปปิด มีประท้วงรถไม่วิ่ง โน่นนี่นั่นมากมายแนวทางในการปรับทัศนคติส่วนนี้จะสอนได้ยาก แต่อยากให้ค่อยๆปรับมุมมองว่า มันไม่เป็นไร มันโอเค ถ้าจะมีการผิดพลาดเกิดขึ้นบ้างต่อให้หาข้อมูลมาดีแค่ไหนมันก็เป็นไปไม่ได้หรอกค่ะที่จะรู้ไปหมดทุกอย่าง บางที่เราก็ไปเที่ยวด้วยกันเป็นครั้งแรก ภาษาตามป้ายก็อาจจะไม่ใช่ภาษาที่เราอ่านออกด้วยซ้ำ ขนาดให้ไปเซเว่นใกล้ๆที่ทำงานที่เราไม่เคยไปก็ยังหลงเลย กูเกิลแม็พเองก็ผิดพลาดบ่อยๆไป นับประสาอะไรกับคนล่ะคะที่จะไม่ผิดพลาด ทางที่ดีควรสนุกสนานไปกับ unexpected trip อันนี้ไปด้วยกันนะคะ รับรองเลยว่าไม่ว่าจะอีกห้าปีหรือสิบปีเรื่องนี้จะกลายเป็นความทรงจำที่ดีมากๆของคณะ คุณจะจำเรื่องนี้ได้แม่นกว่าสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตที่ไปในวันนั้นและจะพูดถึงมันอย่างสนุกสนานทุกครั้งอย่างแน่นอนค่ะ

ที่ไม่พอเดี๋ยวต่อนะคะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่