จาก EARTH สู่ PACE ...สังคมอุปถัมภ์และสินเชื่อเสน่หา(2)



คอลัมน์ พอเพียงอย่างพอใจ โดย...ฉาย บุนนาค |  หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ / ฉบับ 3282 ระหว่างวันที่ 27-29 ก.ค.2560



ในที่สุด บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ก็เลือกเส้นทางเดินของตนเองแบบ “ทางใครทางมัน” กับเจ้าหนี้ และมุ่งหน้าสู่ขบวนการฟื้นฟูผ่านระบบของศาล

การเข้าขบวนการฟื้นฟูเปรียบง่ายๆ เสมือนการเข้าโรงพยาบาลของบริษัทที่ป่วยโดยมีหมอ (ผู้บริหารแผนและผู้ทำแผน) เข้ามาช่วยวินิจฉัย รักษา และฟื้นฟู ให้กลับมาแข็งแรงภายใต้ความเห็นชอบของเจ้าหนี้

เหตุการณ์ของ EARTH อาจจะฟังดูน่าตกใจ แต่หากย้อนกลับไปปี 2540 สมัยยุคต้มยำกุ้งถือว่าเป็นเรื่องปกติ

บริษัทมหาชนพื้นฐานดีในวันนี้ที่ผ่านการเข้าโรงพยาบาลมาแล้วมีอยู่มากมาย เช่น บมจ.แสนสิริ (SIRI), บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD), บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) หรือ TPI เดิม และอื่นๆ อีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม การเข้าขบวนการฟื้นฟูไม่ได้การันตีว่าบริษัทจะรอดเสมอไป คนป่วยอาจจะเกินเยียวยาและเข้าสู่การล้มละลายแทนก็เป็นได้
ดังนั้นการทะเลาะ ขัดใจ ไม่ร่วมมือ กับเจ้าหนี้จึงมิใช่ทางเลือกที่ดีสำหรับนักธุรกิจที่ต้องพึ่งสินเชื่อจากธนาคาร…

สำหรับทุกธุรกิจรวมถึงธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าเป็นสิ่งที่สำคัญ ถึงกระนั้นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเกินพอดีอาจจะนำมาสู่ความเสี่ยงอันใหญ่หลวงขององค์กรและระบบการเงินประเทศ

สำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ กิจการเริ่มต้นขึ้นในนาม “บุคคลัภย์” (Book Club) ในวันที่ 4 ตุลาคม 2447 ก่อตั้งโดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เนื่องจากขณะนั้นทรงเชื่อว่า สยามประเทศมีความจำเป็น ต้องมีระบบการเงินธนาคาร เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจการเงินของประเทศ หลังจากบุคคลัภย์ขยายตัวทางธุรกิจขึ้นเป็นลำดับ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานอำนาจพิเศษ ให้จัดตั้ง “บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด” เพื่อประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อย่างเป็นทางการ นับแต่วันที่ 30 มกราคม 2449 ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อย่างเป็นทางการ นับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้นธนาคารไทยพาณิชย์ คือความภาคภูมิใจของคนไทย…

ผ่านหลายยุคสมัย ผ่านหลายวิกฤติเศรษฐกิจ ผ่านหลายผู้บริหารที่มีชื่อเสียง เช่น ดร.โอฬาร ไชยประวัติ คุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ และคุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม สิ่งที่คนไทยพาณิชย์ภูมิใจมาตลอดคือการยึดมั่นในธรรมาภิบาลและ Integrity ที่สูง

วันนี้ความเชื่อมั่นและหลักปฏิบัติของธนาคารไทยพาณิชย์กำลังถูกท้าทายและถูกตั้งคำถามทั้งโดยสังคมและพนักงาน

กรณีการปล่อยสินเชื่อให้กับบริษัทที่มีความสัมพันธ์พิเศษสูงกับผู้บริหาร เช่น PACE, AREEYA, WHA และ GUNKUL เป็นสิ่งที่ต้องตั้งคำถามโดยเฉพาะ



1. การให้กู้กับ บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE)  แบบ Equity Finance เพื่อเข้าซื้อกิจการแบรนด์ ดีน แอนด์ เดลูก้า(Dean & Deluca) ซึ่งไม่ใช่ธุรกิจหลักและถนัดของ PACE

2. การปล่อยเงินกู้เพิ่มที่ PACE กว่า 3,000 ล้านบาท เพื่อมาชำระปิดแผลตั๋ว B/E แบบไม่ผ่านแผนกสินเชื่อ

3. การขาย Big Lot หุ้นบมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) กว่า 4.49  พันล้านบาท ในเดือนกันยายน 2558 โดยอ้างว่าเพื่อนำมาใช้เป็นเงินที่ชดเชยในการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจากกรณี SSI ที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารแต่ต้นปี 2559 การตัดสินใจลงทุนในหุ้น GUNKUL กว่า 1,000 ล้านบาท (โดยปัจจุบันมูลค่าน้อยกว่าที่ซื้อมา)

นี่ยังไม่นับเรื่องการปล่อยกู้เพื่อซื้อหุ้นของ JAS โดยดีลส่วนใหญ่ที่ทำจะเป็นธุรกรรมด้านวาณิชธนกิจ ซึ่งเป็นความถนัดของนายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ ซึ่งมักจะทำอย่างรวดเร็วและบางครั้งไม่แจ้งให้คณะกรรมการบริษัทรับทราบก่อน

“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” อาจจะมีหลักที่ขัดแย้งกับเป้าหมายของตลาดทุนโลก ซึ่งเน้นเรื่องการ Maximize Profit เป็นหลัก แต่สำหรับตลาดทุนไทย เราควรมีบางบริษัทที่ยึดถือหลักปรัชญานี้เพื่อเสถียรภาพและความมั่นคงของตลาดทุน ซึ่งเราคงอยากเห็นต้นแบบนั้นมาจาก ธนาคารไทยพาณิชย์

จงอย่าลืมอดีตปี 2540 และมัวหลงในการสร้างความมั่งคั่ง เสมือนคนมัวเมาเต้นรำอย่างสนุกสนานในงานเลี้ยง เมื่อเพลงหยุด งานเลี้ยงก็ต้องเลิกรา ความเสียหายอาจจะสายเกินแก้

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่